xs
xsm
sm
md
lg

ญัตติพิทักษ์สถาบันฯ ในสมรภูมิต่อสู้ 2 แนวทาง !

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

ตอนที่ 1

ในช่วงรัฐบาลชุดที่แล้ว ผม – ในฐานะส.ว. - ได้ตั้งกระทู้ด่วนตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2551สอบถามนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นเรื่อง “มาตรการป้องกันและปราบปรามเว็บไซต์หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” เพราะเห็นว่าสถานการณ์หลังวันที่ 13 ตุลาคม 2551 มีเว็บไซต์หมิ่นพระบรมเดชานุภาพเกิดขึ้นมหาศาล แต่จนแล้วจนรอด นายกรัฐมนตรีคนเก่าก็ไม่ได้มาตอบ จนกระทั่งท่านหมดอายุขัย (ทางการเมือง) ไป

ล่าสุด จากการแถลงข่าวของรัฐมนตรีว่าการกระทรงยุติธรรมคนปัจจุบันเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2552 ท่านบอกว่ามีเว็บไซต์ลักษณะนี้มากกว่า 10,000 เว็บ ขณะที่กระทรวงไอซีทีไล่ปิดไปได้เพียง 2,000 เว็บเท่านั้น

เมื่อสบช่องเปิดสมัยประชุมสามัญทั่วไปอีกครั้ง ผมและเพื่อน ส.ว. รวม 24 คน จึงไม่รั้งรอที่จะพัฒนากระทู้เดิมมาเป็นญัตติใหม่

ญัตติเสนอตั้ง กรรมาธิการวิสามัญศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการในการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์

เนื้อหาสาระของญัตติโดยนัยแล้ว ไม่ได้เพียงแต่จะศึกษาติดตามกรณีที่มีกลุ่มคนกระทำการในลักษณะจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ แล้วแสวงหาหนทางดำเนินการตามกฎหมายโดยเร็วเท่านั้น

เพราะนั่นเป็นเพียง “อาการของโรค” !

ยังมีสิ่งสำคัญกว่าที่เราต้องพูดถึงคือ “สมุฏฐานของโรค” ที่ไม่เพียงแต่รัฐบาลและเจ้าหน้าที่ตำรวจเท่า นั้น หากแต่เป็นพวกเราทุกคน ทั้งในฐานะ ส.ว. และในฐานะพสกนิกรใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร จะต้องตระหนักและร่วมกันแก้ไขคนละไม้คนละมือตามหน้าที่

สมุฏฐานของโรคก็คือ ได้เกิดมีขบวนการที่มีแนวคิดเชิงอุดมการณ์ขัดแย้งกับ “ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ในแบบที่เรารู้จักมาตั้งแต่ปี 2475 ขึ้นมา และยังดำรงอยู่

คนในขบวนการนี้บางส่วนเป็น “ซ้ายเก่า” บางส่วนเป็น “ซ้ายใหม่” และบางส่วนไม่ใช้ทั้งซ้ายเก่าและซ้ายใหม่ แต่มีแนวคิดประชาธิปไตยเสรีนิยม ในรูปแบบสากล

สถาบันพระมหากษัตริย์ในมุมมองของผู้คนขบวนนี้ อย่างมากที่สุดก็แค่เคารพในฐานะสถาบันทางวัฒนธรรม และเป็นสัญลักษณ์

แต่...จะ “ตีความอย่างแคบ” ในประเด็นพระราชอำนาจ

และมองว่าบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 8 และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ก่อให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันขึ้นในสังคม ขัดหลักประชาธิปไตย

ในส่วนของคนที่เป็น “ซ้าย” จะยึดถือใน ทฤษฎีวัตถุนิยมวิภาษ และวัตถุนิยมประวัติศาสตร์

มีซ้ายเก่าอดีตสหายในป่าหลายคนคนมองกลุ่มการเมืองใหญ่ของนายทุนใหญ่ที่เขาเข้าไปร่วมงานว่า ไม่ต่างจาก พคท. ที่พวกเขาเคยล้มเหลวมา

เพราะต่างเป็นด้านที่ก้าวหน้า ด้านที่รุ่งโรจน์ !


เนื่องจากทฤษฎีวัตถุนิยมประวัติศาสตร์นั้น เชื่อว่าวิวัฒนาการของสังคมโลกจะเป็นไปตามขั้นตอน จาก สังคมทาส  สังคมศักดินา สังคมทุนนิยม  และจบลงที่  สังคมสังคมนิยม  สังคมคอมมิวนิสต์

ซ้ายเก่าวิเคราะห์สังคมไทยมาโดยตลอดว่าเป็นสังคมศักดินากึ่งเมืองขึ้น หรือสังคมทุนนิยมพึ่งพา

การร่วมส่วนอยู่กับขบวนทางการเมืองของนายทุนใหญ่จึงถือว่าอยู่ในด้านที่ก้าวหน้าของประวัติศาสตร์

ซ้ายเก่าหลายคนถึงกับเสนอคำขวัญลือลั่นในปี 2550 ว่า....

“ทุนนิยมสามานย์ ดีกว่าศักดินาล้าหลัง” !!

หลักการทำนองที่ว่านี้ถูกนำไปขยายในชนบททั่วประเทศ ในหมู่มวลชนเก่าของพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ที่ปัจจุบันเป็น “ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย” ให้เข้ามาร่วมส่วนกับกลุ่มการเมืองที่พวกเขาเข้าไปร่วม ตั้งแต่ราวปี 2542 แล้ว

อย่าคิดว่าผมย้อนยุคเลยที่พูดเรื่องพรรคคอมมิวนิสต์ เพราะล่าสุดเมื่อปลายปี 2551 ในวาระครบรอบ 66 ปีแห่งการก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์ไทย วันที่ 1 ธันวาคม 2551 ธง แจ่มศรี หรือ “สหายประชา ธัญไพบูลย์” หรือ “ลุงดิน” วัยเกือบ 90 เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ไทย ได้ออกแถลงการณ์ส่วนตัว เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์แห่งหนึ่ง มีข้อความเชิงสนับสนุนการเคลื่อนไหวของขบวนการทางการเมืองที่ใส่เสื้อสีแดง ตามฐานของทฤษฎีวัตถุนิยมประวัติศาสตร์ดังกล่าว

แถลงการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดการถกเถียงในหมู่อดีตสายกันมาก

เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2552 นี้เอง อาจารย์คณะมหาวิทยาลัยชื่อดังนามสกุลดังคนหนึ่งที่ได้ชื่อว่าเป็น:ซ้ายใหม่ หรือ “นีโอ-มาร์กซิสม์” ซึ่งถูกตำรวจตั้งข้อหาตามประมวลกฎ หมายอาญา มาตรา 112 จากการเขียนหนังสือภาษาอังกฤษวิพากษ์วิจารณ์การรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 เปิดแถลงข่าวโจมตีกฎหมายมาตรานี้ว่าขัดกับหลักประชาธิปไตย ปิดกั้นการแลกเปลี่ยนพูดคุยทางปัญญา

ล่าสุด ในการเข้ารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเมื่อวันที่ 20 มกราคม 2552 มีนักศึกษาคณะที่ท่านสอนอยู่เดินขบวนรณรงค์ให้เลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยโจมตีว่าเป็นเครื่องมือของเผด็จการ และทำให้ผู้คนไม่เท่าเทียมกันตามหลักประชาธิปไตย

นักศึกษากลุ่มนี้มาจากสถาบันที่พระมหากษัตริย์ในอดีตทรงก่อตั้งขึ้นด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์

ในวันนั้น ขบวนการเสื้อแดงเข้าร่วมในการรณรงค์ด้วย

นี่คือการผนวกการคัดค้านต่อต้านรัฐบาลประชาธิปัตย์ และการเรียกร้องประชาธิปไตยตามหลักสากล เข้ากับการคัดค้านต่อต้าน ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

พวกเขาเห็นเสนอว่าประชาชนควรตรวจสอบสถาบันพระมหากษัตริย์ได้ด้วยความโปร่งใส !

พวกเขาเสนอว่าประชาชนควรมีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ได้อย่างเต็มที่ !!


ก่อนหน้านี้ ในงานเขียนต่างกรรมต่างวาระคนในขบวนความคิดเดียวกันนี้มีข้อเสนออีกหลายประการที่ผมเคยเขียนและอภิปรายบอกเล่ามาหลายหนแล้ว

• ไม่ต้องมีคณะองคมนตรี -- ให้ครม.ที่มาจากการเลือกตั้งทำหน้าที่แทน
• ไม่ต้องมีสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ -- พระมหากษัตริย์ควรเสียภาษี
• รัฐธรรมนูญไม่ต้องมีมาตรา 8 (พระมหากษัตริย์ละเมิดมิได้) ประมวลกฎหมายอาญาไม่ต้องมีมาตรา 112 (ฐานความผิดดูหมิ่นพระมหากษัตริย์ฯ)
• สถาบันพระมหากษัตริย์ทำอะไรไม่ได้ และต้องไม่ทำอะไร


สื่อไทยกระแสหลักไม่ได้ลงข่าวนี้ทำนองนี้อย่างเต็มที่นัก โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวล่าสุดเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2552 แต่อาจารย์คนดังผู้ต้องคดีเผยแพร่ข่าวไปทั่วโลก ผ่านเว็บไซต์เครือข่ายหลายเว็บ รวมทั้ง “ยูทูป” และมีการขานรับส่งต่อกันเป็นทอด ๆ ให้ร่วมลงชื่อคัดค้านประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

นี่คือเหตุผลส่วนหนึ่งที่ผมเห็นความจำเป็นว่าวุฒิสภาจำเป็นต้องตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นศึกษาติดตาม

ตอนที่ 2

ในขณะที่ผมและเพื่อน ส.ว. 24 คน กับเพื่อน ส.ว. ที่รับรองอีก 15 คน เสนอญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาติดตามการบังคับใช้กฎหมายและมาตรการในการพิทักษ์สถาบันพระมหากษัตริย์ คนอีกกลุ่มหนึ่งเขาก็ประกาศยกระดับตัวเองขึ้นเป็นสถาบันเหมือนกัน

โดยมีอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีคนหนึ่งเป็นผู้ให้ข่าวเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2552

เป็นอดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีคนที่โดนข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการปาฐกถาเป็นภาษาอังกฤษเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2549

อดีตรัฐมนตรีคนนี้เคยให้สัมภาษณ์เปิดเผยในวันที่ 23 เมษายน 2550 และวันที่ 20 พฤษภาคม 2550 ว่า ที่เขาเอาชีวิตเข้าเสี่ยงเลือกสนับสนุนพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรก็เพราะ....

“รับไม่ได้กับระบบศักดินาของไทย”

“ผมต้องการเห็นสงครามประชาชน...”


ในประโยค “รับไม่ได้กับระบบศักดินาของไทย” เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2550 นั้น ถ้าอ่านกันเต็ม ๆ จะเป็นดังนี้...

“ผมยอมรับระบบศักดินาไทยไม่ได้ และมีความรู้สึกว่าในตัวคุณทักษิณซึ่งมีจุดอ่อนอยู่หลายเรื่อง แต่ท่านก็ยังเป็นความหวังที่ดีที่สุดในการเปิดประตูไปสู่การเปลี่ยนแปลง เป็นหัวหมู่ทะลวงฟัน...”

อดีตรัฐมนตรียุคสมัคร สุนทรเวชคนนี้เชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรจะนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ประเทศไทยได้ โดยเปรียบเทียบกับท่านปรีดี พนมยงค์ มันสมองของการปฏิวัติ 24 มิถุนายน 2475

การหนีคดีอาญาไปต่างประเทศของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรถูกนำไปบิดเบือนเปรียบเทียบว่าเป็นเสมือนการหนีภัยรัฐประหารของท่านปรีดี พนมยงค์ เมื่อปี 2490

ในสปีชภาษาอังกฤษที่ต้องคดี อดีตรัฐมนตรีคนนี้แสดงความมั่นใจเหลือล้นว่าประเทศไทยนาทีนี้อยู่ในสถานการณ์เริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่เรียกว่า...

“การเปลี่ยนแปลงโดยสิ้นเชิง”

หรือที่ในภาษาอังกฤษท่านผู้นี้ใช้ว่า “The complete change” ครับ

อดีตรัฐมนตรีคนนี้พูดในทำนองว่า ท่านปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎร เมื่อปี 2475 พลาดโอกาสในการกระทำบางสิ่งบางอย่างไป

ในบทสัมภาษณ์ขนาดยาวล่าสุดเผยแพร่เมื่อวันอาทิตย์ที 18 มกราคม 2552 เนื้อใหญ่ใจความระบุว่าการเคลื่อนไหวของพวกเขาจะไม่มีวันหยุดลง ไม่ว่าจะมี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตรอยู่ร่วมด้วยหรือไม่ก็ตาม เขากำลังพัฒนา การเคลื่อน ไหวไปเป็นสถาบัน

“สถาบันคนเสื้อแดง”

เป้าหมายของสถาบันแห่งใหม่นี้ก็คือ

จัดตั้ง “ประเทศไทยไทยใหม่” !

เขาบอกว่าเราต้องสร้างประเทศไทยใหม่ เหมือนกับสร้างเรือลำใหม่ก่อนน้ำจะท่วมโลก

เขาบอกว่าพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยต่อสู้เพื่อ “ระบอบที่กำลังจะตาย” แต่สถาบันเสื้อสีนี้ต่อสู้เพื่อ “ระบอบที่กำลังจะเกิด” !

ในการให้สัมภาษณ์ขนาดยาวครั้งล่าสุดนี้ เหมือนจะเป็นการขยายความประโยค “ผมต้องการเห็นสงครามประชาชน..” ของตนเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2550 อดีตรัฐมนตรีคนนี้จึงพูดถึงการริเริ่มจัดตั้งอย่างเป็นระบบในหลากหลายยูนิตของสถาบันของเขาว่าเป็นเสมือน...

การปูพื้นรองรับการลุกขึ้นสู้เพื่อระบอบใหม่ของมวลชนในอนาคต

ซึ่งคาดว่าน่าจะอยู่ในช่วง 5 ปี !


ช่างบังเอิญอย่างเหลือร้าย ที่เขาเลือกที่จะเปรียบเทียบกับการปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ.1789 และการปฏิวัติบอลเชวิคในรัสเซียเมื่อปี ค.ศ.1917

คนที่ผมกล่าวถึงโดยไม่ออกชื่อส่วนใหญ่ ถ้ามีโอกาส จะปฏิเสธว่าเขาไม่ได้คิดอย่างนั้น เขาเพียงคิดสร้าง “ระบอบประชาธิปไตย” ที่พ้นจากอิทธิพลของข้าราชการทั้งพลเรือน และโดยเฉพาะอย่างยิ่งทหาร ซึ่งเขาใช้ศัพท์เรียกว่า “อมาตยาธิปไตย” หรือ “ฝ่ายอมาตย์” เขาจะบอกว่าเขาเทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์

แต่โดยความเห็นส่วนตัวของผมและคณะ นี่เป็นภัยที่น่ากลัวไม่ยิ่งหย่อนกว่าในยุคสงครามเย็นช่วงหลังระว่างปี 2516 - 2525 แม้แต่น้อย

อาจจะ “มากกว่า” ด้วยซ้ำ เพราะช่องทางการสื่อสารปัจจุบันมีกว้างขวางกว่า หลากหลายกว่า รวดเร็วกว่า

และปิดกั้นแทบไม่ได้

ในยุคนั้น ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤตการณ์มาได้ด้วยกระแสการเปลี่ยนแปลงในโลกคอมมิวนิสต์เอง และการใช้นโยบายการเมืองนำการทหาร รวมทั้งพระบารมีของพระมหากษัตราธิราชเจ้าพระผู้ทรงหลั่งพระเสโทปฏิบัติพระราชกรณียกิจไปทั่วผืนแผ่นดินไทย

มาถึงยุคนี้ เหตุการณ์จาบจ้วงดูหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ที่เกิดขึ้นเป็นดอกเห็ดเป็นภยันตรายใหญ่หลวง -- ถ้าเรานิ่งดูดาย – มันจะเป็นบันไดขั้นสำคัญที่จะก้าวไปสู่จุดที่คนไทยทั้งชาติไม่ประสงค์ในอนาคต

การจาบจ้วงล่วงละเมิดสถาบันพระมหากษัตริย์ในวันนี้มีมากมายหลายรูปแบบ เปิดเผยมากขึ้น ชัดเจนมากขึ้น เต็มไปด้วยความเจ็บปวดเคียดแค้นมากขึ้น ซึ่งเมื่อประสานกับยุทธศาสตร์ “ชนบทล้อมเมือง – โลกล้อมประเทศ” ของผู้คนในขบวนนี้ ถ้าเราไม่ร่วมแรงร่วมใจกันระดมสติปัญญาแก้ไขอย่างจริงจัง..
.
อย่างเลวน้อยที่สุด เราอาจจะเห็น “รัฐไทยใหม่” หรือ “ประเทศไทยใหม่” เกิดขึ้นในต่างประ เทศก็ได้

อดีตรัฐมนตรีคนนั้น ถึงกับกล่าวว่า...

“ถ้าไล่กันมาก...ก็ไปทำนอกประเทศเลย...”

เขาคนนี้เป็นคนที่พูดซ้ำหลายครั้งว่า ความผิดพลาดของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร คนที่เขาเชื่อว่าจะเป็น “หัวหมู่ทะลวงฟัน” ให้กับสิ่งที่เรียกว่า “The complete change” คือการไม่จัดตั้งรัฐบาลพลัดถิ่นขึ้นในต่างแดนทันทีหลังเหตุการณ์รัฐประหาร 19 กันยายน 2549

ในที่ประชุมวุฒิสภา ผมไม่ได้อภิปรายตามที่เขียนมา 2 วันนี้ทั้งหมด เพราะเลือกที่จะให้เวลากับการอภิปรายในเชิงตัวบทกฎหมายไม่อยากให้มีลักษณะเป็นการเมืองมากเกินไปประการหนึ่ง และอีกประการหนึ่งอยากให้เพื่อนสมาชิกช่วยกันอภิปรายตามแนวความคิดของตน

ที่ประชุมวุฒิสภามีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้ด้วยเสียงเห็นด้วย 90 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง และ...

เสียงคัดค้าน 17 เสียง !
กำลังโหลดความคิดเห็น