xs
xsm
sm
md
lg

วุฒิฯยำกกต.ยัดใส้-มั่วข้อมูลเรียกแจงแนวปฏิบัติ-สดศรีย้ำฟ้องกลับ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ที่รัฐสภา วานนี้ (6 ก.พ.) มีการประชุมวุฒิสภา โดยมีนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภาทำหน้าที่ประธานในการประชุม โดยก่อนเข้าสู่วาระนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหา ได้หารือกรณี กกต.ได้ส่งเรื่องมาให้ประธานวุฒิสภาพิจารณา กรณีที่มีมติว่า นายสุรเดช จิรัฐิติเจริญ ส.ว.ปราจีนบุรี สิ้นสุดสมาชิกภาพลงเพราะขาดคุณสมบัติ ในการสมัคร ส.ว. เนื่องจากลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ไม่เกิน 5 ปี ทั้งที่นายสุรเดชได้ลาออกไปแล้วและไม่ได้สมัครเป็นสมาชิกอีก กรณีที่เกิดขึ้นคล้ายกับกรณีนายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร ที่ศาลฏีกา ได้เคยมีคำสั่งเป็นแนวทางไปแล้ว แต่ทาง กกต.ก็ไม่เคยนำมาประกอบในสำนวนดังกล่าว ซึ่งมติดังกล่าวมีกกต.บางคนระบุว่าหากวุฒิสภาไม่เห็นด้วยก็สามารถ พิจารณาใหม่ได้
ขณะนี้นายสุรเดชชี้แจงว่า ตนเคยสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์เพียงครั้งเดียว โดยได้ลาออกแล้ว และไม่เคยสมัครใหม่ตามข้อมูลที่ กกต.กล่าวอ้างแต่อย่างใด ทั้งนี้ตนก็อยากทราบว่าแนวทางในการต่อสู้เรื่องนี้ควรดำเนินการอย่างไรต่อไป วุฒิสภามีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคุณสมบัติของตนต่อไปได้หรือไม่ อาศัยอำนาจ หรือกฎหมายมาตราอะไร หรือจะส่งให้ศาลฏีกาแผนกคดีเลือกตั้งพิจารณา ตามมาตรา 239 หรือจะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตามมาตรา 91
ด้านนายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร กล่าวว่า ตนเคยได้รับการวินิจฉัยว่า มีสมาชิกภาพของพรรคมวลชน โดยได้สอบถาม กกต.ว่าใช้เอกสารใดที่ยืนยันว่า ตนเป็นสมาชิกพรรคมหาชนได้รับคำตอบว่าได้คัดลอกเอกสารเดิมซึ่งเป็นเอกสารสมัยใดตนก็ไม่ทราบ ทำให้ตนต้องไปร้องศาลฏีกาและศาลได้ยกคำร้องในที่สุด
ผมขอกล่าวหาว่ากกต..มั่วมากๆ ทำงานโดยให้เจ้าหน้าที่ระดับล่าง ไปหา ข้อมูลโดยไม่รู้ว่ามีการยัดไส้สอดไส้ชื่อของผมได้อย่างไร แล้วยัดไส้อย่างไร จึง ปรากฏชื่อของ นายสุรเดชด้วย เมื่อเกิดเรื่องก็ปัดความรับผิดชอบอะไรเกิดขึ้น ก็ส่งให้ ศาลพิจารณาเป็นการเอาขยะไปใส่ศาล ขอให้เรื่องนี้อย่าได้เกิดขึ้นอีกในอนาคต
นายประสพสุข ได้ชี้แจงว่า เรื่องดังกล่าวกำลังให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการ พิจารณาอยู่ โดยมีข้อสงสัยว่าเรื่องนี้ต้องส่งเรื่องให้ศาลฏีกาแผนกคดีเลือกตั้ง ,ศาลรัฐธรรมนูญ หรือให้วุฒิสภาเป็นผู้ดำเนินการต่อไป
ต่อมาหลังวุฒิสภาพิจารณาวาระการประชุมต่างๆหมดแล้ว นายสุรเดช จิรัธิติเจริญ ส.ว.ปราจีนบุรี ซึ่งกกต. มีมติให้สิ้นสุดสมาชิกภาพ ได้เสนอญัตติด่วน เพื่อขอให้เชิญ กกต.มาชี้แจงต่อที่ประชุมวุฒิสภา เกี่ยวกับข้อกฎหมายและแนวทางปฏิบัติ เนื่องจากขณะนี้ยังเกิดความสับสนเป็นอย่างยิ่ง
นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา ซึ่งทำหน้าที่ประธานการประชุม กล่าวว่า เรื่องนี้ควรจะรอความชัดเจนจากฝ่ายกฎหมายตามที่ประธานวุฒิสภา ได้ชี้แจงไปแล้วในช่วงเช้าที่กำลังให้เจ้าหน้าที่ศึกษาว่าจะดำเนินการอย่างไร
แต่นายคำนูณ สิทธิสมาน ส.ว.สรรหาได้แย้งว่า กรณีของนายสุรเดช ทำให้เกิดความสับสนและความเข้าใจผิดของประชาชน จึงไม่จำเป็นต้องรอให้มีความชัดเจนแต่ควรให้ กกต.มาตอบข้อข้องใจในข้อกฏหมายต่อวุฒิสภาเลยจะดีกว่า
สุดท้ายนายนิคมได้วินิจฉัยว่า เพื่อไม่ให้เป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 177 คณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการวุฒิสภา(วิป)จะจัดประชุม ในวันที่ 12 ก.พ. เวลา 13.00 น. จะเชิญกกต.มาชี้แจงเรื่องนี้ต่อที่ประชุม โดยขอเชิญ ส.ว.ทั้งหมดมาร่วมรับฟังด้วย
ด้านนาง สดศรี สัตยธรรม กกต. ด้านกิจการพรรคการเมือง กล่าวว่า ส.ว.มีอำนาจในการตรวจสอบองค์กรอิสระ ในขณะที่องค์กรอิสระก็มีอำนาจในการตรวจสอบ ส.ว. ซึ่งแต่ละฝ่ายมีอำนาจตรวจสอบกันและกัน การที่ นายเรืองไกรยื่นเรื่องตรวจสอบ กกต. ถือเป็นสิทธิที่สามารถทำได้ ส่วนที่มีการมอง เป็นการแก้แค้นนั้น เห็นว่า กกต.เป็นองค์กรอิสระและมีหน้าที่ดูแลพรรคการเมือง หากบ้านเมืองยังแบ่งเป็น 2 ฝ่าย กกต.ก็จะถูกผลักให้ไปยืนฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดตลอด แต่หากเรายึดมั่นตามหลักการของกฎหมาย จะมองเช่นนั้นก็เป็นเรื่องปกติ ยืนยันว่าไม่มีความกดดันในเรื่องนี้แต่อย่างใด
เราไม่รู้สึกท้อ ยิ่งมีผู้มาตรวจสอบ ยิ่งทำให้เข้มแข็ง แต่หากเราไม่ผิด หรือเป็นการกลั่นแกล้ง ก็จะฟ้องกลับทันที ซึ่งที่ผ่านมาก็เคยทำมาแล้วหลายคดี
ส่วนที่ นาย บรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย ออกมา วิพากษ์วิจารณ์การจัดสรรงบประมาณของรัฐบาล ในกระทรวงที่พรรคชาติไทยพัฒนาดูแล ถือเป็นการกระทำในฐานะกรรมการบริหารพรรคหรือไม่นั้น นางสดศรี กล่าวว่า ต้องดูว่านายบรรหารพูดในฐานะอะไร หากวิจารณ์ในฐานะอดีตนายกรัฐมนตรีหรือประชาชนทั่วไปก็ไม่น่าผิดกฎหมาย แต่ถ้าพูดในฐานะกรรมการบริหารพรรคคงทำไม่ได้
นางสดศรี ยังกล่าวถึงกรณีกกต.ถูกมองว่าเข้าข้างรัฐบาลเพราะการพิจารณากรณีนายเนวิน ชิดชอบ อดีตกรรมการบริหารพรรคไทยรักไทยซึ่งถูกตัดสิทธิทางการเมืองเข้ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาลยังไม่แล้วเสร็จว่า กกต.ทำหน้าที่ดีที่สุด หากทำงานแล้วถูกมองว่า กกต.เล่นแง่ ก็สามารถตรวจสอบได้
ด้านนายสุเมธ อุปนิสากร กกต. ด้านกิจการการมีส่วนร่วม กล่าวถึงกรณี ที่นายเรืองไกร ยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบการทำงานของ กกต. ที่ดำเนินคดีอาญากับนายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์ รมช.มหาดไทยช้าว่า ก่อนจะยื่นเรื่องดำเนินคดีอาญากับนายบุญจง กกต.ต้องร่างคำวินิจฉัย ซึ่งที่ผ่านมา มีคำวินิจฉัยคงค้างจำนวนมากและต้องทำตามลำดับ ในแต่ละสัปดาห์ต้องมีการ พิจารณาคำร้องกว่า 70 เรื่อง ประกอบกับมีเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบคำร้อง ไม่เพียงพอที่จะต้องตั้งสำนักวินิจฉัยและคดีขึ้น โดยก่อนมีการตั้งสำนักดังกล่าว พบว่า มีเรื่องร้องเรียนค้างอยู่ประมาณ 900 เรื่อง ซึ่งก็แก้ปัญหาอะไรไม่ได้มาก ดังนั้น กกต.จึงต้องปรับปรุงการตรวจสอบคำวินิจฉัย ยืนยันว่า กกต.ไม่ได้ถ่วงเวลา
กว่ากกต.แต่ละคนจะลงนามในคำวินิจฉัยแต่ละครั้งต้องใช้เวลาเป็นเดือน เนื่องจาก กกต.แต่ละคนเป็นนักกฎหมาย ทำให้ต้องมีการตรวจสอบอย่างละเอียด หากไม่พอใจก็จะไม่เซ็นและให้นำกลับไปเขียนคำวินิจฉัยใหม่ ส่วนตัวยอมรับว่า การทำงานของ กกต.มีความล่าช้า หาก ป.ป.ช.จะตรวจสอบ ก็พร้อมให้ตรวจสอบ
กำลังโหลดความคิดเห็น