xs
xsm
sm
md
lg

สั่งฟ้องแพ่ง"สมชาย"เรียกคืน70ล้านคดีที่ดินศาลธัญบุรี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รมว.แรงงานทำหนังสือถึงประธานป.ป.ช.แจ้งมติ อ.ก.พ.ลงโทษปลด"สมชาย วงศ์สวัสดิ์" ออกจากราชการย้อนหลัง พร้อมส่งเรื่องไปถึงกระทรวงยุติธรรม ให้ดำเนินการเอาผิดทางแพ่ง เรียกค่าเสียหาย 70 ล้านบาท ในคดีที่ดินศาลธัญบุรีที่ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดทางวินัยร้ายแรงอดีตนายกฯ ฐานละเว้นปฏิบัติหน้าที่ กรณีสั่งระงับเรื่องไม่ดำเนินคดีอธิบดีและรองอธิบดีกรมบังคับคดีสั่งคืนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินของศาลจังหวัดธัญบุรีโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

วานนี้ (23 ม.ค.) รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงาน แจ้งว่านายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน ได้มีหนังสือลงวันที่ 21 ม.ค.52 แจ้งไปยังประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ทราบมติของอ.ก.พ.ครั้งที่ 9/2551 เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.51 ลงโทษปลด นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ออกจากราชการ ขณะเดียวกัน ยังสั่งการให้ปลัดกระทรวงแรงงาน ส่งสำเนาเรื่องไปให้กระทรวงยุติธรรมเพื่อดำเนินการสำหรับความผิดทางแพ่งอีกด้วย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 51 ที่ผ่านมา ป.ป.ช.ได้มีมติชี้มูลความผิด นายสมชาย สมัยที่ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรม กรณีสั่งระงับเรื่องไม่ให้ดำเนินคดี อดีตอธิบดีกรมบังคับคดี และรองอธิบดีกรมบังคับคดี กรณีไม่เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมจำนวน 70 ล้านบาท ที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินศาลจ.ธัญบุรี จนเป็นเหตุให้รัฐได้รับความเสียหาย
หลังจากป.ป.ช. ชี้มูลความผิดนายสมชาย เมื่อวันที่ 16 ต.ค. 51 ป.ป.ช.ได้ส่งเรื่องไปยังกระทรวงแรงงาน ซึ่งนายสมชาย ปฏิบัติหน้าที่ปลัดกระทรวงอยู่ก่อนจะลาออกจากราชการ แม้ว่าครม.ทักษิณ จะมีมติให้ย้ายนายสมชาย กลับมาเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม แต่มตินั้นยังไม่มีผลในทางปฏิบัติ
ต่อมาทางอ.ก.พ.กระทรวงแรงงาน ซึ่งขณะนั้นมีนางอุไรวรรณ เทียนทอง ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ใช้เวลาร่วม 2 เดือนในการพิจารณาเรื่องที่ป.ป.ช.ส่งมา กระทั่งเพิ่งมีมติอ.ก.พ.ในคราวประชุมครั้งที่ 9/2551 เมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 51 ลงโทษปลดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ออกจากราชการ
ตามขั้นตอนทางกฎหมาย หลังจากป.ป.ช.ชี้มูลความผิด ป.ป.ช.จะส่งเรื่องให้กระทรวงต้นสังกัดดำเนินการภายใน 30 วัน โดยคดีนี้มีโทษ ปลดออก ให้ออก หรือไล่ออก เท่านั้น และตามมาตรา 84 วรรค สอง ของ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 ไม่ได้ระบุว่า ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมือง การชี้มูลความผิดของป.ป.ช.ในเรื่องดังกล่าว จึงไม่มีผลต่อคุณสมบัติต่อการเป็นนายกรัฐมนตรีของนายสมชาย (ในขณะนั้น) แต่อย่างใด
ทั้งนี้ ตามพ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 มาตรา 97 กำหนดโทษข้าราชการที่ถูกปลดออก ยังสามารถรับเงินบำเหน็จบำนาญได้ต่อไป เสมือนได้ลาออกเอง ขณะเดียวกัน ตามหลักเกณฑ์สำหรับข้าราชการ หากถูกป.ป.ช.ชี้มูลความผิด บทลงโทษมีอยู่สองอย่าง คือ ไม่ปลดออกก็ต้องไล่ออก ซึ่งการถูกไล่ออกจะไม่ได้รับบำเหน็จบำนาญ
อนึ่ง ในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ต่ออายุราชการ นายสมชาย ในตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรม ถึงสองครั้ง เป็นเวลา 2 ปี จนเต็มเพดาน และตามกฎหมายไม่สามารถต่อายุในตำแหน่งเดิมได้อีก ครม.ทักษิณ จึงได้ใช้วิธีเลี่ยงกฎหมายโดยย้ายนายสมชาย ไปเป็นปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นการชั่วคราว เมื่อวันที่ 10 ม.ค.49 จากนั้น ครม.ทักษิณ ก็มีมติย้ายนายสมสมชาย กลับมาเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม อีกครั้ง แต่อย่างไรก็ตามได้เกิดเหตุการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย.49 เสียก่อน ทำให้นายสมชาย ตัดสินใจลาออกจากราชการ และเข้าสู่เส้นทางการเมืองเต็มตัว

พลิกแฟ้มป.ป.ช.ชี้มูลความผิดสมชาย

เมื่อวันที่ 16 ต.ค.51 ที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดทางวินัยร้ายแรง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ในฐานะอดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม กระทำผิดวินัยร้ายแรงตามที่คณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงระบุว่า ในขณะที่นายสมชาย ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ กรณีสั่งระงับเรื่องไม่ดำเนินคดีกับ นายประมาณ ตียะไพบูลย์สิน อดีตอธิบดีกรมบังคับคดี และนายมานิตย์ สุธาพร อดีตรองอธิบดีกรมบังคับคดี ที่ไม่เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียม 70 ล้านบาท จากการขายทอดตลาดที่ดินของศาลจังหวัดธัญบุรี
คณะกรรมการป.ป.ช. มีมติ เอกฉันท์ ส่งเรื่องให้รมว.ยุติธรรม พิจารณาลงโทษทางวินัยร้ายแรงแก่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี สมัยดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรม ตามมูลความผิดทางวินัย ฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง กรณีสั่งระงับเรื่องไม่ดำเนินคดีอธิบดีและรองอธิบดีกรมบังคับคดี ที่สั่งคืนเงินจำนวน 70 ล้านบาท ที่ได้จากการขายทอดตลาดของศาลจังหวัดธัญบุรี โดยมิชอบด้วยกฎหมาย
ทั้งนี้ นายสมชาย ได้ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาเป็นหนังสือสรุปได้ว่า (1) กรณีนี้เป็นการสอบสวนข้อเท็จจริงเพื่อพิจารณามูลความผิดทางวินัยของผู้ถูกร้องเรียน เมื่อคณะกรรมการสรุปผลการสอบสวนข้อเท็จจริงว่า ไม่มีพยานหลักฐานแสดงว่านายประมาณ ตียะไพบูลย์สิน อธิบดีกรมบังคับคดี และนายมานิตย์ สุธาพร รองอธิบดีกรมบังคับคดี มีเจตนาทุจริตสั่งคืนเงิน 70 ล้านบาท ให้แก่คู่ความโดยไม่หักค่าธรรมเนียมการบังคับคดีไว้ตามกฎหมาย กรณีนี้จึงไม่สามารถลงโทษทางวินัยกับ นายประมาณ และนายมานิตย์ ได้
(2) สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ โดยนายบัณฑิต รชตะนันท์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม และรักษาราชการเลขาธิการสำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ มีคำสั่งระงับเรื่อง ซึ่งตรงกับผลการสอบสวนข้อเท็จจริง ตนเองพิจารณาเห็นชอบด้วย จึงลงนามเห็นชอบไปตามระเบียบขั้นตอนการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต ไม่สามารถใช้ดุลยพินิจได้ตามอำเภอใจ เพราะเป็นการเสนอข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามแนวทางการสอบสวน พร้อมความเห็นมาตามลำดับชั้นประกอบในการสั่งการตามสายงานการบังคับบัญชา เป็นลำดับขั้นตอนตามกฎหมาย
(3) กรมบังคับคดี แม้อยู่ในสังกัดกระทรวงยุติธรรม แต่กรมบังคับคดี ก็มีอธิบดีเป็นผู้มีอำนาจ กำกับ ดูแล และสั่งการภายใน อธิบดีกรมบังคับคดี ก็มีฐานะเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดีตามหมายบังคับคดี
ดังนั้น ในกรณีที่กรมบังคับคดี ไม่หักค่าธรรมเนียมการขายทอดตลาด จากเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินที่ศาลจังหวัดธัญบุรี เป็นอำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงเป็นกรณีที่เกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของอธิบดีกรมบังคับคดี และเจ้าพนักงานบังคับคดี ในเรื่องที่เกี่ยวกับการบังคับคดีและเรียกเก็บค่าธรรมเนียมของกรมบังคับคดีโดยตรง หาเป็นเรื่องที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของปลัดกระทรวงยุติธรรม และรองปลัดกระทรวงยุติธรรม ที่จะเข้าไปก้าวก่าย หรือชี้นำได้
(4) ประเด็นเรื่องการคืนเงินให้คู่ความโดยไม่หักค่าธรรมเนียมการขายทอดตลาด เป็นการไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เป็นประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย ซึ่งปัญหาข้อกฎหมายดังกล่าว ยังไม่เป็นข้อยุติ
นอกจากนี้ นายสมชาย ยังชี้แจงด้วยวาจาว่า 1.จากรายงานของคณะกรรมการสอบสวนที่พิจารณาว่า การที่กรมบังคับคดีคืนเงิน 70 ล้านบาท ให้แก่คู่ความโดยไม่หักค่าธรรมเนียมไว้เลย เป็นการไม่ถูกต้องและไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เป็นข้อสังเกตนอกสำนวนของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง ไม่อยู่ในกรอบคำสั่งที่ 915/2542 ทั้งเป็นข้อกฎหมายที่ยังไม่ยุติ กล่าวคือ ยังไม่มีกฎระเบียบว่าจะต้องเรียกเก็บค่าธรรมเนียมในกรณีที่เป็นปัญหานี้หรือไม่
2. การบังคับคดีเป็นเรื่องของศาล หากตนเข้าไปก้าวก่ายสั่งการก็จะเป็นการละเมิดอำนาจศาล และข้อสังเกตของคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง เป็นข้อสังเกตที่อยู่นอกกรอบคำสั่งที่ให้สอบสวน และเป็นเรื่องของศาลกับเจ้าพนักงานบังคับคดี ซึ่งจะต้องเสนอศาลให้พิจารณา และข้อสังเกตของคณะกรรมการดังกล่าวไม่ผูกพันผู้บังคับบัญชาที่จะต้องพิจารณา ทั้งในเรื่องการบังคับคดีก็เป็นอำนาจของศาล
คณะกรรมการ.ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า กรณีที่มีความเห็นของคณะกรรมการสอบสวนและสำนักงานส่งเสริมงานตุลาการแตกต่างกัน ปลัดกระทรวงในฐานะผู้บังคับบัญชาส่วนราชการในสังกัดกระทรวงยุติธรรม ควรต้องใช้ดุลยพินิจตามภาวะวิสัยของข้าราชการที่อยู่ฐานะและตำแหน่งดังกล่าว ซึ่งมีหน้าที่จะต้องพิจารณาเรื่องราวด้วยความสุจริต รอบคอบ ระมัดระวัง พิทักษ์ผลประโยชน์ของแผ่นดิน โดยคำนึงถึงข้อเท็จจริง เหตุผล และผลประโยชน์ของราชการเป็นหลัก แต่ผู้ถูกกล่าวหาก็มิได้กระทำดังกล่าว เป็นมูลเหตุให้มีผู้สงสัยในพฤติการณ์ของผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งไม่ได้เห็นด้วยกับกระทรวงยุติธรรม มีการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน เกิดกรณีพิพาทระหว่างผู้กล่าวหากับนายประมาณ และนายมานิตย์ รวมทั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในกระทรวงยุติธรรม ในเวลาต่อมา ทำให้เกิดภาพลักษณ์ไม่ดีแก่สถาบันตุลาการ นายบัณฑิต ในฐานะรองปลัดกระทรวง และนายสมชาย ในฐานะปลัดกระทรวง จึงควรที่จะต้องดำเนินการตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 99 คือ ตั้งคณะกรรมการสอบสวนทางวินัยแก่นายมานิตย์ รวมทั้งแจ้งให้อธิบดีกรมบังคับคดี แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ความรับผิดทางละเมิด เพื่อหาตัว ผู้รับผิดชอบทางแพ่ง ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของ เจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ข้อ 8
แต่นายบัณฑิต และนายสมชาย กลับมีความเห็นให้สั่งระงับเรื่อง พฤติการณ์ของบุคคลทั้งสองจึงมีมูลความทางวินัยฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 มาตรา 84 วรรคสอง
สำหรับนายสุทัศน์ เงินหมื่น อดีตรมว.ยุติธรรม เมื่อได้รับรายงานจากปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้ลงนามรับทราบ และแจ้งให้ผู้ร้องทราบ คณะกรรมการป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า พฤติการณ์ของนายสุทัศน์ มีมูลเป็นความผิดฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการเช่นเดียวกัน แต่โดยที่นายสุทัศน์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรี ซึ่งไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับวินัยใช้บังคับ ประกอบกับได้พ้นจากตำแหน่งไปแล้ว คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงไม่อาจดำเนินการ ต่อไปได้
คณะกรรมการ ป.ป.ช.จึงมีมติให้ส่งเรื่องประธานคณะกรรมการตุลาการพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการแก่นายบัณฑิต และส่งเรื่องให้ รมว.ยุติธรรม พิจารณาลงโทษทางวินัยแก่นายสมชาย ต่อไป
คดีที่ดินศาลธัญบุรี นับเป็นคดีที่โด่งดัง และมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์นับแต่มีการตั้งกระทรวงยุติธรรมมา แต่การกระบวนการตรวจสอบ สอบสวนความผิดไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดแจ้ง นายมานิตย์ สุธาพร รองอธิบดีกรมบังคับคดี ขณะนั้น ได้รับการปกป้องจาก นายสมชาย โดยนายสมชาย มีคำสั่งให้ยุติการสอบสวนเรื่องดังกล่าว เมื่อครั้งที่จะมีการเสนอชื่อนายมานิตย์ ขึ้นเป็นอธิบดีกรมบังคับคดี เมื่อปี 2543 ทำให้การสอบสวนทางวินัย นายมานิตย์ ชะงักลงนานกว่า 7 ปี
คดีนี้ นายชำนาญ รวิวรรณพงษ์ สมัยดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลอาญา เป็นผู้ร้องเรียนต่อกระทรวงให้ตรวจสอบการเรียกรับสินบน และขอให้สอบสวนการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการในการบังคับคดีที่ดินของศาลจังหวัดธัญบุรี มาตั้งแต่ปี 2541 แต่การสอบสวนของกระทรวงที่เข้าลักษณะลูบหน้าปะจมูก
มิหนำซ้ำ นายชำนาญ เอง ยังถูกนายสุทัศน์ และนายมานิตย์ เล่นงานกลับ โดยยื่นหนังสือร้องเรียนไปยังประธานศาลฎีกา ให้สอบสวนความประพฤติของนายชำนาญ ในที่สุดนายชำนาญ จึงเดินหน้ายื่นเรื่องร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สอบสวนนายนายสุทัศน์ เงินหมื่น และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม (ขณะนั้น) ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ดำเนินการสอบวินัยและเอาผิด นายมานิตย์ และนายประมาณ ตียะไพบูลย์สิน
คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงตามข้อร้องเรียนดังกล่าว ตั้งแต่เดือน พ.ย.49 โดยมีนายกล้านรงค์ จันทิก กรรมการ ป.ป.ช. เป็นประธานอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง

“มานิตย์”ลาก“สมชาย”ลงเหว

สำหรับนายมานิตย์ สุธาพร ซึ่งเป็นบุคคลที่นายสมชาย ปกป้องสั่งให้ยุติการสอบสวนนั้น ถูกชี้มูลความผิดจาก ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 16 พ.ย. 49 โดยที่ประชุมคณะกรรมการป.ป.ช. มีมติชี้มูลความผิดนายมานิตย์ สุธาพร อดีตรองอธิบดีกรมบังคับคดี ในข้อหาปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต จากกรณีการสั่งคืนเงิน 70 ล้านบาทที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินจำนวน 897 ล้านบาท ของศาลจังหวัดธัญบุรี
ทั้งนี้ จากการไต่สวนข้อเท็จจริง ของ ป.ป.ช. พบว่าศาลจังหวัดธัญบุรีได้ขายทอดตลาดที่ดิน 2 แปลงที่ อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ให้ผู้ซื้อรายหนึ่งในราคา 897 ล้านบาท โดยผู้ซื้อได้วางเงินค่าซื้อทรัพย์ 70 ล้านบาทต่อศาล และได้ส่งเงิน 70 ล้านบาทมายังกรมบังคับคดี
แต่นายมานิตย์ ผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งดำรงตำแหน่งรองอธิบดีกรมบังคับคดีในขณะนั้น มีคำสั่งคืนเงิน 70 ล้านบาท ที่ได้จากการขายทอดตลาด โดยไม่เรียกเก็บค่าธรรมเนียมการขายทอดตลาดร้อยละ 5 ตามกฎหมาย ทั้งที่กรมบังคับคดีมีหน้าที่ต้องหักค่า ธรรมเนียมการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 318 และ 319 จากเงินดังกล่าวก่อน แล้วค่อยจ่ายให้กับผู้มีสิทธิรับเงิน ดังนั้น จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย
จากการไต่สวนยังพบว่า ก่อนที่ผู้ถูกกล่าวหาจะสั่งคืนเงิน 70 ล้านบาท ผู้ถูกกล่าวหาได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเป็นหุ้นของบริษัทมหาชนแห่งหนึ่งจำนวน 10,000 หุ้น จากประธานกรรมการบริษัทฯ ที่มาซื้อที่ดินแปลงนั้น โดยผู้ถูกกล่าวหาได้นำหุ้นดังกล่าวไปขายได้เงินมา 865,650 บาท
ส่วนเงิน 70 ล้านบาทที่ได้คืนไปนั้น พบว่ามีการโอนเข้าบัญชีของบริษัทมหาชนบริษัทแห่งนี้จำนวน 56.5 ล้านบาท และโอนเข้าบัญชีประธานกรรมการประธานบริษัท ที่เป็นผู้มอบหุ้นให้ผู้ถูกกล่าวหา จำนวน 13.5 ล้านบาท แม้ผู้ถูกกล่าวหาแก้ข้อกล่าวหาว่า เป็นการซื้อหุ้น แต่จากหลักฐานและเหตุผล ที่ ป.ป.ช.วินิจฉัยเห็นว่า คำแก้ข้อกล่าวหานั้นฟังไม่ขึ้น โดยเห็นว่าการได้รับหุ้นดังกล่าว เป็นการแสวงหาประโยชน์ ที่มิควรได้โดยชอบ อันเป็นมูลเหตุจูงใจให้ผู้ถูกกล่าวหาสั่งคืนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดโดยไม่หักค่าธรรมเนียม ร้อยละ 5 ตามกฎหมาย
คณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำดังกล่าวเป็นเหตุให้กรมบังคับคดีได้รับความเสียหาย ไม่ได้รับเงินค่าธรรมเนียม ถือว่ามีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ฐานทุจริตต่อ หน้าที่ จงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมายและระเบียบ และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน และมีมูลเป็นความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา จึงให้ส่งเรื่องให้ผู้บังคับบัญชาดำเนินการทางวินัย และส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดฟ้องคดีต่อศาล
ต่อมา เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 49 อ.ก.พ. กระทรวงยุติธรรม มีมติ 4 ต่อ 1ให้ไล่นายมานิตย์ สุธาพร ออกจากราชการ ซึ่งขณะนั้น นายมานิตย์ ดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงยุติธรรม

ไม่มีสิทธิ์สอบสวน พิจารณาใหม่

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รมว.ยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่ คณะกรรมการป.ป.ช. มีมติให้ปลดข้าราชการระดับสูง เนื่องจากมีความผิด แต่รัฐมนตรีที่รับหนังสือมาไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ปล่อยวางเฉย รัฐมนตรีจะมีความผิดหรือไม่ ว่า ก็ต้องไปดูก่อนว่ารับมาแล้วเขาเดินเรื่องอย่างไรบ้าง ถ้าเฉยจริงๆ ก็ผิด เนื่องจากละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เพราะว่าตามกฎหมายของ ป.ป.ช. กับกฎหมายว่าด้วยระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อชี้มูลเหตุเสร็จ ก็ต้องกำหนดโทษ "สมมุติว่า เรามีเรื่องการสอบสวนในกระทรวงเรา คณะกรรมการสอบสวนเสร็จ ชี้มูลเสร็จ ก็ต้องส่งมาตามลำดับชั้น เมื่อตามลำดับชั้นเขาก็มีขั้นตอนว่า จะทบทวนหรือไม่ทบทวน แต่อย่างไรก็แล้วแต่ เมื่อสรุปแล้วก็ต้องกำหนดโทษ ถ้าไม่กำหนดโทษ ก็ต้องบอกว่าสอบสวนแล้วไม่พบความผิด ก็ต้องยกเลิกไปก็จบไป แต่ถ้าพบก็ต้องกำหนดโทษไม่กำหนดโทษไม่ได้ มันเป็นเงื่อนไขของกฎหมาย ที่บอกไว้ว่าเมื่อป.ป.ช. สอบสวน ชี้มูลเสร็จเรียบร้อยในกรณีอย่างนี้ ส่งกลับมาที่ต้นสังกัด ต้นสังกัดไม่มีสิทธิ์ ที่จะไปสอบสวนทบทวน สิ่งที่ต้นสังกัดต้องทำ มีอย่างเดียวคือกำหนดโทษตามนั้นเลย เพราะฉะนั้นภารกิจของต้นสังกัดในกรณีที่ป.ป.ช. ที่ว่านี้ ภาระกิจ และอำนาจหน้าที่ของต้นสังกัดไม่มีสิทธิ์ไปสอบสวน ทบทวนและพิจารณาใหม่ มีหน้าที่อย่างเดียวตามกฎหมายระบุไว้ คือ กำหนดโทษตามที่ป.ป.ช.ได้กำหนดความผิดมา" นายพีระพันธุ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น