xs
xsm
sm
md
lg

ส.อ.ท.ชี้งบฯสสว.เหลือเพียบจี้เบิกจ่ายอุ้มSME-ชะลอขึ้นFt

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"ชาญชัย" เอาใจส.อ.ท. เตรียมกล่อมก.พลังงาน-เรกูเลเตอร์ หวังชะลอปรับขึ้นค่าเอฟทีงวดใหม่ และดูโครงสร้างต้นทุนค่าน้ำดิบที่เหมาะสม หลังส.อ.ท.โวยอีสท์วอเตอร์คิดค่าน้ำดิบสูงเกินจริง หวั่นซ้ำเติมธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกชะลอตัว พร้อมแนะ รมว.อุตสาหกรรมใช้งบฯสสว.ที่เหลืออยู่เกือบ 3พันล้านบาท อุ้มSMEให้อยู่รอด
นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการหารือกับผู้บริหารของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ( ส.อ.ท.) เพื่อรับฟังข้อเสนอจากภาคเอกชนวานนี้ (23 ม.ค.)ว่า ทางกระทรวงอุตสาหกรรมพร้อมจะสนับสนุนการทำงานของภาคเอกชนให้เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ โดยมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ปรับปรุงการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆ และจะเร่งรัดดำเนินการตามที่ภาคเอกชนเสนอ
รวมทั้งจะหารือกับกระทรวงพลังงานและคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) เพื่อให้ชะลอการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(เอฟที)ใหม่งวดเดือนม.ค.-มี.ค.2552 ที่เรกูเลเตอร์ได้อนุมัติการปรับขึ้นค่าเอฟทีอีก 14.85 สตางค์/หน่วย ทั้งนี้เพื่อลดภาระต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดได้ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ทางส.อ.ท.ได้ยื่นข้อเสนอต่อรัฐมนตรีอุตสาหกรรมเพื่อให้เร่งรัดช่วยเหลือภาคธุรกิจจำนวน 8 มาตรการ คือ 1.การส่งเสริมการพัฒนาSME โดยเฉพาะโครงการInternal Improvement เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนการผลิตให้อุตสาหกรรม SMEทั้ง 75 จังหวัดทั่วประเทศ โดยอาศัยช่วงจังหวะที่คำสั่งซื้อสินค้าซบเซาเร่งปรับปรุงประสิทธิภาพ คาดว่าใช้เงิน 56 ล้านบาท 2.การสร้างภาพลักษณ์โคยการส่งเสริมสนับสนุนการอยู่ร่วมกันของชุมชนและอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืน 3. การจัดการน้ำเพื่ออุตสาหกรรมให้มีราคาเหมาะสม โดยขอให้รัฐมนตรีเดินเรื่องการปรับลดราคาค่าน้ำบาดาลลง 8.50 บาท/ลบ.ม.เหลือ 4.50 บาท/ลบ.ม. และพิจารณาโครงสร้างต้นทุนค่าน้ำที่แท้จริงของบมจ.จัดการและพัฒนาทรัพยากรน้ำภาคตะวันออก (อีสท์วอเตอร์) หลังจากบริษัทฯมีนโยบายจะปรับขึ้นค่าน้ำดิบปีละ 8%เป็นเวลา 3ปี ส่งผลให้โรงงานอุตสาหกรรมมีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างไม่เป็นธรรม
4.เร่งรัดติดตามให้ดำเนินการแก้ไขปัญหาอุปสรรคภาคอุตสาหกรรม 5.การพัฒนาพื้นที่เซาเทิร์น ซีบอร์ด 6.ส่งเสริมอุตสาหกรรมต้นน้ำคุณภาพสูง 7.ปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติที่เป็นอุปสรรคต่อภาคอุตสาหกรรมและการลงทุน และ8.การจัดการด้านพลังงาน
นอกจากนี้ ขอให้ทบทวนโครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คันที่สั่งซื้อจากต่างประเทศ โดยให้พิจารณาผู้ประกอบการไทยที่สามารถผลิตได้หรือใช้ชิ้นส่วนภายในประเทศ โดยให้สิทธิพิเศษทางภาษีเพื่อจูงใจ
สำหรับแหล่งเงินที่จะมาสนับสนุนผลักดันมาตรการต่างๆประมาณ 1,100 ล้านบาทนั้น ตนเห็นว่างบประมาณของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)ตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อนจำนวน 3,000 ล้านบาท แทบจะไม่มีการเบิกจ่าย จึงอยากเร่งรัดให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องมีการเร่งรัดเบิกจ่ายเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมSMEให้ผ่านวิกฤตเศรษฐกิจนี้ไปได้
ด้านนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท. กล่าวว่า ต้นทุนค่าไฟฟ้าคิดเป็นต้นทุนการผลิต7-8%ของต้นทุนรวมหรือประมาณ 2 แสนลย้านบาท หากปรับขึ้นค่าเอฟทีงวดม.ค.-มี.ค.52 อัตรา 14.85 ส.ต./หน่วย จะทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นอีก 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งถือเป็นการซ้ำเติมภาคธุรกิจที่ประสบปัญหาอยู่ในช่วงนี้ จึงอยากให้มีการชะลอการปรับขึ้นค่าเอฟทีออกไปก่อน
กำลังโหลดความคิดเห็น