xs
xsm
sm
md
lg

เอาเยี่ยงโอบามา อย่าเอาอย่างระบบอเมริกัน (2)

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ


คุณทวิชเขียนว่า ประการแรกทีเดียว ผมถามว่า นายโอบามา จะ “เปลี่ยน” การเมืองอเมริกันได้ไหม ที่ต้องใช้เงินมหาศาลในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดี เพราะระบบเงินนำหน้านี้ทำให้นักการเมืองเป็นหนี้บุญคุณนักธุรกิจที่บริจาคเงินมหาศาลในการรณรงค์หาเสียงของนักการเมือง ซึ่งนายโอบามาก็รู้ดีว่าที่ก้าวเข้ามาสู่ตำแหน่งนี้ได้เขาเองก็ต้องใช้เงินหลายร้อยล้านเหรียญสหรัฐ ส่วนนางคลินตันต้องยอมแพ้ เพราะหาเงินสู้นายโอบามาไม่ได้ และยังต้องเป็นหนี้มหาศาลอีกด้วยจากการลงทุนหาเสียงเลือกตั้ง

ข้อสังเกตจากผม ข้อมูลและการแปลข้อมูลของคุณทวิชมีส่วนถูกอยู่บ้าง แต่ไม่ทั้งหมดและเป็นการสรุปที่คลาดเคลื่อน คลินตันมิได้ยอมแพ้เพราะหาเงินสู้โอบามาไม่ได้ แต่แพ้เพราะจำนวนผู้ลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่เพื่อเลือกตัวแทนพรรคหรือ delegates ที่ได้มาจากการเลือกตั้งรอบแรกหรือ primary และการประชุมสรรหาใหญ่หรือ caucus จากมลรัฐต่างๆ รวมกับผู้ลงคะแนนใหญ่หรือ super delegates คือ ส.ส. วุฒิสมาชิก ผู้ว่าราชการมลรัฐ นายกเทศมนตรีของพรรค รวมกันแล้วในวันที่ 4 มิถุนายน 2551 ฮิลลารี่ไม่มีทางสู้โอบามาได้ เพราะจาก super delegate ทั้งหมด 823 โอบามาเป็นต่อ 463 ต่อ 257 และ delegate ผูกพันตามผลของ primary 3434 โอบามาเป็นต่อ 1766.5 ต่อ 1639.5 ของโอบามารวมแล้วเป็น 2229.5 เกินจำนวนที่ต้องการคือ 2118 บรรดาสต๊าฟของนางคลินตัน และ super delegates เองเรียกร้องให้นางยอมแพ้ หากยังมีทางสู้ได้ ย่อมเป็นที่แน่นอนว่า ฮิลลารี่คงจะยอมทุ่มเท่าไหร่เท่ากัน และเธอก็สู้อย่างไม่ลดละจนเกือบถึงวันสุดท้าย

โอบามาชนะและได้เสียงเหล่านั้นมาอย่างไร คำตอบมีอยู่ 2 ส่วน ส่วนที่หนึ่ง ฮิลลารี่ประมาทคาดไม่ถึงว่าผู้สมัครหน้าใหม่อยู่ในการเมืองระดับชาติเพียง 2 ปี ซ้ำยากจนและเป็นคนผิวดำจะมีความหมายอะไร แม้จะมีคนดังอื่นๆ ใครๆ ก็คาดหมายว่าฮิลลารี่นอนมา ส่วนที่ 2 อยู่ที่โอบามา และอัจฉริยภาพในการสร้างองค์กรหาเสียงของเขา บนรากฐานของศรัทธาและความเชื่อมั่นร่วมกัน โดยโอบามาถือธงนำหน้า ได้พิสูจน์บุคลิกและผลงานมาตลอดชีวิตว่าคงเส้นคงวา สามารถ มีมนุษยธรรมและมนุษยสัมพันธ์ กองกำลังของโอบามาจึงใหญ่ขึ้นๆ ในขณะที่ของฮิลลารี่และคนอื่นๆ ประสบปัญหาคนนั้นออกคนนี้ออกระหว่างทางอยู่ตลอด แถมคนรุ่นใหม่ของโอบามาสามารถนำเทคโนโลยีสื่อสารใหม่มาใช้ในการหาเสียงและหาเงินได้อย่างไม่เคยมีใครเคยทำได้มาก่อน

ในตอนแรกที่โอบามายังเป็นไก่รองบ่อนอยู่ ไม่ค่อยจะมีใครเชื่อว่า อเมริกัน (ผิวขาว) จะยอมรับคนดำเป็นประธานาธิบดีได้ โอบามาจึงนำทัพด้วยยุทธศาสตร์และยุทธวิธีอันล้ำลึก บุก Caucus ในรัฐไอโอว่า ซึ่งประเดิมก่อนรัฐอื่นๆ จนเข้าป้ายที่หนึ่ง ฮิลลารี่มาที่ 3 ล้างภาพลักษณ์ว่าเขาไม่อาจชนะในถิ่นคนขาว และที่สำคัญทำลายความเชื่อว่าไม่มีใครอาชนะฮิลลารี่ได้ เมื่อชนะที่ไอโอว่า เงินทองก็ไหลมาเทมาในปลายเดือนเมษายนก่อนที่เขาจะพิชิตฮิลลารี่หนึ่งเดือนนั้น เงินบริจาคของโอบามาท่วมเกินเป้า ได้ทั้งหมดถึง $ 240 ล้านดอลลาร์ ครึ่งหนึ่งมาจากระปุกออมสิน $ 5-6 ดอลลาร์หรือเช็คใบละ $20 จากแม่บ้าน ครู อาสาสมัคร นักเรียน และคนกวาดถนน เกือบ 90 % ของเงินบริจาคโอบามามาจากผู้บริจาครายย่อย จำนวนไม่น้อยผ่านอินเทอร์เน็ต รวมแล้วมี 100,000 กว่าราย บริจาคครั้งละ $ 100 และซ้ำได้เรื่อยๆ ครั้งละไม่เกิน $4,300

สำหรับผู้บริจาครายใหญ่มีอยู่ประมาณ 100 รายที่บริจาค $100,000 และสร้างเครือข่ายอีกประมาณ 7 พันรายที่บริจาคซ้ำไขว้ไปมาระหว่างลูกเมียและบริษัท Linda Douglass. โฆษกของโอบามายืนยันว่า “Nothing has ever led any donor to believe they will have special access to President-elect Obama.: ไม่มีอะไรชวนให้เชื่อว่าผู้บริจาคเหล่านี้จะเข้าถึงประธานาธิบดีเป็นพิเศษ” โอบามาต่างกับผู้สมัครคนอื่นที่เขาไม่ยอมรับเงินบริจาคจากบริษัทล็อบบี้หรือที่เรียกว่า PAC (Political Action Committee) เลย วิธีรับและบริหารเงินบริจาคของโอบามาเป็นแนวใหม่ ซึ่งเขาเรียกว่า parallel public financing

บนเส้นทางสู่ทำเนียบขาว นักวิจารณ์สรุปสั้นๆ ว่า Obama has outpolled, outmanoeuvred, out-fundraised and out-organised the Clintons. แปลว่า โอบามาทำคะแนนเหนือกว่า ชั้นเชิงเหนือกว่า หาเงินได้มากกว่า จัดองค์การได้ดีกว่า รวมแล้วเหนือชั้นกว่าฮิลลารี่ทุกประตู

บัดนี้โอบามาได้เปลี่ยนการเมืองอเมริกันไปแล้ว ส่วนจะเป็นการเมืองใหม่ที่ถูกใจชาวโลกหรือไม่จะต้องคอยดูต่อไป

คุณทวิชเขียนว่า “ผลพวงของการเมืองรูปแบบนี้ทำให้ ปธด. USA ต้องทำตามคำเรียกร้องของนักธุรกิจ โดยเฉพาะในด้านที่เกี่ยวข้องกับการค้าต่างประเทศ ทำให้อเมริกาต้องเอาเปรียบชาติอื่นเสมอๆ ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม (เช่น การบุกอิรัค ก็เป็นการค้าโดยอ้อม)” ข้อสังเกตจากผม ผมก็เป็นห่วงโอบามาเหมือนกับผมเป็นห่วงอภิสิทธิ์ เพราะทั้งอเมริกาและไทยต่างก็เผชิญวิกฤตเศรษฐกิจ ในอเมริกานั้นอิทธิพลของโครงสร้าง military- industrial complex นั้นมั่นคงแน่นหนาอย่างยิ่ง และการให้เงินดอลลาร์อเมริกันเป็นทุนสำรองโลกและเงินซื้อขายระหว่งประเทศที่เป็นการเอาเปรียบชาวโลกอาจจะถึงกาลอวสานลง โอบามาจะทำอย่างไร และอภิสิทธิ์จะเอาชนะอิทธิพลเนวินและโครงสร้างอำนาจและทุนนิยมเก่าในระบบการเมืองไทยได้หรือไม่ การที่โอบามาไม่ยอมรับเงินจากล็อบบี้ เขาก็น่าจะมีอิสระมากกว่าประธานาธิบดีคนอื่นๆ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์จะยืนหยัดเหมือนโอบามาหรือไม่ ยังตอบไม่ได้

คุณทวิชเขียนว่า “เปลี่ยนที่สอง : ความ “อยู่ดีกินดี” จนเกินพอดีของชาวสหรัฐอเมริกา กำลังช่วยทำลายโลกใบนี้อย่างบ้าคลั่ง นายโอบามากล้า “เปลี่ยน” มันไหม โดยประกาศว่าภายใต้การนำของข้าพเจ้า 4 ปีจากนี้ไป ข้าพเจ้าจะช่วยโลกด้วยการเปลี่ยนปรับรายได้คนอเมริกันให้รวยน้อยลงสัก 2 เท่าก็พอ พร้อมเป็นผู้นำชวนยุโรป ญี่ปุ่น ให้เข้าร่วมสนธิสัญญา “รวยน้อยลง” ให้หมด เชื่อว่าเรื่องนี้ไม่มีเปลี่ยน มีแต่จะยิ่ง “คงเดิม” มากขึ้นกว่าเดิม”

“เปลี่ยนที่สาม : อเมริกาเลิกทำตัวเป็นผู้นำโลกเสียทีได้ไหม คบกับประเทศต่างๆ ฉันมิตรที่เท่าเทียมกัน เลิกใช้ “ผลประโยชน์อเมริกัน” เป็นเงื่อนไขอันดับแรกในการร่วมกิจกรรมกับต่างประเทศได้ไหม

ทำให้นึกถึงภาษิตฝรั่งที่ว่า “The more things change the more they remain the same.”

ข้อสังเกตจากผม อันนี้น่าจะเป็นความฝันอันสูงสุดครับคุณทวิช คนอเมริกันทั้งชาตินั้นมีปมว่าตนจะต้องเป็นเจ้าโลก เป็นตำรวจโลก เป็นอะไรๆ ที่ล้ำหน้าคนอื่นเขาหมด ซึ่งไม่จริง แต่เขาก็ใช้เงินกับอำนาจบังคับหรือทำให้คนอื่น รวมทั้งไทยหลงเชื่อ

ผมเห็นว่าโอบามาเป็นยอดคนที่เราควรเอาเยี่ยง เพราะเขาเอาชนะอุปสรรคและความเสียเปรียบทุกอย่างได้ด้วยปัญญาและความเชื่อมั่นในศักยภาพของตนเองและเพื่อนมนุษย์ ส่วนเขาจะสามารถเปลี่ยน “ระบบ”ของอเมริกันได้หรือเปล่า เปลี่ยนตรงไหนและอย่างไร อีกไม่นานเกินรอ เราก็จะเห็น

ขณะที่โลกและเมืองไทยพากันตื่นเต้นกับการเลือกตั้งและประธานาธิบดีคนใหม่ของอเมริกัน จงเอาเยี่ยงโอบามาเถิด

ในฉบับหน้าผมจะบอกว่า แต่อย่าเอาอย่างระบบอเมริกันเด็ดขาด เพราะมันจะทำลายประเทศไทย
กำลังโหลดความคิดเห็น