xs
xsm
sm
md
lg

จดหมายเปิดผนึกถึง อัยการสูงสุด: กรณี “ทักษิณ” ปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้น เอสซีฯ

เผยแพร่:   โดย: ไทยทน

สถานการณ์ความวุ่นวายในบ้านเมืองตลอดเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา วิเคราะห์ได้ว่า เกิดขึ้นจากปัญหาคนๆเดียว ไม่ใช่เป็นปัญหาการแข่งขันต่อสู้ทางการเมือง แต่เป็นการต่อสู้เพื่อทำให้เรื่องผิดเป็นเรื่องถูก และหากสังคมยังจมปลักอยู่กับ “ความเท็จ” ความสับสนวุ่นวายก็จะยังมีอยู่ต่อไป

คดี พ.ต.ท. ทักษิณ และ คุณหญิง พจมาน ชินวัตรปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นเอสซีแอสเสท ซึ่งสำนักงานอัยการฯได้สั่งไม่ฟ้องศาลนั้น เชื่อว่าได้พิจารณาไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้ว

โดยมาตรา 147: เมื่อมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องคดีแล้ว ห้ามมิให้มีการ สอบสวนเกี่ยวกับบุคคลนั้นในเรื่องเดียวกันนั้นอีก เว้นแต่จะได้พยาน หลักฐานใหม่อันสำคัญแก่คดี ซึ่งน่าจะทำให้ศาลลงโทษผู้ต้องหานั้นได้

ไทยทนได้วิเคราะห์คำแถลงผ่านหนังสือชี้แจงรายละเอียดของอัยการ การแถลงข่าวของดีเอสไอ สมัย นายสุนัย มโนมัยอุดม และเว็บไซต์ ของ กลต. และ ตลท. พบว่า มีหลักฐานใหม่เพิ่มเติม อันสำคัญต่อคดี ดังนี้

1. ความผิดของผู้ต้องหาทั้ง 2 นั้น เป็นไปตามข้อกล่าวหาตามที่ ดีเอสไอ และ กลต.ใน 19 มิถุนายน 2550 โดยหลักฐานใหม่อันสำคัญ ที่ อสส. ไม่ได้อ้างถึง คือ การเปิดเผยข้อมูลในหนังสือชี้ชวนเสนอขายหุ้น SC ว่า
“1.5 ความเสี่ยงจากการมีกลุ่มผู้ถือหุ้นรายใหญ่
กลุ่มตระกูลชินวัตรถือหุ้นในบริษัทร้อยละ 61 ... หลังการขายหุ้นสามัญในครั้งนี้ จึงทำให้กลุ่มตระกูลชินวัตรสามารถควบคุมเสียงของที่ประชุมผู้ถือหุ้นได้เกือบทั้งหมด... ยกเว้นเรื่องที่กฎหมายหรือข้อบังคับบริษัทกำหนดให้ต้องได้รับเสียง 3 ใน 4 ของที่ประชุมผู้ถือหุ้น ...”

ซึ่งเป็นข้อมูลที่มีความสำคัญ จึงได้กำหนดให้เป็นหัวข้อที่ 1 คือปัจจัยเสี่ยง ในหนังสือชี้ชวนฯ

2. ผู้ต้องหาทั้ง 2 จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ. หลักทรัพย์ ฯ 2535 มาตรา 278 “ผู้ใดแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้งในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลัก ทรัพย์ฯ ต้องระวางโทษจำคุก.. และปรับ..”

การที่ผู้ต้องหาทั้งสองลงทุนใน SC ผ่านกองทุน OGF และ ODF อีก 19% ซึ่งแสดงว่า ได้แสดงข้อมูลเท็จว่าครอบครัวชินวัตรควบคุมเสียงได้ ไม่เกิน 3 ใน 4 ในหนังสือชี้ชวนฯ โดยปกปิดข้อความจริงว่า ครอบครัวชินวัตรเป็นเจ้าของรวม 80%

หลักฐานเพิ่มคือ กองทุน OGF และ ODF เป็นกองทุนประเภทส่วนบุคคล คือผู้เป็นเจ้าของเพียงกลุ่มเดียว คือกลุ่มผู้ต้องหาทั้งสอง (อาจจะผ่านกองทุน VAF หรือ VIF) ซึ่งเป็นผู้สามารถมอบอำนาจใดๆกับผู้จัดการกองทุน และสามารถเปลี่ยนแปลงการมอบอำนาจได้โดยเด็ดขาด ไม่มีผู้ถือหุ้นอื่นทัดทานได้ ซึ่งหุ้น SC จำนวนนี้เริ่มจากที่วินมาร์คได้ถือมาตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2543 แต่ต่อมา โอนให้ Value Assets Fund (VAF) ในวันที่ 11 สิงหาคม 2546 และโอนต่อให้ OGF และ ODF ในวันที่ 1 กันยายน 2546 โดย กองทุน VAF, OGF และ ODF ทั้ง 3 กองทุนมีที่อยู่เดียวกัน คือ L1, LOT7, BLK F, SAGUKING COMMERCIAL BLDG. LALAN PATAU-PATAU, 87000 LABUAN FT, MALYSIA

การที่มีการโอน 2 ต่อในเวลาเพียง 3 สัปดาห์ ระหว่างกองทุน 3 ชื่อ แต่ที่อยู่เดียวกัน เพื่อยื่นไฟลิ่งต่อ สำนักงาน กลต.ในวันถัดไปนั้น ย่อมยากที่จะบอกว่า ไม่เปิดเผยในหนังสือชี้ชวนด้วยความ “บกพร่องโดยสุจริต” ได้อีก แต่เป็นหลักฐานแสดงการปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นอย่างจงใจ

3. ในคำแถลงของอัยการ เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2550 (“คำแถลง”) ข้อกล่าวหาที่ 1 ข้อ 2-4 ระบุว่า บมจ. หลักทรัพย์ ธนชาต เป็นที่ปรึกษาทางการเงินผู้จัดทำ และ เจ้าหน้าที่ ก.ล.ต.ได้ทำการตรวจแบบ 69-1 สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถือหุ้นที่เป็นประเด็นในคดีนี้ เจ้าหน้าที่ ก.ล.ต.เห็นว่า บริษัทผู้ต้องหาที่ 1 ได้เปิดเผยข้อมูลโดยไม่ได้จัดกลุ่มครอบครัวชินวัตร ซึ่งประกอบด้วย น.ส.พินทองทา น.ส.แพทองธาร และคุณหญิงพจมาน ชินวัตร เป็นกลุ่มเดียวกัน สำนักงาน ก.ล.ต.จึงมีหนังสือแจ้งให้บริษัทผู้ต้องหาที่ 1 และที่ปรึกษาทางการเงินร่วมกันแก้ไข

เนื้อหานี้ทำให้เข้าใจว่า ทั้งธนชาต และ กลต. ได้ทราบว่า พ.ต.ท. ทักษิณ และ คุณหญิง พจมาน เป็นเจ้าของกองทุน OGF และ ODF ที่ปกปิดข้อความจริงไว้ตั้งแต่ต้น แต่ทาง กลต.ได้แจ้งให้จัดกลุ่มครอบครัวชินวัตรที่ถือในนามบุคคลทั้ง 3 เท่านั้น ไม่ต้องรวมเอา OGF และ ODF ไว้รวมกัน จึงอยากจะถือว่า เป็นการเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนแล้ว

แต่ “พยานหลักฐานใหม่” ที่เป็นความจริงเพิ่มเติมคือ ทั้งเจ้าหน้าที่ กลต. และเจ้าหน้าที่ฝ่ายวาณิชธนกิจของธนชาติ “ไม่ได้รับทราบ” เลย ว่า ผู้ต้องหาทั้ง 2 เป็นเจ้าของกองทุน OGF และ ODF ด้วย เพราะหากทราบความจริงที่ท่านปกปิดนี้ ก็จะได้เปิดเผยให้ถูกกฎหมาย

หลักฐานแรกคือ การที่ครอบครัวชินวัตร ยังมีพฤติกรรมปกปิดการถือหุ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในวันที่ 28 มีนาคม 2549 น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ประธานกรรมการบริหาร SC แจ้งนักลงทุนผ่านตลาดหลักทรัพย์ฯว่าได้แจ้งสำนักงาน กลต.ว่า กองทุน OGF และ ODF เป็นนิติบุคคลที่มิได้มีความเกี่ยวข้องใด ๆกับครอบครัวชินวัตรที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท SC แสดงว่าจนถึงปี 2549 เรื่องผู้ต้องหาทั้งสองเป็นเจ้าของที่แท้จริงผ่านกองทุน OGF และ ODF ยังถูกปกปิดอยู่เลย

หากสำนักงาน อสส. ต้องการการยืนยัน ขอให้ตั้งคำถามให้ชัดเจนว่า ในคนที่เกี่ยวข้อง “ใคร” บ้างที่ ดูแลกรณีนี้ ในปี 2546 ซึ่งได้รับการเปิดเผยว่า ผู้ต้องหาทั้งสองเป็นเจ้าของหุ้น SC ผ่านกองทุนทั้งสอง แต่ได้เปิดเผยข้อความเท็จเช่นนั้น ? สำหรับธนชาต ระดับเจ้าหน้าที่ ผู้ดูแลฝ่ายวาณิชฯ ระดับบริหาร มี “ใคร” บ้าง ? สำหรับ กลต. ระดับเจ้าหน้าที่ ระดับบริหาร ระดับเลขาธิการ รองฯ ผู้ช่วยฯ มี “ใคร” บ้าง ? โปรดให้ระบุชื่อเลย

ไทยทนไม่เชื่อว่ามีเพราะหากมีผู้รู้ความจริงตั้งแต่ 2546 ก็จะขัดกับการที่ยังยอมรับการเปิดเผยข้อมูลเท็จอีกในปี 2549 อย่างซ้ำซาก

4. ในคำแถลง ข้อกล่าวหาที่ 1 ข้อ 4 อ้างว่ากองทุน OGF และ ODF เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศ ผู้มีอำนาจกระทำการคือผู้จัดการกองทุน ไม่ใช่ผู้ถือหน่วยลงทุน

หลักฐานที่ถูกต้องคือ OGF และ ODF ไม่ใช่กองทุนประเภทกองทุนรวม ซึ่งมีเจ้าของมากราย แต่เป็นเพียงครอบครัวผู้ต้องหาเป็นหลัก (ประมาณ 100%) แม้ผู้มีอำนาจกระทำการคือผู้จัดการกองทุนก็ตาม แต่เจ้าของเป็นผู้มอบอำนาจจริงหรือไม่ ? เจ้าของยังคงเปลี่ยนแปลงการมอบอำนาจได้เสมอจริงหรือไม่ ? (อาจผ่านกองทุนส่วนบุคคลอื่นๆเป็นชั้นๆเช่นเดียวกัน)

หาก อสส. สงสัย ขอให้ดูหลักฐานให้ชัดที่อ้างว่า ผู้ต้องหาเป็นเพียงผู้ถือหน่วยลงทุน OGF และ ODF โดยตรวจสอบว่า เป็นกองทุนซึ่งมีกี่หน่วยกัน และ ครอบครัวผู้ต้องหาถือกี่หน่วย (ทางตรงหรืออาจเป็นทางอ้อมผ่าน VAF / VIF หรือ WM ก็ตาม) เชื่อว่าจะพบว่าสูงประมาณ 100% จึงเป็นผู้มีอำนาจแท้จริงในการมอบอำนาจใดๆโดยเด็ดขาดต่อผู้จัดการกองทุน ปกติ หากถือเกิน 50%-75% ก็ย่อมมีอำนาจควบคุมโดยสมบูรณ์อยู่แล้ว

5. ในคำแถลง ข้อกล่าวหาที่ 1 ข้อ 5-7 “มีผู้เชี่ยวชาญ และเจ้าหน้าที่ กลต. ยืนยันว่า การยื่นแบบ 69-1 ของบริษัทได้ดำเนินการเป็นไปตามประกาศของสำนักงาน ก.ล.ต.ที่ กจ. 44/2543 แต่หากยื่นภายหลังจากที่สำนักงาน ก.ล.ต.แก้ไขประกาศฯ ที่ กจ. 28/2546 ใช้บังคับแล้วต้องปฏิบัติตามประกาศดังกล่าว ซึ่งใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 16 พฤศจิกายน 2546 (ลงนามโดย รอ. สุชาติ เชาว์วิศิษฐ รมต. คลัง พรรค ทรท.) หลังจากที่บริษัทผู้ต้องหาที่ 1 ได้ยื่นแบบ 69-1 และเสนอขายหุ้นเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2546 และ สำหรับบริษัทมหาชนรายอื่น การเปิดเผยข้อมูลผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ก็ปฏิบัติเช่นเดียวกัน” ซึ่ง เป็นความจริง แต่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีนี้ เพราะ ประกาศฯ ทั้ง 2 ฉบับคือ 44/2543 และ 28/2546 ก็มิได้เปิดช่องให้ปกปิดข้อความจริงว่า ครอบครัวผู้ถือหุ้นใหญ่ (เช่นถือ 80%) แบ่งหุ้นไปถือในชื่อนิติบุคคลใดๆ (เช่น 19%) และ แสดงข้อความอันเป็นเท็จ ในการถือหุ้นเพียงจำนวนที่เหลือ (เช่นเปิดเผยว่ามีเพียง 61%) แต่อย่างใด เพราะขัดต่อ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ 2535 มาตรา 278

หากถามบริษัทมหาชนว่า ก่อนใช้ประกาศฯ 28/2546 นั้น ทุกบริษัทต้องปฏิบัติตามประกาศฯ 44/2543 หรือไม่ ? ย่อมได้คำตอบว่า “ใช่” แต่หากถามว่า แล้วทุกบริษัทที่ปฏิบัติตามประกาศฯ 44/2543 เช่นเดียวกับ SC นั้น “มีบริษัทใด ที่ครอบครัวผู้ถือหุ้นใหญ่ แบ่งหุ้นออกไปถือในนามนิติบุคคลอื่นด้วยจำนวนที่มีนัยสำคัญ และปกปิดความจริงส่วนนั้นบ้าง ?” ขอให้ กลต. แจกแจงให้ จะพบว่า “ไม่มีเลย” และหากมีจริง ต้องถามว่า ผิดมาตรา 278 หรือไม่ ?

6. สำหรับข้อกล่าวหาที่ 2 ที่ พ.ต.ท.ทักษิณ และ คุณหญิงพจมาน เป็นบุคคลผู้จำหน่ายหลักทรัพย์ในลักษณะที่ทำให้ตนหรือบุคคลอื่นเป็นผู้ถือหลักทรัพย์ในกิจการนั้นลดลงเมื่อรวมกันแล้วมีจำนวนทุกร้อยละห้าของจำนวนหลักทรัพย์ที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดของกิจการนั้น ร่วมกันไม่รายงานถึงจำนวนหลักทรัพย์ในทุกร้อยละห้าของการจำหน่ายหลักทรัพย์ต่อสำนักงาน ก.ล.ต.ภายในวันทำการถัดจากวันที่ได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ของกิจการนั้น

ตามคำแถลง ได้อ้างอิง ประกาศที่ กจ.58/2545 ข้อ 4 ระบุว่า เมื่อบุคคลใดแจ้งข้อมูลต่อสำนักงานเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติในส่วนที่ว่าด้วยการเข้าถือหลักทรัพย์เพื่อครอบงำกิจการ หรือ..รายงานการได้มาหรือจำหน่ายหลักทรัพย์ของกิจการที่ยื่นต่อสำนักงานว่า ตนเป็นกลุ่มเดียวกับบุคคลใดในการเข้าถือหลักทรัพย์..นับแต่เวลาดังกล่าวเป็นต้นไป หน้าที่ในการรายงานตามมาตรา 246 ให้พิจารณาจากผลรวมของหลักทรัพย์ที่ถือโดยบุคคลทุกรายในกลุ่มและบุคคลตามาตรา 258 ของบุคคลในกลุ่ม..ก็ได้

ซึ่งผู้ต้องหาได้อาศัยประกาศฯนี้ (ลงนามโดย ดร. สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รมต. คลัง พรรค ทรท.) โอนหุ้นไปถือผ่านกองทุน OGF และ ODF และถือว่าไม่ต้องรายงานรวมกันตามมาตรา 258 นั้น เป็นการอ้างว่าไม่เข้าใจกฎหมายซึ่งตามหลักการย่อมไม่สามารถทำได้ ด้วย (ก) ตามมาตรา 258 การนับรวมหุ้น ต้องรวมหุ้นที่ถือผ่านบริษัทที่ถือต่อกันเป็นทอดๆเกิน 30% ด้วย OGF และ ODF จึงเป็นบุคคลเดียวกันตามนัยของมาตรานี้อยู่แล้ว โดยไม่ต้องแจ้งว่าจะนับรวมกันอยู่ดี (ข) กฎเกณฑ์ระดับ ประกาศฯ ย่อมไม่สามารถลบล้างความผิดตามกฎหมายระดับ พ.ร.บ. ได้ (ค) การจงใจโอนหุ้น 2 ต่อ ผ่านกองทุน 3 กองทุน ซึ่งมีที่อยู่เดียวกัน ภายใน 3 สัปดาห์ ก็มิได้แสดงว่าจะ ลืมนับเป็นบุคคลเดียวกันได้ แต่เป็นการไม่รายงานตามกฎหมายโดยจงใจปกปิดมากกว่า

ประเทศไทย และ ตลาดหลักทรัพย์ไทย พึงมีศักดิ์ศรี ไม่ควรที่ใครจะลงทุนซื้ออำนาจรัฐเยี่ยงธุรกิจ และสามารถใช้อำนาจรัฐเป็นของตัว ละเลยกฎหมายที่เกี่ยวข้องเช่นนี้

และการที่ยังตัดสินเรื่องนี้ ด้วยข้อมูลหลักฐานที่ไม่ครบถ้วน ทำให้กลายเป็นการตัดสินบนความเท็จ ยังทำให้เกิดความพยายามป่วนบ้านเมืองไม่สิ้นสุด บทบาทของสำนักงานอัยการสูงสุด ดีเอสไอ และ กลต. จึงมีความสำคัญยิ่ง และควรตัดสินใจให้ถูกทางเพื่อชาติต่อไปครับ

เปิดคำสั่ง "อัยการ" ไม่ฟ้อง "ทักษิณ-หญิงอ้อ" กับพวก คดีปกปิดถือหุ้นเอสซีฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น