xs
xsm
sm
md
lg

กรุณาอย่าแสร้งเป็นไร้เดียงสากรณี “เว็บหมิ่น”

เผยแพร่:   โดย: วริษฐ์ ลิ้มทองกุล

ผมลงมือเขียนบทความชิ้นนี้หลังจากได้อ่านบทความเรื่องเว็บหมิ่นของ อ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับวันจันทร์ที่ 19 ม.ค. ที่ผ่านมา ...

ขณะที่ก่อนหน้านั้น ก็เพิ่งอ่านบทสัมภาษณ์พิเศษของ คุณสุภิญญา กลางณรงค์ ในฐานะของผู้ประสานงานเครือข่ายพลเมืองเน็ต ในเนชั่นสุดสัปดาห์ หลังจากที่สัปดาห์ที่ผ่านมาเธอและเครือข่ายของเธอประกอบไปด้วยคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) และเครือข่ายเสรีภาพต่อต้านการเซ็นเซอร์ประเทศไทย (FACT) ได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพื่อขอความชัดเจนกรณีรัฐบาลเตรียมจัดการกับผู้หมิ่นพระบรมเดชานุภาพทางอินเทอร์เน็ตและวิทยุชุมชน

ความเคลื่อนไหวของ อ.นิธิ และ สุภิญญา ดูเหมือนจะเป็นไปในแนวทางและทิศทางเดียวกันคือ ตั้งคำถามถึงวิธีการจัดการกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพในเว็บไซต์ต่างๆ โดย คุณสุภิญญา พยายามถามหาถึงคำนิยามที่ชัดเจนของ “หมิ่น” หรือ “ไม่หมิ่น” ซึ่งจะเกี่ยวพันไปถึงกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งระบุไว้ว่า “ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึงสิบห้าปี”

ผมเห็นด้วยกับหลายๆ ตอนของบทความและบทสัมภาษณ์ของทั้งสองท่าน ไม่ว่าจะในประเด็นกรณีที่ ม.112 ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างพร่ำเพรื่อ, ความจำเป็นที่สถาบันสำคัญๆ ของชาติจะต้องปรับตัวเองให้มีความเป็น “สากล” และการที่รัฐและประชาชนชาวไทยจะต้องปกป้องสถาบันอย่างชาญฉลาด

นอกจากนี้ผมยังเห็นด้วยกับการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันฯ ในเชิงวิชาการ ในเชิงสร้างสรรค์อันจะก่อให้ประชาชนเกิดความผูกพันและเข้าใจกับสถาบันอย่างมีสติและมีปัญญา อย่างบางกรณีที่ อ.สุลักษณ์ ศิวรักษ์ กล่าวถึงสถาบันฯ (ในข้อแม้ว่า ไม่มีการใส่ความ จาบจ้วง หรือการแอบอ้างเอาเสื้อคลุมทางวิชาการมาใส่เพื่อความสะดวกในการดูหมิ่นหรือให้ร้ายสถาบันฯ)

กระนั้น ผมก็พบว่ามีเนื้อหาในบทความและบทสัมภาษณ์ดังกล่าวหลายต่อหลายตอนที่ อ.นิธิและคุณสุภิญญา เขียนหรือให้สัมภาษณ์โดยอาจยังไม่ทราบถึงข้อเท็จจริง หรือทั้งสองท่านแสร้งทำเป็นไม่รู้เรื่อง ผมก็มิอาจทราบได้

ประการที่หนึ่ง อ.นิธิ ระบุไว้ในบทความตอนหนึ่งว่า “ผมไม่คิดว่า รัฐบาลชุดก่อนๆ ไม่จริงใจในการจัดการกับเว็บหมิ่น เพราะผมเชื่อว่ารัฐบาลชุดนี้ก็จะประสบความล้มเหลวอย่างเดียวกัน และไม่ว่าจะใช้ความพยายามอย่างเข้มข้นอย่างไรก็ไม่มีวันประสบความสำเร็จ เพราะหากพูดกันโดยทางเทคโนโลยีแล้ว การปิดเว็บไซต์ที่มีมากขนาดนี้ทำไม่ได้”

ข้อความดังกล่าวของ อ.นิธิ บ่งชี้ได้ว่า อ.นิธิได้รับข้อมูลเบื้องต้นมาไม่ครบถ้วน เพราะตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมารัฐบาลก่อนๆ ไม่เพียงไม่ใส่ใจและไม่จริงใจกับการจัดการเว็บหมิ่นแล้ว คนในเครือข่ายของรัฐบาลยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังและจัดทำเว็บหมิ่นด้วยตัวเอง นอกจากนี้ยังมีการคอร์รัปชันงบประมาณในการจัดการกับเว็บหมิ่นในกระทรวงไอซีทีอีกด้วย

ซึ่งจากข้อเท็จจริงข้างต้น สามารถหักล้างข้อเสนอที่ 3 ในบทความดังกล่าวของ อ.นิธิ ที่ระบุว่า ควรมีการทบทวนกฎหมายให้กฎหมายอาญามาตรา 112 มีเพียงหน่วยงานของรัฐเท่านั้นที่สามารถฟ้องร้องกฎหมายอาญามาตราดังกล่าวได้อย่างชัดเจน

ขอถาม อ.นิธิ สั้นๆ เถิดว่า แล้วการที่มีคนขึ้นปราศรัยหมิ่นฯ และให้ร้ายสถาบันที่สนามหลวง ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เช่น น.ส.ดารณี ชาญเชิงศิลปกุล นายสุชาติ นาคบางไทร และแนวร่วม นปก.-นปช. บางคน โดยที่ตำรวจ/ทหารบางคนก็ได้ยินกับหูได้ดูกับตา แต่กลับต้องให้สามัญชนคนธรรมดาอย่างนายสนธิ ลิ้มทองกุล มากระตุ้นและเปิดโปงให้มีการดำเนินคดีกับคนกระทำการดังกล่าว ... แล้วอย่างนี้จะให้ประชาชนตอบรับข้อเสนอของ อ.นิธิได้อย่างไร?

ประการที่สอง การที่ คุณสุภิญญาให้สัมภาษณ์กับเนชั่นฯ เกี่ยวกับกรณีเว็บไซต์ฟ้าเดียวกัน และเว็บไซต์ประชาไทว่า เว็บไซต์ดังกล่าวมีเนื้อหาเรื่องการเมือง ซึ่งหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการแสดงความคิดเห็น และอาจพาดพิงถึงสถาบัน ซึ่งเธอกล่าวว่า ในข้อเท็จจริงเว็บไซต์ดังกล่าวต่างก็มีการเซ็นเซอร์ตัวเองอยู่แล้ว

สิ่งที่คุณสุภิญญาพูดเป็นเรื่องจริงครับ แต่เป็นการพูดความจริงเพียงครึ่งเดียว เพราะเป็นที่รับรู้กันว่า ผู้แสดงความเห็นเว็บไซต์ทั้งสองจำนวนมาก มิได้เพียง “แสดงความคิดเห็น” หรือ “พาดพิง” สถาบันเบื้องสูงเท่านั้น แต่ยังให้ร้าย กล่าวเท็จ มีการใช้คำหยาบคาบ ใช้คำสรรพนามที่ไม่เหมาะสม มีการโพสต์รูปภาพที่ไม่เหมาะสมเกี่ยวกับสถาบันเบื้องสูงจำนวนมาก

อีกทั้งหลายต่อหลายความเห็นยังมิได้แสดงถึงการใช้สิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิอันชอบธรรมในการแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใดเลย เพราะหลายความเห็นแสดงให้เห็นถึงความประสงค์ในการมุ่งแบ่งแยกประเทศไทย หรือล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างชัดเจน

ประการที่สาม การที่คุณสุภิญญากล่าวว่า “คนรุ่นใหม่ที่เขาเติบโตขึ้นมาในยุคสมัยนี้ ก็มีวิธีการคิดในหลายเรื่องที่แตกต่างกันไปจากคนยุคก่อน ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องคิดกันว่าเราจะอยู่ร่วมกันอย่างไร ในการบริการจัดการพื้นที่สาธารณะที่จะไม่ทำให้เกิดการกล่าวหากันว่าอีกฝ่ายเป็นพวกไม่รักชาติ ...” พร้อมระบุว่า “เสรีภาพ” ในการแสดงความคิดเห็นนั้นเปรียบได้กับ “ลมหายใจ” และรัฐไม่ควรจะเอาผ้าไปอุดจมูกใคร

ในประเด็นดังกล่าว ผมคิดว่า “เสรีภาพ” ที่คุณสุภิญญากล่าวถึงนั้นจำเป็นที่จะต้องมาพร้อมกับ “ความรับผิดชอบ” ... รับผิดชอบอย่างไร?

ยกตัวอย่างเช่น ผมในฐานะคอลัมนิสต์ และเจ้าของบ้านผู้ดูแลเว็บไซต์ก็มีหน้าที่จะต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่ตัวเองเขียน สิ่งที่ตัวเองดูแล มิใช่ว่าผมจะเขียนด่าใครก็ได้ หรือ ผมจะเปิดเว็บไซต์ที่ผมดูแลให้ใครเข้ามาเขียนข้อความหรือโพสต์ข้อความอะไรพร่ำเพรื่อ และหากมีผู้ฟ้องร้องกับสิ่งที่ผมเขียน-สิ่งที่ผมดูแล ผมก็จำเป็นต้องแสดงความรับผิดชอบตามกฎหมาย

แต่คงเป็นเรื่องไม่ถูกต้องนัก หากเมื่อถูกฟ้องร้องแล้ว ผมจะไปเรียกร้องให้แก้กฎหมาย หรือล้มเลิกกฎหมายบางฉบับเพื่อให้ตัวผมเองรอดพ้นจากข้อหา

ส่วนกรณีเว็บไซต์หมิ่นสถาบันฯ นั้น อ.นิธิ และ คุณสุภิญญา ก็ทราบดีว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน และที่ผ่านมาก็เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า สถาบันฯ วางตัวลำบากยิ่ง เพราะในกรณีที่มีคนให้ร้ายหรือใส่ความเท็จ ตัวสถาบันฯ เองไม่สามารถที่จะลงมาฟ้องร้องดำเนินการ หรือแจ้งความกับใครได้ และแม้ในปัจจุบันที่มีผู้ทำแทน ไม่ว่าจะเป็นหน่วยราชการหรือประชาชนทั่วไปก็เห็นได้ชัดว่ามีคนจ้องจะโจมตีอยู่แล้วจากทั้งในและต่างประเทศ

ดังนั้น ผมจึงมีความสงสัยอย่างเป็นจริงเป็นจังว่า หากมีการยกเลิก (หรือแก้ไข) กฎหมายอาญา มาตรา 112 แล้วจะทำให้การกล่าวเท็จ การให้ร้าย หรือความอาฆาตมาดร้ายต่อสถาบันฯ ของคนจำนวนหนึ่งลดน้อยลงหรือไม่? หรือการยกเลิกดังกล่าวจะยิ่งทำให้คนกลุ่มนี้เหิมเกริมและคิดว่า ต่อไปนี้ตนจะกล่าวจะพูดอะไรเกี่ยวกับสถาบันก็ได้?

รบกวน อ.นิธิ และ คุณสุภิญญา ช่วยตอบข้อสงสัยของผมหน่อยเถิด
กำลังโหลดความคิดเห็น