xs
xsm
sm
md
lg

การเตรียมตัวเพื่อเผชิญวิกฤตข้างหน้า

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

วิกฤตทางการเงินที่เกิดจากการปล่อยกู้เพื่อซื้ออสังหาริมทรัพย์อย่างขนานใหญ่ และการไม่ปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของการรับจำนอง จนเกิดปัญหาเรื่องซับไพรม์และนำไปสู่วิกฤตในขณะนี้ในสหรัฐอเมริกา ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อประเทศในยุโรปและประเทศต่างๆ ทั่วโลก ปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งนี้เป็นเรื่องใหญ่มากที่สุดในประวัติศาสตร์ จนบางคนกล่าวว่าถ้าแก้ปัญหาไม่ดีอาจจะส่งผลเลวร้ายยิ่งกว่ายุคเศรษฐกิจตกต่ำในคริสต์ศตวรรษที่ 1930 ซึ่งนำไปสู่สงครามโลกครั้งที่สอง

สหรัฐอเมริกาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ทหาร และมีบทบาทสำคัญยิ่งในองค์การต่างๆ ในโลก บางครั้งก็ทำหน้าที่เป็นเสมือนตำรวจโลกเพื่อไม่ให้เกิดผู้ร้ายในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ และปฏิเสธไม่ได้ว่าความสำเร็จของสังคมอเมริกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ข้อมูลความรู้ในการแก้ปัญหาและพัฒนา มีส่วนทำให้มีชัยชนะเหนือประเทศที่ปกครองโดยลัทธิคอมมิวนิสต์จนสงครามเย็นสิ้นสุดลง และอย่าลืมว่าในสงครามโลกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐอเมริกามีบทบาทอย่างมากในการเอาชนะประเทศที่มีลัทธิและอุดมการณ์ที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสังคมนานาชาติ

แต่เมื่อสหรัฐอเมริกาซึ่งในแง่หนึ่งเป็นเสาหลักของโลกกลายเป็นลูกหนี้แทบจะสิ้นเนื้อประดาตัว และเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนักจนกระทบต่ออุตสาหกรรมใหญ่ๆ และรัฐบาลสหรัฐอเมริกาของนายบารัค โอบามา ต้องมีนโยบายที่ฝืนต่อหลักการทางเศรษฐกิจในกลไกเศรษฐกิจเสรีที่สหรัฐอเมริกาอ้างเป็นคัมภีร์สั่งสอนคนทั่วโลก ด้วยการเข้าไปพยุงธุรกิจต่างๆ เช่น ธุรกิจรถยนต์และสถาบันการเงิน เพื่อไม่ให้เกิดการล้มละลาย เพราะอาจจะส่งผลในทางลบมากกว่าที่เป็นอยู่ เงินจากผู้เสียภาษีจำนวนมากจึงต้องนำไปค้ำจุนบรรษัทใหญ่ๆ ให้ดำเนินธุรกิจต่อไป อันนำไปสู่ปัญหาเรื่องความชอบธรรมและความยุติธรรมที่มีการกล่าวถึงกันอยู่

แต่ประเด็นสำคัญที่สุดในขณะนี้ก็คือ วิกฤตการแก้ปัญหาก็คือการใช้นโยบายการเงินการคลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายการคลังด้วยการใช้เงินจากภาษีอากรเริ่มต้นโครงการใหญ่ๆ และประคับประคองโครงการที่มีปัญหา ซึ่งสอดคล้องกับหลักการของ John Maynard Keynes ซึ่งเคยทำสัมฤทธิผลมาแล้วในวิกฤตต่างๆ ที่ผ่านมา

แต่มาในขณะนี้ก็ได้มีการโหมโรงด้วยการทุ่มจำนวนเงินเข้าสู่กลไกของระบบเศรษฐกิจที่กำลังป่วยและทรุดหนัก โดยหวังว่ามาตรการนี้ซึ่งมาจากทฤษฎีที่กล่าวอ้างสม่ำเสมอและเคยประสบความสำเร็จมาแล้วในอดีต จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาให้ฟื้นตัวขึ้นโดยเร็ว อันจะนำไปสู่การว่าจ้างแรงงาน มีการจับจ่ายใช้สอย ทำให้สามารถฉุดรากกระชากเศรษฐกิจของประเทศอื่นที่สหรัฐอเมริกาเป็นลูกหนี้อยู่ รวมทั้งที่มีการติดต่อค้าขายมาตลอด เช่น ญี่ปุ่น จีน ยุโรป ฯลฯ ขึ้นมาและฟื้นตัว

ด้วยเหตุนี้ โลกทั้งโลกจึงเฝ้ามองสหรัฐอเมริกา และหลายคนคงสวดมนต์ภาวนาต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้นายบารัค โอบามา ซึ่งเป็นผู้ถือบังเหียนการบริหารประเทศสหรัฐอเมริกา ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหาเพื่อจะได้ช่วยให้สหรัฐอเมริกาพ้นภัย และโดยนัยช่วยให้โลกพ้นภัยไปด้วย

ถ้ามาตรการที่ใช้บนพื้นฐานของทฤษฎี John Maynard Keynes รวมทั้งมาตรการใหม่ๆ ถูกต้องและสามารถแก้ปัญหาได้ก็นับเป็นโชคมหาศาลของโลกมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจของโลก แต่ถ้าสมมติว่ามาตรการต่างๆ นั้นไม่ได้ผลก็จะเกิดคำถามใหญ่ที่สุดว่าโลกจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะนี้แนวโน้มที่จะมีนโยบายกีดกันการค้าเพื่อป้องกันตนในประเทศที่กำลังประสบปัญหา ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงจะทำให้เหตุการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น เพราะจะเข้าลักษณะต่างคนต่างเอาตัวรอด ผลสุดท้ายก็ถูกกระทบจากวิกฤตล้มหายตายจากทุกคนทุกประเทศ

ดังนั้น ถ้ามาตรการของนายบารัค โอบามา ล้มเหลวสหรัฐอเมริกาไม่ฟื้นตัวย่อมส่งผลกระทบต่อผู้ค้าและเจ้าหนี้เดิมที่กล่าวมาแล้ว โลกก็จะประสบวิกฤตทางเศรษฐกิจ โดยเศรษฐกิจตกต่ำอย่างรุนแรงเมื่ออเมริกาล้มละลายจะส่งผลกระทบต่อจีน ญี่ปุ่น ยุโรป ฯลฯ ประเทศไทยและอาเซียนรวมทั้งประเทศอื่น เช่น เกาหลี ไต้หวัน ละตินอเมริกา แอฟริกา อินเดีย ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย เศรษฐกิจอาจจะทรุดหนักนำไปสู่การปิดโรงงาน การเลิกจ้างแรงงาน ตามมาด้วยปัญหาสังคม อาชญากรรม และการไร้เสถียรภาพทางการเมือง

คำถามก็คือ ในกรณีเช่นที่กล่าวมาเบื้องต้นประเทศไทยเตรียมพร้อมที่จะแก้ปัญหาอย่างไร วิธีแก้ปัญหาจะเอารูปแบบใดรูปแบบหนึ่งคงไม่ได้ และการหวังจะแก้ปัญหาให้มีการพัฒนาเจริญเติบโตเหมือนเดิมก็คงไม่ได้ ประเด็นอยู่ที่ว่าจะประคับประคองและพยุงเศรษฐกิจเอาไว้มิให้ตกต่ำจนเกินเลยจนสร้างปัญหาต่างๆ ได้อย่างไร

การประหยัดโดยเฉพาะอย่างยิ่งการประหยัดการใช้พลังงาน การไม่ฟุ่มเฟือยซื้อสินค้าทำให้เสียเงินตราต่างประเทศ การลงทุนที่ระมัดระวัง การยอมออมชอมลดเงินเดือนโดยไม่ให้มีการเลิกจ้าง การสร้างความเข้าใจระหว่างนายจ้างและลูกจ้างโดยถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน การคำนึงถึงทฤษฎีหรือปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งทฤษฎีใหม่ในภาคการเกษตรน่าจะมีส่วนอย่างมากในการบรรเทาปัญหาต่างๆ

ในแง่หนึ่งน่าจะกล่าวได้ว่าทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงขององค์พระประมุข เสมือนหนึ่งการวิเคราะห์และคำทำนายการใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือยจนนำไปสู่วิกฤตของประเทศมหาอำนาจดังที่กล่าวมาแล้ว ขณะเดียวกันการระมัดระวังในการลงทุนและความเห็นในเรื่องทฤษฎีใหม่ ก็คือทางออกในการแก้ปัญหาซึ่งน่าจะนำไปศึกษาวินิจวิเคราะห์อย่างจริงจังเพื่อเตรียมเผชิญกับวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นในกรณีที่สหรัฐอเมริกาล้มเหลว หรือการฟื้นตัวเนิ่นนานเกินควร
กำลังโหลดความคิดเห็น