กลุ่มผู้เดือดร้อนโครงการเคหะรามฯ บุก พม.ยื่นเรื่องเรียกร้อง ขอความเป็นธรรม กรณีได้รับการข่มเหงจากบริษัทเอกชนที่การเคหะฯ ส่งให้บริหารจัดการ ทั้งค่าเช่า และค่าผิดนัดค่าเช่าที่แพงกว่าปกติ ทั้งยังมีการข่มขู่ ขับไล่ ทำร้ายร่างกาย หากไม่ปฏิบัติ เผย เข้าร้องต่อการเคหะฯ แล้ว แต่ไร้ผล ด้าน พม.สั่งตั้งคณะกรรมการร่วมจากทุกฝ่ายเข้าไกล่เกลี่ยปัญหา หวังได้ข้อสรุปภายใน 2 เดือน
วันนี้ (26 ม.ค.) เมื่อเวลา 10.15 น.ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีกลุ่มผู้เดือดร้อนด้านที่อยู่อาศัย ในส่วนโครงการเคหะ รามคำแหง การเคหะแห่งชาติ กว่า 50 คน เพื่อจะยื่นข้อเรียกร้อง ต่อนายวิฑูรย์ นามบุตร รมว.พม.โดยมีนายชาญยุทธ โฆศิรินนท์ ที่ปรึกษา รมว.พม.เข้ารับเรื่องแทน
โดยนางทัศนีย์ ใจการุณ กรรมการศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ กล่าวว่า ข้อเรียกร้องในวันนี้ เพื่อขอความคุ้มครอง ช่วยเหลือผู้เช่าในพื้นที่ของโครงการการเคหะรามคำแหงเดิมที่มีรายได้น้อย แต่ได้รับการข่มเหง บีบคั้นจากนโยบายของการเคหะแห่งชาติ ทั้งการที่การเคหะฯ นำอาคารที่ใช้เช่าไปให้บริษัทเอกชนบริหารงาน ทำให้มีการจัดเก็บค่าเช่าที่สูงกว่าปกติ ซึ่งผู้เช่าต่างก็มีรายได้น้อยและเมื่อค้างชำระค่าเช่า ก็จะมีการปรับค่าผิดนัดค่าเช่าที่สูงมาก นอกจากนี้ มีการบีบบังคับ ขับไล่ ตัดน้ำ ไฟ และข่มขู่ทำร้ายร่างกาย ในส่วนของผู้ที่ค้างค่าเช้าอย่างไม่เป็นธรรม
“ผู้เช่าบางรายติดค่าเช่า 1 เดือน กลับถูกตัดน้ำ ตัดไฟ มีเจ้าหน้าที่มาขนทรัพย์สินออกจากห้อง และถูกขับไล่อย่างกับไม่ใช่คน ส่วนของผู้เช่าซื้อบ้านบางรายที่เช่าซื้อบ้านโดยทำสัญญาตั้งแต่ปี 2542 ในราคา 5 แสน 2 หมื่นบาท ทำสัญญาไว้ 20 ปี ราคารวมทั้งต้น ทั้งดอกเป็นราคา 1 ล้าน 2 แสนบาท ซึ่งได้ส่งมาระยะหนึ่ง จากนั้นก็นำเข้าผ่อนกับต่อธนาคาร แต่เครดิตของผู้เช่าซื้อไม่ผ่าน เมื่อเข้าปรึกษากับทางการเคหะฯ ได้รับคำตอบให้เปลี่ยนชื่อ นำผู้ที่มีเครดิตมาทำเรื่อง แต่ต้องเสียค่าเปลี่ยนอีกชื่ออีก 1 หมื่นบาท เมื่อไม่ได้ดำเนินการก็โดนขับไล่ ทุบรถ เขวี้ยงบ้าน ต่างๆ นานา จึงอยากเรียกร้องให้มีการตั้งคณะกรรมการที่น่าเชื่อถือได้ มาทำการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวที่เกิดขึ้นกับพี่น้อง ชาวบ้านกว่าร้อยรายที่ได้รับความเดือดร้อน ซึ่งกรณีนี้ไม่น่าเกิดขึ้นกับการเคหะแห่งชาติ โดยชาวบ้านก็ได้เข้าประนีประนอมกับทางการเคหะฯ แล้ว แต่ก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือ จึงอยากให้มีการคุ้มครองสวัสดิการ สวัสดิภาพ ความปลอดภัยของชาวบ้าน เพราะเมื่อออกมาเรียกร้องบางรายก็จะโดนข่มขู่จากเจ้าหน้า” กก.ศูนย์ประสานงานลูกหนี้ กล่าว
ด้าน นายชาญยุทธ กล่าวว่า ผู้ที่เรียกร้องต่างก็พร้อมที่จะดำเนินการตามหลักเกณฑ์เพียงแต่ต้องการได้รับความเป็นธรรม และขอให้ได้อยู่ในที่อยู่อาศัยหลังเดิม แต่ก็มีในบางที่ข้อมูลของทางการเคหะฯ ยังไม่มีความชัดเจนทั้งในเรื่องของสัญญา การชำระดอกเบี้ย ทำให้ในบางรายได้รับความเดือดร้อนจริง ดังนั้น ทางการเคหะฯ ต้องลงมาดูแล และตรวจสอบข้อมูลที่ชัดเจนอีกครั้ง เพื่อช่วยในการผ่อนผัน ผ่อนหนักให้เป็นเบา และจะมีแนวทางในการช่วยเหลือชาวบ้านอย่างไรบ้าง สำหรับกระทรวงเองก็ยินดีที่จะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อทำงานในเรื่องดังกล่าว
โดยจะมีผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมาย ตัวแทนจากการเคหะแห่งชาติ ตัวแทนจากศูนย์ประสานงานลูกหนี้ และตัวแทนจากชาวบ้านที่เดือดร้อน เข้ามาเป็นคณะกรรมการทำงานเพื่อตรวจสอบ และหาทางแก้ไข และยืนยันที่จะได้ข้อสรุปทั้งหมดให้เสร็จภายใน 2 เดือน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายหลังจากได้ข้อสรุปเป็นที่น่าพอใจแล้วกลุ่มผู้เดือดร้อนก็เดินทางกลับ
ด้าน นายสุชาติ ศิริโยธิพันธุ์ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ทราบเรื่องที่เกิดขึ้นแล้ว แต่เบื้องต้น ยังต้องขอดูข้อมูลก่อนว่า กลุ่มที่มีปัญหาเป็นกลุ่มเช่าซื้อ หรือ กลุ่มเช่า ซึ่งในโครงการนี้มีประชาชนอาศัยอยู่ประมาณ 4 พันราย และเท่าที่ทราบ กลุ่มที่มีปัญหาเป็นกลุ่ม ที่เช่าซื้อ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 200 ราย ที่กำลังจะถูกบังคับคดี เนื่องจาก ค้างค่าเช่ากับทางการเคหะฯ มานานไม่ต่ำกว่า 1 ปีซึ่งโดยปกติขั้นตอนการบังคับคดี สามารถดำเนินการได้เมื่อคู่สัญญาผิดนัดเป็น เวลา 2 ถึง 3 เดือน แต่ที่ผ่านมา การเคหะฯ ก็ไม่เคยดำเนินการตามนี้
อย่างไรก็ตามจะมีการหารือกับกลุ่มชาวบ้าน อีกครั้ง พร้อมกับ ตรวจสอบข้อมูล เพื่อคัดแยกผู้มีปัญหาอย่างละเอียด ก่อนที่จะหาทางผ่อนผันช่วยเหลือชาวบ้านไม่ให้ได้รับความเดือดร้อน ส่วนพฤติกรรมของ บริษัทเอกชน ก็จะมีการตรวจสอบด้วย เพื่อให้ความเป็นธรรมกับฝ่ายเจ้าหน้าที่และชาวบ้าน