xs
xsm
sm
md
lg

พม.ตีกลับแผนแก้หนี้กคช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - กคช.งัด 3 มาตรการใหญ่หวังพลิกฟื้นผลขาดทุน คุมค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ขายบ้านเอื้อฯให้มาก เล็งตัดขายทิ้ง เร่ขายบ้านเอื้อฯ คาดจะมีเม็ดเงินไหลเข้า 1,500-2,000 ล้าน ใช้คืนหนี้สถาบันการเงิน ระบุแผนทุกอย่างต้องทำให้แล้วเสร็จก่อน ก.ย.เพื่อบันทึกรายได้ในปีงบ 52 เตรียมอุ้มคนผ่อนบ้านเอื้อฯ แปลงสัญญาเช่าซื้อเป็นสัญญาเช่า หวังแบ่งเบาภาระลูกค้าทีมีอยู่ถึง 50% 2 หมื่นราย

ความพยายามในการพลิกฟื้นการเคหะแห่งชาติ (กคช.) 1 ในรัฐวิสาหกิจของกระทรวงการคลัง ที่หลายปีที่ผ่านมา ประสบปัญหาผลการดำเนินงานที่ขาดทุน จนมีหนี้สูงถึง 93,000 ล้านบาท ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศค.) รายงานกรอบและงบประมาณประจำปี 2552 (ต.ค.51-ก.ย.52) รัฐวิสาหกิจ47 แห่ง มีหนี้สินมโหฬาร 2.7 ล้านล้าน และที่หนักสุดจะมี 4 รัฐวิสาหกิจ คือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ,องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) ,การถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)และการเคหะแห่งชาติ คาดว่าทั้ง 4 แห่ง จะขาดทุนไม่ต่ำกว่า 27,000 ล้านบาท
โดย กคช.เป็นหน่วยงานทางด้านการดูแลที่อยู่อาศัยเพื่อผู้รายได้ โดยเฉพาะความจำเป็นที่ต้องเข้ามาดูแลและรับผิดชอบโครงการบ้านเอื้ออาทรที่มีจำนวนกว่า 6 แสนหน่วย (ก่อนที่จะปรับจำนวนลงมาเหลือ 3 แสนหน่วย) ซึ่งผลจากภาระหนี้สินที่สูงขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากนโยบายของรัฐบาล และความไม่โปร่งใสในการบริหารโครงการให้มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ทั้งนี้ 6 มาตรการที่เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) นั้น ทางรมว.พม.ได้ให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมกับทางกระทรวงฯเพื่อศึกษามาตรการอีกครั้ง

***คุมต้นทุน-ตัดขายที่ดินในพอร์ต
นายศิริโรจน์ ชาวปากน้ำ ผู้ช่วยผู้ว่าการฯกคช. กล่าวถึงการสร้างรายได้ของกคช.ว่า ในปีนี้ ได้วาง 3 มาตรการใหญ่ คือ 1.ลดรายจ่ายประจำประมาณ 20% ของงบลงทุน ด้วยการลดซื้อของใหม่ ให้ซ่อมของเก่าใช้ไปก่อน 2. เพิ่มรายได้ โดยจัดผลประโยชน์ในชุมชน เริ่มตั้งแต่ ตลาด ร้านค้า จักรยานยนต์ และตู้น้ำดื่ม เป็นต้น รวมถึงการขายที่ดินทั้งเก่าและใหม่ ที่มีขนาดตั้งแต่ 50 ตารางวาถึง 50 ไร่ ส่วนใหญ่จะเป็นที่ดินเตรียมทำโครงการในอนาคตและที่อยู่กระจัดกระจายในโครงการเคหะชุมชน โดยกำลังอยู่ในระหว่างสำรวจที่ดินและวิเคราะห์ราคา เพื่อกำหนดว่าแปลงไหนจะขายหรือเก็บไว้ทำโครงการในอนาคต คาดว่าจะเริ่มขายได้ในช่วงเดือนเม.ย.นี้ ดังนั้น หากสามารถดำเนินการได้ตามแผนนี้ ก็จะทำให้กคช.มีรายได้จากการขายที่ดินและจัดประโยชน์ในชุมชนและเร่งขายบ้านเอื้ออาทรให้ได้มากที่สุด รวม 1,500-2,000 ล้านบาท เพื่อนำรายได้ไปชำระหนี้สถาบันการเงิน
"การแบ่งขายที่ดิน เพราะหากเป็นแปลงใหญ่ในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ คนอาจไม่มีเงินพอที่จะซื้อ ซึ่ง กคช.อาจจะขายให้แก่นักพัฒนาอสังหาฯ เพื่อไปแบ่งขายอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากนโยบายของการเคหะฯไม่ต้องการเข้าไปแข่งขันกับเอกชน และไม่ใช่หน้าที่ของเรา"นายศิริโรจน์กล่าว
อย่างไรก็ตามในปีนี้ กคช.มีหนี้สินที่ครบกำหนดต้องชำระอยู่ทั้งสิ้น 16,000 ล้านบาท ซึ่งก่อนหน้านั้น กคช.ได้ชำระหนี้ก่อนหน้าไปแล้ว2 ครั้ง โดยครั้งแรกชำระไป 1,800ล้านบาท และครั้งที่ล่าสุด 2,000ล้านบาทเศษ ขณะที่ผลการดำเนินงานในปีงบประมาณประจำปี 2550 ขาดทุน 1,305 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2551 ขาดทุน 991 ล้านบาท

***สกัดคนผ่อนบ้านเอื้อฯ เพิ่มNPL
นายศิริโรจน์ กล่าวถึงการบริหารผู้ที่ซื้อบ้านเอื้ออาทรฯว่า จากปัญหาการว่างงานที่เกิดขึ้นอาจมีผลกระทบต่อการซื้อบ้านและการผ่อนส่งพอสมควร ซึ่งในส่วนของกคช.ได้มีการเตรียมแผนรองรับไว้หากเศรษฐกิจไทยเกิดการชะลอตัวอย่างรุนแรงจนก่อผลกระทบกับผู้ซื้อ กล่าวคือ หากผู้ซื้อไม่มีความสามารถผ่อนได้ในราคาเดือนละ 2,700 บาท ก็มาทำการเปลี่ยนเป็นสัญญาเช่นเดือนละ 1,600 บาท (หรือจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย) โดยหยุดการเช่าซื้อไว้ก่อน 1 ปี หลังจากนั้น หากมีความสามารถในการผ่อนชำระก็กลับมาสู่สัญญาการเช่าซื้ออีกครั้ง ซึ่งคาดว่าลูกค้าที่มีปัญหาและขอใช้บริการประมาณ 50% โดย ลูกค้าที่รอขอสินเชื่ออยู่ 40,000 ราย จะหายไปประมาณ 20,000 ราย
"แผนดังกล่าวเตรียมไว้ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาหนี้เสีย และอาจจะทำให้กคช.ต้องนำบ้านเอื้อฯกลับมาขายใหม่ ซึ่งจะมีผลต่อค่าใช้จ่ายในการทำตลาดเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ 2-2.5% อย่างไรก็ดี แผนที่ว่าเป็นแนวทางที่รองรับไว้ โดยคงจะต้องนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการการเคหะแห่งชาติ ในเดือนกุมภาพันธ์ "
อนึ่ง ในปี2551 การขายบ้านเอื้ออาทรค่อนข้างประสบปัญหา เนื่องจากมีหลายปัจจัยมากระทบ ทั้งจากการเมืองในประเทศ และวิกฤตการณ์เศรษฐกิจโลก โดยแต่ตั้งแต่เริ่มปี 2552 เป็นต้นมา ขายไปได้แล้วประมาณ 2,000 ยูนิต แต่ส่วนใหญ่เป็นการยื่นขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน ขณะนี้ ขอสินเชื่อได้แล้วประมาณ 4,000 ยูนิต ซึ่งเป็นไปตามเป้าที่วางไว้ และเชื่อว่าหลังจากการจัดงานตลาดนัดบ้านเอื้ออาทรระหว่างวันที่ 6-15 ก.พ.นี้ จะทำให้ยอดขายดีขึ้น โดยไตรมาสแรกปีนี้ ตั้งเป้าขายเฉลี่ยเดือนละไม่ต่ำกว่า 5,000 ยูนิต.
กำลังโหลดความคิดเห็น