xs
xsm
sm
md
lg

ฟื้น 28 สนามบินภูมิภาคไม่เวิร์ค จี้บพ.สร้างแรงจูงใจเอกชนลงทุน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน-“คมนาคม”สั่งบพ.ทำรายละเอียดแผนบริหาร 28 สนามบินภูมิภาคเพิ่มเติม เหตุยังไม่จูงใจเอกชนลงทุน
นายศรศักดิ์ แสนสมบัติ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะทำงานบริหารจัดการท่าอากาศยานภูมิภาค วานนี้ (5 ก.ค.) ว่า หลังจากพิจารณาแผนที่กรมการบินพลเรือน (บพ.) นำเสนอแล้ว ที่ประชุมเห็นว่ายังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะแผนเชิงพาณิชย์ที่สร้างแรงจูงใจเอกชนในการเข้ามาบริหารสนามบินภูมิภาคที่ยังไม่มีเที่ยวบินพาณิชย์จำนวน 9 แห่ง คือ ปัตตานี ตาก ชุมพร เลย แพร่ เพชรบูรณ์ นครราชสีมา หัวหิน และแม่เสรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยเห็นว่า บพ.ควรหาแนวทางในการสร้างเที่ยวบินเข้ามาใช้บริการในสนามบินดังกล่าวด้วย
ทั้งนี้ ได้ขอให้บพ. กลับไปทำรายละเอียดท่าอากาศยานภูมิภาค ทั้ง 28 แห่งอีกครั้ง โดยเน้นเกี่ยวกับแผนธุรกิจเชิงพาณิชย์ และแผนความปลอดภัยทางกฎหมาย สรุปข้อดี และข้อเสีย รวมถึงการให้บริษัทเอกชนเข้ามาดำเนินการจะเป็นไปในรูปแบบใด จะให้บริการจัดการสนามบินเดียว แบ่งเป็นกลุ่ม หรือให้บริการทั้งหมดและให้นำเสนอภายในเดือนก.ค. เพื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ความเหมาะสม และคาดว่าจะนำเสนอต่อรัฐมนตรีกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่ภายในเดือนส.ค. 2554 นี้
“เบื้องต้นภาครัฐจะต้องมีแนวทางในการสร้างเที่ยวบินให้เข้าใช้บริการสนามบินทั้ง 9 แห่งก่อน เพราะถ้าไม่มีเที่ยวบินก็ไม่สามารถพัฒนาได้ โดยปัจจุบันมีเพียงเครื่องบินที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง การเกษตร และการฝึกบินเท่านั้นที่ใช้บริการ และถึงแม้จะมีการกำหนดแนวทางสร้างเที่ยวบินให้เกิดขึ้นแล้ว ในส่วนของเที่ยวบินที่เกี่ยวข้องกับความมั่น และการเกษตร ยังจำเป็นที่จะต้องให้บริการในทุกสนามบินดังกล่าวต่อไป เพราะเป็นเรื่องผลประโยชน์ของประเทศชาติ”นายศรศักดิ์กล่าว
นายสมชาย จันทร์รอด อธิบดีบพ. กล่าวว่า แนวคิดในการปรับปรุงท่าอากาศยาน 28 แห่ง จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ บพ.รับภาระการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานและการซ่อมบำรุง ส่วนเอกชนทำหน้าที่บริหารงาน และรับผิดชอบการลงทุนด้านการบริหารจัดการ ซึ่งมีความเป็นไปได้มากที่สุด จากที่แนวคิด เห็นว่า ควรโอนสนามบินภูมิภาคใหับริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือทอท.รับผิดชอบ แต่มีการทักท้วงว่าไม่เหมาะสม เพราะเห็นว่า บพ.ควรเป็นผู้บริหารเองจะเหมาะสมกว่า จึงยกเลิกแนวคิดดังกล่าว
สำหรับสนามบินที่มีผลกำไร คือ สนามบินกระบี่่ อุดรธานี ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี อุบลราชธานี นครศรีธรรมราช จากทั้งหมด 28 แห่ง โดยมีสนามบินที่ให้บริการเชิงพาณิชย์ และบริการหน่วยงานราชการ จำนวน 18 แห่ง ได้แก่ แม่ฮ่องสอน ปาย น่าน ลำปางแม่สอด พิษณุโลก อุดรธานี สกลนครนครพนม ขอนแก่น ร้อยเอ็ด บุรีรัมย์ อุบลราชธานี สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ ตรัง และนราธิวาส ส่วนอีก 8 แห่งใช้ในภารกิจของทหาร ตำรวจ การเกษตรฝนหลวง และการฝึกบิน คือ แพร่ เพชรบูรณ์เลย นครราชสีมา หัวหิน ชุมพร ระนอง และปัตตานี และอีก 2 แห่ง เป็นสนามบินที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ คือ ตาก และแม่สะเรียง
กำลังโหลดความคิดเห็น