xs
xsm
sm
md
lg

การฉีกออกจากกรอบการเมืองแบบเดิม (1)

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

มนุษย์มักจะเป็นเหยื่อของความเชื่อที่ดันทุรังและการกระทำที่ไร้เหตุไร้ผล ในจำนวนความเชื่อและการกระทำที่เป็นอันตรายอย่างยิ่งของสังคมมนุษย์ก็คือคลั่งลัทธิศาสนา การติดยึดอย่างไม่ลืมหูลืมตาในอุดมการณ์ทางการเมือง และความเชื่อมั่นที่มีเกินเหตุ จนนำไปสู่ความเชื่อที่ว่า ตนเป็นผู้ที่สวรรค์บัญชามาให้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน กรณีของอดีตเกี่ยวกับศาสนาเห็นได้จากเหตุการณ์ที่เกิดในยุโรป ผู้ซึ่งคิดว่ามีความคิดขัดแย้งกับพวกบาทหลวงจะถูกนำไปเผาทั้งเป็นและกล่าวหาว่าเป็นแม่มดหรือคนนอกรีต

ในทางการเมืองนั้น เติ้ง เสี่ยวผิง และพวก ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้นิยม “ลัทธิแก้” และเจริญรอยตามทุนนิยม อันเกิดจากความคลั่งอุดมการณ์ทางการเมืองของแก๊งทั้งสี่ รวมทั้งการใช้อุบายดังกล่าวเล่นงานคู่ต่อสู้ทางการเมือง ในกรณีของผู้ที่คิดว่าตัวเองได้รับเลือกจากสวรรค์ก็ได้แก่ โตโยโตมิ ฮิเดโยชิ หรืออดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ผู้ซึ่งทำความเสียหายต่อสังคมมนุษย์ รวมทั้งต่อมนุษยชาติด้วย ทั้งหลายทั้งปวงดังกล่าวนี้คือคนซึ่งเดินตามกฎเกณฑ์หรือความเชื่อบางอย่างโดยไม่ลืมหูลืมตา ซึ่งเท่ากับจองจำตัวเองอยู่ในกรอบความคิด

ในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์มีความเชื่อในลัทธิทุนนิยมที่ว่า กลไกตลาดและหลักอุปสงค์อุปทานจะเป็นตัวกำหนดชีวิตเศรษฐกิจและธุรกิจ โดยจะมีการแก้ไขด้วยกลไกที่เรียกว่า มือที่มองไม่เห็น นอกจากนี้ยังมีความเชื่อว่าการบริหารบรรษัทใหญ่ๆ จะมีบรรษัทภิบาลเป็นตัวนำ แต่ข้อเท็จจริงที่ปรากฏก็คือมีการผูกขาดทั้งผู้ซื้อผู้ขายรายเดียวหรือจำนวนไม่กี่ราย เรื่องบรรษัทภิบาลนั้นการล้มละลายของเอ็นรอน เวิลด์คอม และการล้มละลายของสถานะทางการเงินจากกรณีซับไพรม์ในปัจจุบัน บ่งชี้ให้เห็นถึงความไม่สมบูรณ์ของระบบเศรษฐกิจ จริงๆ แล้วโลกอาจจะประกอบด้วยทฤษฎีไร้ระเบียบเสียด้วยซ้ำ ส่วนความสมบูรณ์แบบถ้าจะมีก็จะอยู่ในระบบอุดมคติในจินตนาการของนักคิด หรือในตำราที่ใช้เรียนในห้องเรียน

ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยก็เช่นเดียวกัน เป็นระบบการเมืองที่อาจจะทำให้เข้าใจผิดได้ง่าย คำกล่าวที่ว่า ประชาธิปไตยเป็นระบบการเมืองที่เลวแต่เลวน้อยกว่าระบบการเมืองอื่นๆ น่าจะเป็นความจริง แต่ขณะเดียวกันระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยก็ไม่ใช่ระบบที่สมบูรณ์แบบ จึงไม่มีแบบที่สามารถจะยกมาใช้ทั้งดุ้นในทุกสังคม หลักการใหญ่ของประชาธิปไตยคือ “เสรีภาพและเสมอภาค” แต่ต้องพูดทันทีว่าเสรีภาพต้องมีวินัยและความรับผิดชอบ ถ้าขาดวินัยและความรับผิดชอบเสรีภาพก็จะกลายเป็นอนาธิปไตย

ในส่วนของความเสมอภาคนั้นที่เห็นได้ก็คือ “ความเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย” “ความเสมอภาคทางการเมือง” “หนึ่งคนหนึ่งเสียง” และ “ความเสมอภาคในแง่ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์” แต่ความเสมอภาคก็อาจจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ การใช้ระบบหนึ่งคนหนึ่งเสียงอาจจะทำให้คนบางส่วนของประเทศมีตัวแทนเกินกว่าสิ่งซึ่งให้กับสังคม ขณะเดียวกันคนซึ่งทำประโยชน์ให้กับสังคมซึ่งเป็นคนส่วนน้อยอาจจะกลายเป็นคนซึ่งมีความเป็นตัวแทนในสภาน้อยกว่าสัดส่วนของความเป็นจริง

นอกจากนั้น ระบบการเลือกตั้งอาจจะทำให้เกิดการมองว่าการเลือกตั้งเท่ากับประชาธิปไตย โดยไม่คำนึงถึงความสำคัญในส่วนอื่นๆ เช่น การถ่วงดุลอำนาจ การมีระบบการเมืองที่เปิดโอกาสให้มีการปรับเปลี่ยนกันเป็นรัฐบาล การตรวจสอบการทำงานของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และฝ่ายตัดสินคดีทางการเมือง

ถ้ามองจากตัวเลขของจำนวน ส.ส. ก็จะเห็นภาพชัดขึ้น จำนวน ส.ส. ของ กทม. และภาคใต้รวมกันยังน้อยกว่าจำนวน ส.ส. ที่อยู่ในภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือเพียงภูมิภาคเดียว ดังนั้น ถ้ารวมภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าด้วยกัน กลุ่มการเมืองที่คุมเสียงสองภาคนี้ได้ก็จะเป็นกลุ่มการเมืองที่คุมอำนาจรัฐตลอดไป ไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งกี่ครั้งก็ตาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าไม่มีหลักประกันว่าการเลือกตั้งนั้นบริสุทธิ์และเที่ยงธรรม

การเลือกตั้งที่แท้จริงที่สอดคล้องกับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย คือการเลือกตั้งที่ผู้หย่อนบัตรมีข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับผู้สมัคร มีความรู้และตระหนักถึงความสำคัญของการเลือกผู้สมัครนั้นมาเป็นผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ออกฎหมาย และทำหน้าที่ลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี แต่ถ้าผู้เลือกตั้งนั้นเป็นผู้ซึ่งถูกซื้อสิทธิซื้อเสียง หรือถูกชักจูงโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหัวคะแนนผู้หย่อนบัตร การหย่อนบัตรลงในหีบบัตรไม่ใช่เป็นการเลือกตั้ง หากแต่เป็นการประกอบพิธีกรรมทางการเมืองในการหย่อนบัตรแทนผู้อื่น เพราะสิทธิดังกล่าวนั้นได้ยกให้หรือขายให้กับผู้อื่นไปแล้ว ก็เท่ากับผู้ซื้อสิทธินั้นหรือได้สิทธินั้นหย่อนบัตรให้กับตนเอง แต่อาศัยมือของผู้มีสิทธิตามกฎหมายเท่านั้น ถ้ากรณีเป็นเช่นนี้การเลือกตั้งในรูปแบบเดิมก็จะขาดความศักดิ์สิทธิ์และความชอบธรรมทางการเมือง

การใช้เงินซื้อเสียงคือการซื้อความเป็น ส.ส.และถ้าพรรคใดมีจำนวน ส.ส. มากก็เท่ากับเป็นการซื้อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปด้วยในตัว การซื้อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคือการซื้ออำนาจรัฐ การซื้ออำนาจรัฐคือการซื้อสิทธิในการบริหาร “บรรษัทประเทศไทย” โดยมีงบประมาณเกือบสองล้านๆ บาทต่อปี และมีการบริหารตำแหน่งทางการเมืองและระบบราชการเป็นพันๆ ตำแหน่ง นี่คือข้อเท็จจริงที่ปฏิเสธไม่ได้

โดยสรุป ตราบเท่าที่การเลือกตั้งยังไม่บริสุทธิ์และเที่ยงธรรมระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยก็จะล้มเหลวโดยสิ้นเชิง และถือไม่ได้ว่าเป็นระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่แท้จริง (อ่านต่อวันพฤหัสฯ หน้า)
กำลังโหลดความคิดเห็น