xs
xsm
sm
md
lg

ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการรถไฟไทย

เผยแพร่:   โดย: สิริอัญญา

บทความวันนี้เป็นตอนที่สามในเรื่องเกี่ยวกับยุทธศาสตร์รถไฟต่อจากเรื่อง “ยุทธศาสตร์รถไฟ…ปรับยุทธศาสตร์ประเทศ” และเรื่อง “ยุทธศาสตร์พัฒนาสองข้างทางรถไฟ” โดยมีความมุ่งหมายที่จะเชิดชูธงพระบรมราโชบายของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 ที่ทรงมุ่งให้รถไฟเป็นหลักของการคมนาคมทางบกของประเทศมาตั้งแต่ร้อยกว่าปีก่อน ให้ปรากฏเป็นจริงขึ้น

เพื่อส่งผลต่อการปรับทิศทางพัฒนาประเทศไทย ต่อการลดรายจ่ายด้านพลังงานซึ่งเป็นรายจ่ายลำดับหนึ่งของประเทศลง ต่อการอำนวยประโยชน์สุขแก่ประชาชนชาวไทย และต่อการยึดโยงราชอาณาจักรนี้ให้ทั่วถึงเข้าเป็นหนึ่งเดียวกัน

ทำไมจึงต้องกล่าวว่าเป็นปัญหายุทธศาสตร์เล่า? ก็เพราะว่าการรถไฟไทยมีสินทรัพย์มากกว่า 300,000 ล้านบาท และมีวิสัยที่จะอำนวยประโยชน์มหาศาลแก่ชาติและประชาชน แต่กลับเป็นภาระของชาติบ้านเมือง เป็นแหล่งก่อหนี้สินมหาศาลให้กับประเทศชาติ และกลายเป็นแหล่งฉ้อราษฎร์บังหลวงขนาดใหญ่ เมื่อเรื่องราวของการรถไฟใหญ่โตครอบคลุมปริมณฑลของปัญหาต่างๆ ไว้มากมายเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องที่มีฐานะหรือนัยทางยุทธศาสตร์

ขอเพียงได้เชิดชูฟื้นเอาพระบรมราโชบายของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ 5 มาทำให้ปรากฏเป็นจริงขึ้นได้สำเร็จเมื่อใด ประเทศไทยของเราก็จะถึงซึ่งความมั่งคั่งและเจริญรุ่งเรืองเมื่อนั้น

ปัจจุบันนี้การรถไฟไทยมีเส้นทางเดินรถไปถึงทุกภาคของประเทศ แต่ชำรุดทรุดโทรมและล้าหลังกว่าที่พึงเป็น มีผู้คนจำนวนมากที่ทำงานอยู่ในการรถไฟ มีที่ดินที่มีคุณค่ามหาศาลตามที่พระราชทานเอาไว้ให้ เพื่อสร้างประโยชน์และรายได้ให้กับการรถไฟ

มีที่ดินเป็นปริมาณถึง 250,000 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นที่ดินซึ่งตั้งอยู่ในทำเลที่สามารถจัดประโยชน์ได้อย่างดียิ่ง และมีราคาสูงลิ่วอยู่ถึง 50,000 ไร่ ที่ถ้าหากบริหารจัดการให้ดีเพียงไม่ถึง 100 ไร่ แค่บางแห่งบางจุด ก็สามารถสร้างรายได้ให้กับการรถไฟร่วม 50,000 ล้านบาท

แต่ตลอดระยะเวลาอันยาวนานที่ผ่านมา การรถไฟไทยซึ่งมีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจได้กลับกลายเป็นแหล่งทำมาหากินของนักการเมือง ที่ดินที่มีจำนวนมากและมีมูลค่ามหาศาลกลับถูกฉ้อฉลเอาเป็นผลประโยชน์ตัว ในขณะที่การรถไฟฯ ได้รับผลตอบแทนเพียงน้อยนิดและยังมีปัญหาพะรุงพะรังตามมา จนต้องแก้ไขไม่มีที่สิ้นสุด

การรถไฟไทยถูกบริหารจัดการโดยคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกว่าคณะกรรมการการรถไฟ และตลอดมาส่วนใหญ่ก็ประกอบด้วยข้าราชการบำนาญ หรือข้าราชการในราชการ และทาสบริวารนักการเมือง ที่มิได้มุ่งหมายในการสร้างความรุ่งเรืองให้กับการรถไฟหรือสร้างสรรค์ประโยชน์ให้กับชาติบ้านเมือง หากมุ่งหมายเพียงเพื่อเกาะกินฉกฉวยเอาผลประโยชน์จากการรถไฟเป็นส่วนใหญ่

เหล่านี้จึงเป็นสาเหตุเภทภัยที่ทำให้การรถไฟไทยต้องชำรุดทรุดโทรมและล้าหลัง กระทั่งเป็นภาระของชาติบ้านเมืองดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ความจริงได้เผยให้เห็นชัดเจนแล้วว่าการบริหารจัดการในรูปของคณะกรรมการที่มีโครงสร้างแบบนี้ และขึ้นต่อนักการเมืองแบบนี้ ได้สร้างชะตากรรมที่เลวร้ายให้กับการรถไฟฯ และชาติบ้านเมืองอย่างไร จึงถึงเวลาต้องปฏิรูปการบริหารจัดการในส่วนของการบริหารให้เป็นแบบมืออาชีพ มีความเป็นอิสระ โปร่งใส และอำนวยประโยชน์สุขแก่ประเทศชาติและประชาชนเป็นปฐม จึงจะเป็นที่ตั้งต้นของการแก้ไขปัญหาทางยุทธศาสตร์ของการรถไฟไทย

และนี่ก็คือภารกิจทางนโยบายสำคัญของรัฐบาลที่จะต้องเร่งรีบกำหนดนโยบายเพื่อแปรสภาพรถไฟจากปัญหาให้เป็นโอกาส ในการกอบกู้ฟื้นฟูชาติบ้านเมืองของเรา

ปัจจุบันนี้การรถไฟไทยมีงานใหญ่ๆ อยู่ 3 เรื่อง คือ การดูแลรักษาและพัฒนาก่อสร้างราง การเดินรถ และการจัดการทรัพย์สินของรถไฟ เรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องสำคัญใหญ่โตที่เป็นส่วนของยุทธศาสตร์บริหารจัดการรถไฟฯ ทั้งสิ้น

ในเรื่องแรก คือปัญหาการแยกภารกิจหรือแยกองค์กรในการบริหารจัดการ ทำให้การบริหารดูแลรักษาและพัฒนาเส้นทางรถไฟหรือรางรถไฟเป็นองค์กรเฉพาะทำนองเดียวกับการท่าอากาศยาน ที่รับผิดชอบดูแลเรื่องสนามบิน แล้วแยกให้การเดินรถเป็นอีกกิจการหนึ่ง ทำนองเดียวกับบริษัทการบินทั้งหลาย

กิจการเกี่ยวกับรางก็มุ่งสร้างขยายพัฒนาดูแลรักษาและเรียกเก็บค่าบริการจากกิจการเดินรถ ซึ่งต้องทำให้มาก ทำให้ดี ยิ่งมีการเดินรถมากเท่าใดก็ยิ่งดีเท่านั้นเพราะเป็นการเพิ่มรายได้มากขึ้นเท่านั้น ไม่ใช่ต่างคนต่างก็ไม่สนใจไยดีเพราะไม่ใช่หน้าที่ตัวดังที่เป็นอยู่

เพื่อการนี้ อาจให้ดำรงเรื่องรางอยู่กับการรถไฟฯ ดังเดิม แล้วตั้งบริษัทลูกขึ้นทำการเดินรถในส่วนที่การรถไฟมีอยู่ใช้อยู่ในปัจจุบันเพื่อให้ดำเนินงานต่อไปได้

สำหรับการบริหารจัดการเกี่ยวกับรางก็ถึงเวลาที่จะต้องพิจารณาทบทวนปรับเปลี่ยนระบบรางที่ใช้อยู่ในปัจจุบันเป็นระบบมาตรฐานที่มีขนาดกว้างกว่า ทำให้รถไฟวิ่งได้เร็วกว่า และรองรับขบวนรถที่ใหญ่กว่าได้ด้วย

รถไฟทางเดี่ยวที่ใช้อยู่ในปัจจุบันก็ต้องปรับเปลี่ยนเป็นรถไฟรางคู่ทั่วทั้งประเทศ ซึ่งนอกจากเชื่อมโยงภาคต่างๆ เข้าด้วยกันแล้ว ยังต้องพิจารณาถึงเส้นทางวงแหวนตลอดแนวพรมแดนทั่วประเทศ เพื่อร่นระยะทางและอำนวยความสะดวกแก่ประชาชน ตลอดจนอาจต้องมีการเชื่อมโยงเส้นทางระหว่างจังหวัดสำคัญๆ ในแต่ละภาค เพื่อประหยัดเวลาเดินทางและค่าใช้จ่ายให้มากที่สุด

เรื่องที่สอง คือเรื่องการเดินรถ ซึ่งนอกจากการรถไฟฯ จะจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมาเดินรถเป็นของตนเองแล้ว ยังจำเป็นต้องเปิดให้เอกชนหรือผู้สนใจอื่นๆ ก่อตั้งหรือสร้างกิจการเดินรถของตนเองขึ้นให้มากที่สุด

เพราะเมื่อมีการเดินรถมากขึ้นเท่าใด การรถไฟฯ ก็จะได้รับผลประโยชน์จากรายได้ค่าใช้รางมากขึ้นเท่านั้น ในขณะที่ผู้ลงทุนสร้างกิจการเดินรถไฟก็ต้องรับผิดชอบและคำนึงถึงผลได้เสียของตนเองในเชิงธุรกิจ การรถไฟจึงมีแต่ต้องส่งเสริมและแสวงหาให้มีผู้มาลงทุนเดินรถไฟให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มรายได้ของตนให้มากที่สุด

ทำนองเดียวกับการท่าอากาศยานที่ยิ่งมีสายการบินมาใช้บริการมากเท่าใดก็ยิ่งได้รับประโยชน์มากเท่านั้น อุปมาฉันใดก็อุปไมยฉันนั้น

นอกจากนั้นจะต้องเพิ่มประเภทบริการในการเดินรถไฟให้หลากหลายยิ่งขึ้น คือนอกจากเป็นรถไฟขนส่งคนโดยสารแล้ว ยังต้องมีรถไฟเพื่อการขนส่งสินค้าภาคเกษตร มีรถไฟขนส่งสินค้าภาคอุตสาหกรรม ซึ่งต้องเชื่อมโยงกับสถานีขนถ่ายและคลังสินค้าตามเส้นทางรถไฟทั่วประเทศ

และยังต้องมีขบวนรถไฟเพื่อการท่องเที่ยว ซึ่งอาจแบ่งเป็นหลายเกรด หลายชั้น ทำนองเดียวกับการแบ่งชั้นบนเครื่องบิน หรือการแบ่งชั้นของโรงแรม เช่น มีขบวนรถสำหรับการประชุม สำหรับการพักอาศัยในระหว่างเดินทางท่องเที่ยว ไปถึงไหนก็จอดได้ตามใจชอบถึงนั่น และใช้เป็นที่พักได้เช่นเดียวกับโรงแรม ซึ่งจะต้องเชื่อมโยงกับโรงแรมและสถานีพักตามเส้นทางรถไฟสายต่างๆ

เรื่องที่สาม
คือการบริหารจัดการทรัพย์สินรถไฟ ซึ่งมีมูลค่าหลายแสนล้านบาท ประกอบด้วยที่ดิน 250,000 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นที่จัดหาผลประโยชน์ประมาณ 50,000 ไร่ มีตัวสถานีเก่าและคลังสินค้าหรือสถานีขนถ่ายเก่าอยู่เป็นบางแห่ง อาจคงให้การรถไฟฯ บริหารจัดการต่อไป แต่อาจแยกให้มีคณะกรรมการพิเศษอีกชุดหนึ่งเพื่อบริหารจัดการโดยเฉพาะ

เพราะการบริหารจัดการทรัพย์สินมหาศาลขนาดนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะเอาใครไปทำก็ได้ หากต้องใช้ผู้มีปัญญาวิชาคุณที่มีประสบการณ์หรือความชำนาญและเป็นคนมีฝีมือดีจริงไปบริหารจัดการโดยเฉพาะ โดยมุ่งเป้าหมายทั้งเพิ่มรายได้ให้กับการรถไฟฯ เพื่อทำให้ต้นทุนของรถไฟต่ำลง และอำนวยประโยชน์ในการขนส่งของประเทศให้เจริญก้าวหน้าควบคู่กันไปด้วย

ที่ดินที่เป็นส่วนจัดหาประโยชน์ถึง 50,000 ไร่นั้นจะต้องพิจารณาทบทวนปรับปรุงให้มีความเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าและสามารถสร้างรายได้ให้แก่การรถไฟฯ ไม่น้อยกว่าปีละ 30,000 ล้านบาทเป็นอย่างน้อย

ที่ดินที่อยู่สองข้างทางรถไฟและไม่เกี่ยวข้องกับเส้นทางเดินรถก็พัฒนาให้เป็นแหล่งสร้างรายได้ สร้างความเจริญ ตามแนวทางยุทธศาสตร์พัฒนาสองข้างทางรถไฟ

บริหารจัดการให้สถานีรถไฟทั่วประเทศโดยเฉพาะสถานีใหญ่เป็นศูนย์กลางการพาณิชย์ของพื้นที่นั้นๆ ที่อำนวยประโยชน์ทั้งแก่การรถไฟฯ แก่ประชาชนในท้องถิ่น แก่การสร้างความเจริญในท้องที่และในทางเศรษฐกิจ การค้า ที่สำคัญคือเป็นแหล่งแสดงหรือติดต่อค้าขายสินค้าของท้องถิ่นไปยังทั่วประเทศหรือเพื่อการส่งออกอีกด้วย

การจัดตั้งโรงแรมซึ่งอำนวยประโยชน์ให้แก่กิจการรถไฟไม่ว่าการรถไฟฯ จะลงทุนทำเอง หรือจะให้สัมปทาน หรือจะให้เช่าที่ดินก็ตาม จะต้องวางโครงการให้รองรับกับเส้นทางรถไฟและประเภทของรถไฟด้วย

การจัดตั้งคลังสินค้าและสถานีขนถ่ายสินค้าของกิจการรถไฟเพื่อทำให้ต้นทุนในการขนส่งสินค้าภาคเกษตรและอุตสาหกรรมต่ำลง เป็นการขยายระบบลอจิสติกส์ตามเส้นทางรถไฟให้ทันสมัยและพรั่งพร้อม และสอดคล้องรองรับกันด้วยการจัดระบบตู้คอนเทนเนอร์และคลังเก็บสินค้าแต่ละประเภทและระบบการขนถ่ายขนส่งบนรางรถไฟ

เหล่านี้คือยุทธศาสตร์ใหญ่ๆ และประเด็นใหญ่ๆ ที่เกี่ยวข้องอันรวมกันเข้าเป็นยุทธศาสตร์การบริหารจัดการรถไฟไทย ที่ขอให้พี่น้องร่วมชาติและรัฐบาลได้ร่วมกันพิจารณาดำเนินการต่อไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น