xs
xsm
sm
md
lg

ธาริษาอุ้มแบงก์ถ่างสเปรด อ้างROAแค่1.1%คลังชี้ประจานตัวเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ผู้ว่าแบงก์ชาติใช้วาระการแถลงนโยบายประจำปีชี้แจงข้อกังขาสังคมให้แบงก์พาณิชย์ อ้างสเปรดดอกเบี้ยไทย 3.2% อยู่ระดับกลางในภูมิภาค ยกตัวเลขผลตอบแทนต่อทรัพย์สินบอกต่ำสุดที่ 1.1% พร้อมป้องตลาดหุ้นดัชนีตลาดหุ้นตกไม่ได้ทำให้รายได้ของแบงก์ลดลง เหตุแบงก์ลงทุนส่วนนี้น้อยแค่ 2 แสนล้านบาท เทียบสินทรัพย์ทั้งระบบ 8.8 แสนล้านบาท คลังจับโกหก ชี้สเปรดไทยสูงอันดับสองในอาเซียน ชี้ ธปท.ลูกไล่แบงก์ บิดเบือนแถมประจานตัวเอง

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงระหว่างแถลงนโยบายประจำปี 2552 กรณีที่อัตราส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้กับเงินฝาก (สเปรด) ของไทยอยู่ในระดับสูงว่า ขณะนี้ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีอัตราดอกเบี้ยสุทธิ 3.2% ถือว่าอยู่ในระดับกลางเมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน 5 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ที่ 4-6% แต่เมื่อหักต้นทุนในการดำเนินงานต่างๆ ได้แก่ ค่าพนักงาน ค่าไอที เงินนำส่งกองทุนฟื้นฟู แล้ว ผลตอบแทนต่อทรัพย์สิน (ROA) จะเหลือแค่ 1.1% ถือว่าต่ำสุดในประเทศอาเซียน 5 ประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าธนาคารพาณิชย์สามารถปรับปรุงประสิทธิภาพได้มากขึ้น เพื่อให้ใกล้เคียงกับประเทศอาเซียนอื่นๆ

“ต้นทุนของธนาคารพาณิชย์มีหลายประเภท ซึ่งหนึ่งมาจากการทำตามกฎเกณฑ์ของเรา แต่ขณะนี้กำลังปรับปรุงให้ดีขึ้นตามหลักเกณฑ์แผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับที่ 2 อีกทั้งยังมีต้นทุนด้านพนักงาน ไอที ภาระภาษีและต้นทุนกันสำรอง ถือเป็นต้นทุนตัวใหญ่ รวมถึงการนำเงินฝากส่งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ดังนั้น การจะให้ต้นทุนลดลงภาครัฐสามารถทำได้ และอีกบางส่วนธนาคารพาณิชย์พยายามปรับปรุงอยู่ ซึ่งในช่วงสั้นสามารถลดต้นทุนบางอย่างได้ แต่ในระยะยาวต้องใช้เวลา”

อย่างไรก็ตาม แม้ดัชนีตลาดหุ้นจะลดลงมากก็ไม่ได้เกิดจากรายได้ของธนาคารพาณิชย์ในระบบเข้าไปลงทุนในส่วนนี้ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบมีการลงทุนในตราสารทุนประมาณ 2 แสนล้านบาท เทียบกับสินทรัพย์ที่มีอยู่ถึง 8.8 ล้านล้านบาท ถือว่าจำนวนเงินน้อย ซึ่งตามหลักเกณฑ์ธนาคารสามารถลงทุนตลาดทุนได้ไม่ไม่เกิน 20%ของเงินกองทุน อีกทั้งธปท.ได้ทำแบบทดสอบหากดัชนีตลาดหุ้นต่ำถึง 350 จุดก็ไม่กระทบต่อธนาคารพาณิชย์เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม การลงทุนส่วนใหญ่ของธนาคารพาณิชย์ไทยเกี่ยวกับพันธบัตรรัฐบาลกว่า 1 ล้านล้านบาท ถือว่ามีเม็ดเงินจำนวนมากกว่า และพันธบัตรรัฐบาลไม่มีความเสี่ยงด้านเครดิตและตลาดนัก จึงเชื่อว่าจะไม่มีปัญหาต่อสภาพคล่องในระบบในอนาคต

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน การปล่อยสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่เกิดจากอุปสงค์ภายในประเทศเป็นหลัก ซึ่งสินเชื่ออุปโภคบริโภคยังขยายตัวดีอยู่ โดยลูกหนี้รายใหญ่ยังคงไม่มีปัญหา เพราะมีฐานะมั่นคงอยู่ แต่ที่มีปัญหา คือ ลูกค้าขนาดกลางและรายย่อย จึงเป็นเรื่องจำเป็นที่รัฐบาลให้ความสำคัญในการลดความเสี่ยงด้วยการให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐค้ำประกันสินเชื่อให้แก่ผู้กู้ที่เป็นรายย่อยร่วมกับธนาคารพาณิชย์ในระบบด้วย รวมทั้งสามารถสร้างความเชื่อมั่นจากการที่ภาคธุรกิจมีสภาพคล่องดีขึ้น

ส่วนการเสนอให้ธนาคารพาณิชย์ผ่อนคลายค่าธรรมเนียมและอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตในช่วงเศรษฐกิจชะลอตัวนั้น ธปท.ได้มีหลักเกณฑ์ที่เป็นเพดานให้ธนาคารพาณิชย์ต้องปฏิบัติตามอยู่แล้ว แต่หากธนาคารพาณิชย์สามารถปรับลดอัตราต่างๆ ลงมาได้ช่วยให้ลดปัญหาหนี้เอ็นพีแอลได้ด้วย ซึ่งขณะนี้ธนาคารส่วนใหญ่มีแนวโน้มความเสี่ยงลดลง แต่มีต้นทุนสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ ทำให้ธนาคารพาณิชย์ต้องมีการพิจารณาเรื่องความเสี่ยงและต้นทุน
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งพยายามประคองลูกค้าให้ดีที่สุด เพื่อผลประโยชน์ของธนาคารเอง ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าธนาคารดูแลลูกค้าเป็นอย่างดี ทำให้ตัวเลขเอ็นพีแอลลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้อัตราการผิดนัดชำระหนี้สูงขึ้น

อิดออดรับภาระดอกเบี้ยบอนด์รัฐ
กรณีที่มีบางฝ่ายเสนอให้ธปท.ช่วยรับภาระจ่ายดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลแทนกระทรวงการคลัง เพื่อช่วยให้กระทรวงการคลังมีงบประมาณเข้าไปกระตุ้นเศรษฐกิจมากขึ้นนั้น ผู้ว่าการธปท. กล่าวว่า หากธปท.ดำเนินการดังกล่าวก็ต้องแก้ไขกฎหมายใหม่ และหากท้ายที่สุดแล้วกระทรวงการคลังต้องการให้เข้าไปช่วยเหลือก็ยินดีที่จะทำ แต่ต้องมีการพูดคุยกันก่อน เพื่อหารือร่วมกันและไม่ให้สร้างปัญหาหนี้ในระยะยาวต่อไป

“หากธปท.ชำระดอกเบี้ยแทนคลังก็ต้องดูภาพรวมทั้งหมดว่าควรนำเงินส่วนไหนมาใช้ และควรดำเนินการอย่างไร โดยการชำระหนี้แทนมีผลต่อรูปแบบดำเนินการ คือ หากชำระหนี้แทน 1 ปีจะมีการดำเนินการรูปแบบหนึ่ง หรือถ้าหลายปีจะมีอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะเกี่ยวข้องกับบัญชีธปท.และบัญชีทุนสำรองเงินตราด้วย”

ทั้งนี้ ล่าสุดงบการเงินของธปท.ประจำปี 2551 พบว่า ธปท.มีกำไรเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากการนำเงินตราต่างประเทศไปลงทุน ทำให้มีผลตอบแทนกลับคืนมาบ้าง เพราะเงินบาทอ่อนค่าลง หลังจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเงินบาทแข็งค่ามาก ทำให้เมื่อตีราคาราคาจากเงินตราต่างประเทศมาเป็นเงินบาท ได้กำไรน้อยลง จึงมีข้อจำกัดในส่วนนี้ แต่ในปีนี้ธปท.มีกำไรจึงสามารถนำส่งเงินให้รัฐบาลเข้ากองทุนสะสมบ้าง เพื่อชำระคืนหนี้

ผู้ว่าการธปท.กล่าวว่า ธปท.มองว่าเศรษฐกิจไทยปี 2552 ขยายตัวได้อยู่ที่ระดับ 0-2% แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังคงเติบโตต่อไปได้และไม่ถึงขั้นถดถอยเหมือนหลายประเทศ ถือเป็นความท้าทายของภาครัฐและเอกชนอย่างมาก แม้ได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกและในประเทศมาระยะหนึ่งแล้ว แต่สามารถปรับตัวได้ดี ขณะที่นโยบายมหภาคทั้งนโยบายการเงินและการคลังมีเป้าหมายเดียวกันในการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโต ซึ่งการดำเนินนโยบายการเงินก็ยังคงผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง ส่วนนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนก็จะดูแลให้เกาะกลุ่มกับประเทศภูมิภาค ซึ่งขณะนี้เงินบาทค่อนข้างนิ่งและอยู่ระดับกลางๆ ทำให้การทำธุรกิจต่างๆ ไม่ติดขัดนัก

คลังยันสเปรดสูงอันดับสอง

แหล่งข่าวกระทรวงการคลังเปิดเผยส่วนต่างดอกเบี้ยของไทยเทียบกับประเทศแถบอาเซียนว่า เป็นรองแค่อินโดนีเซียที่ส่วนต่างดอกเบี้ย 6% ส่วนประเทศอื่นๆ เฉลี่ย 2% ตนคิดว่า ธปท.กำลังเบี่ยงเบนประเด็นต่อสื่อมวลชน ด้วยการใช้ตัวเลขผลตอบแทนที่ก่อให้เกิดรายได้สุทธิ (Net Interest Margin: NIM) ว่ามีเพียง 3.2% หรืออ้างว่าเมื่อหักต้นทุนแล้วผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (ROA) จะเหลือเพียง 1.1% เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าขณะนี้ผู้ฝากเงินได้รับดอกเบี้ยแค่ 1.75% แต่เมื่อไปกู้เงินจะสูงถึง 7% หักลบแล้วเท่ากับ 5.25% นี่คือส่วนต่างจริงที่ลูกค้าเจอ และ ธปท.ไม่ควรนำรายได้หรือรายจ่ายอื่นๆ เข้ามาบิดเบือน

"ประเด็นก็คือได้ส่วนต่างไปกว่า 5% แต่เหลือ ROA แค่ 1.1% แปลว่าแบงก์กำลังขูดรีดลูกค้าไปหักต้นของตัวเองถึง 4% กว่าๆ ความหมายก็คือนโยบายการเงินไทยล้มเหลวใช่หรือไม่ แบงก์ชาติด้อยประสิทธิภาพในการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ใช่หรือไม่"
แหล่งข่าวกล่าวและว่า ที่ผ่านมาอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่แท้จริงของไทยติดลบ เพราะต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ.
กำลังโหลดความคิดเห็น