1. “พระราชินี” เสด็จฯ พระราชทานเพลิงศพ “น้องโบว์”พร้อมชม เป็นคนดี ปกป้องสถาบัน!
จากเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่หน้ารัฐสภาเพียงเพื่อให้รัฐบาลสมชายได้เข้าแถลงนโยบายในสภาเมื่อวันที่ 7 ต.ค.จนส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเกือบ 500 คนนั้น ไม่เพียงประชาชนทั่วประเทศจะสลดใจกับการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ แต่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ก็ทรงรู้สึกสลดพระทัยกับเหตุการณ์ดังกล่าวไม่แพ้กัน ทั้งนี้ พระองค์ไม่เพียงพระราชทานเงินส่วนพระองค์เพื่อช่วยเหลือผู้บาดเจ็บผ่านโรงพยาบาลต่างๆ กว่า 1 ล้านบาท แต่ยังได้พระราชทานพวงมาลาเคารพศพ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ หรือน้องโบว์ ที่เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าด้วย และสิ่งที่ยิ่งสร้างความปลาบปลื้มแก่ครอบครัวระดับปัญาวุฒิ ก็คือ การที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์อัครราชกุมารี ในการพระราชทานเพลิงศพ น.ส.อังคณา ที่วัดศรีประวัติ จ.นนทบุรี เมื่อวันที่ 13 ต.ค.โดยวันดังกล่าว มีคณะองคมนตรี-ข้าราชการระดับสูงและประชาชนเข้าร่วมงานนับหมื่นคน แต่ไม่มีตัวแทนจากรัฐบาลมาร่วมงานแต่อย่างใด เป็นที่น่าสังเกตว่า ระหว่างพิธีพระราชทานเพลิงศพ น.ส.อังคณา สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โปรดให้นายจินดา และ น.ส.ดารณี น้องสาว น.ส.อังคณา เข้าเฝ้าฯ ที่พลับพลาที่ประทับอย่างใกล้ชิด โดยทรงมีพระราชปฏิสันถารกับครอบครัวระดับปัญญาวุฒิประมาณ 15 นาทีก่อนเสด็จฯ กลับ หลังจากนั้นนายจินดาให้สัมภาษณ์ว่า สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ รับสั่งว่า น.ส.อังคณาเป็นคนดี เป็นคนเก่ง ขอชื่นชมที่ได้ทำหน้าที่ปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ และขอเป็นกำลังใจให้ครอบครัวสู้ต่อไป นายจินดา เผยด้วยว่า “พระองค์รับสั่งว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ น.ส.อังคณา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับรู้เรื่องราวโดยตลอด รวมทั้งกรณีพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานทรัพย์ช่วยเหลือมาด้วย...” และว่า พระองค์ตรัสถามถึงอาการของภรรยาตน(นางวิชชุดา ซึ่งได้รับบาดเจ็บพร้อม น.ส.อังคณา)ด้วยว่าเป็นอย่างไรบ้าง ตนจึงทูลฯ ตอบว่า รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช อยู่ในพระราชินูปถัมภ์ นายจินดา เผยผู้สื่อข่าวด้วยว่า พระองค์ทรงกล่าวว่า “ยังไงก็ต้องมางานนี้ เพราะทำเพื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระองค์ด้วย” ทั้งนี้ นอกจากงานพระราชทานเพลิงศพ น.ส.อังคณาเมื่อวันที่ 13 ต.ค.แล้ว วันต่อมา(14 ต.ค.)ยังได้มีงานพระราชทานเพลิงศพ พ.ต.ท.เมธี ชาติมนตรี หรือสารวัตรจ๊าบ แกนนำพันธมิตรฯ จ.บุรีรัมย์ ที่เสียชีวิตจากเหตุระเบิดรถจี๊ปเชอโรกีตรงข้ามพรรคชาติไทยเมื่อวันที่ 7 ต.ค. โดยมีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีพระราชทานเพลิง โอกาสนี้ นายอานันท์ ได้กล่าวกับครอบครัว พ.ต.ท.เมธีว่า “ครอบครัวคุณทำเพื่อชาติแล้ว” นายอานันท์ ยังได้ให้สัมภาษณ์ถึงความวุ่นวายทางการเมืองด้วยว่า “ทุกคนรู้ว่าจุดที่น่าห่วงใยอยู่ตรงไหน ...พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ เป็นคนเดียวที่จะปลดล็อคได้” ขณะที่ท่าทีของรัฐบาลต่อความเห็นของนายอานันท์นั้น ปรากฏว่า นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ และน้องเขย พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ให้ความสำคัญกับคำพูดของนายอานันท์ โดยบอกว่า “ผมเป็นนายกฯ มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลเรื่องการทำงาน ไม่เอาความคิดของคนที่ไม่อยู่ในราชการมาทำ ไม่ต้องห่วง” ขณะที่นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา โฆษกส่วนตัวของ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ออกมาป้องนาย โดยยืนยันว่า ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในไทย ไม่ได้มีต้นเหตุจาก พ.ต.ท.ทักษิณ จึงดูไม่ออกว่า พ.ต.ท.ทักษิณจะช่วยปลดล็อคปัญหาตามที่นายอานันท์พูดได้อย่างไร
สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงชม “น้องโบว์” เป็นเด็กดี ช่วยชาติ ช่วยรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์
“สมชาย” เมินข้อเสนอ “อานันท์” ไม่ขอ “พี่เมีย” ปลดล็อกการเมือง
“พงศ์เทพ” มั่ว! โยงคนชักใยเหตุการณ์อยู่เบื้องหลัง ยัน “แม้ว” ไม่ใช่คนปลดล็อก
“อานันท์” ซัด “ทักษิณ” ต้นตอปัญหา จี้ปลดล็อกกังขา “น้องเขย” หุ่นเชิด
“อานันท์” เป็นประธานพิธีพระราชทานเพลิงศพ “สารวัตรจ๊าบ”
2. “ผบช.4 เหล่าทัพ”จี้ “นายกฯ”ลาออกรับผิดชอบ 7 ต.ค. ขณะที่ “เจ้าตัว”ยังยื้อ หลัง “แม้ว”สั่งสู้!
หลังจากหลายภาคส่วนในสังคมได้เรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ด้วยการลาออกหรือยุบสภา ขณะที่ผู้บัญชาการเหล่าทัพ โดยเฉพาะ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก และ พล.อ.อ.อิทธิพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ก็ได้ออกมาแสดงท่าทีเมื่อสัปดาห์ก่อน(10 ต.ค.)ให้รัฐบาลรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ดังกล่าว แต่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ กลับอ้างว่า ความรับผิดชอบก็คือการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด เพื่อสอบข้อเท็จจริงและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบนั้น ปรากฏว่า ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้บัญชาการทั้ง 4 เหล่าทัพ(พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด-พล.อ.อนุพงษ์-พล.อ.อ.อิทธิพร-พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ) รวมทั้ง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก็ได้ออกทีวีพร้อมกันทางรายการ “เรื่องเด่นเย็นนี้”ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เมื่อวันที่ 16 ต.ค. โดยเรียกร้องให้รัฐบาลลาออกเพื่อรับผิดชอบต่อเหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค.ที่มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจำนวนมาก โดย พล.อ.อนุพงษ์ พูดชัดเจนว่า “รัฐบาลต้องรับผิดชอบในสิ่งที่ทำ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลใด หากอยู่บนความเสียหายของชาติ ประชาชนล้มตาย ก็รับไม่ได้ จะอยู่อย่างไร ก็อยู่ไม่ได้ ไม่ใช่รัฐบาลนี้รัฐบาลเดียว ผมพูดไม่ได้จงเกลียดจงชัง ไม่เกี่ยวกับชอบหรือไม่ชอบ พูดกันด้วยเหตุด้วยผลบนพื้นฐานที่เกิดขึ้นและสิ่งที่ควรจะเป็นไป” เมื่อผู้ดำเนินรายการถามว่า ถ้าเป็นนายกฯ จะทำอย่างไร พล.อ.อนุพงษ์ ตอบทันทีว่า “ผมก็คงออก จะอยู่ไปทำไม บ้านเมืองเสียหาย ผมไม่อยู่แล้ว...” ทั้งนี้ มีรายงานว่า หลังเสร็จสิ้นการออกรายการของผู้บัญชาการทั้ง 4 เหล่าทัพในช่วงเย็นวันที่ 16 ต.ค. ปรากฏว่า แกนนำพรรคพลังประชาชนอย่างนายยงยุทธ ติยะไพรัช และนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ได้เข้าพบนายสมชายที่บ้านพัก ระหว่างนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้โทรศัพท์ถึงนายสมชาย บอกว่าให้สู้ต่อ อย่าลาออก เพราะนอกจากจะเข้าทางกลุ่มพันธมิตรฯ แล้ว ยังมีเรื่องการลี้ภัยของตนที่อังกฤษซึ่งยังไม่สมบูรณ์ จึงขอให้ยื้อเวลา ทำงานต่อไปอีกระยะหนึ่งก่อน วันต่อมา(17 ต.ค.) นายสมชาย ก็ได้เรียกแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลหารือสถานการณ์การเมืองที่ทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว สนามบินดอนเมือง ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า มีเพียงพรรครวมใจไทยชาติพัฒนาเพียงพรรคเดียวที่หัวหน้าพรรคเข้าร่วมประชุม คือ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร ส่วนพรรคอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นพรรคชาติไทย-เพื่อแผ่นดิน-มัชฌิมาธิปไตย-ประชาราช ต่างส่งตัวแทนเข้าร่วมประชุม หลังประชุมแล้วเสร็จ นายสมชาย แถลงยืนยันไม่ลาออก โดยบอกว่า ขณะนี้ไม่ได้ต้องการหลบเลี่ยงอะไรทั้งสิ้น เพียงแต่ต้องรอผลสรุปจากคณะกรรมการสอบสวนที่ตั้งขึ้นก่อน ไม่ว่าผลจะออกมาอย่างไร รัฐบาลจะยอมรับผลตามนั้น นายสมชาย ยังอ้างด้วยว่า รัฐบาลมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ไม่สามารถละทิ้งหน้าที่ได้ เพราะมีงานอยู่มากมาย ทั้งการดูแลทุกข์สุขของประชาชน รวมถึงงานพระราชพิธีถวายเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ที่จะมีขึ้นวันที่ 14-19 พ.ย. งานเฉลิมพระชนมพรรษา และการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ผู้สื่อข่าวถามว่า รัฐบาลจะอยู่ได้อย่างไร หากกองทัพไม่ให้การสนับสนุน นายสมชาย บอกว่า “การแสดงความเห็นของ ผบ.ทบ.ก็เป็นเพียงความเห็น” พร้อมยืนยัน จะไม่เปลี่ยนตัว ผบ.ทบ. ส่วนท่าทีของ ส.ส.พรรคพลังประชาชนต่างไม่พอใจการที่ผู้บัญชาการทั้ง 4 เหล่าทัพ โดยเฉพาะ พล.อ.อนุพงษ์ที่เรียกร้องให้นายกฯ ลาออก โดยนายสุรสิทธิ์ เจียมวิจักษณ์ ส.ส.เชียงราย พปช.ได้ลุกขึ้นมาท้า พล.อ.อนุพงษ์ว่า ถ้าต้องการให้นายกฯ ลาออก ก็เอารถถังออกมาเพื่อให้ชาวโลกได้เห็น ขณะที่นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ ส.ส.พะเยา พปช. ก็ขู่จะล่าชื่อ ส.ส.ในสภา 1 ใน 3 เพื่อยื่นถอดถอน พล.อ.อนุพงษ์ หากยังไม่ยุติบทบาทรุกล้ำอำนาจทางการเมือง ด้านนายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล ส.ส.เชียงใหม่ พปช. ก็แถลงตำหนิ พล.อ.อนุพงษ์ว่า อย่ามาเรียกร้องซี้ซั้วให้นายกฯ ลาออก ตนนี่แหละจะเรียกร้องให้นายสมชายปลด พล.อ.อนุพงษ์ รวมทั้งจะยื่นเรื่องต่อ ป.ป.ช.ให้เอาผิด พล.อ.อนุพงษ์ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่กรณีไม่ทำหน้าที่สลายการชุมนุมหลังนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯ ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สำหรับท่าทีของแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลนั้น นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ และรองหัวหน้าพรรคชาติไทย บอกว่า ควรรอผลสอบของคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งนายกฯ ได้แสดงเจตจำนงชัดเจนว่า ถ้าผิดจริง พร้อมแสดงความรับผิดชอบ นอกจากเรื่องการลาออกแล้ว ยังต้องรับผลในทางกฎหมายด้วย และสำหรับพรรคชาติไทย ถ้าผลสอบว่ารัฐบาลผิด พรรคก็พร้อมจะพิจารณาถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล ด้านนายสุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน หนุนให้นายกฯ ลาออกโดยไม่ต้องรอผลสอบของคณะกรรมการฯ เพื่อให้หลายฝ่ายสบายใจ และว่า การลาออกของนายกฯ จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นกับรัฐบาล จากนั้นค่อยหาคนที่มีความรู้ความสามารถคนใหม่เข้ามาแก้ปัญหา ส่วนมุมมองของพรรคฝ่ายค้านนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า การเรียกร้องของผู้นำเหล่าทัพไม่ต่างจากเสียงเรียกร้องของหลายๆ ฝ่าย แต่ส่วนตัวแล้วเห็นว่า การยุบสภาเป็นการแสดงความรับผิดชอบทางการเมืองและน่าจะเป็นทางออกที่เหมาะสมที่สุด เพราะหากนายกฯ ลาออก แล้วหาคนใหม่มาเป็นนายกฯ แทน ก็ไม่ต่างจากตอนที่เปลี่ยนจากนายสมัคร มาเป็นนายสมชาย ซึ่งไม่สามารถสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้ หรือหากนายกฯ ลาออก แล้วเปลี่ยนขั้วพรรคประชาธิปัตย์เป็นรัฐบาล แรงต่อต้านและความขัดแย้งในสังคมก็จะยังมีอยู่ หรือหากนายกฯ ลาออก แล้วไม่มีขั้ว โดยจัดตั้งรัฐบาลพิเศษหรือรัฐบาลแห่งชาติ พรรคร่วมรัฐบาลก็ไม่ยอมรับแนวคิดดังกล่าว เพราะจะกระทบต่อสัดส่วนตำแหน่งต่างๆ ในรัฐบาลของพรรคเหล่านั้น ดังนั้นการคืนอำนาจให้ประชาชนตัดสินใจน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด สำหรับท่าทีของแกนนำพันธมิตรฯ ต่อการยืนยันไม่ลาออกของนายสมชายนั้น นายสมศักดิ์ โกศัยสุข 1 ในแกนนำพันธมิตรฯ ชี้ว่า นายสมชายทำทุกอย่างเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของพี่ภรรยา ไม่ใช่เพื่อประเทศชาติ ซึ่งสุดท้าย นายสมชายอาจตายเพราะเมียก็ได้ เพราะแม้แต่ 4 เหล่าทัพยังออกมากดดันรัฐบาลให้ลาออก แต่รัฐบาลก็ถูลู่ถูกังต่อไป ดังนั้นพันธมิตรฯ จะต้องเพิ่มความเข้มข้นในการเคลื่อนไหวและเพิ่มความถี่ไปยังทุกที่ที่รัฐบาลเดินทางไป ขณะที่นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรฯ ชี้ว่า การที่นายสมชายอ้างว่าตนเองมาจากการเลือกตั้ง ทหารจึงไม่มีสิทธิมาบีบหรือเรียกร้องให้ลาออก นับเป็นคำอ้างเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่เคยอ้างก่อนเกิดเหตุรัฐประหาร 19 ก.ย.2549 นายสุริยะใส ยังวิเคราะห์ด้วยว่า ท่าทีของรัฐบาลในขณะนี้ จะทำให้เกิดเหตุการณ์ 3 เรื่อง 1.ช่วง 3 วันหลังจากนี้ถือเป็นช่วง 3 วันอันตราย เนื่องจากจะมีการคุมเชิงกันระหว่าง พล.อ.อนุพงษ์และนายสมชาย เพราะทั้งสองฝ่ายต่างมีสิทธิที่จะปลดกันและกัน 2.การแถลงของนายกฯ และพรรคร่วมรัฐบาล จะทำให้การเมืองเข้าสู่ทางตัน เพราะระบบรัฐสภาและฝ่ายบริหารไม่มีความชอบธรรม 3.ท่าทีของรัฐบาลที่จะบริหารประเทศต่อไป น่าจะมาจาก พ.ต.ท.ทักษิณเป็นผู้กำหนด เพราะต้องการสร้างเงื่อนไขในการทำรัฐประหาร เพื่อสร้างความชอบธรรมในการขอลี้ภัยทางการเมือง สำหรับความคืบหน้าการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์สลายการชุมนุม 7 ต.ค.นั้น รัฐบาลเพิ่งจะตั้งคณะกรรมการตรวจสอบจำนวน 11 คนเมื่อวันที่ 14 ต.ค.โดยมีนายปรีชา พานิชวงศ์ อดีตรองประธานศาลฎีกาเป็นประธาน ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่มีชื่อ พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม ร่วมเป็นกรรมการตามที่นายสมชายเคยระบุก่อนหน้านี้แต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม พญ.คุณหญิงพรทิพย์ เป็นกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์ 7 ต.ค.ชุดของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติและชุดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยเฉพาะการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิฯ นั้น พญ.คุณหญิงพรทิพย์ได้นำผู้เชี่ยวชาญร่วมกันทดสอบอานุภาพของแก๊สน้ำตาที่ตำรวจใช้สลายการชุมนุม ปรากฏว่า แก๊สน้ำตาที่ตำรวจนำมาใช้สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค.มากที่สุด เป็นชนิดยิงและขว้างที่ซื้อจากจีน โดยจากการทดสอบ นอกจากจะพบสารประกอบระเบิดร้ายแรงชื่อ อาร์ดีเอ็กซ์ในแก๊สน้ำตาแล้ว ยังพบว่ามีอานุภาพในการทำให้คนบาดเจ็บแขน-ขาขาดและเสียชีวิตได้ โดยเมื่อแก๊สน้ำตาดังกล่าวกระแทกเป้าหมาย จะเกิดระเบิดภายใน 1 วินาที นอกจากนี้ เมื่อนำภาพบาดแผลของ น.ส.อังคณา หรือน้องโบว์มาเทียบกับขนาดของแก๊สน้ำตาที่สั่งซื้อจากจีน ปรากฏว่า ขนาดเท่ากัน และล่าสุด(17 ต.ค.) ผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะกรรมการชุดของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ซึ่งได้จากการสอบถามผู้ชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจ และพยานในเหตุการณ์ เช่น สื่อมวลชน สามารถสรุปผลสอบเบื้องต้นได้แล้วว่า เหตุการณ์สลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ตำรวจได้ยิงแก๊สน้ำเข้าใส่ผู้ชุมนุมรวม 3 ครั้ง คือ เวลา 06.15น. ,16.00น.และ 19.00น.โดยไม่มีการแจ้งเตือนล่วงหน้า และทั้ง 3 ครั้งล้วนทำให้มีผู้ขาขาด นอกเหนือจากมีผู้เสียชีวิต คือ น.ส.อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ ทั้งนี้ จากการสอบสวนพบว่า นอกจากตำรวจจะระดมยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุม โดยไม่สนใจช่วยเหลือผู้ที่ได้รับบาดเจ็บแล้ว ยังพบว่า การสลายการชุมนุมในบางจุด ตำรวจมีการโยนระเบิดควันใส่กันเองด้วย โดยตำรวจที่ยืนอยู่แถวหลังขว้างระเบิดควันไปที่ตำรวจที่อยู่ด้านหน้าห่างไปประมาณ 5 เมตร เมื่อมีเสียงระเบิดและควันเกิดขึ้น ตำรวจกลับตะโกนว่า พันธมิตรฯ มีแก๊สน้ำตา ตำรวจจึงระดมยิงแก๊สน้ำตาใส่ผู้ชุมนุมจนเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บ คณะกรรมการสิทธิฯ ยังระบุด้วยว่า การสลายการชุมนุมด้วยแก๊สน้ำตาของตำรวจไม่เป็นไปตามหลักปฏิบัติสากล เป็นการกระทำที่เกินความจำเป็น เข้าข่ายละเมิดสิทธิมนุษยชนและกฎหมาย ส่วนใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบการสลายการชุมนุมครั้งนี้นั้น คณะกรรมการสิทธิฯ เห็นว่า การสลายการชุมนุมเกิดจากความต้องการของรัฐบาลที่จะแถลงนโยบายต่อรัฐสภาให้ได้ในวันที่ 7 ต.ค.เท่านั้น จึงได้มีการประชุมในส่วนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติและคณะรัฐมนตรีเพื่อวางแผนเตรียมการและสั่งการให้มีการสลายการชุมนุมตั้งแต่คืนวันที่ 6 ต.ค.และตอนเช้าวันที่ 7 ต.ค. ดังนั้น การสลายการชุมนุมจึงเกิดจากการสั่งการของรัฐบาลที่อ้างว่าเพื่อให้การแถลงนโยบายสามารถดำเนินการได้ตามกฎหมาย เพราะฉะนั้นเมื่อมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้น รัฐบาลผู้สั่งการ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติในฐานะผู้ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นต้องรับผิดชอบต่อการสูญเสียที่เกิดขึ้น คณะกรรมการสิทธิฯ บอกด้วยว่า หลังจากนี้จะส่งรายงานผลการตรวจสอบเบื้องต้นให้นายกฯ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ส่วนขั้นต่อไป คณะกรรมการตรวจสอบฯ จะเร่งสรุปผลสอบในส่วนอื่นๆ ต่อไป ด้านรัฐบาลยังไม่มีปฏิกิริยาใดใดต่อผลสรุปเบื้องต้นของคณะกรรมการตรวจสอบชุดคณะกรรมการสิทธิฯ ขณะที่คณะกรรมการยกร่างแก้ไข รธน.มาตรา 291 ที่มาจากตัวแทนพรรคร่วมรัฐบาลและประธานวุฒิสภา(พรรคประชาธิปัตย์ไม่ร่วมสังฆกรรมด้วย เพราะรับไม่ได้ตั้งแต่เกิดเหตุสลายการชุมนุม 7 ต.ค.) เพื่อตั้ง ส.ส.ร. ก็ไม่สนกระแสคัดค้านการแก้ รธน.เพื่อตั้ง ส.ส.ร.และกระแสกดดันให้นายกฯ ลาออก โดยได้เดินหน้าประชุมเมื่อวันที่ 17 ต.ค.เพื่อหารูปแบบของการได้มาซึ่ง ส.ส.ร. โดยเบื้องต้นกำหนดไว้ 2 แบบ ส่วนจะใช้แบบใดจะให้ผู้นำ 4 ฝ่ายตัดสินใจในวันที่ 20 ต.ค.นี้
กก.สิทธิฯสรุปชี้ชัดรัฐบาลสั่งสลายชุมนุม-“สมชาย” ต้องรับผิดชอบ
ปชป.เซ็งเล่ห์"สมชาย"ชี้รอผลสอบ7 ตุลา-ตั้งส.ส.ร.แค่ซื้อเวลา
แฉ“สมชาย”ด้านอยู่ต่อ-รับใบสั่ง“แม้ว”สร้างเงื่อนไขรัฐประหาร
กก.สิทธิฯสรุปชี้ชัดรัฐบาลสั่งสลายชุมนุม-“สมชาย” ต้องรับผิดชอบ
“พลังแม้ว” ท้าทายกองทัพอัดยับไม่รู้หน้าที่ยุ “สมชาย” ปลดพ้นเก้าอี้
“สมชาย” สุดด้าน! ยื้ออำนาจแบะท่ารอผลสอบ คกก.อิสระ 15 วัน
จุดยืนของเหล่าทัพ : คำถามที่“สรยุทธ” ไม่ได้ถาม ข้อเท็จจริงที่ ผบ.เหล่าทัพ ไม่รู้?!
ผบ.เหล่าทัพ ตบเท้าให้สัมภาษณ์ช่อง 3 - อนุพงษ์เสียใจ 7 ตุลาทมิฬ ระบุถ้าเป็นนายกฯ ลาออกแล้ว
3. “ป.ป.ช.” มีมติ “สมชาย”ผิดวินัยร้ายแรงคดีที่ดินธัญบุรี ส่ง รมต.ยุติธรรมลงโทษย้อนหลังใน 30 วัน!
เมื่อวันที่ 16 ต.ค. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ได้ประชุมพิจารณาสำนวนสอบของคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีมีการกล่าวหาว่านายสุทัศน์ เงินหมื่น อดีตรัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกฯ และรัฐมนตรีกลาโหม เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรม ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่กรณีสั่งระงับไม่ให้ดำเนินคดีกับนายประมาณ ตียะไพบูลย์สิน อดีตอธิบดีกรมบังคับคดี และนายมานิตย์ สุธาพร อดีตรองอธิบดีกรมบังคับคดี จากกรณีที่นายประมาณและนายมานิตย์ไม่เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมจำนวน 70 ล้านบาทที่ได้จากการขายทอดตลาดที่ดินศาลจังหวัดธัญบุรี ทำให้รัฐเกิดความเสียหาย หลังใช้เวลาประชุมนานถึง 6 ชม. นายกล้านรงค์ จันทิก โฆษก ป.ป.ช.แถลงว่า ป.ป.ช.ได้รับเรื่องร้องเรียนคดีนี้ตั้งแต่ปี 2541 โดยกล่าวหานายประมาณและนายมานิตย์กรณีไม่เก็บค่าธรรมเนียมการขายทอดตลาดที่ดินศาลธัญบุรี จากนั้นในปี 2543 ป.ป.ช.ได้รับหนังสือร้องเรียนเพิ่มเติมกล่าวหานายสมชาย ปลัดกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้นว่าปฏิบัติหน้าที่มิชอบ กรณีที่ไม่ดำเนินการสอบสวนนายประมาณและนายมานิตย์ ป.ป.ช.จึงได้ตั้งอนุกรรมการไต่สวนนายสมชาย และดำเนินการไต่สวนเรื่อยมา กระทั่งปี 2549 ป.ป.ช.ได้มีมติลงโทษนายประมาณและนายมานิตย์ ทั้งความผิดทางวินัยและอาญา แต่จากการตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่า นายสมชาย และนายบัณฑิต รชตะนันทน์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรมขณะนั้น กลับไม่มีการดำเนินการใดใดเพื่อตรวจสอบนายประมาณและนายมานิตย์ ที่ประชุม ป.ป.ช.วันนี้(16 ต.ค.)จึงมีมติชี้มูลความผิดนายสมชายและนายบัณฑิต ในความผิดวินัย ฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง ตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2535 ตามมาตรา 84 วรรคสอง ทั้งนี้ ป.ป.ช.จะส่งเรื่องให้ประธานคณะกรรมการตุลาการพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายตุลาการแก่นายบัณฑิต และส่งเรื่องให้นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมในขณะนี้ ให้พิจารณาโทษทางวินัยแก่นายสมชายต่อไป โดยขั้นตอนตามกฎหมายกำหนดว่า รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมต้องพิจารณาโทษภายใน 30 วัน ซึ่งโทษมีตั้งแต่ให้ออก ไล่ออก หรือปลดออก ส่วนกรณีของนายสุทัศน์ เงินหมื่น รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรมในขณะนั้น ที่ประชุม ป.ป.ช.เห็นว่า พฤติการณ์ของนายสุทัศน์มีมูลความผิดฐานประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการเช่นเดียวกัน แต่ไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับวินัยใช้บังคับรัฐมนตรี ป.ป.ช.จึงไม่อาจดำเนินการต่อไปได้ ด้านนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม บอก(17 ต.ค.)ว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดนายสมชายว่ากระทำผิดวินัยร้ายแรงเมื่อครั้งดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรม และว่า หาก ป.ป.ช.ส่งเรื่องมา จึงจะพิจารณาว่าจะตั้งคณะกรรมการขึ้นตรวจสอบหรือจะดำเนินการอย่างไร นายสมศักดิ์ ยังอ้างด้วยว่า เรื่องนี้อาจมีปัญหาข้อกฎหมายว่า อ.ก.พ.กระทรวงยุติธรรมจะดำเนินการได้หรือไม่ หรือจะลงโทษย้อนหลังได้อย่างไร เพราะขณะนี้นายสมชายได้พ้นจากตำแหน่งปลัดกระทรวงยุติธรรมไปนานแล้ว คงต้องให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาอย่างรอบคอบ
ถึงคิว “น้องเขย” ป.ป.ช.ชี้ผิดวินัยร้ายแรงไม่เก็บค่าธรรมเนียม 70 ล้าน
4. “ศาลฎีกาฯ”รับฟ้องคดี “แม้ว”ร่ำรวยผิดปกติ-ยึดทรัพย์ 7.6 หมื่นล. ด้าน “อัยการ”สั่งไม่ฟ้องคดีหุ้นเอสซีฯ !
เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้มีคำสั่งรับฟ้องคดีที่อัยการสูงสุดยื่นคำร้องขอให้ศาลฯ มีคำสั่งยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ร่ำรวยผิดปกติจำนวน 7.6 หมื่นล้านบาท ให้ตกเป็นของแผ่นดิน หลังรับฟ้อง ศาลได้มีคำสั่งให้ส่งสำเนาคำร้อง ประกาศคำร้องลงในหนังสือพิมพ์ และส่งสำเนาคำร้องให้ผู้ถูกกล่าวหาและประกาศคำร้องที่ศาลฎีกาและศาลจังหวัดที่มีเจ้าของทรัพย์สินนั้นตั้งอยู่ รวมทั้งสำเนาให้บุคคลที่มีรายชื่อครอบครองทรัพย์และให้นัดพร้อมคู่ความในวันที่ 25 ธ.ค.(เวลา 10.00น.) นอกจากนี้ ยังแจ้งหมายให้ผู้ประสงค์คัดค้านการยึดทรัพย์ภายใน 30 วันนับแต่วันประกาศ หากยื่นไม่ทันตามกำหนด ให้ยื่นก่อนวันพิพากษาพร้อมแสดงเหตุผลแห่งความล่าช้า ด้านนายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ บอกว่า คดีนี้เป็นคดีแพ่ง ไม่มีความผิดต้องรับโทษทางอาญา สามารถดำเนินกระบวนพิจารณาคดีโดยไม่ต้องมี พ.ต.ท.ทักษิณมาศาล อย่างไรก็ตาม ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลว่า ในวันที่ 25 ธ.ค.จะมีคำสั่งอย่างไร และต้องดูด้วยว่าจะมีผู้ยื่นคำร้องคัดค้านการยึดทรัพย์หรือไม่ ทั้งนี้ นอกจากคดีร่ำรวยผิดปกติแล้ว เมื่อวันที่ 15 ต.ค.ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้นัดพิจารณาคดีครั้งแรกคดีที่นายชัยเกษม นิติสิริ อัยการสูงสุด เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นจำเลย กรณีทุจริตออกกฎหมายแก้ไขค่าสัมปทานโทรศัพท์มือถือ เป็นภาษีสรรพสามิต เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจบริษัทชินคอร์ป ของตระกูลชินวัตร ทำให้รัฐเสียหาย 6.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเข้าข่ายผิดกฎหมายอาญา มาตรา 91 ,152 ,157 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 มาตรา 4 ,100 ,122 อย่างไรก็ตาม เมื่อถึงเวลานัด ทั้งจำเลยและทนายจำเลยต่างไม่มาศาล มีเพียงอัยการโจทก์เท่านั้น ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยทราบหมายโดยชอบแล้วไม่มา เชื่อว่าพฤติการณ์มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะหลบหนี จึงให้ออกหมายจับจำเลยมา แต่เมื่อยังไม่ทราบว่าจะได้ตัวจำเลยมาเมื่อใด จึงให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความไว้ชั่วคราวจนกว่าจะได้ตัวจำเลยมา ศาลจึงจะพิจารณาคดีนี้อีกครั้ง สำหรับหมายจับ พ.ต.ท.ทักษิณครั้งนี้นับเป็นใบที่ 6 แล้ว โดย 3 ใบแรกเป็นคดีทุจริตซื้อที่รัชดาฯ ส่วนอีก 2 ใบคือคดีทุจริตปล่อยกู้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(เอ็กซิมแบงก์)ให้แก่รัฐบาลพม่าวงเงิน 4,000 ล้านบาท และคดีทุจริตโครงการออกหวยบนดิน ส่วนความคืบหน้าคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)สรุปสำนวนให้อัยการสั่งฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ,คุณหญิงพจมาน ชินวัตร รวมทั้งนางเพ็ญโสม ดามาพงศ์ กรรมการบริษัท เอสซีฯ และนางบุษบา ดามาพงศ์ อดีตกรรมการบริษัท เอสซีฯ ฐานกระทำผิด พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ซึ่งอัยการเลื่อนการสั่งคดีมาหลายครั้งแล้ว โดยล่าสุดได้นัดสั่งคดีในวันที่ 29 ต.ค.นี้ แต่ปรากฏว่า อยู่ๆ อัยการก็ได้สั่งคดีก่อนถึงวันนัด โดยนายธนพิชญ์ มูลพฤกษ์ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมด้วยนายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ แถลงผลการสั่งคดีเมื่อวันที่ 15 ต.ค.ว่า อัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 4 คน นายธนพิชญ์ ชี้แจงว่า คดีนี้ ดีเอสไอกล่าวหานางเพ็ญโสมและนางบุษบาว่า แสดงข้อความอันเป็นเท็จ ปกปิดสาระสำคัญ และกล่าวหา พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมานว่า กระทำผิดกรณีไม่รายงานการขายหุ้นนั้น ซึ่งอัยการพิจารณาแล้วเห็นว่า นางเพ็ญโสมและนางบุษบาดำเนินการตามขั้นตอนทุกอย่าง โดยมีบริษัทหลักทรัพย์ ธนชาติ ดำเนินการแทน และผ่านการตรวจสอบของคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)แล้ว ส่วนการกระทำของ พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน อัยการเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ทั้งสองไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการซื้อ-ขายหุ้นด้วยตัวเอง แต่ซื้อขายผ่านกองทุน ดังนั้นหน้าที่การรายงานการซื้อ-ขายหุ้นจึงเป็นของกองทุน ไม่ใช่หน้าที่ของ พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมานแต่อย่างใด ด้านนายเศกสรรค์ บางสมบุญ อธิบดีอัยการฝ่ายคดีพิเศษ ชี้แจงว่า คดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัท เอสซีฯ ที่อัยการสั่งไม่ฟ้องนี้ เป็นคนละคดีกับคดีซุกหุ้นผ่านกองทุนโฮดีเอฟ และโอจีเอฟ ที่ดีเอสไอดำเนินคดี พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน ฐานกระทำผิดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 และกฎหมายว่าด้วยการจัดการหุ้นส่วนและหุ้นของรัฐมนตรี ซึ่งดีเอสไอได้แยกสำนวนส่งให้ ป.ป.ช.ไต่สวนไปแล้ว ซึ่งหาก ป.ป.ช.เห็นสมควรส่งฟ้อง ก็จะส่งมาให้อัยการฝ่ายคดีพิเศษรับผิดชอบคดีต่อไปเป็นอีกสำนวนหนึ่ง ด้านดีเอสไอ ซึ่งมี พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นอธิบดี อยู่ระหว่างพิจารณาเหตุผลของอัยการที่สั่งไม่ฟ้องคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัท เอสซีฯ ว่ามีเหตุผลเพียงพอหรือไม่ ซึ่งหากอธิบดีดีเอสไอเห็นตามอัยการ ก็ถือว่าคดียุติ แต่หากดีเอสไอเห็นแย้ง โดยยังยืนยันให้สั่งฟ้องผู้ต้องหา สำนวนคดีก็จะถูกส่งให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ชี้ขาดว่าจะสั่งฟ้องคดีนี้หรือไม่ ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ชี้ว่า คำวินิจฉัยของอัยการที่สั่งไม่ฟ้องคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัท เอสซีฯ ฟังไม่ขึ้น และไม่ได้หักล้างข้อกล่าวหาของดีเอสไอที่ตั้งไว้และมีการแถลงเมื่อกลางปี 2550 แต่อย่างใด จึงหวังว่าดีเอสไอจะตอบโต้คำวินิจฉัยของอัยการ เช่นเดียวกับ ก.ล.ต.ที่เป็นผู้ยื่นหลักฐานให้แก่ดีเอสไอ ก็ควรจะออกมาตอบโต้และหักล้างคำวินิจฉัยของอัยการด้วย นายกรณ์ ยังเตือนด้วยว่า พรรคฯ จะติดตามดูว่าสุดท้ายอัยการสูงสุดจะตัดสินใจอย่างไร หากยังยืนยันสั่งไม่ฟ้องตามคณะทำงานอัยการ พรรคฯ จะยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.พิจารณาว่า เป็นการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่
ฟ้ามีตา! ศาลรับฟ้องคดียึดทรัพย์ “แม้ว” โกงชาติ 7.6 หมื่นล้าน
อัยการสั่งไม่ฟ้อง “แม้วและพวก” ซุกหุ้นเอสซี แอสเสท
จำหน่ายคดี-หมายจับใบที่ 6 “แม้ว” แปลงสัมปทานมือถือเอื้อชินฯ
5. ชายแดนไทย-กัมพูชา เดือด หลัง 2 ฝ่ายเปิดฉากปะทะ ผล ไทยเจ็บ 7-เขมรตาย 2!
ปัญหาข้อพิพาทบริเวณแนวชายแดนไทย-กัมพูชาในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ตึงเครียดถึงขั้นเกิดการปะทะกันจนทหารของทั้งสองฝ่ายต่างได้รับบาดเจ็บ ทั้งนี้ ก่อนจะเกิดเหตุปะทะกันเมื่อวันที่ 15 ต.ค. ในช่วงต้นสัปดาห์วันที่ 13 ต.ค.นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางไปเยือนกัมพูชาเพื่อแนะนำตัวในฐานะรัฐมนตรีใหม่ โดยได้มีการพบปะเจรจากับนายฮอ นัม ฮง รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชาเพื่อยุติข้อพิพาทตามแนวชายแดนด้วย แต่ไม่ได้ข้อยุติใดใด อย่างไรก็ตาม หลังการหารือ นายฮอ นัม ฮง ได้แถลงข่าวว่าการเจรจาประสบความล้มเหลว นอกจากนี้ระหว่างแถลงข่าว นายฮอ นัม ฮง ยังอ้างว่า ตนได้รับรายงานว่า ทหารไทยได้พยายามบุกข้ามแดนเข้ามายังฝั่งกัมพูชาใกล้กับปราสาทพระวิหาร และว่า หากทหารไทยยังไม่หยุดการกระทำดังกล่าว อาจเป็นการยั่วยุให้เกิดการปะทะกันด้วยอาวุธครั้งใหญ่ขึ้นได้ ด้าน พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ยืนยันว่า ทหารไทยไม่ได้รุกล้ำดินแดนกัมพูชาแต่อย่างใด ด้านสมเด็จฯ ฮุน เซน นายกฯ กัมพูชา ยื่นคำขาดให้ไทยถอนกำลังทหารออกจากดินแดนของกัมพูชาภายใน 24 ชม.หรือภายในเที่ยงวันที่ 14 ต.ค. ไม่เช่นนั้น ทหารกัมพูชาจะปรับพื้นที่ดังกล่าวเป็นดินแดนแห่งความตาย ทั้งนี้ ก่อนถึงเส้นตายที่นายกฯ กัมพูชาประกาศ ทางนายพลเจีย มอน ของกัมพูชา ได้ออกมาให้สัมภาษณ์โดยอ้างว่า ทหารไทยได้ถอนกำลังออกจากพื้นที่แล้วเมื่อเวลาประมาณ 10.20น. ทั้งที่ความจริงแล้ว ฝ่ายไทยยืนยันว่าไม่ได้มีการถอนทหารแต่อย่างใด โดยยังคงอยู่ในที่ตั้งเหมือนเดิม เป็นที่น่าสังเกตว่า ตามกำหนดการแล้ว วันที่ 14 ต.ค. พล.ต.กนก เนตระคะเวสนะ ผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี จะเปิดประชุมร่วมกับ พล.ท.ซรัย ดึ๊ก ผู้บัญชาการกองพลน้อยสนับสนุนที่ 2 ของกัมพูชา แต่ปรากฏว่า ฝ่ายกัมพูชาได้ขอเลื่อนการประชุมออกไปไม่มีกำหนด โดยอ้างว่า ยังไม่พร้อมที่จะเจรจา ทั้งนี้ สถานการณ์ที่ไม่น่าไว้วางใจ ส่งผลให้ทั้งฝ่ายไทยและกัมพูชาต่างขนอาวุธทั้งเบาและหนักไปประจำการในที่ตั้ง เพื่อรับมือสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด กระทั่งวันต่อมา(15 ต.ค.)เวลาประมาณ 14.00น.เศษ ทหารกัมพูชาได้เปิดฉากยิงทหารไทยบริเวณภูมะเขือ จ.ศรีสะเกษ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของปราสาทพระวิหาร ทหารไทยจึงได้ยิงตอบโต้กลับไป โดยการปะทะกันกินเวลาประมาณ 40 นาที และในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน ที่บริเวณผามออีแดง ทหารกัมพูชาก็ได้ยิงใส่ทหารไทยเช่นกัน จึงเกิดการปะทะกันประมาณ 10 นาที ภายหลังพบว่า มีทหารไทยได้รับบาดเจ็บ 7 นาย โดยได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิดปืนอาร์พีจี ส่วนฝ่ายกัมพูชามีรายงานว่า ทหารกัมพูชาเสียชีวิต 2 นาย และบาดเจ็บ 2 นาย ทั้งนี้ นายฮอ นัม ฮง รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา เปิดแถลงโดยอ้างว่า ระหว่างปะทะ มีทหารไทยยอมแพ้และถูกกัมพูชาควบคุมตัวอยู่จำนวน 10 นาย อย่างไรก็ตามหลังจากฝ่ายไทยตรวจสอบแล้ว ยืนยันว่า ไม่มีทหารไทยถูกจับตัวตามที่กัมพูชาอ้างแต่อย่างใด เป็นที่น่าสังเกตว่า หลังเกิดเหตุปะทะ ไทยยืนยันว่า ทหารกัมพูชาเปิดฉากยิงใส่ทหารไทยก่อน แต่กัมพูชาก็อ้างว่า ทหารไทยเป็นฝ่ายยิงทหารกัมพูชาก่อน จากนั้นกระทรวงการต่างประเทศของไทยก็ได้ประท้วงการกระทำของฝ่ายกัมพูชาด้วยการยื่นบันทึกช่วยจำให้ทูตกัมพูชา พร้อมชี้แจงให้ทูตประเทศต่างๆ ได้ทราบข้อเท็จจริง ขณะที่ทางการกัมพูชาก็ชี้แจงกับทูตประเทศต่างๆ ในกัมพูชา(ยกเว้นทูตไทยในกัมพูชา)เช่นกันว่าฝ่ายไทยเป็นฝ่ายเปิดฉากยิงก่อน อย่างไรก็ตาม ไม่เพียงไทยจะยืนยันว่ากัมพูชายิงไทยก่อน แต่ฝ่ายไทยยังตรวจพบด้วยว่า กัมพูชาได้วางกับดักเป็นระเบิดใหม่บริเวณที่ทหารไทยลาดตระเวน จนทำให้ทหารไทยขาขาด 2 นายเมื่อเร็วๆ นี้ ทั้งที่บริเวณที่ลาดตระเวนฝ่ายไทยเคยเก็บกู้ระเบิดเก่าไปหมดแล้ว โดยระเบิดใหม่ที่กัมพูชาฝังไว้เป็นระเบิดสังหารบุคคลชนิดพีเอ็มเอ็น 2 ที่ผลิตในรัสเซีย ซึ่งถือว่ากัมพูชาละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศตามอนุสัญญาว่าด้วยการห้ามทุ่นระเบิดสังหารบุคคล(อนุสัญญาออตตาวา) อย่างไรก็ตาม กระทรวงต่างประเทศกัมพูชา อ้างว่า ในช่วง 1-2 เดือนนี้ กัมพูชาไม่ได้มีการฝังระเบิดตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชาตามที่ไทยกล่าวหา ทั้งนี้ เหตุปะทะที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ทุกเหล่าทัพของไทยเตรียมพร้อมรบหากจำเป็น โดยเตรียมแผน “จักรีภูวดล”ในการรับมือ ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศก็เตรียมแผนอพยพคนไทยในกัมพูชากลับประเทศหากสถานการณ์บานปลาย อย่างไรก็ตาม สถานการณ์คลายความตึงเครียดลงระดับหนึ่ง เมื่อทหารระดับสูงของทั้งสองฝ่ายได้เปิดการหารือกันในวันที่ 16 ต.ค. แม้ผลการเจรจาจะได้ข้อสรุปว่า ไม่มีการถอนทหารออกจากพื้นที่พิพาท แต่มีมาตรการว่า เวลาทหารจะลาดตระเวน จะลาดตระเวนร่วมกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการปะทะดังเช่นที่ผ่านมา ขณะที่ประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียเสนอตัวที่จะเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างไทย-กัมพูชา แต่ทั้งกัมพูชาและไทยต่างยืนยันว่า เรื่องนี้ควรอยู่ในกรอบการหารือทวิภาคีระหว่างไทย-กัมพูชาจะดีกว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้สถานการณ์ระหว่างไทย-กัมพูชาในขณะนี้จะยังไม่มีการปะทะกันซ้ำอีก แต่ทั้งสองฝ่ายต่างก็ยังไม่วางใจซึ่งกันและกัน โดยต่างฝ่ายต่างนำรถถังมาตรึงกำลังในบางจุด.
“สมพงษ์” ยันไม่ถอนกำลังเขาพระวิหาร อ้าปากพล่ามไม่ขายชาติ
แม่ทัพภาค 2 ยันเขมรเปิดฉากยิงก่อน-สรุปไทยเจ็บ 5 เขมรดับ 1 เจ็บ 4 นายประมวลภาพทหารไทย-กัมพูชา เปิดฉากปะทะที่ชายแดนเขาพระวิหาร
ผลปะทะเดือด “ภูมะเขือ” ชายแดนเขาพระวิหาร-ทหารไทยเจ็บ 4 เขมรดับ 1 นาย