รมว.แรงงานทำหนังสือถึงประธาน ป.ป.ช.แจ้งมติ อ.ก.พ.ลงโทษปลด “สมชาย วงศ์สวัสดิ์” ออกจากราชการย้อนหลัง ขณะเดียวกันยังส่งเรื่องไปถึงกระทรวงยุติธรรมให้ดำเนินการเอาผิดทางแพ่งเรียกค่าเสียหาย 70 ล้านบาทอีกด้วย
วันนี้ (23 ม.ค.) มีรายงานจากกระทรวงแรงงานว่า นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้มีหนังสือลงวันที่ 21 มกราคม 2552 แจ้งไปยังประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ทราบมติของ อ.ก.พ.ครั้งที่ 9/2551 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2551 ลงโทษปลดนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ออกจากราชการ ขณะเดียวกันยังได้มีบัญชาให้ปลัดกระทรวงแรงงานส่งสำเนาเรื่องไปให้กระทรวงยุติธรรมเพื่อดำเนินการสำหรับความผิดทางแพ่งอีกด้วย
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ป.ป.ช.ได้มีมติชี้มูลความผิด นายสมชาย สมัยที่ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรม กรณีสั่งระงับเรื่องไม่ให้ดำเนินคดีอดีตอธิบดีกรมบังคับคดี และรองอธิบดีกรมบังคับคดี กรณีไม่เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมจำนวน 70 ล้านบาท ที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินศาล จ.ธัญบุรี จนเป็นเหตุให้รัฐได้รับความเสียหาย
ที่ผ่านมาในสมัยรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ต่ออายุราชการในตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรมถึงสองครั้งเป็นเวลา 2 ปี จนเต็มเพดาน ตามกฎหมายไม่สามารถต่อายุในตำแหน่งเดิมได้อีก อย่างไรก็ดี ได้ใช้วิธีเลี่ยงโดยให้ย้ายไปเป็นปลัดกระทรวงแรงงานเป็นการชั่วคราว เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2549 จากนั้นแม้ว่า คณะรัฐมนตรีสมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ได้มติย้ายนายสมสมชายกลับมาเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรมอีกครั้ง แต่ได้เกิดเหตุการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เสียก่อน ทำให้นายสมชายตัดสินใจลาออกจากราชการ และเข้าสู่เส้นทางการเมืองเต็มตัว
อย่างไรก็ดี พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 ในมาตรา 97 ซึ่งกำหนดโทษข้าราชการที่ถูกปลดออกนั้นยังสามารถรับเงินบำเหน็จบำนาญได้ต่อไป เสมือนได้ลาออกเอง
ขณะเดียวกันตามหลักเกณฑ์สำหรับข้าราชการหากถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิด บทลงโทษมีอยู่สองอย่างคือไม่ปลดออกก็ต้องไล่ออก ซึ่งการถูกไล่ออกจะไม่ได้รับบำเหน็จบำนาญ