xs
xsm
sm
md
lg

ธปท.ยันแบงก์ฟันส่วนต่าง ดบ.ฝาก-กู้ 6% เป็นมาตรฐานแบงก์อาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ธปท.แจงการฟันกำไรส่วนต่าง ดบ.ฝาก-กู้ 6% ของธนาคารพาณิชย์ ในขณะที่ ดบ.นโยบายต่ำแค่ 2% ถือว่าไม่สูงมากนัก หากเทียบกับประเทศกลุ่มอาเซียน เพราะเมื่อหักต้นทุนแล้ว จะมีกำไรประมาณ 3.2% โดยไม่พูดถึงการผลักต้นทุนความเสี่ยง และกันสำรองไปที่ลูกค้าให้แบกภาระแทน

นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกรณีมีเสียงวิจารณ์ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (สเปรด) ระหว่างเงินฝากและเงินกู้ ของระบบธนาคารพาณิชย์ อยู่ในระดับสูงถึง 6% และต้องการให้ธนาคารพาณิชย์ลดส่วนต่างดังกล่าวลง เพราะขณะนี้ดอกเบี้ยนโยบายอยู่ในระดับต่ำร้อยละ 2 นางธาริษา ยืนยันว่า ปัจจุบันรายได้ดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารพาณิชย์อยู่ที่ร้อยละ 3.2 ซึ่งเป็นระดับกลางหากเทียบกับประเทศในอาเซียน

นางธาริษา กล่าวว่า ธนาคารพาณิชย์ก็มีต้นทุนทั้งกันสำรองหนี้สูญ ต้นทุนด้านพนักงาน ด้านไอที และต้องส่งเงินให้กับสถาบันคุ้มครองเงินฝาก รวมเป็นร้อยละ 2.2 ดังนั้น หากลบต้นทุนออกผลตอบแทนต่อสินทรัพย์จะเหลือเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุด หากเทียบกับประเทศอาเซียน 5 ประเทศ

ปัจจัยดังกล่าว สะท้อนว่า ธนาคารพาณิชย์จะต้องมีการปรับปรุงประสิทธิภาพและต้องพยายามลดต้นทุนให้มากกว่านี้ เพื่อเพิ่มผลตอบแทนต่อทรัพย์สิน ดังนั้น การคิดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยไม่ใช่การนำอัตราดอกเบี้ยเงินกู้หักดอกเบี้ยเงินฝาก จะต้องดูต้นทุนด้านอื่นๆ ส่วนที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า มีการผลักภาระต้นทุนไปที่ลูกค้า ธปท.กลับยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนในเรื่องนี้

“การที่ธนาคารคิดส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยระดับปัจจุบันไม่เป็นผลจากการขาดทุนของธนาคารพาณิชย์ที่ไปลงทุนในต่างประเทศ เป็นเรื่องของการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะต้องบริหารสภาพคล่องของแต่ละธนาคาร และธนาคารพาณิชย์จะต้องดูแลลูกหนี้ให้ดีที่สุด โดยขณะนี้ตัวเลขหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ยังลดลงอย่างต่อเนื่อง”

สำหรับกรณีมีการร้องเรียนดอกเบี้ยบัตรเครดิตและเบี้ยปรับผิดนัดชำระหนี้มีเพดานสูงเกินไปนั้น นางธาริษา กล่าวว่า ธปท.เห็นว่า ธนาคารพาณิชย์สามารถลดอัตราดอกเบี้ยลงได้ หากต้นทุนลดลง แต่เนื่องจากมีความเสี่ยงที่จะเกิดหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) สูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง

ดังนั้น คงต้องเป็นหน้าที่ของธนาคารพาณิชย์ที่จะพิจารณาเอง และที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งคิดอัตราดอกเบี้ยลูกค้าไม่ชนเพดาน ซึ่งจะต้องพิจารณาตามคุณสมบัติและความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละราย
กำลังโหลดความคิดเห็น