xs
xsm
sm
md
lg

กพช.สั่งตรึง"แอลพีจี-NGV"ปตท.จี้เอากองทุนมาชดเชย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน- กพช. เบรกแผนขึ้นแอลพีจีภาคขนส่งฯไม่มีกำหนด อ้างเศรษฐกิจชะลอหวั่นเพิ่มภาระประชาชน หลังโดนม็อบบุกยื่นเบรกแผนขึ้นราคาช่วงเช้า ด้าน ก.พลังงาน เล็งใช้กองทุนน้ำมันฯบริหารแทน ยอมรับแนวโน้มการนำเข้ายังมีต่อ เนื่องจากการผลิตต่ำกว่าการใช้ พร้อมอนุมัติแผนพีดีพีปรับปรุงใหม่สอดรับศก.ขาลง ที่ลดการผลิตลงถึง 6,000 เมกะวัตต์ ลดการลงทุนถึง 4.6 แสนล้านบาท ด้านปตท.ออกโรงโวย รัฐบาลต้องร่วมรับภาระด้วย แนะเอาเงินกองทุนฯมาชดเชย หวั่นไทยกลายเป็นประเทศนำเข้าแอลพีจีในอนาคต

นพ.วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.พลังงาน เปิดเผยหลังการประชุมคณะกรรมนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) วานนี้(16ม.ค.)ว่า การประชุมกพช.ครั้งที่ 1 /2552 ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานได้มีมติให้ชะลอแนวทางการปรับขึ้นแอลพีจีภาคขนส่งและอุตสาหกรรม (เว้นปิโตรเคมี) ออกไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากเห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีการชะลอตัวตามภาวะตลาดโลกจึงไม่ต้องการเพิ่มภาระให้กับประชาชน ดังนั้นจึงส่งผลให้ทั้งราคาแอลพีจีขนส่งฯ และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์หรือ NGV ไม่เปลี่ยนแปลง
“กระทรวงพลังงานมีการเสนอขึ้นราคาแอลพีจี เนื่องจากที่ผ่านมาราคาตลาดโลกสูงกว่าราคาในประเทศที่ถูกตรึงไว้จึงทำให้ภาระส่วนต่างจากการนำเข้าแอลพีจีปตท.ต้องแบกรับไว้ถึงกว่า 8,000 ล้านบาทดังนั้นเมื่อแอลพีจีไม่ขึ้น เอ็นจีวีก็คงไม่ขึ้นเช่นกันส่วนจะนานแค่ไหนก็คงต้องดูอีกระยะหนึ่งก่อน “รมว.พลังงานกล่าว
ทั้งนี้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) คงจะต้องไปพิจารณาแนวทางการชดเชยแอลพีจีว่าจะบริหารเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงอย่างไร หลังจากที่แอลพีจีภาคขนส่งฯไม่ได้ปรับราคาขึ้นเนื่องจากยอมรับว่า การผลิตแอลพีจีของไทยนั้นอยู่ที่ 3.35 แสนตันต่อเดือน แต่การใช้สูงถึง 3.6 แสนตันต่อเดือน ทำให้ต้องมีการนำเข้าราว 3.3 หมื่นตันต่อเดือน ซึ่งส่วนนี้ก็จะอยู่ที่ราคาแอลพีจีตลาดโลกว่าจะสูงกว่าเพดานในประเทศที่กำหนด 340 เหรียญต่อตันมากน้อยเพียงใดซึ่งก็จะเท่ากับส่วนต่างที่รัฐจะต้องชดเชยเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบการลดผลกระทบต่อประชาชนจากการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน หลังสิ้นสุดนโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤติเพื่อคนไทยทุกคน โดยเห็นชอบในหลักการให้ใช้กองทุนน้ำมันฯ เข้าอุดหนุนราคาน้ำมันที่จะสูงขึ้นจากการปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตในวันที่ 1 ก.พ.52 นี้ ด้วยการปรับลดอัตราเงินเข้ากองทุนน้ำมันฯ เพื่อให้ราคาขายปลีกเพิ่มขึ้นประมาณ 1 บาทต่อลิตร จากที่ภาษีสรรพสามิตจะส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันจะเพิ่มขึ้นทันที 2.30 บาท-3.30 บาทต่อลิตร โดยคาดว่าจะมีการปรับราคาประมาณ 3–4 ครั้งในช่วงเวลา2 เดือน ซึ่งคาดว่าจะใช้เงินประมาณ 3,000 ล้านบาทในการดูแล
สำหรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP) พ.ศ. 2551 – 2564 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 ที่ประชุมได้อนุมัติตามที่เสนอ เนื่องจากต้องการให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่จะชะลอตัวเพื่อไม่ให้การลงทุนผลิตไฟฟ้าเกินความจำเป็นจนนำไปสู่ภาระต่อผู้ใช้ไฟ โดยประเมินจีดีพีปี 2552 ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) จากเดิมจะขยายตัว 4.5% เหลือ 2% โดยรักษากำลังการผลิตสำรองในระดับ15% ซึ่งส่งผลให้การผลิตไฟลดลงจากแผนทั้งหมด 6,000 เมกะวัตต์คิดเป็นมูลค่าการลงทุนที่ลดลงสูงถึง 4.6 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ แผนพีดีพีที่ปรับใหม่ประกอบด้วย 1. เลื่อนการรับซื้อไฟฟ้าไอพีพี 1 ปี ของโรงไฟฟ้าเพาเวอร์เจเนอเรชั่น และสยามเอ็นเนอร์ยี่ รวมกำลังผลิต 3,200 เมกะวัตต์
2. เลื่อนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) คือโรงไฟฟ้าวังน้อย และบางปะกง กำลังผลิตรวมประมาณ 1,400 เมกะวัตต์ เลื่อนออกไป 2 ปี
3. เลื่อนการรับซื้อโรงไฟฟ้าจาก สปป.ลาวไป 2 ปี จากเดิมจะเข้าระบบในปี 2556-2557 จำนวน 5 โครงการ รวม 4,200 เมกะวัตต์
4. ลดปริมาณก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เหลือเพียง 2,000 เมกะวัตต์ จากเดิม 4,000 เมกะวัตต์ และ 5. ปลดโรงไฟฟ้าเก่าของ กฟผ.ที่อายุมากกว่า 30 ปี จำนวน 3-4 โรง เป็นต้น
นอกจากนี้ กพช.ยังเห็นชอบเรื่องการเกลี่ยเงินรายได้ของ 3 การไฟฟ้า เพื่อให้ค่าไฟฟ้าทั่วประเทศมีอัตราเดียวกัน โดยปี 2552 การไฟฟ้านครหลวงต้องจ่ายเงินชดเชยดังกล่าวแก่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวมประมาณ 12,000 ล้านบาท.

**ปตท.-บางจาก ตรึงราคากลุ่มเบนซิน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ปตท.และบางจากปิโตรเลียมยังคงไม่ปรับขึ้นราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์-เบนซิน 80 สตางค์ต่อลิตรหลังจากที่ผู้ค้าน้ำมันต่างชาติได้มีการแจ้งปรับราคาไปก่อนหน้านี้และมีผลตั้งแต่วานนี้ (16ม.ค.) มาแล้ว

**ม็อบต้านขึ้นแอลพีจี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 11.30 น. วานนี้(16ม.ค.)ที่หน้าทำเนียบรัฐบาล เชิงสะพานชมัยมรุเชษฐ กลุ่มผู้คัดค้านการขึ้นราคาแอลพีจี จำนวน30 คน นำโดยนาย สามารถ ทรัพย์พจน์ ประธานชมรมผู้ประกอบการสถานีบริการแก๊ซแอลพีจีและนาย รุ่งชัย จันทสิงห์ ตัวแทนเครือข่ายผู้ใช้รถยนต์แอลพีจีแห่งประเทศไทย ได้เดินทางมาชุมนุมเพื่อยื่นหนังสือเรียกร้องให้รัฐบาลพิจารณาไม่ปรับขึ้นราคาแก๊ซแอลพีจี โดยระบุว่า ตามที่นาย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เคยหาเสียงไว้สมัยเป็นพรรคฝ่ายค้าน ตามนโยบาย 99 วัน ว่า จะตรึงราคาแก๊ซแอลพีจีไว้ หากมีการขึ้นราคาแก๊ซแอลพีจีจริง จะกระทบทั้งต่อผู้ประกอบการและผู้ใช้บริการเป็นอย่างมาก จึงขอให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องนี้ด้วย

**ปตท.โวยรัฐต้องร่วมรับภาระ
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.เข้าใจกรณีที่ กพช. ไม่ให้ปรับขึ้นราคาแอลพีจีและเอ็นจีวี เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ หากปรับขึ้นราคาจะทำให้ประชาชนมีรายจ่ายเพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องเข้าใจว่า การไม่ปรับขึ้นราคานั้น จะต้องมีผู้ที่ต้องรับภาระ
ที่ผ่านมา ปตท. รับภาระเอ็นจีวีไปแล้วถึง 4-5,000 ล้านบาท ซึ่งถ้ารัฐบาลจะปรับราคาขึ้นเอ็นจีวีในช่วงเวลาที่เหมาะสมก็คงต้องมาดูว่าเป็นช่วงเวลาใดที่เหมาะสม แต่วันนี้ถ้าไม่มีการทำอะไรเลยจะทำให้การใช้แอลพีจีจะเพิ่มขึ้น ซึ่งในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา ยอดการใช้แอลพีจีในภาคขนส่ง เพิ่มขึ้นถึง 30% ส่วนการใช้แอลพีจีในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 20% ถือเป็นเรื่องผิดปรกติ จนทำให้ภาคครัวเรือนมีแอลพีจีไม่พอใช้ สุดท้ายปตท.ต้องนำเข้า หากราคาไม่ได้ปรับขึ้นก็จะทำให้ภาระการนำเข้าเพิ่มขึ้นอีก
โดยในปี 2551 ไทยนำเข้าแอลพีจี 4-5 แสนตัน ทำให้มีภาระส่วนต่างราคานำเข้า 8,000 ล้านบาท ปีนี้คาดว่าจะนำเข้าแอลพีจี 5 แสน-1 ล้านตัน ส่วนภาระนำเข้าจะมากหรือน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับราคาแอลพีจีในตลาดโลก กับราคาควบคุม ซึ่งปัจจุบันไทยมีการควบคุมราคาแอลพีจีอยู่ที่ 330 เหรียญสหรัฐ หากส่วนต่างราคาในประเทศกับราคานำเข้าต่างกันประมาณ 100 เหรียญสหรัฐต่อตัน ส่วนต่างภาระนำเข้าจะสูงถึง 2-3 ,000 ล้านบาท
ดังนั้น รัฐควรกำหนดให้ชัดเจนว่า ให้นำเงินกองทุนน้ำมันเข้ามาชดเชยราคาแอลพีจีเหมือนในอดีต ที่ผ่านมาบอร์ดปตท.อนุมัติวงเงินให้ปตท.รับภาระในการนำเข้า 10,000 ล้านบาท ตอนนี้ใช้ไปแล้ว 8,000 ล้านบาท หากจะต้องรับภาระเพิ่มมากกว่านี้ก็ต้องขออนุมัติบอร์ด ซึ่งอยากจะให้รัฐบาลนำเงินกองทุนน้ำมันมาชดเชยน่าจะดีกว่า
ส่วนเอ็นจีวีนั้น เงินที่ปตท.แบกรับภาระอยู่นี้ทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น เงินส่วนนี้รัฐบาลต้องเข้าใจว่าส่วนหนึ่งก็เป็นเงินของรัฐบาลเองด้วย เพราะว่ารัฐบาลถือหุ้นในปตท.ด้วย เมื่อผลประกอบการปตท.ไม่ดี รัฐบาลก็จะได้ผลตอบแทนในรูปเงินปันผลน้อยลง เก็บภาษีก็ได้น้อยลง อยากจะให้ราคาพลังงานสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยให้ประชาชนเป็นผู้เลือกว่าจะใช้เชื้อเพลิงชนิดใด เพราะถ้าอุดหนุนเชื้อเพลิงใดเชื้อเพลิงหนึ่ง คนก็จะแห่ไปใช้แล้วสุดท้ายต้องนำเข้าเหมือนแอลพีจี
ทั้งนี้ในปี 2551 ผลประกอบการของปตท.แย่กว่าปี 2550 ส่วนปีนี้คาดว่าจะแย่ที่สุด ในเมื่อรัฐบาลมีภาระหน้าที่ในการดูแลเศรษฐกิจ ปตท.ก็มีภาระหน้าที่เช่นเดียวกัน แต่ทั้งนี้คงขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล ถ้ารัฐมีนโยบายไม่ให้ปรับราคาขึ้นแอลพีจี สุดท้ายไทยก็จะกลายเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าแอลพีจีต่อเนื่องไป จากอดีตที่เคยเป็นผู้ส่งออกแอลพีจี ขณะเดียวกันการใช้น้ำมันก็จะลดลง เพราะคนหันไปใช้แอลพีจี ทำให้โรงกลั่นต้องขายผลิตภัณฑ์ออกต่างประเทศ สุดท้ายทำให้ไทยมีภาระนำเข้าทั้ง 2 เด้ง คือ แอลพีจีและน้ำมันดิบ
กำลังโหลดความคิดเห็น