xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนสวดยับไอเดีย”บลูชอป”หวั่นเจ๊งซ้ำซาก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ไอเดียสีฟ้า "พรทิวา" โชว์แผนช่วยลดค่าครองชีพและกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ เล็งเปิดร้านสีฟ้า กระจายไปยังแหล่งชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ ขายสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้า OTOP และ SMEs ราคาไม่เกิน 60 บาท ยันไม่กระทบโชห่วย เหตุเปิดชั่วคราว จากนั้นเตรียมเปิดบริการสีฟ้า เอ้าเล็ตสีฟ้า และสินค้าเกษตรสีฟ้า ขณะที่เอกชนอัดแผนร้านบลูชอป หวั่นซ้ำรอยค้าปลีกเข้มแข็งที่เคยเจ๊งมาแล้วกว่า 100 ล้าน ชี้เดินผิดทาง ควรให้เอกชนลงทุน หวั่นเป็นตัวสร้างปัญหากระทบร้านโชวห่วย ส่วนยูนิลีเวอร์ เมินร่วมโครงการ

นางพรทิวา นาคาศัย รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ในปีนี้กระทรวงพาณิชย์มีแผนที่จะช่วยเหลือด้านค่าครองชีพให้กับประชาชน และกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ หลังจากที่ได้รับงบประมาณจากงบกลางปีจำนวน 1 พันล้านบาท โดยจะใช้โครงการธงฟ้าในรูปแบบต่างๆ ภายใต้ชื่อโครงการ “ฟ้าสดใส คนไทยยิ้มได้” ซึ่งได้กำหนดไว้ 4 รูปแบบ คือ ร้านสีฟ้า (Blue Shop) บริการสีฟ้า (Blue Service) การจำหน่ายสินค้าจากผู้ผลิตถึงผู้บริโภค (Blue Outlet) และสินค้าเกษตรสีฟ้า(Blue Farm)
ทั้งนี้จะทยอยเปิดตัวโครงการสีฟ้าต่างๆอย่างต่อเนื่อง โดยในเบื้องต้นจะเน้นร้านสีฟ้าก่อน เพราะในภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจ กระทรวงพาณิชย์ต้องให้ความช่วยเหลือด้านค่าครองชีพเป็นลำดับแรก โดยจะเน้นการเปิดร้านสีฟ้าตามแหล่งชุมชนสำคัญๆ ทั่วประเทศ นำสินค้าอุปโภคบริโภคประเภทอาหาร ของใช้ประจำวัน เสื้อผ้า ซึ่งเป็นสินค้าส่งออก สินค้าเครือข่ายธงฟ้า สินค้า OTOP และสินค้า SMEs เป็นต้น มาจำหน่ายในราคาถูกกว่าท้องตลาด 30-50% และราคาจะไม่เกิน 60 บาท
"กระทรวงพาณิชย์ยืนยันว่าร้านสีฟ้าที่ดำเนินการนี้ จะเกิดประโยชน์กับประชาชนอย่างแน่นอน และไม่ทำลายร้านค้าปลีกรายย่อย เพราะการเปิดร้านขายสินค้าจะจัดกระจายหมุนเวียนไปยังจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ และเน้นทุกพื้นที่ โดยกระทรวงพาณิชย์จะเป็นผู้คัดเลือกสถานที่ และนำผู้ผลิตสินค้ามาขายสินค้า ไม่มีการเก็บค่าเช่า ทำให้ต้นทุนถูกลง และขายสินค้าได้ถูกกว่าปกติ แต่ไม่ใช่เปิดร้านถาวรเพื่อแข่งกับร้านค้าปลีกรายย่อย จะเน้นการขายสินค้าในราคาถูกเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคเท่านั้น"นางพรทิวากล่าว
ส่วนในด้านผู้ผลิต ก็จะไม่มีการทำลายผู้ผลิตรายใด เพราะจะเปิดโอกาสให้ผู้ผลิต หรือผู้ส่งออกที่มีสินค้าค้างในสต๊อก เนื่องจากมีปัญหาด้านการส่งออก สามารถที่จะนำสินค้าเข้ามาจำหน่ายในร้านสีฟ้าได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีการเลือกปฏิบัติกับรายใดรายหนึ่ง
นางพรทิวากล่าวอีกว่า กระทรวงพาณิชย์จะทยอยเปิดตัวร้านสีฟ้าในรูปแบบอื่นๆ ต่อไป ซึ่งกำลังเตรียมเปิดตัวโครงการบริการสีฟ้า ซึ่งจะเป็นจุดที่รวมบริการต่างๆ มาอยู่ในที่แห่งเดียวกัน แล้วเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามาใช้บริการ โดยได้ติดต่อบริการต่างๆ แล้วประมาณ 10 บริการ เช่น โรงแรม เพื่อกระตุ้นด้านการท่องเที่ยว โรงพยาบาล ที่จะเน้นการให้บริการตรวจรักษาสุขภาพราคาถูก มาร่วมในโครงการ
จากนั้น จะเร่งเปิดตัวเอ้าเล็ตสีฟ้า ที่จะนำสินค้าจากผู้ผลิต หรือสินค้าจากโรงงานไปขายตรงให้กับผู้บริโภค รูปแบบจะแตกต่างจากร้านสีฟ้า เพราะจะจัดเป็นบูธขนาดใหญ่ มีสินค้าจากโรงงานหลากหลายชนิดมาจำหน่ายให้กับผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นการช่วยผู้ผลิต ให้สามารถจำหน่ายสินค้าได้ และช่วยผู้บริโภคให้สามารถซื้อขายสินค้าได้ในราคาที่ถูกลง
ส่วนร้านเกษตรสีฟ้า จะเป็นโครงการที่ช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรง โดยจะนำสินค้าจากแหล่งผลิตมาสู่มือผู้บริโภค และช่วยระบายผลผลิตเกษตรไปยังภูมิภาคต่างๆ เพื่อแก้ไขปัญหาราคาตกต่ำ และช่วยให้ผู้บริโภคในพื้นที่อื่นได้บริโภคสินค้าเกษตรที่ราคาถูกลง

อัดร้านบลูหวั่นซ้ำรอยค้าปลีกเข้มแข็ง

แหล่งข่าวจากวงการค้าปลีก กล่าวให้ความเห็นกับ “ASTVผู้จัดการรายวัน” ถึง โครงการร้านบลูชอป ของกระทรวงพาณิชย์ว่า เป็นเรื่องที่แปลกเพราะก่อนหน้านี้ทางกระทรวงพาณิชย์เองเคยมีคำสั่งห้ามห้างโมเดริน์เทรดขายสินค้าราคาถูก หรือขายสินค้าต่ำกว่าทุน โดยอ้างว่าจะส่งผลกระทบกับร้านโชห่วย แต่ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์กลับนำโครงการสินค้าราคาถูกมาทำเสียเอง และยืนยันว่าไม่กระทบกับร้านโชห่วย ก็เป็นเรื่องที่แปลกเหมือนกับเลือกปฏิบัติมากกว่า
ในอดีตที่ผ่านมากรมการค้าภายในเคยมีการจัดตั้งบริษัทรวมค้าปลีกเข้มแข็งขึ้นมา เพื่อทำในลักษณะร้านค้ามินิมาร์ท โดยอ้างว่าเพื่อช่วยร้านค้าโชห่วย แต่ในที่สุดก็ประสบปัญหาภาวะขาดทุนและต้องสูญเสียงบประมาณไปกับโครงการรวมค้าปลีกเข้มแข็งไปกว่า 100 ล้านบาท สุดท้ายต้องเอางบประมาณของรัฐมาดำเนินการ ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวนี้เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานในช่วงที่สมัย นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ เป็นอธิบดีกรมการค้าภายใน และปัจจุบันเป็นปลัดกระทรวงพาณิชย์ จึงน่าจะรู้เรื่องการจัดตั้งบริษัทค้าปลีกเข้มแข็งที่ประสบภาวะปัญหาขาดทุนและยังไม่สามารถหาผู้รับผิดชอบได้ ซึ่งเกรงว่าจะเกิดปัญหาซ้ำรอยเหมือนที่เคยเกิดมาแล้ว
"การจัดทำโครงการบลูชอป เกรงว่าจะเกิดความผิดพลาดซับซ้ำเหมือนที่เกิดขึ้นกับโครงการรวมค้าปลีกเข้มแข็ง รัฐควรเป็นผู้สนับสนุนให้เอกชนเป็นผู้ดำเนินการ แต่นี่เอาโครงการมาทำเองทั้งหมดแล้วมาอ้างว่าเป็นการช่วยขายสินค้าราคาถูก แต่ถ้าห้างค้าปลีกขายสินค้าราคาถูกกลับมีคำสั่งห้ามจำหน่ายทำให้การค้าขายไม่เป็นไปตามกลไกลตลาด แถมนำมาตรการกฎหมายเข้ามาบังคับกับผู้ขายสินค้าราคาถูกทำให้ประชาชนไม่สามารถซื้อสินค้าราคาประหยัดได้จากห้างค้าปลีก" แหล่งข่าวคนเดียวกัน กล่าว

ยูนิลีเวอร์ออกอาการเมิน

นางพงษ์ทิพย์ เทศะภู ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ กลุ่มบริษัทยูนิลีเวอร์ในประเทศไทย ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค กล่าวว่า ทางกระทรวงพาณิชย์ไม่ได้ส่งรายละเอียดเพื่อขอให้บริษัทเข้าร่วมโครงการธงฟ้า”ร้านบลูชอป” แต่หากมีการขอความร่วมมือ บริษัทคงต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม ซึ่งขณะนี้ยังไม่สามารถสรุปรายละเอียดได้ เพราะต้องพิจารณาว่าโครงการดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อช่องทางจำหน่ายร้านค้าปลีกรายย่อยหรือโชวห่วย ซึ่งมีกว่า 2-3 แสนรายทั่วประเทศมากน้อยแค่ไหน ตลอดจนกระทบต่อศูนย์จำหน่ายของบริษัทเองด้วยหรือไม่
สำหรับการจำหน่ายสินค้าราคา 60 บาท ต้องพิจารณาว่าเป็นสินค้าอย่างไร ของกินหรือของใช้ มีความคุ้มค่าคุ้มราคาสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคมากน้อยแค่ไหน เพราะผู้บริโภคมีหลากหลาย ซึ่งนโยบายทางการตลาดของยูนิลีเวอร์ปีนี้ เพิ่มความถี่การทำโปรโมชันในทุกช่องทางห้างสรรพสินค้าจนถึงร้านโชวห่วย เพื่อรองรับกับวิกฤตเศรษฐกิจ และกระตุ้นการซื้อสินค้าของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น ซึ่งในทางกลับกันผู้บริโภคก็ได้ซื้อสินค้าราคาถูกลงอยู่แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น