ASTVผู้จัดการรายวัน - ผู้ว่าฯ กคช.แย้งหนี้ไม่เกินแสนล้าน อยู่ระดับ 78,000 ล้านบาท เกือบทั้งหมดโครงการบ้านเอื้อฯ ทั้งนั้น โร่ทำแผนเสนอคลัง แก้ฐานะการเงินก่อนกระอักหลังขาดทุนติดต่อ 2 ปี ด้านกลุ่มผู้เดือดร้อนโครงการเคหะรามฯ บุก พม. ขอความเป็นธรรม หลังถูกบริษัทเอกชนที่ กคช.ว่าจ้างบริหารทำร้ายร่างกาย สั่งตั้งคณะกรรมการร่วมไกล่เกลี่ยปัญหา 2 เดือนต้องสรุป
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานฐานะการเงินของรัฐวิสาหกิจจำนวน 47 แห่งมีภาระหนี้สินสูงกว่า 2.7 ล้านล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้อาจจะมีผลต่อกรอบของงบประมาณในการลงทุนของรัฐบาลได้ ในขณะที่หน่วยงานอย่างการเคหะแห่งชาติ (กคช.) มีหนี้สินรวมสูงถึง 113,343.74 ล้านบาทนั้น
นายสุชาติ ศิริโยธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กคช. กล่าวยืนยันว่า ตัวเลขหนี้สินดังกล่าวอาจจะคลาดเคลื่อนไปมาก เนื่องจากในขณะนี้ กคช.มีส่วนของสินทรัพย์กว่า 1 แสนล้านบาท มีหนี้สินรวมทั้งสิ้น 78,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหนี้สินที่เกิดจากการดำเนินการโครงการบ้านเอื้ออาทรประมาณ 73,000 ล้านบาท ที่เหลืออีกประมาณ 5,000ล้านบาทเป็นหนี้เงินกู้สถาบันการเงินเพื่อพัฒนาโครงการเคหะชุมชนและการดำเนินงานของกคช.
ในส่วนของผลการดำเนินงานของ กคช.นั้น แม้ว่ายังมีผลขาดทุนอยู่ แต่เป็นตัวเลขที่ขาดทุนลดลงอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ ในปีงบประมาณ 2550 ตัวเลขขาดทุน 1,305 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2551 ขาดทุน 991 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ทางกคช.ได้มีการปรับแผนและแนวทางการดำเนินงาน เพื่อให้มีความสามารถในการชำระหนี้ดังกล่าวให้หมดโดยเร็ว
อนึ่ง ตามระเบียบสำนักบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) หากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจใด มีผลการดำเนินงานขาดทุนติดต่อ 3 ปี หนี้ดังกล่าวจะถูกคำนวณมาเสริมในหนี้สาธารณะ ทำให้หน่วยงานต้นสังกัด ต้องเร่งดำเนินการแก้ปัญหาหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เกิดขึ้น
"รัฐบาลในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา ต้องเข้าใจกคช.ด้วยว่า การขาดทุนดังกล่าว เกิดจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ไม่ใช่ขาดทุนจากการดำเนินงานของกคช.เอง รัฐบาลต้องให้ความช่วยเหลือในการแก้หนี้ โดยปัญหาที่เกิดขึ้น ได้มีการหารือและรายงานผลโครงการบ้านเอื้อฯแก่รัฐบาล ซึ่งก็เข้าใจดี "ผู้ว่าฯกคช.กล่าว
***เปิดแผนฟื้นฟู กคช.ก่อนดิ่งเหว
นายสุชาติกล่าวว่า ในปีนี้ กคช.ได้รับอนุมัติในเรื่องของการลงทุนเป็นวงเงิน 22,000 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการบ้านเอื้ออาทรกว่า 18,000 ล้านบาท ที่เหลืออาจจะเป็นโครงการในลักษณะพัฒนาสังคม เป็นต้น
"งบประมาณส่วนใหญ่ที่ได้รับอนุมัติมา ยังเป็นโครงการบ้านเอื้อฯ และก็จะมีโครงการย่อยๆอีก 2-3 โครงการ คือ โครงการบ้านหลังแรก ตามแผนงานจะเป็นโครงการตัวอย่างประมาณ 2,000 หน่วย และโครงการบ้านรัฐสวัสดิการอีกประมาณ 600 หน่วย โครงการต่อเนื่องที่ยังเป็นโครงการหลักอยู่ก็ยังคงเป็นโครงการบ้านเอื้อฯ" ผู้ว่าฯ กคช.กล่าว
ทั้งนี้ โครงการบ้านเอื้อฯที่ดำเนินการตอนนี้ หลังจากที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)ให้ปรับลงมาจาก 600,000 หน่วย เหลือ 300,000 หน่วย ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จไปประมาณ 150,000 หน่วย มีประชาชนเข้าอยู่อาศัยแล้ว และได้รับสินเชื่อจากธนาคารแล้วประมาณ 70,000 หน่วย
ผู้ว่าฯ กล่าวยอมรับว่า ยอดจองบ้านเอื้ออาทรลดลง เนื่องจากตอนที่เปิดให้ประชาชนมาจอง สภาพเศรษฐกิจตอนนั้นยังเติบโต อัตราดอกเบี้ยถูกมาก ทำให้ข้อตกลงในอัตราการผ่อนจะตกประมาณ 1,500 บาทต่อเดือน แต่นับจากปี 46 อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ธนาคารคำนวณอัตราการผ่อนไปถึง 2,400 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นถึง 60 % ตัวนี้ก็เป็นปัจจัยหลักอันหนึ่ง ที่ทำให้ลูกค้าส่วนหนึ่งถอยออกไป ไม่มีอำนาจการซื้อการผ่อนส่งที่เพียงพอ
โครงการที่ไปสร้างในพื้นที่ใกล้นิคมอุตฯต่างๆ แม้ในช่วงแรกจะมียอดจองมาก แต่ถึงช่วงทำสัญญากู้กับธนาคาร ผู้จองจะหายไปเยอะมาก สาเหตุมาจากคนที่ทำงานในโรงงาน ไม่นิยมจะซื้อ แต่จะเช่ามากกว่า เพื่อจะได้มีโอกาสปรับเปลี่ยนที่ทำงาน
***ปลดล็อคโอนสิทธิ์บ้านลดภาระหนี้
สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาของ กคช.ที่ร่วมประชุมกับทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สำนักงบประมาณ และ สบน. รวมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำหนดเป้าไว้ดังนี้
ประการแรก อาจจะปลดล็อคเรื่องการโอนสิทธิ์ โดยอาจจะยกเลิกจำกัดการโอนสิทธิ์จาก 5 ปีไปแล้ว เป็นมาซื้ออยู่ปีที่ 3 ซึ่งจะเพิ่มแรงจูงใจให้คนมาซื้อ
ประการที่สอง ขออนุมัติครม.ให้กคช.สามารถจะขายยกอาคารหรือยกโครงการให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม หรือผู้ที่ต้องการนำอาคารไปให้ผู้มีรายได้น้อยเช่า
ประการที่สาม เสนอขอปรับราคาขายบ้านเอื้ออาทรตามทำเล เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ไม่ใช่ขายราคาเดียวกันเหมือนเดิม
***ตั้งกองทุนดอกเบี้ยต่ำอุ้มคนซื้อ
ประการที่ห้า การขยายความร่วมมือไปยังธนาคารอื่น ในการรับโอนโครงการบ้านเอื้อฯ มากขึ้น จากที่ทำข้อตกลงไว้กับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารออมสิน และสุดท้าย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทางกคช.เห็นว่า น่าจะมีแหล่งเงินทุนในลักษณะเป็นกองทุน เพื่อให้ประชาชนกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำในอัตรา 4% ระยะยาว 10-30 ปี
"อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดแปรเปลี่ยนไปเรื่อย เช่นวันหนึ่งเราบอกว่า 1,500 บาทต่อเดือน อีกวันหนึ่ง 2,400 บาทต่อเดือน ต่อไปถ้าเป็น 3,000 บาทต่อเดือน เราก็จะต้องไปยึดอาคารคืนมา ประชาชนผ่อนไม่ไหว จริงๆเราก็ไม่อยากจะไปทำแบบนั้น แต่ถ้ามีกองทุนที่ดอกเบี้ยคงที่ระยะยาว ก็จะเป็นการช่วยประชาชนที่มีรายได้น้อยจริงๆ " ผู้ว่าฯ กล่าว
***ชาวบ้านเคหะรามฯ ร้อง พม.
วานนี้ (26 ม.ค.) เมื่อเวลา 10.15 น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้มีกลุ่มผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยในส่วนโครงการเคหะ รามคำแหง การเคหะแห่งชาติ กว่า 50 คน เข้ายื่นข้อเรียกร้องต่อนายวิฑูรย์ นามบุตร รมว.พม. โดยมีนายชาญยุทธ โฆศิรินนท์ ที่ปรึกษา รมว.พม. เข้ารับเรื่องแทน
นางทัศนีย์ ใจการุณ กรรมการศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ กล่าวว่า ข้อเรียกร้องในวันนี้เพื่อขอความคุ้มครอง ช่วยเหลือ ผู้เช่าในพื้นที่ของโครงการการเคหะรามคำแหงเดิมที่มีรายได้น้อย แต่ได้รับการข่มเหง บีบคั้นจากนโยบายของกคช. ทั้งการนำอาคารที่ใช้เช่าไปให้บริษัทเอกชนบริหารงาน ทำให้มีการจัดเก็บค่าเช่าที่สูงกว่าปกติ ซึ่งผู้เช่าต่างก็มีรายได้น้อยและเมื่อค้างชำระค่าเช่า ก็จะมีการปรับค่าผิดนัดค่าเช่าที่สูงมาก นอกจากนี้ มีการบีบบังคับ ขับไล่ ตัดน้ำ ไฟ และข่มขู่ทำร้ายร่างกาย ในส่วนของผู้ที่ค้างค่าเช่าอย่างไม่เป็นธรรม
"ผู้เช่าบางรายติดค่าเช่า 1 เดือน กลับถูกตัดน้ำ ตัดไฟ มีเจ้าหน้าที่มาขนทรัพย์สินออกจากห้อง และถูกขับไล่อย่างกับไม่ใช่คน ส่วนของผู้เช่าซื้อบ้านบางรายที่เช่าซื้อบ้านโดยทำสัญญาตั้งแต่ปี 2542 ในราคา 5 แสน 2 หมื่นบาท ทำสัญญาไว้ 20 ปี ราคารวมทั้งต้น ทั้งดอกเป็นราคา 1 ล้าน 2 แสนบาท ซึ่งได้ส่งมาระยะหนึ่ง จากนั้นก็นำเข้าผ่อนต่อกับธนาคาร แต่เครดิตของผู้เช่าซื้อไม่ผ่าน เมื่อเข้าปรึกษากับทางการเคหะฯ ได้รับคำตอบให้เปลี่ยนชื่อ นำผู้ที่มีเครดิตมาทำเรื่อง แต่ต้องเสียค่าเปลี่ยนชื่ออีก 1 หมื่นบาท เมื่อไม่ได้ดำเนินการ ก็โดนขับไล่ ทุบรถ ต่างๆ นานา จึงอยากเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการที่เชื่อถือได้ มาทำการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับพี่น้อง" กก.ศูนย์ประสานงานลูกหนี้กล่าว
ด้านนายชาญยุทธกล่าวว่า ผู้ที่เรียกร้องต่างก็พร้อมที่จะดำเนินการตามหลักเกณฑ์เพียงแต่ต้องการได้รับความเป็นธรรม และขอให้ได้อยู่ในที่อยู่อาศัยหลังเดิม แต่ก็มีในบางที่ข้อมูลของทางการเคหะฯ ยังไม่มีความชัดเจน ทั้งในเรื่องของสัญญา การชำระดอกเบี้ย ทำให้ในบางรายได้รับความเดือดร้อนจริง ดังนั้น ทางการเคหะฯ ต้องลงมาดูแล และตรวจสอบข้อมูลที่ชัดเจนอีกครั้ง
สำหรับกระทรวงฯ พร้อมจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อทำงานในเรื่องดังกล่าว โดยจะมีผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย ตัวแทนจากการเคหะฯ ตัวแทนจากศูนย์ประสานงานลูกหนี้ และตัวแทนจากชาวบ้านที่เดือดร้อน เข้ามาเป็นคณะกรรมการทำงาน เพื่อหาทางแก้ไข และยืนยันที่จะได้ข้อสรุปทั้งหมดให้เสร็จภายใน 2 เดือน
ผู้ว่าฯ กคช.กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ต้องขอดูข้อมูลกลุ่มที่มีปัญหาเป็นกลุ่มเช่าซื้อ หรือ กลุ่มเช่า ซึ่งในโครงการนี้มีประชาชนอาศัยอยู่ประมาณ 4,000 ราย และเท่าที่ทราบ กลุ่มที่มีปัญหาเป็นกลุ่มที่เช่าซื้อ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 200 รายที่กำลังจะถูกบังคับคดี เนื่องจากค้างค่าเช่ากับทางกคช.ไม่ต่ำกว่า 1 ปี ซึ่งโดยปกติขั้นตอนการบังคับคดี สามารถดำเนินการได้เมื่อคู่สัญญาผิดนัดเป็นเวลา 2 ถึง 3 เดือน แต่ที่ผ่านมา กคช.ก็ไม่เคยดำเนินการกับผู้อยู่อาศัย.
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้รายงานฐานะการเงินของรัฐวิสาหกิจจำนวน 47 แห่งมีภาระหนี้สินสูงกว่า 2.7 ล้านล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้อาจจะมีผลต่อกรอบของงบประมาณในการลงทุนของรัฐบาลได้ ในขณะที่หน่วยงานอย่างการเคหะแห่งชาติ (กคช.) มีหนี้สินรวมสูงถึง 113,343.74 ล้านบาทนั้น
นายสุชาติ ศิริโยธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กคช. กล่าวยืนยันว่า ตัวเลขหนี้สินดังกล่าวอาจจะคลาดเคลื่อนไปมาก เนื่องจากในขณะนี้ กคช.มีส่วนของสินทรัพย์กว่า 1 แสนล้านบาท มีหนี้สินรวมทั้งสิ้น 78,000 ล้านบาท แบ่งออกเป็นหนี้สินที่เกิดจากการดำเนินการโครงการบ้านเอื้ออาทรประมาณ 73,000 ล้านบาท ที่เหลืออีกประมาณ 5,000ล้านบาทเป็นหนี้เงินกู้สถาบันการเงินเพื่อพัฒนาโครงการเคหะชุมชนและการดำเนินงานของกคช.
ในส่วนของผลการดำเนินงานของ กคช.นั้น แม้ว่ายังมีผลขาดทุนอยู่ แต่เป็นตัวเลขที่ขาดทุนลดลงอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ ในปีงบประมาณ 2550 ตัวเลขขาดทุน 1,305 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2551 ขาดทุน 991 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ทางกคช.ได้มีการปรับแผนและแนวทางการดำเนินงาน เพื่อให้มีความสามารถในการชำระหนี้ดังกล่าวให้หมดโดยเร็ว
อนึ่ง ตามระเบียบสำนักบริหารหนี้สาธารณะ(สบน.) หากหน่วยงานรัฐวิสาหกิจใด มีผลการดำเนินงานขาดทุนติดต่อ 3 ปี หนี้ดังกล่าวจะถูกคำนวณมาเสริมในหนี้สาธารณะ ทำให้หน่วยงานต้นสังกัด ต้องเร่งดำเนินการแก้ปัญหาหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เกิดขึ้น
"รัฐบาลในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา ต้องเข้าใจกคช.ด้วยว่า การขาดทุนดังกล่าว เกิดจากการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล ไม่ใช่ขาดทุนจากการดำเนินงานของกคช.เอง รัฐบาลต้องให้ความช่วยเหลือในการแก้หนี้ โดยปัญหาที่เกิดขึ้น ได้มีการหารือและรายงานผลโครงการบ้านเอื้อฯแก่รัฐบาล ซึ่งก็เข้าใจดี "ผู้ว่าฯกคช.กล่าว
***เปิดแผนฟื้นฟู กคช.ก่อนดิ่งเหว
นายสุชาติกล่าวว่า ในปีนี้ กคช.ได้รับอนุมัติในเรื่องของการลงทุนเป็นวงเงิน 22,000 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการบ้านเอื้ออาทรกว่า 18,000 ล้านบาท ที่เหลืออาจจะเป็นโครงการในลักษณะพัฒนาสังคม เป็นต้น
"งบประมาณส่วนใหญ่ที่ได้รับอนุมัติมา ยังเป็นโครงการบ้านเอื้อฯ และก็จะมีโครงการย่อยๆอีก 2-3 โครงการ คือ โครงการบ้านหลังแรก ตามแผนงานจะเป็นโครงการตัวอย่างประมาณ 2,000 หน่วย และโครงการบ้านรัฐสวัสดิการอีกประมาณ 600 หน่วย โครงการต่อเนื่องที่ยังเป็นโครงการหลักอยู่ก็ยังคงเป็นโครงการบ้านเอื้อฯ" ผู้ว่าฯ กคช.กล่าว
ทั้งนี้ โครงการบ้านเอื้อฯที่ดำเนินการตอนนี้ หลังจากที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.)ให้ปรับลงมาจาก 600,000 หน่วย เหลือ 300,000 หน่วย ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จไปประมาณ 150,000 หน่วย มีประชาชนเข้าอยู่อาศัยแล้ว และได้รับสินเชื่อจากธนาคารแล้วประมาณ 70,000 หน่วย
ผู้ว่าฯ กล่าวยอมรับว่า ยอดจองบ้านเอื้ออาทรลดลง เนื่องจากตอนที่เปิดให้ประชาชนมาจอง สภาพเศรษฐกิจตอนนั้นยังเติบโต อัตราดอกเบี้ยถูกมาก ทำให้ข้อตกลงในอัตราการผ่อนจะตกประมาณ 1,500 บาทต่อเดือน แต่นับจากปี 46 อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น ธนาคารคำนวณอัตราการผ่อนไปถึง 2,400 บาทต่อเดือน เพิ่มขึ้นถึง 60 % ตัวนี้ก็เป็นปัจจัยหลักอันหนึ่ง ที่ทำให้ลูกค้าส่วนหนึ่งถอยออกไป ไม่มีอำนาจการซื้อการผ่อนส่งที่เพียงพอ
โครงการที่ไปสร้างในพื้นที่ใกล้นิคมอุตฯต่างๆ แม้ในช่วงแรกจะมียอดจองมาก แต่ถึงช่วงทำสัญญากู้กับธนาคาร ผู้จองจะหายไปเยอะมาก สาเหตุมาจากคนที่ทำงานในโรงงาน ไม่นิยมจะซื้อ แต่จะเช่ามากกว่า เพื่อจะได้มีโอกาสปรับเปลี่ยนที่ทำงาน
***ปลดล็อคโอนสิทธิ์บ้านลดภาระหนี้
สำหรับแนวทางในการแก้ไขปัญหาของ กคช.ที่ร่วมประชุมกับทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สำนักงบประมาณ และ สบน. รวมกับสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กำหนดเป้าไว้ดังนี้
ประการแรก อาจจะปลดล็อคเรื่องการโอนสิทธิ์ โดยอาจจะยกเลิกจำกัดการโอนสิทธิ์จาก 5 ปีไปแล้ว เป็นมาซื้ออยู่ปีที่ 3 ซึ่งจะเพิ่มแรงจูงใจให้คนมาซื้อ
ประการที่สอง ขออนุมัติครม.ให้กคช.สามารถจะขายยกอาคารหรือยกโครงการให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรม หรือผู้ที่ต้องการนำอาคารไปให้ผู้มีรายได้น้อยเช่า
ประการที่สาม เสนอขอปรับราคาขายบ้านเอื้ออาทรตามทำเล เพื่อให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ไม่ใช่ขายราคาเดียวกันเหมือนเดิม
***ตั้งกองทุนดอกเบี้ยต่ำอุ้มคนซื้อ
ประการที่ห้า การขยายความร่วมมือไปยังธนาคารอื่น ในการรับโอนโครงการบ้านเอื้อฯ มากขึ้น จากที่ทำข้อตกลงไว้กับธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และธนาคารออมสิน และสุดท้าย เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทางกคช.เห็นว่า น่าจะมีแหล่งเงินทุนในลักษณะเป็นกองทุน เพื่อให้ประชาชนกู้ในอัตราดอกเบี้ยต่ำในอัตรา 4% ระยะยาว 10-30 ปี
"อัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดแปรเปลี่ยนไปเรื่อย เช่นวันหนึ่งเราบอกว่า 1,500 บาทต่อเดือน อีกวันหนึ่ง 2,400 บาทต่อเดือน ต่อไปถ้าเป็น 3,000 บาทต่อเดือน เราก็จะต้องไปยึดอาคารคืนมา ประชาชนผ่อนไม่ไหว จริงๆเราก็ไม่อยากจะไปทำแบบนั้น แต่ถ้ามีกองทุนที่ดอกเบี้ยคงที่ระยะยาว ก็จะเป็นการช่วยประชาชนที่มีรายได้น้อยจริงๆ " ผู้ว่าฯ กล่าว
***ชาวบ้านเคหะรามฯ ร้อง พม.
วานนี้ (26 ม.ค.) เมื่อเวลา 10.15 น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้มีกลุ่มผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัยในส่วนโครงการเคหะ รามคำแหง การเคหะแห่งชาติ กว่า 50 คน เข้ายื่นข้อเรียกร้องต่อนายวิฑูรย์ นามบุตร รมว.พม. โดยมีนายชาญยุทธ โฆศิรินนท์ ที่ปรึกษา รมว.พม. เข้ารับเรื่องแทน
นางทัศนีย์ ใจการุณ กรรมการศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ กล่าวว่า ข้อเรียกร้องในวันนี้เพื่อขอความคุ้มครอง ช่วยเหลือ ผู้เช่าในพื้นที่ของโครงการการเคหะรามคำแหงเดิมที่มีรายได้น้อย แต่ได้รับการข่มเหง บีบคั้นจากนโยบายของกคช. ทั้งการนำอาคารที่ใช้เช่าไปให้บริษัทเอกชนบริหารงาน ทำให้มีการจัดเก็บค่าเช่าที่สูงกว่าปกติ ซึ่งผู้เช่าต่างก็มีรายได้น้อยและเมื่อค้างชำระค่าเช่า ก็จะมีการปรับค่าผิดนัดค่าเช่าที่สูงมาก นอกจากนี้ มีการบีบบังคับ ขับไล่ ตัดน้ำ ไฟ และข่มขู่ทำร้ายร่างกาย ในส่วนของผู้ที่ค้างค่าเช่าอย่างไม่เป็นธรรม
"ผู้เช่าบางรายติดค่าเช่า 1 เดือน กลับถูกตัดน้ำ ตัดไฟ มีเจ้าหน้าที่มาขนทรัพย์สินออกจากห้อง และถูกขับไล่อย่างกับไม่ใช่คน ส่วนของผู้เช่าซื้อบ้านบางรายที่เช่าซื้อบ้านโดยทำสัญญาตั้งแต่ปี 2542 ในราคา 5 แสน 2 หมื่นบาท ทำสัญญาไว้ 20 ปี ราคารวมทั้งต้น ทั้งดอกเป็นราคา 1 ล้าน 2 แสนบาท ซึ่งได้ส่งมาระยะหนึ่ง จากนั้นก็นำเข้าผ่อนต่อกับธนาคาร แต่เครดิตของผู้เช่าซื้อไม่ผ่าน เมื่อเข้าปรึกษากับทางการเคหะฯ ได้รับคำตอบให้เปลี่ยนชื่อ นำผู้ที่มีเครดิตมาทำเรื่อง แต่ต้องเสียค่าเปลี่ยนชื่ออีก 1 หมื่นบาท เมื่อไม่ได้ดำเนินการ ก็โดนขับไล่ ทุบรถ ต่างๆ นานา จึงอยากเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการที่เชื่อถือได้ มาทำการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับพี่น้อง" กก.ศูนย์ประสานงานลูกหนี้กล่าว
ด้านนายชาญยุทธกล่าวว่า ผู้ที่เรียกร้องต่างก็พร้อมที่จะดำเนินการตามหลักเกณฑ์เพียงแต่ต้องการได้รับความเป็นธรรม และขอให้ได้อยู่ในที่อยู่อาศัยหลังเดิม แต่ก็มีในบางที่ข้อมูลของทางการเคหะฯ ยังไม่มีความชัดเจน ทั้งในเรื่องของสัญญา การชำระดอกเบี้ย ทำให้ในบางรายได้รับความเดือดร้อนจริง ดังนั้น ทางการเคหะฯ ต้องลงมาดูแล และตรวจสอบข้อมูลที่ชัดเจนอีกครั้ง
สำหรับกระทรวงฯ พร้อมจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อทำงานในเรื่องดังกล่าว โดยจะมีผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย ตัวแทนจากการเคหะฯ ตัวแทนจากศูนย์ประสานงานลูกหนี้ และตัวแทนจากชาวบ้านที่เดือดร้อน เข้ามาเป็นคณะกรรมการทำงาน เพื่อหาทางแก้ไข และยืนยันที่จะได้ข้อสรุปทั้งหมดให้เสร็จภายใน 2 เดือน
ผู้ว่าฯ กคช.กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ต้องขอดูข้อมูลกลุ่มที่มีปัญหาเป็นกลุ่มเช่าซื้อ หรือ กลุ่มเช่า ซึ่งในโครงการนี้มีประชาชนอาศัยอยู่ประมาณ 4,000 ราย และเท่าที่ทราบ กลุ่มที่มีปัญหาเป็นกลุ่มที่เช่าซื้อ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 200 รายที่กำลังจะถูกบังคับคดี เนื่องจากค้างค่าเช่ากับทางกคช.ไม่ต่ำกว่า 1 ปี ซึ่งโดยปกติขั้นตอนการบังคับคดี สามารถดำเนินการได้เมื่อคู่สัญญาผิดนัดเป็นเวลา 2 ถึง 3 เดือน แต่ที่ผ่านมา กคช.ก็ไม่เคยดำเนินการกับผู้อยู่อาศัย.