xs
xsm
sm
md
lg

แรงงานตั้ง 3 ทีมช่วยเลิกจ้าง-ว่างงาน เตรียมชงเป็นวาระแห่งชาติ เปิดสายด่วนรับแก้ปัญหา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ขณะนี้ พิษเศรษฐกิจส่งผลให้หลายองค์กร บอกเลิกจ้างพนักงานเป็นจำนวนมาก (ภาพประกอบข่าวจากอินเทอร์เนต)
กระทรวงแรงงานเสนอ ครม.เห็นชอบตั้งคณะทำงาน 3 ชุด เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาวิกฤต ศก.อย่างเป็นระบบ ในวันที่ 7 ม.ค.นี้ พร้อมเปิดสายด่วน 1506 และ 1694 หรือศูนย์บริการเบ็ดเสร็จแก้ไขปัญหาด้านแรงงานในทุกจังหวัด เตรียมเสนอแนวทางแก้ไขเป็นวาระแห่งชาติ

วันนี้ (6 ม.ค.) นายพรชัย อยู่ประยงค์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะโฆษกกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า จากสถานการณ์การเลิกจ้างในสภาววิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในขณะนี้ กระทรวงแรงงานจึงได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 3 คณะ คือ คณะกรรมการติดตามสถานการณ์ด้านแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลก, คณะกรรมการดูแลคุ้มครองสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายให้กับผู้ถูกเลิกจ้าง และคณะกรรมการจัดหางานและพัฒนาทักษะฝีมือให้กับผู้ถูกเลิกจ้างให้ครอบคลุมทั้งการติดตามสถานการณ์ ดูแลคุ้มครองสิทธิหากจะต้องมีการเลิกจ้างลูกจ้าง รวมไปถึงการพัฒนาทักษะหากลูกจ้างต้องการเพิ่มฝีมือเพื่อการหางานใหม่ และจัดเตรียมตำแหน่งงานไว้รองรับด้วย โดยจะเสนอขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในวันที่ 7 ม.ค.2552 เพื่อกำหนดให้การแก้ไขเป็นวาระแห่งชาติดังกล่าว

รองปลัดกระทรวงแรงงาน ชี้แจงว่า คณะกรรมการทั้งหมดจะรองรับการแก้ไขปัญหาการเลิกจ้าง กำหนดมาตรการบรรเทาปัญหาการว่างงานจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ แต่การดำเนินการของหน่วยงานยังมีข้อจำกัด ยังไม่ได้มีการกำหนดแผนงานในภาพรวมของประเทศ ดังนั้นจึงต้องกำหนดการแก้ไขปัญหาการเลิกจ้าง การว่างงานให้เป็น “วาระแห่งชาติ” เพื่อให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีเอกภาพร่วมกันแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ซึ่งจำเป็นต้องมีสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการนโยบายบรรเทาปัญหาการว่างงานจากภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ โดยให้ตั้งสำนักงานนี้ที่กระทรวงแรงงาน มีปลัดกระทรวงแรงงานเป็นผู้อำนวยการ อธิบดีกรมการปกครอง อธิบดีกรมการจัดหางาน อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม และรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นผู้อำนวยการร่วม และมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาประจำปฏิบัติงานเพื่อติดตามสถานการณ์ การประมวลข้อมูลรายงาน การเป็นศูนย์กลางประสานการทำงานกับอนุกรรมการ หน่วยงาน เอกชน และด้านการประชาสัมพันธ์

โดยรูปแบบการให้ความช่วยเหลือของกระทรวงแรงงาน จะให้ผู้ประสบปัญหาการเลิกจ้างรับบริการผ่านช่องทางโทรศัพท์ 1506 และ 1694 หรือติดต่อโดยตรงที่ “ศูนย์บริการเบ็ดเสร็จแก้ไขปัญหาด้านแรงงาน” ตั้งอยู่ที่สำนักงานแรงงานจังหวัดทุกจังหวัด ซึ่งจะให้ทั้งวคำปรึกษา นำหน่วยงานเข้าช่วยเหลือในพื้นที่ที่มีการเลิกจ้าง และจัดหางาน ที่สำคัญขณะนี้กรมการจัดหางานได้จัดมหกรรมนัดพบแรงงานเป็นระยะเวลา 3 เดือน โดยจัดเตรียมตำแหน่งงานว่างเพื่อช่วยเหลือผู้ตกงาน ซึ่งครั้งแรกคือในวันเสาร์ที่ 17 ม.ค.2552 ที่กระทรวงแรงงาน ระหว่างเวลา 09.00-16.00 น. พร้อมคำปรึกษาด้านการประกอบอาชีพอิสระและรับงานไปทำที่บ้าน ในเดือนมีนาคม 2552 จะมีการจัดงานมหกรรมนัดพบแรงงานครั้งใหญ่เพื่อรองรับผู้ที่กำลังจะจบการศึกษาที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานอีกไม่น้อยกว่า 500,000 คนประมาณวันที่ 20

นอกจากนี้ในวันที่ 7-8 ม.ค.2552 จะมีการจัดประชุมใหญ่ร่วมกับสภาองค์การนายจ้างและลูกจ้าง 24 องค์กร พร้อมเรียกบริษัทเหมาจ้างทั่วประเทศ 1,575 แห่ง เพื่อกำชับการจ่ายเงินชดเชยและการบอกเลิกจ้างล่วงหน้า

ทั้งนี้ แม้รัฐบาลจะมีนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาหลายด้าน แต่การลงทุนของภาคเอกชนยังถดถอย และจากการการที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังและสถาบันพยากรณ์ทางเศรษฐกิจต่างๆ ได้คาดการณ์ เศรษฐกิจไทยในปี 2552 ว่าจะมีการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติเพียงร้อยละ 1.8 และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้คาดประมาณว่าจะมีการว่างงานในปี 2552 ประมาณ 1 ล้านกว่าคน ประกอบกับข้อมูลของกระทรวงแรงงานพบว่าในระยะเวลาตั้งแต่เดือนม.ค.ถึงธันวาคม 2551 มีสถานประกอบกิจการจำนวน 597 แห่ง เลิกจ้างลูกจ้างไปแล้วจำนวน 48,602 คน และมีแนวโน้มจะเลิกจ้างในช่วงเวลาข้างหน้าอีกประมาณ 265 แห่ง ลูกจ้าง 130,480 คน และข้อมูลของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยคาดประมาณว่าในช่วงระยะเวลาเดือนม.ค.ถึงกุมภาพันธ์ 2552 จะมีการเลิกจ้างแรงงานประมาณ 700,000 คน โดยยังไม่รวมตัวเลขจำนวนผู้สำเร็จการศึกษาใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานอีกไม่น้อยกว่า 500,000 คน จึงเป็นสิ่งที่ทุกหน่วยงานของไทยจะต้องเร่งหาทางบรรเทาและแก้ปัญหาโดยเร่งด่วน

อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานได้เตรียมมาตรการต่างๆ ไว้บรรเทา แก้ไขปัญหาแล้ว โดยนายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มีการเตรียมมาตรการ 3 ลด - 3 เพิ่ม ได้แก่ ลดการเลิกจ้าง ลดการเคลื่อนย้ายแรงงาน ลดค่าครองชีพ เพิ่มการจ้างงาน เพิ่มทางเลือกในการประกอบอาชีพ และเพิ่ม ฝีมือแรงงาน มาใช้บรรเทาปัญหาการเลิกจ้าง รวมถึงเสนอให้สำนักงานประกันสังคมไปศึกษาการนำเงินประกันสังคมไปฝากธนาคาร เพื่อให้ภาคธนาคารมีเงินสำรองในระบบแล้วให้พิจารณาปล่อยกู้ให้กับ สถานประกอบการ โดยตั้งเงื่อนไขในการปล่อยกู้ว่าต้องไม่เลิกจ้างพนักงาน

นอกจากนี้ยังจะได้ดูแลบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ถูกเลิกจ้าง ผู้ว่างงาน อันเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจ โดยดูแลให้ได้รับสิทธิประโยชน์ที่พึงจะได้รับตามกฎหมายโดยเร็ว การหางานใหม่ การส่งเสริมอาชีพอิสระ การสร้างงานและการเพิ่มพูนทักษะ เพื่อปรับเปลี่ยนอาชีพ รวมทั้งการจัดสวัสดิการที่จำเป็น เช่น การเพิ่มวงเงินให้กองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้าง และการดำเนินโครงการสานฝันแรงงานคืนถิ่น ซึ่งรวมถึงการสร้างงานและจัดที่ทำกิน การให้เข้าถึงแหล่งทุนสำหรับแรงงานนอกภาคเกษตรที่ถูกเลิกจ้างให้คืนสู่ภาคเกษตรกรรมต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น