xs
xsm
sm
md
lg

ซื้อบ้านรัฐอุ้ม 4 แสนแบกภาษีอาน 4 หมื่นล้าน-ผวาซับไพรม์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ครม.มาร์คไฟเขียวใช้เงินฟื้นเศรษฐกิจไทย ทั้งงบกลาง 1.6 แสนล้าน มาตรการภาษีและต่ออายุแบกค่าน้ำค่าไฟ เผยรัฐอุ้มคนซื้อบ้านใหม่หักภาษีได้ 4 แสนบาท ส่วนงบชดเชย 5 มาตรการ 6 เดือน 1.4 หมื่นล้าน ขุนคลังคาดรัฐสูญ 4 หมื่นล้าน มั่นใจผลที่ได้รับกลับมาต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีความคุ้มค่า พร้อมช่วยสินค้าเกษตร 1.2 หมื่นล้าน ด้านเอกชนผวาเกิดซับไพรม์อสังหาฯ โจนส์ แลงฯ อ้างเหตุไม่มีกำลังซื้อ AREAแนะภาครัฐฯควรหันมาส่งเสริมตลาดบ้านมือสอง ระบุแพกเกจภาษีอสังหาฯ ส่งผลดีผู้ซื้อบ้าน 4-6 ล้านบาท ส.อุตฯ ก่อสร้างโวยรัฐ เบี้ยวเงินค่ารับเหมาก่อสร้าง 80,000 ล้าน

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วานนี้ (20 ม.ค.) มีมติอนุมัติแผนกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ประกอบด้วยการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายกลางปี 52 วงเงิน 1.16 แสนล้านบาท เพื่อเสนอสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 28 ม.ค.นี้ ยังมีการขยายโครงการแทรกแซงราคาพืชผลเกษตร ขยายเวลาลดรายจ่ายประชาชนทั้งค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้าต่อไปอีก 6 เดือน และมาตรการทางด้านภาษีในภาคธุรกิจท่องเที่ยว อสังหาริมทรัพย์ เอสเอ็มอี วิสาหกิจชุมชนและการปรับโครงสร้างหนี้ภาคธุรกิจ

“การขยายเวลามาตรการแบ่งเบาภาระค่าน้ำและค่าไฟ มีการปรับหลักเกณฑ์บ้าง เช่น เรื่องของน้ำ สามารถใช้ฟรีได้เหลือ 30 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน จากเดิม 50 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน โดยขยายไปยังผู้ใช้น้ำประปาท้องถิ่นด้วย ขณะที่ค่าไฟฟ้า ได้ปรับเป็นให้ใช้ฟรีไม่เกิน 90 หน่วย/ต่อเดือนเท่านั้น จากเดิมให้ผู้ไช้ไฟฟ้าไม่เกิน 80 หน่วยต่อเดือนใช้ฟรี และคิดครึ่งราคาสำหรับผู้ที่ใช้ตั้งแต่ 80 ยูนิตไปถึง 150 ยูนิตต่อเดือน” นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าว

นอกจากนี้ ให้สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.)ไปพิจารณาบรรจุอัตราว่างทั้งสิ้น 2.4 หมื่นอัตรา โดยให้แต่ละกระทรวงกลับไปพิจารณาความจำเป็นในการเพิ่มกำลังคนเพื่อนำเสนอต่อ ครม.ต่อไป

นายกรัฐมนตรียังมอบหมายให้ พล.ต.สนั่น ขจรประสาน์ส รองนายกรัฐมนตรี ไปหาแนวทางเตรียมการป้องกันมาตรการป้องกันภัยแล้ง และให้นายกอปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ รับผิดชอบปัญหาราคาพืชผลทางการเกษตร นอกจากนี้ยังได้อนุมัติการจัดสรรงบประมาณกลางปี 52

ส่วนมาตรการทางด้านภาษี ได้แก่ 1.ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ด้วยการเพิ่มเงื่อนไขการหักค่าลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยให้นำเงินต้นจากการกู้ซื้อบ้านในปี 52 มาหักค่าลดหย่อนได้ไม่เกิน 3 แสนบาท และดอกเบี้ยได้ไม่เกิน 1 แสนบาท 2.ภาคเอสเอ็มอี ขยายเวลาสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับกองทุนร่วมลงทุน (venture capital) ที่ลงทุนในเอสเอ็มอี อีก 3 ปี หรือจนถึงปี 54 3.ภาคท่องเที่ยว ให้ผู้ประกอบการนำค่าใช้จ่ายในการอบรมสัมมนาในประเทศมาหักเป็นค่าใช้จ่ายในการคำนวณภาษีเงินได้ประจำปีเป็น 2 เท่า เพื่อเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยว

นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง แถลงเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการภาษีกระตุ้นเศรษฐกิจทั้ง 7 มาตรการ ที่ได้รับการอนุมัติในวันนี้ โดยคาดว่า จะทำให้ภาครัฐต้องเข้ามารับภาระแทนประชาชนประมาณ 4 หมื่นล้านบาท แยกเป็นภาคอสังหาริมทรัพย์ 36,500 ล้านบาท ภาคธุรกิจ SME 1,400 ล้านบาท วิสาหกิจชุมชน 200 ล้านบาท และภาคการท่องเที่ยว 1,800 ล้านบาท โดยยังไม่รวมภาษีทีเกี่ยวข้องกับเงินร่วมลงทุน และการปรับโครงสร้างหนี้

รายละเอียดประกอบด้วย 1.มาตรการภาษีธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จะยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับผู้จ่ายเงินค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ไม่เคยผ่านการใช้งานมาก่อน และโอนภายในปี 2552 วงเงินไม่เกิน 3 แสนบาท คงสิทธิดอกเบี้ยเงินกู้เพื่อหักลดหย่อนภาษีเงินได้ไม่เกิน 1 แสนบาท และการต่ออายุการลดค่าธรรมเนียมการโอน ภาษีธุรกิจเฉพาะ และภาษีหัก ณ ที่จ่าย จากเดิม 3.3% ลงเหลือ 0.11% ถึง มี.ค.53 ทั้งนี้ เหตุผลที่ออกมาตรการนี้ เพราะปกติแต่ละปีจะมีการโอนบ้านประมาณ 5 หมื่นยูนิต รัฐบาลไม่อยากให้ตกไปกว่านี้

"เป็นการเร่งให้มีการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยในปี 2552 ลดผลกระทบโดยตรงต่อผู้ซื้อบ้านหลังแรกและผู้ประกอบการ ช่วยให้เกิดการใช้สภาพคล่องส่วนเกินของสถาบันการเงิน ลดผลกระทบต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องในวงกว้าง โดยคาดว่าจะมีผู้โอนที่อยู่อาศัยใหม่ 1 แสนแห่ง โดยรัฐบาลสูญเสียรายได้จากการลดค่าธรรมเนียมการโอน และภาษีภาคอสังหาริมทรัพย์ 30,000 ล้านบาท ภาษีรายได้บุคคลธรรมดา 6,500 ล้านบาท แต่จะมีภาษีนิติบุคคลเพิ่มขึ้น" นายกรณ์ชี้แจง

มาตรการที่ 2 มาตการภาษีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จะขยายวงเงินได้พึงประเมินขั้นต่ำที่ต้องมาคำนวณภาษีในอัตรา 0.5% จากเดิม 60,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 1 ล้านบาท ช่วยลดผลกระทบจากภาระค่าครองชีพ เพิ่มรายได้ให้ประชาชน สนับสนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และยังเป็นการขยายวงเงินยกเว้นภาษี จากเดิม 300 บาทต่อปี เป็นที่เกินกว่า 5,000 บาทต่อปี โดยมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ประโยชน์ 9.7 แสนราย

มาตรการที่ 3 มาตรการภาษีสำหรับวิสาหกิจชุมชน เป็นการเพิ่มเพดานวงเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษี จาก 1.2 ล้านบาท เป็น 1.8 ล้านบาท สำหรับเงินได้ในปี 2552-2553 ซึ่งจะช่วยเพิ่มรายได้แก่ประชาชน และสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน ที่ได้ประโยชน์ 58,000 แห่งทั่วประเทศ

ส่วนมาตรการที่ 4 มาตรการภาษีด้านการท่องเที่ยว โดยบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล สามารถนำค่าใช้จ่ายในการจัดอบรมสัมมนาในประเทศ (ค่าห้องพัก และค่าห้องสัมมนา) มาหักภาษีได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง สำหรับรายจ่ายในรอบปีบัญชี 52 ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ รวมถึงธุรกิจโรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร โดยคาดว่ารัฐบาลสูญเสียรายได้ 1,800 ล้านบาท

มาตรการที่ 5 มาตรการภาษีสำหรับธุรกิจเงินร่วมลงทุน เป็นการขยายเวลาการขึ้นทะเบียนนิติบุคคลร่วมลงทุน (Venture Capital) ถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2554 และยกเลิกเงื่อนไขที่กำหนดให้ธุรกิจเงินร่วมลงทุนต้องนำเงินไปลงทุนใน SME ไม่น้อยกว่า 20% ของทุนจดทะเบียนในปีแรก และยกเว้นภาษีเงินได้แก่ผลประโยชน์จากการโอนหุ้นของ SME ทั้งนี้เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนระยะยาวของ SME และพัฒนาตลาดทุนไทย หาก SME เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์

มาตรการที่ 6 มาตรการภาษีที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างหนี้ โดยเว้นภาษีสำหรับเงินได้แก่ลูกหนี้ที่ได้รับจากการปลดหนี้ของสถาบันการเงิน และเจ้าหนี้อื่นๆ ให้เจ้าหนี้สามารถจำหน่ายหนี้สูญจากการปลดหนี้ดังกล่าว โดยไม่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ปกติ ยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้ที่ได้จากการโอนสินทรัพย์ การขายสินค้า และการกระทำจากการปรับโครงสร้างหนี้ การโอนสินทรัพย์ที่ลูกหนี้นำมาจำนองเป็นประกันหนี้ของสถาบันการเงินให้แก่ผู้อื่น โดยลูกหนี้ต้องนำเงินไปชำระแก่เจ้าหนี้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเร่งรัดการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อลดผลกระทบจากปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ

มาตรการที่ 7 มาตรการภาษีที่เกี่ยวข้องจากการโอนกิจการบางส่วน โดยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ อากรแสตมป์ และค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมกรมที่ดิน ที่เกิดจากการโอนกิจการบางส่วน แก่ผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทมหาชน หรือ บริษัทจำกัด โดยการโอนต้องแล้วเสร็จภายใน 31 ธันวาคม 2552 ทั้งนี้ เพื่อเร่งรัดการปรับโครงสร้างองค์กรให้มีการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถแข่งขันได้ และลดภาระค่าใช้จ่าย

**เชื่อว่าผลที่ได้รับกลับมาคุ้มค่า

นายกรณ์กล่าวว่า รัฐบาลเชื่อว่าผลที่ได้รับกลับมาต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจจะมีความคุ้มค่า โดยมาตรการที่ขอ ครม. อนุมัตินี้ หวังว่านอกจากช่วยลดภาระประชาชนแล้ว ยังจะช่วยแก้ปมเศรษฐกิจให้เดินหน้าได้ด้วย บางส่วน ได้ประเมินว่ายิ่งมีผลสูญเสียรายได้ภาครัฐเท่าไหร่ ก็ยิ่งส่งผลดีกับเศรษฐกิจเท่านั้น ประเมินแล้วคุ้มค่า เพราะมีนักวิชาวิเคราะห์ว่าเฉพาะมาตรการด้านอสังหาริมทรัพย์ตัวเดียว จะหมุนได้ถึง 3 รอบ แล้ว

“ยิ่ง ครม. ได้อนุมัติ 5 มาตรการ 6 เดือน ที่ได้ยกเลิกในส่วนการลดภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงไป ก็จะช่วยให้รายได้รัฐกลับมาอีกหลายหมื่นล้านบาท ดังนั้น จึงมีผลได้มากกว่าผลเสียจากมาตรการนี้ แต่ผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ต้องรอให้ประเมินอีกครั้ง โดยเมื่อตอนที่รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาได้มีการประมาณการว่าในปีงบประมาณ 2552 นี้ จะจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าเป้าหมายถึง 1.5 แสนล้านบาท จากประมาณการรายได้ตามเอกสารงบประมาณ 1.58 ล้านล้านบาท แต่ ณ ขณะนี้ ตนคาดว่าระดับรายได้รัฐบาลไม่น่าจะจัดเก็บได้ต่ำกว่าที่ประเมินไว้นี้”

นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ต้องชี้แจงให้ผู้เสียภาษีที่จะใช้สิทธิตามมาตรการภาษีเหล่านี้เข้าใจว่า การหักลดหย่อนภาษีจะได้สิทธิในรอบของการประเมินเงินได้ในปี 2552 ซึ่งจะต้องยื่นแบบแสดงรายการในช่วงต้นปี 2553 ดังนั้นการยื่นแบบในช่วงต้นปีนี้ จึงไม่ได้รับสิทธิประโยชน์แต่อย่างใด

**ชดเชย 1.4 หมื่นล้าน 5 มาตรการ

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม.เห็นชอบลดภาระค่าครองชีพประชาชนระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์เป็นต้นไป ใช้งบประมาณชดเชย 13,900 ล้านบาท ด้วยการส่งงบประมาณให้หน่วยงานที่เข้าร่วมโครงการเป็นรายเดือน

ครม.ยังเห็นชอบกรอบวงเงิน 12,625 ล้านบาท เพิ่มเติมเพื่อรักษาเสถียรภาพสินค้าเกษตร 3 รายการ ได้แก่ 1.โครงการเข้ารับจำนำข้าวโพดตามโควตา 5.2 แสนตัน โดยอนุมัติงบประมาณวงเงิน 2,310 ล้านบาท 2.โครงการเข้ารับจำนำผลปาล์มน้ำมันเพื่อการพาณิชย์ จำนวน 1 แสนตัน ใช้งบประมาณ 3พันล้านบาท และ3.โครงการรับจำนำยางพารา จำนวน 1 แสนตัน ใช้งบประมาณ 3,080 ล้านบาท ทั้งนี้เป็นยอดขายขาด 955.72 ล้านบาท

**เอกชนหวั่นเกิดซับไพรม์อสังหาฯ

ด้านนางสุพินท์ มีชูชีพ กรรมการผู้จัดการ โจนส์ แลง ลาซาลล์ บริษัทที่ปรึกษาและการลงทุนระดับโลก กล่าวไม่เห็นด้วยกับมาตรการกระตุ้นอสังหาฯดังกล่าว โดยให้ความเห็นว่า มาตรการนี้ไม่น่าจะช่วยกระตุ้นได้มากเท่าไร เพราะปัญหาสำคัญคือคนไม่มีกำลังซื้อ แต่รัฐบาลควรกระตุ้นเศรษฐกิจมหภาคมากกว่า เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจภาพใหญ่หมุนเวียน และส่งผลดีต่ออสังหาเอง

โดยเฉพาะหากรัฐบาลประกาศลงทุนโครงการเมกะโปรเจกต์ที่ชัดเจน น่าจะช่วยภาคอสังหาฯได้ดีกว่า เพราะเมื่อประกาศแล้วอสังหาฯจะเกิดขึ้นเอง ทั้งจำนวนโครงการ(ซัพพลาย)และความต้องการซื้อ(ดีมานด์) โดยมองว่าตลาดอสังหาฯยังไม่มีปัญหา แต่หากรัฐทำให้การซื้อบ้านง่ายเกินไปในภาวะเช่นนี้ อาจจะทำให้เกิดปัญหาในอนาคตได้ โดยเฉพาะการทำบริษัทค้ำประกันสินเชื่อที่อยู่อาศัย( มอร์จเกจอินชัวรันส์) ที่ทำให้ธนาคารพาณิชย์ไม่มีความเสี่ยงในการปล่อยกู้

"เพราะผู้บริโภคเป็นคนออกค่าใช้จ่ายประกันความเสี่ยงเอง ทำให้แบงก์ปล่อยกู้ได้ 100% คล้ายกับตลาดที่สหรัฐฯ ซึ่งเห็นผลแล้วว่า จะเกิดปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพ(ซับไพรม์)ในที่สุด" นางสุพินท์ กล่าว

**แนะควรส่งเสริมบ้านมือสอง

นายโสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูล วิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (AREA) กล่าวว่า ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย ซึ่งมีความฝืดเคือง ความไม่แน่นอนในทิศทางการลงทุน และราคาทรัพย์สินอาจหยุดนิ่ง ดังนั้น ผู้ซื้อบ้านที่ไม่พร้อมด้านการเงิน จึงไม่ควรได้รับการกระตุ้นให้ซื้อที่อยู่อาศัยด้วยการจูงใจจากมาตรการประหยัดเพียงเล็กน้อย เพราะหากเศรษฐกิจตกต่ำต่อเนื่อง จะเป็นการเพิ่มความเสี่ยงทางการเงินให้ผู้ซื้อกลุ่มนี้ ที่อาจได้รับผลกระทบจากรายได้ และอาจไม่สามารถผ่อนชำระค่าบ้านได้ ทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่องในระยะยาว

ขณะเดียวกัน มาตรการการส่งเสริมการอำนวยสินเชื่อของสถาบันการเงินนั้น ปกติสถาบันการเงินต่างก็มีระบบป้องกันความเสี่ยงในการอำนวยสินเชื่อที่ได้รับบทเรียนจากวิกฤตปี 40 อยู่แล้ว มาตรการค้ำประกันสินเชื่อที่มีการเสนอในขณะนี้ อาจเป็นการลดหย่อนวินัยในการอำนวยสินเชื่อ โดยหลักการแล้ว ผู้ซื้อบ้านก็ควรมีเงินดาวน์ไม่น้อยกว่า 20% หากไม่มีความสามารถตามนี้ ก็ไม่ควรเสี่ยงซื้อบ้านให้เป็นผลเสียต่อตนเอง ผู้ประกอบการหรือสถาบันการเงิน

" ในการจูงใจด้วยการลดภาษีและดอกเบี้ย ผู้ซื้อบ้านอาจได้ประโยชน์เพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าบ้าน แต่หากรัฐบาลสามารถช่วยกระตุ้นการขายบ้านที่เป็นทรัพย์สินที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือนำบ้านออกมาขายทอดตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการสนับสนุนการซื้อขายแลกเปลี่ยนบ้านมือสองของประชาชน ย่อมจะทำให้ประชาชนสามารถซื้อบ้านได้ในราคาต่ำกว่าท้องตลาดได้ถึง 10-30% เป็นประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญยิ่งกว่ามาตรการด้านภาษีหรือดอกเบี้ยเสียอีก และประชาชนก็ยิ่งยินดีที่จะเสียภาษีเพื่อนำไปพัฒนาประเทศ ที่สำคัญเงินที่ผู้ซื้อบ้านสามารถประหยัดได้ ก็จะนำไปใช้จ่ายเพื่อการตกแต่งต่อเติมบ้าน ทำให้เกิดผลดีต่อเนื่องต่อเศรษฐกิจไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการซื้อบ้านมือหนึ่งในท้องตลาดแต่อย่างใด"

**บ้านเดี่ยว 4-6 ล้านรับอานิสงส์

นายวสันต์ คงจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตทฯ กล่าวเสริมว่า ทิศทางตลาดอสังหาฯในปี52 ยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากผลกระทบเศรษฐกิจจะยังคงหดตัวลงต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตามแนวทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมา น่าจะส่งผลดีให้ในช่วงครึ่งปีแรกนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจในประเทศจะยังทรงตัวไม่แย่กว่าที่เป็น ทั้งนี้ การหดตัวของตลาดอสังหาฯนั้น จะอิงกับภาวะเศรษฐกิจเป็นหลัก ซึ่งต้องไปพิจารณาถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกด้วยว่าจะฟื้นตัวหรือได้รับการแก้ไขให้กลับมามีทิศทางที่ดีขึ้นหรือไม่

" การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ยังพึ่งพาการส่งออกสินค้าไปต่างประเทศเป็นหลัก โดยการเติบโตของจีดีพีกว่า 70% มาจากธุรกิจด้านการส่งออก ดังนั้นหากเศรษฐกิจโลกแย่ก็จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย เกิดปัญหาต่อการจ้างงาน หรือการว่างงานในประเทศ รวมถึงส่งผลต่อการตัดสินใจซื้ออสังหาฯของผู้บริโภคในประเทศด้วย "

ทั้งนี้ ในส่วนของมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาฯของรัฐบาล ที่ครม.มีมติอนุมัติให้ผู้ซื้อบ้านใหม่สามารถนำเงินต้น(หักจากดอกเบี้ยบ้าน)จากการผ่อนส่งค่าบ้านวงเงินไม่เกิน 300,000 บาทต่อปี และนำค่าใช้จ่ายจากดอกเบี้ย100,000บาทต่อปีไปหักลดหย่อนภาษีได้นั้น ถือว่าช่วยเหลือผู้บริโภคได้น้อยมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ซื้อบ้านระดับล่าง 1-3 ล้านบาทซึ่งมีจำนวนกว่า80-90%ของตลาดร่วม ในขณะที่กลุ่มผู้ซื้อบ้านระดับบน 4-6ล้านบาท จะได้รับประโยชน์มากกว่า เนื่องจากมีเงินต้นและดอกเบี้ยที่สูงสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ค่อนข้างมาก

“เดิมทีมาตรการลดหย่อนค่าโอนจาก 2% เหลือ 0.01% จะช่วยให้ลูกค้าลดค่าใช้จ่ายได้ 20,000 บาท หากซื้อบ้านราคา1 ล้านบาท ซึ่งมาตรการที่ออกมาใหม่นั้น ผู้ที่ซื้อบ้านราคา1ล้านบาท จะได้รับประโยชน์ไม่ต่างกับมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนเลย คือ สามารถลดหย่อนภาษีต่อปีได้ 20,000 บาท โดยคำนวณจากอัตราดอกเบี้ย 7.5%ของเงินกู้ซื้อบ้านราคา1 ล้านบาท ผู้ซื้อจะต้องจ่ายเงินต้นรวมดอกเบี้ยต่อปีประมาณ 70,000บาท แบ่งออกเป็นดอกเบี้ย 50,000 บาท และเงินต้น 20,000 บาท รวมแล้วไม่เกิน100,000 บาท ซึ่งเงินต้นจริงๆที่สามารถนำมาหักลดหน่อยภาษีมีเพียง 20,000บาทเท่านั้นที่เพิ่มเข้ามา เพราะมาตรการเดิมเปิดให้นำดอกเบี้ยไม่เกิน 100,000 บาทมาใช้ลดหย่อนภาษีได้อยู่แล้ว”

อย่างไรก็ตาม หากมาตรการรัฐฯกระตุ้นอสังหาฯที่เปิดให้สามารถนำเงินต้นมาใช้หักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 300,000บาทต่อปีนั้น นับรวมเงินดาวน์เข้าไปด้วยจะให้ประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่ซื้อบ้านใหม่ได้ครอบคลุมในทุกระดับ เนื่องจากสามารถนำเงินดาวน์ทั้งหมดมาใช้ในการหักลดหน่อยภาษีได้ เช่นหากซื้อบ้าน1 ล้านบาท ผู้บริโภคใช้เงินดาวน์ 200,000บาท ก็สามารถมาหักลดหย่อนได้ทั้งหมดในทันที ซึ่งจะทำให้กลุ่มลูกค้าทุกกลุ่มได้ประโยชน์จากมาตรการที่ออกมาก

แหล่งข่าวในวงการอสังหาฯ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องมาพิจารณาต่อคือ วงเงินหักลดหย่อนที่กระทรวงการคลังเสนอนั้น ต้องมาดูกลยุทธ์ของธนาคารพาณิชย์ด้วย เช่น หากซื้อบ้านราคา 4 ล้านบาทลงมา ยอดการผ่อนจะประมาณ 33,000 ต่อเดือน ซึ่งแน่นอนช่วงแรกอัตราดอกเบี้ยจากการผ่อนเงินกู้จะสูงกว่าเงินต้น แต่ทั้งนี้ หากธนาคารพาณิชย์ออกแคมเปญสินเชื่อเคหะขึ้นมา เช่น 0% ปีแรก นั่นหมายความว่า การผ่อนต่อเดือนจะเป็นส่วนของเงินต้น 33,000 บาททั้งหมด (หรือเงินต้นประมาณ 360,000บาทต่อปี)

**ชี้รัฐแค่พยุงอสังหาฯ ไม่ให้ทรุด

สำหรับแนวโน้มตลาดอสังหาฯในปีนี้ นายวสันต์กล่าวว่า ยังไม่สามารถประมาณการณ์ภาวะตลาดได้ทั้งปี เนื่องจากต้องติดตามภาวะเศรษฐกิจซึ่งเป็นตัวแปรหลักก่อน ดังนั้นการประมาณการตลาดจึงทำได้เฉพาะในช่วงครึ่งปีแรกเท่านั้น โดยในส่วนของตลาดครึ่งปีแรกนี้คาดว่าจะยังทรงๆ ตัวจากปีที่ผ่านมา โดยคาดว่าจะมียอดขายประมาณ 25,000 หน่วย ส่วนยอดขายทั้งปีนั้น หากเศรษฐกิจโดยรวมคือ จีดีพี ยังขยายตัวตามประมาณการณ์ของรัฐบาลคือ 0-2% แม้ว่าตลาดอสังหาฯจะแย่มากก็คาดว่าจะมียอดขายอยู่ที่ประมาณ 50,000-55,000 หน่วย ลดลงจากปี51ที่มียอดขายรวม 65,000 หน่วย (ลดลงไม่เกิน10,000-15,000หน่วย) ซึ่งจะทำให้ตลาดยังมีซัพพลายคงเหลือประมาณ 110,000 หน่วย

**โวยรัฐเบี้ยวหนี้ก่อสร้าง 8 หมื่นล้าน

นายพลพัฒ กรรณสูต นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ เปิดเผยว่า สมาคมฯ ได้รับการร้องเรียนจากสมาชิกของสมาคมฯ ที่มีอยู่กว่า 500 รายว่า ยังไม่ได้รับเงินจากภาครัฐ หลังจากรับงานและก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว คิดเป็นเงินที่ค้างเบิกจ่ายจากภาครัฐประมาณ 80,000 ล้านบาท ทำให้ผู้ประกอบการรับเหมาก่อสร้างได้รับความเดือนร้อนมาก และขาดสภาพคล่องในการประกอบธุรกิจ ดังนั้น ทางสมาคมฯจึงได้ยื่นหนังสือต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ให้เร่งรัดหน่วยงานของภาครัฐเบิกจ่ายเงินสู่ภาครับเหมาก่อสร้างแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็รับปากที่จะดำเนินการเรื่องดังกล่าวให้เร็วที่สุด

สมาคมฯ ต้องการให้รัฐบาลเร่งลงทุนในโครงการขนาดใหญ่มูลค่า 100,000 ล้านบาท ให้เกิดการประมูลงานโดยเร็วที่สุด รวมทั้งเร่งประมูลงานที่ค้างอีกจำนวนมาก เพื่อให้เกิดการจ้างงานใหม่ในภาคอุตสาหกรรมรับเหมาก่อสร้าง และช่วยเหลือแรงงานก่อสร้างที่มีอยู่ 1 ล้านคน ซึ่งขณะนี้มีผู้ประกอบการรับเหมาประมาณ 10 บริษัท ต้องเลิกการประกอบธุรกิจไปแล้ว และมีอีกประมาณ 200 บริษัทที่ค้างการจ่ายเงินค่าสมาชิกให้สมาคมฯ เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การเมืองไทยไม่นิ่ง ทำให้ภาครัฐไม่มีโครงการลงทุนขนาดใหญ่เกิดขึ้น ทั้งนี้ หากภาครัฐเร่งลงทุนแล้วจะช่วยให้อุตสาหกรรมรับเหมาฯ กลับมาเติบโตได้อีกครั้ง
กำลังโหลดความคิดเห็น