xs
xsm
sm
md
lg

"สมชาย" ยื่นอุทธรณ์ ก.พ.ค. กรณีคำสั่งปลดออกจากราชการ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางจรวยพร ธรณินทร์ โฆษกคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) เปิดเผยว่า ตามที่ อ.ก.พ.กระทรวงแรงงาน ได้มีมติสั่งลงโทษทางวินัยร้ายแรงแก่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ในฐานะปลัดกระทรวงแรงงาน โดยลงโทษปลดออกจากราชการย้อนหลัง ตามมูลความผิดที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งเรื่องมาให้ในสมัยที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรม ตามมูลความผิดทางวินัย ฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง กรณีสั่งระงับเรื่องไม่ดำเนินคดีอธิบดี และรองอธิบดีกรมบังคับคดี ที่สั่งคืนเงินจำนวน 70 ล้านบาท ซึ่งได้จากการขายทอดตลาดของศาลจังหวัดธัญบุรี โดยมิชอบด้วยกฎหมาย จนเป็นเหตุให้รัฐได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นฐานความผิดตามมาตรา 84 วรรค 2 ของพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2535 นั้น นายสมชาย ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งลงโทษทางวินัยร้ายแรงดังกล่าวต่อ ก.พ.ค.แล้ว เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมา
สำหรับขั้นตอนของกระบวนการอุทธรณ์ ก.พ.ค.จะมอบหมายให้องค์คณะวินิจฉัยอุทธรณ์เป็นผู้ดำเนินการ โดยมีทั้งสิ้น 4 ขั้นตอน ได้แก่ 1.การพิจารณาว่าจะรับหรือไม่รับอุทธรณ์ 2.การแสวงหาข้อเท็จจริง โดยจะให้คู่กรณีในการอุทธรณ์จัดทำคำแก้อุทธรณ์ และให้ผู้อุทธรณ์ทำคำคัดค้านคำแก้อุทธรณ์ และคู่กรณีทำคำแก้อุทธรณ์เพิ่มเติม ซึ่งเมื่อได้ข้อเท็จจริงเพียงพอแล้วจะกำหนดวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง 3.การนั่งพิจารณาอุทธรณ์ครั้งแรก โดยจะเชิญคู่กรณีแถลงด้วยวาจา มีการซักถามคู่กรณีและพยาน และขั้นตอนที่ 4.การทำคำวินิจฉัยและคำสั่ง ซึ่งองค์คณะวินิจฉัยจะนัดประชุม เพื่อพิจารณาวินิจฉัย และส่งคำวินิจฉัยต่อ ก.พ.ค.ทั้งคณะ เพื่อพิจารณาและแจ้งคำวินิจฉัยไปยังคู่กรณีและติดตามผล
สำหรับกระบวนการอุทธรณ์ของ ก.พ.ค.จะใช้เวลาวินิจฉัยภายใน 120 วัน นับจากวันส่งเรื่องอุทธรณ์ และขยายได้อีกไม่เกิน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 60 วัน รวมแล้วไม่เกิน 240 วัน ซึ่งหากผู้อุทธรณ์ไม่พอใจคำวินิจฉัย ก็สามารถฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดได้ภายใน 90 วัน หลังจากรับทราบคำวินิจฉัย
กำลังโหลดความคิดเห็น