xs
xsm
sm
md
lg

ทำให้ “ซานติก้า” เป็นบทเรียนครั้งสุดท้าย

เผยแพร่:   โดย: ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง


กรณีเหตุไฟไหม้สถานบันเทิง “ซานติก้า” ในช่วงเวลาฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 1 ม.ค. 2552 ทำให้มีคนตายไปแล้ว 64 คน บาดเจ็บสาหัสหลายสิบคน และบาดเจ็บอีกกว่า 200 คน

คนตาย ตายอย่างทรมาน สำลักควันไฟ ควันพิษ ก่อนจะถูกไฟคลอกซ้ำ

คนเจ็บที่รอดมาได้ บางส่วนก็ต้องเสี่ยงกับผลร้ายจากการสูดหายใจควันไฟ ควันพิษ ที่อาจจะมีผลร้ายต่อระบบทางเดินหายใจในระยะยาว

สาเหตุสำคัญ ที่ทำให้เกิดการสูญเสียร้ายแรงขนาดนี้ ก็เพราะตัวอาคารสถานที่นั่นเอง ที่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัย เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ ตัวอาคารสถานที่จึงกลายเป็นเสมือน “กรงขัง” ที่มีสภาพเหมือน “เตาอบ” รมควันคนที่ติดอยู่ข้างในจนสลบ ก่อนจะเผาไหม้อย่างรวดเร็ว

การสูญเสียมากขนาดนี้ เป็นเรื่องใหญ่ ที่ไม่ควรปล่อยให้กลายเป็นเสมือน “ไฟไหม้ฟาง”

แต่จนถึงวันนี้ การดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้อง และการดูแลรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ยังไปไม่ถึงไหน ฝ่ายตำรวจก็มุ่งเน้นสอบแต่ประเด็นว่า “ใครเป็นคนทำให้เกิดไฟลุกไหม้?” แต่ไม่พยายามที่จะขยายประเด็นสอบสวนไปสู่คำถามที่ใหญ่กว่า สำคัญกว่า และจะมีผลในทางยกระดับมาตรฐานการปกป้องคุ้มครองดูแลความปลอดภัยของประชาชนส่วนรวมมากกว่า เช่น “ทำไมเมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ จึงเกิดความสูญเสียได้มากขนาดนี้?” หรือ “ร้านซานติก้ามีระบบป้องกันอัคคีภัยที่ได้มาตรฐานเพียงพอหรือไม่ ถ้าไม่ เหตุใดจึงเปิดให้บริการลูกค้าได้ ? ใครจะต้องรับผิดชอบ? เจ้าหน้าที่รัฐจะต้องถูกดำเนินการอย่างไร?” เป็นต้น

กรณีซานติก้า เป็นทั้งความสูญเสียและความเสียหายครั้งใหญ่ในสังคมไทย หากเรายอมให้เรื่องนี้เงียบหาย หรือปล่อยให้เรื่องจางหายไปเฉยๆ เหมือนควันไฟที่ถูกกระแสลมตีกระจายหายไป สังคมไทยจะไม่มีหลักประกันอะไรเลยว่า ในอนาคต จะไม่เกิดเรื่องร้ายในลักษณะอย่างนี้ กับตนเอง หรือกับคนที่เรารักบ้าง

อาจจะเป็นในสถานที่รูปแบบอื่นๆ เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงเรียน ห้องเรียนกวดวิชา ตึกอาคารสำนักงาน โรงแรม ห้องประชุมสัมมนา งานคอนเสิร์ต โรงแสดงมหรสพ หอพัก คอนโดมิเนียม ภัตตาคาร ห้องอาหาร ฯลฯ ไม่มีใครรู้แน่ !

การเรียนรู้จากบทเรียนราคาแพง กรณีซานติก้า เพื่อนำไปสู่การยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในสังคมไทย จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย หากทุกฝ่ายพากันนิ่งเฉย ไม่ใช้สิทธิ ไม่ทำหน้าที่ และไม่บังคับใช้กฎหมายหรือดำเนินมาตรการอันจำเป็นโดยเคร่งครัดและจริงจัง

เริ่มจากตัวผู้เสียหายเอง !

หลังเหตุการณ์ดังกล่าว ปรากฏว่า ผู้เสียหายส่วนใหญ่ ทั้งคนที่ได้รับบาดเจ็บ หรือแม้แต่พ่อแม่พี่น้องของผู้เสียชีวิต ตกอยู่ในอาการโศกเศร้า อยู่ระหว่างทำใจเพื่อยอมรับกับความสูญเสียที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องน่าเห็นใจ และเข้าใจได้

แต่จากการติดตามข่าว ทำให้ทราบว่า ผู้เสียหายหลายราย ไม่คิดที่จะใช้สิทธิเรียกร้องค่าเสียหาย หรือดำเนินคดีกับผู้เกี่ยวข้องที่ทำให้เกิดการสูญเสียดังกล่าว โดยให้ความเห็นที่น่าไตร่ตรองอย่างมาก เป็นต้นว่า “อยากลืม ไม่อยากพูดถึงเรื่องร้ายที่เกิดขึ้นอีกแล้ว” หรือ “กลัวแม่รู้ว่าหนีไปเที่ยวร้านซานติก้าในวันปีใหม่” หรือแม้แต่พ่อแม่ของผู้ตายบางรายก็ไม่ติดใจที่จะใช้สิทธิตามกฎหมายเพื่อดำเนินคดีต่อไป โดยบอกแต่เพียงว่า “คิดว่าเจ้าของกิจการคงไม่ตั้งใจ ขอให้กรณีที่เกิดขึ้นนี้ ไม่เกิดกับคนอื่นๆ อีก” เป็นต้น

คำพูดและความเห็นในลักษณะของผู้เสียหาย สะท้อนประเด็นปัญหา น่าคิดทบทวนอย่างยิ่ง

1) การกลัวแม่จะรู้ว่าตนเองไปเที่ยวร้านซานติก้า จึงไม่ต้องการแสดงตัว อาจฟังดูเป็นเรื่องเล็กๆ เป็นการคิดแบบเด็กๆ ที่วิตกกังวลหวาดกลัวแม่ จนละเลยที่จะดำเนินการในเรื่องที่เป็นประโยชน์อย่างแท้จริงแก่ตนเองและส่วนรวม (ซึ่งจริงๆ แล้ว คนเป็นแม่ย่อมเข้าใจ และพร้อมจะรับฟังและช่วยเหลือลูกของตนเองด้วยซ้ำไป)

แต่เรื่องนี้ จะโทษผู้เสียหายที่อาจจะอ่อนวุฒิภาวะแต่ฝ่ายเดียวไม่ได้ เพราะสังคมก็มีส่วนในการ “ประณาม” ผู้เสียหาย ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว เช่น การพาดหัวข่าวตามสื่อมวลชนทั้งหลาย ที่มักตราหน้าผู้เสียหายในกรณีนี้โดยใช้คำว่า “นักเที่ยว” ทั้งๆ ที่ ในความเป็นจริง คนที่ไปใช้บริการสถานบันเทิงดังกล่าว ในวันฉลองส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นคนที่อาชีพการงานเป็นหลักเป็นฐาน แต่ไปเที่ยวสังสรรค์กับเพื่อนฝูงและคนที่รักในโอกาสฉลองปีใหม่ การใช้คำว่า “นักเที่ยว” จึงเป็นการให้ “ภาพลบเกินจริง” แก่ผู้เสียหาย จนทำให้บางคนไม่สบายใจที่จะเปิดเผยตัว เป็นต้น

2) ความรู้สึกว่าอยากจะลืม แม้เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจอย่างมาก แต่ก็เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงอย่างยิ่งด้วยเช่นกัน

เพราะสะท้อนว่า สภาพจิตใจของเหยื่อที่ต้องการจะลืมนั้น ได้จดจำเหตุร้าย ฝังลึกอยู่ในสมองและจิตใจ ซึ่งการพยายามลืมอาจจะช่วยได้ในระดับหนึ่ง แต่ไม่แน่ว่า จะกลายเป็นภาวะเก็บกด ทับถม เกิดความตึงเครียดภายใน จากการที่ไม่ได้บำบัด ระบาย หรือแก้ปมปัญหาอย่างตรงจุด หรือไม่

น่าเป็นห่วงว่า จะนำไปสู่ภาวะซึมเศร้า หรือตกค้างเป็นปมในใจตลอดไป หรือไม่

หากผู้เสียหายได้พูดคุยกับจิตแพทย์ หรือระบายออกด้วยวิถีทาง หรือวิธีการที่ถูกต้อง อาจจะช่วยแก้ปัญหาได้ตรงจุดหรือไม่ เช่น การพูดคุยระบายความรู้สึก ความกลัว ความเศร้า หรือการทำบุญ หรือทำอะไรบางอย่างที่เป็นประโยชน์หลังเหตุการณ์นั้น เพื่อคลายปมในใจว่าได้มีส่วนช่วยป้องกันต่อไปว่าจะไม่ให้เกิดเหตุร้ายแบบนี้อีกในสังคม เป็นต้น

3) ความรู้สึกของผู้เสียหายในทำนองว่า “ฟาดเคราะห์” หรือ “มันเป็นอุบัติเหตุ” หรือ “เจ้าของกิจการคงไม่อยากให้เกิด” หรือ “ขอให้อย่าไปเกิดเรื่องร้ายอย่างนี้กับคนอื่นเลย” สะท้อนจิตใจอันดีงามและการมองโลกในแง่ดีของผู้เสียหาย แต่การที่ตัวผู้เสียหายไม่ดำเนินการตามสิทธิ หรือต่อสู้เพื่อให้เกิดผลใช้บังคับที่เป็นรูปธรรม เกิดบรรทัดฐาน มาตรฐานขึ้นมาใหม่ ย่อมไม่เกิดประโยชน์ใดๆ เลย

คำวิงวอนหรือความคาดหวังว่า เรื่องร้ายๆ แบบนี้ จะไม่เกิดกับคนอื่น กับคนที่รักของคนอื่นๆ หรือแม้แต่เกิดกับตัวเองอีกครั้งในอนาคต ก็จะไม่เกิดผลใดๆ เลย

กล่าวได้ว่า ไร้ความหมายในทางความเป็นจริง !

เพราะไม่ต่างอะไรกับการเรียกร้องให้คนทุกคนเป็นคนดี อธิษฐานให้ไม่มีเรื่องร้ายๆ เกิดขึ้นในสังคม ซึ่งการเรียกร้องและการอธิษฐานนั้นเป็นเรื่องดี แต่ก็ไม่เพียงพอที่จะทำให้เกิดสิ่งดีๆ ขึ้นมาได้จริงๆ และไม่เพียงพอที่จะป้องกันมิให้เรื่องร้ายๆ เกิดขึ้นมาอีก

เพราะในโลกความเป็นจริง สังคมเรายังมีนักธุรกิจที่จ้องหาวิธีการทุกวิถีทางเพื่อจะกอบโกยกำไรเข้ากระเป๋าของตน ด้วยต้นทุนต่ำที่สุด และกำไรสูงที่สุด จนบางครั้ง ถึงกับละเลยที่จะลงทุนป้องกันดูแลความปลอดภัยของลูกค้าที่มาใช้บริการของตนเอง

กรณีซานติก้า นอกจากจะอธิษฐานหรือวิงวอนแล้ว ผู้เสียหายน่าจะพิจารณาใช้สิทธิตามกฎหมาย เพื่อบังคับใช้ ทำให้เกิดบรรทัดฐาน มาตรฐานต่อไปในสังคมว่า สถานบันเทิงหรือแม้แต่ผู้ประกอบธุรกิจอื่นๆ จะต้องดูแลความปลอดภัยของลูกค้าผู้บริโภคในสังคมอย่างไร

อย่าลืมว่า ถ้าซานติก้ามีระบบและมาตรฐานเรื่องความปลอดภัยที่ดีกว่านี้ ย่อมจะไม่เกิดไฟไหม้

หรือถ้าเกิดไฟลุกไหม้ ก็จะต้องดับเพลิงไหม้ได้ทันก่อนจะลุกลามเสียหายร้ายแรง และคนที่อยู่ในร้านก็จะต้องปลอดภัย ไม่ได้รับบาดเจ็บหรือตายอย่างทรมานเช่นนี้

หรือถ้าสูญเสีย ก็คงจะน้อยกว่านี้

เมื่อมีการดำเนินคดีตามกฎหมาย ก็จะต้องนำตัวผู้กระทำผิด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐหรือเอกชน ไม่ว่าจะโดยการจงใจ ละเว้น ละเลย ประมาท ย่อหย่อน บกพร่อง หรือไม่ได้มาตรฐาน มารับผิดชอบตามกฎหมาย เพื่อให้เกิดบรรทัดฐาน เกิดมาตรฐาน เพื่อว่าต่อนี้ไป ผู้เกี่ยวข้องจะต้องเอาจริงเอาจังและมีความตระหนักในการดูแลความปลอดภัยของประชาชนให้ดีกว่านี้

4) กรณีซานติก้า ทราบข่าวว่า เจ้าของธุรกิจไม่ได้ทำประกันภัยเอาไว้

อันนี้ จะสะท้อนหรือไม่ว่า มีเจตนาละเลย หรือประมาทเลินเล่อ หรือจงใจละเว้น หรือเพื่อแสวงหากำไรโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค ไม่นำพาต่อความเสียหายร้ายแรงที่จะเกิดกับผู้บริโภค

มีเจตนาแสวงหากำไรโดยไม่คำนึงถึงการคุ้มครองดูแลความปลอดภัยของลูกค้าผู้บริโภค

อย่าลืมว่า ในแวดวงธุรกิจประกันภัยนั้น บริษัทประกันภัยจะเข้าไปสำรวจตรวจสอบระบบป้องกันอัคคีภัยในสถานบันเทิงเสียก่อน จึงจะประเมินรับประกัน รวมถึงคิดเบี้ยประกันภัย โดยจะตรวจสอบระบบป้องกันอัคคีภัย ทางหนีไฟ และผังการออกแบบที่ชัดเจน หากสถานบันเทิงไม่ให้มีการเข้าสำรวจ บริษัทประกันภัยอาจจะปฏิเสธการรับประกัน หรือถ้าไม่ยอมปรับปรุงความเสี่ยงภัยตามแผนที่บริษัทประกันภัยแนะนำ บริษัทประกันก็จะต้องมีการคิดเบี้ยประกันเพิ่มขึ้นตามระดับของความเสี่ยงภัย เป็นต้น

ดังนั้น การที่สถานบันเทิงดังกล่าวจงใจไม่ทำประกันภัย ก็สะท้อนว่า ต้องการลดภาระค่าประกันภัยของตน อันเป็นการลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจ โดยไม่จัดให้มีระบบป้องกันภัยที่ได้มาตรฐาน และผลักภาระความเสี่ยงภัยอันเกิดจากการละเลยของตนเองนั้น ให้ตกไปเป็นภาระความเสี่ยงภัยของผู้บริโภคเอง ใช่หรือไม่

5) กรณีธุรกิจสถานบันเทิง ขายสุรา การแสดง มีลักษณะเป็น “ธุรกิจบาป”

หากมีการดำเนินคดีตามกฎหมาย แล้วปรากฏว่ามีการพิพากษาในเชิงลงโทษอย่างรุนแรง ก็เชื่อว่าจะเกิดผลดีต่อสังคมส่วนรวม เพราะจะทำให้ธุรกิจสถานบันเทิงต้องมีมาตรการคุ้มครองดูแลความปลอดภัยของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น และจะช่วยกรองเอาสถานบันเทิงที่ไม่ได้มาตรฐานความปลอดภัยออกไป ลดจำนวน “ธุรกิจบาป” ลงไปโดยปริยาย

ด้วยเหตุนี้ เมื่อทราบจากคุณสันติสุข มะโรงศรี ผู้ดำเนินรายการ “รู้ทันประเทศไทย” ทางสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวี นิวส์ 1 ซึ่งเป็นผู้เสียหายคนหนึ่งในเหตุการณ์ดังกล่าว ว่าจะใช้สิทธิตามกฎหมาย ยื่นฟ้องร้องคดีดังกล่าวต่อศาลในวันที่ 19 ม.ค. 2552 ผมจึงเห็นด้วยอย่างยิ่ง โดยเฉพาะหากมีการฟ้องคดีนี้ ให้เป็นคดีผู้บริโภค ใช้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ก็จะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมอย่างยิ่ง เพราะในกฎหมายดังกล่าว คุ้มครองสิทธิและอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายอย่างมาก (แต่ที่ผ่านมา กลับปรากฏว่า ผู้ประกอบธุรกิจเริ่มใช้กฎหมายดังกล่าวมากกว่าตัวผู้บริโภคเองเสียอีก)

ทั้งๆ ที่ จากประสบการณ์ตรง ที่ผมเคยใช้สิทธิฟ้องคดีสายการบินนกแอร์และกรมขนส่งทางอากาศละเว้นไม่ตรวจวัตถุระเบิดในตัวผู้โดยสารก่อนขึ้นเครื่อง เป็นคดีผู้บริโภคมาแล้วนั้น ผู้เสียหายสามารถใช้สิทธิของตนตามกฎหมายได้อย่างสะดวก ไม่ต้องเสียค่าทนายความ ค่าธรรมเนียมศาล ไม่ต้องมีทนายความ ภาระการพิสูจน์อยู่ที่ผู้ประกอบการ และวิธีการพิจารณาก็เป็นแบบไต่สวน ทำให้ผู้พิพากษาสามารถให้ความเป็นธรรมในคดีได้อย่างเต็มที่

ผมมั่นใจว่า กรณีซานติก้านั้น เข้าลักษณะเป็นคดีผู้บริโภค สามารถใช้ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ได้อย่างแน่นอน และหากมีการดำเนินคดีนี้ให้ถึงที่สุด ผู้เสียหายคนอื่นๆ ก็มีโอกาสได้ประโยชน์ตามไปด้วย ผลร้ายที่อาจจะมีต่อระบบทางเดินหายใจระยะยาวก็ได้รับการคุ้มครอง และสังคมก็อาจจะได้ประโยชน์จากการให้มีค่าเสียหายเพื่อการลงโทษ

อย่าให้กรณีซานติก้า ต้องกลายเป็นเหมือน “ไฟไหม้ฟาง” เพราะลำพังเพียงการ “ลืม” หรือ “วิงวอนขอร้องให้เรื่องร้ายๆ แบบนี้ ไม่เกิดกับคนอื่นๆ อีก” ไม่เพียงพอ แต่ผู้เกี่ยวข้อง โดยเริ่มจากตัวผู้เสียหายเอง จะต้องลงมือ “สร้างบทเรียนให้สังคม” เพื่อให้เรียนรู้ และเกิดบรรทัดฐาน มาตรฐานที่ดีกว่านี้


เพื่อเป็นหลักประกัน หรือลดความเสี่ยง หรือลดโอกาส เพื่อว่าเรื่องร้ายๆ แบบนี้ จะไม่ไปเกิดขึ้นกับคนอื่น คนที่รักของคนอื่นๆ หรือแม้แต่กับตัวเราเองในอนาคตอีกต่อไป

ดร.เจิมศักดิ์ ปิ่นทอง
ศาสตราภิชาน มหาวิทยาลัยรังสิต
กำลังโหลดความคิดเห็น