xs
xsm
sm
md
lg

การฉีกออกจากกรอบการเมืองแบบเดิม (จบ)

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

จากปัญหาที่กล่าวมาเบื้องต้นจะมีทางปฏิรูปแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้อย่างไร

ประการแรก ต้องกล่าวว่าโดยทั่วไปนั้นประชาชนมักจะไม่ให้ความสนใจการทำงานของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือวุฒิสมาชิก แต่ความสนใจจะมุ่งเน้นที่ตัวหัวหน้าฝ่ายบริหารคือนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีที่มาจากการลงคะแนนเสียงโดย ส.ส. เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวโยงโดยตรงกับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อเป็นเช่นนี้ความสำคัญของ ส.ส. จึงมิใช่อยู่ที่การออกกฎหมายแต่เพียงอย่างเดียว แต่เป็นองค์กรที่กำหนดบุคคลที่จะมาเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร

ประการที่สอง เมื่อความสำคัญอยู่ที่นายกรัฐมนตรีและนายกรัฐมนตรีมาจากการลงมติของ ส.ส. ก็ต้องหาทางออกให้สององค์กรดังกล่าวสอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตย ในส่วนแรกคือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ถ้าข้อถกเถียงมีอยู่ว่าการเลือกตั้งที่เป็นอยู่ในปัจจุบันซึ่งมี ส.ส. เป็นตัวแทนในพื้นที่ 400 คน และสัดส่วน 80 คน มีปัญหาเรื่องการเลือกตั้งที่ไม่บริสุทธิ์และเที่ยงธรรม มีปัญหาเรื่องตัวเลขล็อกเพราะจำนวนที่เหลื่อมกันอย่างมากตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ก็อาจจะมีข้อที่ต้องเสนอให้มีการแก้ไขให้ ส.ส. ประกอบด้วย 2 ประเภท

ก. เลือกตั้งเขตเดียวคนเดียวทั่วไปประเทศครบ 300 คน โดยไม่มี ส.ส. แบบสัดส่วน ประกอบกับการเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพต่างๆ เพื่อเป็นตัวแทนของกลุ่มอาชีพและชนชั้นกลางที่อยู่ในเมือง 300 คน ไม่ใช่การเลือกตั้งโดยประชาชนทั่วไปแต่โดยกลุ่มอาชีพ กลุ่มอาชีพดังกล่าวนี้ได้แก่ นักธุรกิจที่มาจากสภาอุตสาหกรรม สภาหอการค้า สมาคมธนาคารไทย แพทย์ พยาบาล ครู วิศวกร เกษตรกร ผู้ใช้แรงงาน ฯลฯ ซึ่งต้องมีการสำรวจและกำหนดกลุ่มอาชีพขึ้นมาโดยมีกฎหมายรองรับ เมื่อ 300 คนที่มาจากการเลือกตั้งเขตเดียวคนเดียว บวกกับกลุ่มอาชีพ 300 คน สภาผู้แทนราษฎรทั้ง 600 คนก็สามารถทำหน้าที่ลงมติให้บุคคลที่เหมาะสมดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ โดยบุคคลผู้นั้นจะเป็นสมาชิกพรรคหรือไม่ก็ตาม ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้เงินซื้อเสียง ส.ส. จนเป็นการซื้อตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากการซื้อ ส.ส. ที่มาจากกลุ่มอาชีพจะทำได้ไม่ง่ายนัก

ข. ถ้าข้อเสนอดังกล่าวนี้ไม่เป็นที่ยอมรับก็ให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 400 คนทั่วประเทศ โดยเลือกแบบเขตเดียวคนเดียว แต่มีวุฒิสภาที่มาจากการเลือกกันเองตามที่กล่าวมาเบื้องต้น 300 คน โดยให้วุฒิสภามีอำนาจมากกว่าที่เป็นอยู่ กรณีเช่นนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 400 คน บวกกับวุฒิสภา 300 คน จะเป็นผู้ลงมติให้บุคคลที่จะดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี และทั้งสองสภานี้ยังมีอำนาจในการอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรีด้วย ในกรณีเช่นนี้วุฒิสภาจะมีอำนาจและบทบาทมากกว่าการกลั่นกรองกฎหมาย แต่งตั้งและถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆ ตามที่มีอยู่เดิม

นั่นคือส่วนของการปฏิรูปที่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา แต่ในส่วนของนายกรัฐมนตรียังอาจจะมีอีกทางออกหนึ่ง นั่นคือ การได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งโดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยทรงแต่งตั้งบุคคลที่ผ่านการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน วิธีการก็คือ ให้มีการสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งอาจจะมีผู้สมัคร 10-15 คน ผู้สมัครต้องเสียค่าสมัครคนละ 1 ล้านบาท ในการเลือกตั้งรอบแรกให้คัดผู้ได้คะแนนสูงสุดลำดับ 1 และ 2 เป็นผู้มีสิทธิให้ประชาชนลงคะแนนเสียงอีกครั้งหนึ่ง ผู้ซึ่งได้คะแนนตั้งแต่ 60 ใน 100 ขึ้นไปก็จะได้รับการเสนอชื่อให้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง แต่ถ้าได้คะแนนไม่ถึง 60 ใน 100 ก็ต้องมีการทิ้งช่วงเวลาเพื่อหาเสียงต่อไประหว่างสองคนดังกล่าว และมีการเลือกตั้งครั้งที่สาม ในครั้งนี้ให้เอาบุคคลที่มีคะแนนเสียงสูงกว่าเพื่อกราบบังคมทูลให้โปรดเกล้าแต่งตั้งฯ เป็นนายกรัฐมนตรี

ในระบบเช่นนี้นายกรัฐมนตรีจะอยู่ในตำแหน่งสี่ปี ไม่มีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ แต่เปิดอภิปรายหรือตั้งกระทู้ถามได้เป็นระยะๆ โดยไม่ลงมติเพื่อตรวจสอบการทำงาน และนายกรัฐมนตรีอาจจะถูกถอดถอนได้ในกรณีทำผิดทางกฎหมายและการเมืองตามที่กฎหมายจะระบุไว้ นายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจในการยุบสภาฯ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะอยู่ในตำแหน่งสี่ปี วุฒิสมาชิกอยู่ในตำแหน่งหกปี โดยค่าตอบแทนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และนายกรัฐมนตรีต้องเพิ่มจากเดิมอย่างน้อยเป็นห้าเท่า ในกรณีของนายกรัฐมนตรีเป็นสิบเท่า เพื่อให้ปลอดจากความกังวลในเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะต้องเกิดขึ้นจากการปฏิบัติหน้าที่

ภายใต้ระบบเช่นนี้ นายกรัฐมนตรีจะปลอดจากการถูกกดดัน แต่งตั้งรัฐมนตรีซึ่งมีภาพลักษณ์ให้เป็นที่ยอมรับของสังคม และจะอิสระในการบริหารงานเนื่องจากมีความมั่นใจว่าจะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้อย่างต่อเนื่องสี่ปีเต็ม ภายใต้ระบบเช่นนี้กลุ่มวังต่างๆ ภายในพรรคก็จะหมดอำนาจต่อรอง และตัวนายกรัฐมนตรีก็จะถูกเฝ้ามองโดยประชาชนและสื่อมวลชนอย่างใกล้ชิด ตัวนายกรัฐมนตรีจะขึ้นโดยตรงต่อการตรวจสอบเพื่อทำการถอดถอนในกรณีกระทำความผิดโดยรัฐสภา รวมทั้งองค์กรอื่นๆ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นต้น

จากระบบที่กล่าวมานี้ อาจจะมีส่วนทำให้ปัญหาต่างๆ ที่เผชิญอยู่นี้เบาบางลง โดยจะทำให้มีระบบที่กลั่นกรองอย่างเข้มข้นโดยประชาชน ฝ่ายบริหารจะมีความมั่นใจและมีอำนาจ ฝ่ายนิติบัญญัติก็สามารถทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ จะเกิดความต่อเนื่องของโครงการต่างๆ ที่สำคัญ นายกรัฐมนตรีจะอยู่ได้เพียงสองสมัยเท่านั้นซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน

ประเทศไทยได้ถือแบบระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยระบบรัฐสภาอังกฤษมานาน และสิ่งที่เกิดขึ้นคือการไร้เสถียรภาพทางการเมืองและความต่อเนื่องของรัฐบาล มาปัจจุบันเกิดปัญหาหนักคือการต่อรองทางการเมืองจนคุณภาพของคณะรัฐมนตรีเป็นปัญหา รวมทั้งการละเมิดกฎหมายการเลือกตั้ง การฉ้อราษฎร์บังหลวง การลุแก่อำนาจ การใช้อำนาจรัฐส่งเสริมการประกอบธุรกิจ นำไปสู่ความเสื่อมของจริยธรรมทางการเมืองและศีลธรรมของสังคม

ถึงแม้รัฐธรรมนูญปี 2540 จะพยายามนำส่วนดีของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยระบบประธานาธิบดี เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ การถอดถอน มาประกอบก็ตาม แต่ก็ยังคงไว้ซึ่งเนื้อหาหลักๆ ของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยแบบอังกฤษ ซึ่งบ่งชี้ให้เห็นว่าขาดเสถียรภาพทางการเมืองและไม่สามารถจะควบคุมการทำงานของฝ่ายรัฐบาลได้เพราะอำนาจของประชาชนที่จะตรวจสอบขาดตอนตั้งแต่หลังการเลือกตั้ง ภายใต้ระบบใหม่นี้ซึ่งยังไม่เคยมีการทดสอบอาจจะทำให้สภาวะการเมืองที่เผชิญกับทางตัน สามารถขยับเคลื่อนตัวไปข้างหน้าได้

การเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรงนี้ไม่ใช่ระบบประธานาธิบดี เป็นเพียงกระบวนการการคัดสรรตัวบุคคลเพื่อให้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบุคคลที่ได้รับการเลือกตั้งและได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีจึงมีความชอบธรรมทางการเมืองทั้งสองส่วน คือ จากพระมหากษัตริย์และจากประชาชน อันสอดคล้องกับวิทยานิพนธ์ของ ศ.ดร.กระมล ทองธรรมชาติ ที่เสนอกับวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร และยังสอดคล้องกับปรัชญาสำคัญของอำนาจอธิปไตยหลังการเปลี่ยนแปลง 24 มิถุนายน 2475 นั่นคือ สถาบันพระมหากษัตริย์และประชาชนอยู่คู่กันมา ใช้อำนาจร่วมกันมาโดยตลอด ซึ่งเห็นได้จากมาตรา 2 และมาตรา 3 ของรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 หรือในแง่หนึ่ง นายกรัฐมนตรีที่เกิดขึ้นในเยี่ยงนี้คือนายกรัฐมนตรีที่มาจากหลักการราชประชาสมาสัย
กำลังโหลดความคิดเห็น