xs
xsm
sm
md
lg

“ทีจี” มั่นใจหลักสูตร SIMULATOR สร้างนักบินคุณภาพสูงให้การบินไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“สบพ.” จับมือ “ทีจี” เปิดสอนหลักสูตรนักบินพาณิชย์เอก เน้นฝึกจากเครื่อง SIMULATOR ลดเวลาฝึกนักบิน 100 ชั่วโมง แถมประหยัดค่าใช้จ่ายกว่า 1.2 ล้านบาท/ราย ด้านผู้บริหาร “บินไทย” มั่นใจ นักบินที่จบหลักสูตรนี้ เมื่อมาปฏิบัติการบินจริง จะมีคุณภาพมาตรฐานระดับชั้นนำของโลก

พลอากาศเอก ไพบูลย์ จันทร์หอม ประธานกรรมการ และรักษาการ ผู้ว่าการสถาบันการบินพลเรือน (สบพ.) เปิดเผยว่า สบพ.ร่วมกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดสอนหลักสูตรนักบิน MULTI-CREW PILOT LICENSE (MPL) ซึ่งการบินไทยจัดทำขึ้น โดยหลักสูตรดังกล่าวต่างจากหลักสูตรนักบินพาณิชย์ตรี หรือ COMMERCIAL PILOT LICENSE (CPL) ในเรื่องของการลดชั่วโมงบินจริง โดยจะฝึกบินจากเครื่องฝึกบินจำลอง (SIMULATOR) เพิ่มขึ้น ซึ่งหลักสูตร MPL จะมีชั่วโมงบินประมาณ 120 ชั่วโมง ส่วนหลักสูตร CPL จะมีชั่วโมงบิน 220 ชั่วโมง

สำหรับข้อดีของหลักสูตร MPL คือ ประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งการฝึกบินจริงจะมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับราคาน้ำมันค่อนข้างสูง ซึ่งทาง สบพ.คิดค่าใช้จ่ายหลักสูตร MPL คนละประมาณ 1.1 ล้านบาท ขณะที่หลักสูตร CPL จะมีค่าใช้จ่ายคนละประมาณ 2.35 ล้านบาท ซึ่งหลักสูตรนี้ได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมการบินพลเรือน (บพ.) เรียบร้อยแล้ว และหลายประเทศเริ่มหันมาใช้ แต่ยังไม่เป็นที่นิยมเหมือนกับหลักสูตร CPL ซึ่งเป็นหลักสูตรมาตรฐานสากล

“หลักสูตร MPL เริ่มเปิดสอนในปีนี้ มีนักบินจากการบินไทยมาเรียนแล้ว 4-5 คน ส่วนกำลังการผลิตนักบินของ สบพ.อยู่ที่ปีละประมาณ 80-100 คน แต่ปัจจุบันผลิตได้ปีละ 40-60 คน เพราะที่ผ่านมาอุตสาหกรรมการบินชะลอตัว จึงมีผู้สนใจเรียนหลักสูตรนักบินลดลง และในปีนี้ สบพ.ยังเปิดสอนหลักสูตรใหม่เพิ่มขึ้น คือ วิศวกรรมศาสตร์การบิน สาขาอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรองรับความต้องการของอุตสาหกรรมการบิน”

ด้าน นาวาอากาศตรี สรเดช นามเรืองศรี ผู้จัดการกองจัดหาบุคลากรการบิน การบินไทย กล่าวว่า การบินไทยเลือกใช้หลักสูตร MPL เพราะองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอซีเอโอ) ให้การรับรองแล้ว ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาการฝึกนักบินเหลือ 20-22 เดือน จากเดิม 24-26 เดือน ขณะที่เนื้อหาจะเข้มข้นขึ้น เพราะเรียนวิชาภาคบังคับ 15 วิชา ขณะที่หลักสูตร CPL จะเรียนวิชาภาคบังคับเพียง 8-9 วิชา โดยนักบินที่จบหลักสูตร MPL จะไม่ต้องเสียเวลาเรียนเพิ่มเติมเมื่อทำการบินจริง

“การบินไทยไม่ได้คำนึงถึงประเด็นค่าใช้จ่ายที่ลดลงมากนัก แต่สาเหตุที่เลือกใช้หลักสูตร MPL ในการฝึกนักบิน เพราะเทียบเท่าหลักสูตรนักบินพาณิชย์เอก ขณะที่หลักสูตร CPL เป็นหลักสูตรพาณิชย์ตรี และมั่นใจว่า นักบินที่จบหลักสูตรนี้ เมื่อมาปฏิบัติการบินจริงจะมีคุณภาพมาตรฐานระดับชั้นนำของโลก ปัจจุบันนักบินรุ่นแรกของหลักสูตรนี้ใกล้จะจบการศึกษาแล้ว โดยเหลือเวลาเรียนเพียง 4 เดือนจะจบหลักสูตร”

โดยก่อนหน้านี้ สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไออาร์ตา) คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมนี้ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะขยายตัวสูงมาก จากจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นปีละ 217 ล้านคน เช่นเดียวกับองค์กรการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) คาดการณ์ว่า แนวโน้มอีก 10 ปีข้างหน้ามีเครื่องบินพาณิชย์ออกสู่ตลาดกว่า 17,000 ลำ ทำให้มีความต้องการบุคลากรด้านการบินไม่น้อยกว่า 200,000 คน และมีความต้องการช่างอากาศยาน 430,000 คน

ดังนั้น สถาบันการบินพลเรือน จึงต้องเตรียมความพร้อมในการผลิตบุคลากร เพื่อรองรับอุตสาหกรรมนี้ โดยแต่ละปีสามารถผลิตนักศึกษาและบุคลากรต่างๆ ได้ราว 500 คน สำหรับหลักสูตรประจำและหากรวมต่างชาติเรียนด้วยจะสูงถึง 1,000 คน

พร้อมกันนี้ ยังจำเป็นต้องวางแผนผลิตบุคลากรเพื่อรองรับไปอีก 10 ปีข้างหน้า โดยใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท ปรับปรุงอาคารเรียนที่กรุงเทพฯ ให้ทันสมัย และรองรับการเรียนของนักศึกษาทั้งไทยและต่างชาติให้มากขึ้น จาก 3 ปีที่ผ่านมา มีการผลิตนักบินไปแล้วกว่า 2 หมื่นคน
กำลังโหลดความคิดเห็น