xs
xsm
sm
md
lg

ผ่อนนโยบายการเงินมาร์ค-ธปท.เห็นพ้อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - นายกฯ นำทีมรัฐมนตรีเศรษฐกิจจู๋จี๋ผู้บริหารแบงก์ชาติ เห็นพ้องผ่อนคลายนโยบายการเงิน ส่งซิก กนง.ลดดอกเบี้ย 14 ม.ค. หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนการช่วยเหลือเอสเอ็มอีให้แบงก์เฉพาะกิจปล่อยกู้โดยรัฐบาลค้ำประกัน ระบุต่อไปนี้หารัฐบาลและแบงก์ชาติมีข้อมูลต่างกันจะมีการปรึกษาอย่างใกล้ชิด "ธาริษา" ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้ขยายตัว 0.5-2.5% พร้อมดูแลไม่ให้เกิดภาวะเงินฝืด "กรณ์" ลั่นดันงบกลางปีเข้าสภา 21 ม.ค.นี้ "กอร์ปศักดิ์" เผยนายกฯ สั่งเร่งอัดฉีดงบกระตุ้นเศรษฐกิจควบคู่แผนบริหารราชการแผ่นดิน

เมื่อเวลาประมาณ 16.00 วานนี้ (5 ม.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี นำทีมรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ที่ดูแลรับผิดชอบด้านเศรษฐกิจ ได้แก่ นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพลังงาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มาแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นกับผู้บริหารธปท. ซึ่งนำโดยนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท. ซึ่งบรรยากาศเป็นไปอย่างชื่นมื่น

นายอภิสิทธิ์กล่าวภายหลังการประชุมหารือร่วมกันว่า ธปท.เป็นหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลเศรษฐกิจและมีสถานะพิเศษในการเป็นธนาคารกลางที่เป็นอิสระและมีกลไกเฉพาะในการดูแลและบริหารด้านสำคัญหลายเรื่อง ทำให้การหารือครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านเศรษฐกิจ ระบบสถาบันการเงิน พร้อมทั้งปรับความเข้าใจให้ตรงกันด้านการทำงานระหว่างรัฐบาลและ ธปท.ให้อยู่ภายใต้เป้าหมายเดียวกัน จึงไม่อยากให้การทำงานมีปัญหาเหมือนช่วง 1 ปีที่ผ่านท่ามกลางวิกฤตการเงินโลก ทำให้ต่อไปนี้หากมีข้อมูลที่ไม่ตรงกันทั้งในการดำเนินนโยบายการเงินและการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนจะมีการปรึกษากันภายในรัฐบาลและ ธปท. เพื่อไม่ให้เกิดความรู้สึกขาดเอกภาพทางด้านเศรษฐกิจ

“หลังจากพูดคุยหารือกับผู้บริหารแบงก์ชาติมีความสบายใจและมั่นใจมากขึ้นในการทำงานของแบงก์ชาติ แม้รัฐบาลจะพยายามรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ลดผลกระทบต่างๆ เช่น การจ้างงาน รายได้ประชาชน แต่เชื่อมั่นการทำงานร่วมกันระหว่างนโยบายการเงินและการคลัง รวมทั้งการบริหารเศรษฐกิจในอนาคตให้ราบรื่นต่อไปได้ด้วยดี โดยไม่มีการแทรกแซงการทำงานของแบงก์ชาติ วินัยการเงินให้บิดเบือน ซึ่งทางผู้บริหาร ธปท.และหน่วยงานอื่นๆ จะติดตามข้อมูลอย่างใกล้ชิดทุกสัปดาห์ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเศรษฐกิจที่ตรงตามวัตถุประสงค์ และเข้าใจที่ดีตรงกัน พร้อมทั้งเอื้ออำนวยให้เกิดประสิทธิภาพในการดูแลเศรษฐกิจ”

นอกจากนี้ หลังการพูดคุยกันกับผู้บริหารธปท. พบว่า เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.ที่ผ่านมา กนง.ได้ปรับลดอัตราการขยายตัวเศรษฐกิจปี 52 ใหม่มาอยู่ที่ระดับ 0.5-2.5% ซึ่งมองว่าในอนาคตภาวะเศรษฐกิจไทยก็ยังคงมีความเสี่ยงอยู่ พร้อมทั้งจะดูแลไม่ให้เกิดภาวะเงินฝืดด้วยการนำเงินเข้าสู่ระบบให้มากและรวดเร็วผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งหลังจากหารือกับคณะกรรมการกระจายได้รายได้ พบว่ามีเงินค้างอยู่ประมาณแสนล้านบาทและจะนำเงินส่วนนี้มากระตุ้นเศรษฐกิจต่อไป

ส่วนนโยบายการเงินด้านอัตราดอกเบี้ยผู้บริหารธปท.และรัฐบาลมองไม่ต่างกัน คือไปแนวทางที่ผ่อนคลายมากขึ้น ซึ่งหารือครั้งนี้เป็นการแลกเปลี่ยนภาพรวมเศรษฐกิจมากกว่า ดังนั้น การพิจารณาอัตราดอกเบี้ยควรให้เป็นหน้าที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่เป็นผู้รับผิดชอบดูแลเรื่องนี้ดีกว่า ส่วนนโยบายอัตราแลกเปลี่ยน ธปท.ให้ความมั่นใจว่าจะดูแลไม่ให้ผันผวนมากและไม่ให้สูญเสียความสามารถในการแข่งขัน

ขณะที่การแก้ไขปัญหาภาคสถาบันการเงินไม่ปล่อยกู้ให้แก่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) นั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ในส่วนของ ธปท.ไม่สามารถดำเนินการได้แล้วภายใต้อำนาจกฎหมายตาม พ.ร.บ.ธปท.ฉบับใหม่ ฉะนั้นภาครัฐจะแก้ไขนี้ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจด้วยการเข้าไปทำหน้าที่ค้ำประกันสินเชื่อแทน และมองว่าการนำเกณฑ์กำกับดูแลเงินกองทุน (บาเซิล 2) มาใช้ไม่ได้เป็นข้อจำกัดในการปล่อยสินเชื่อด้วย

ด้านนางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า การทำงานของ ธปท.ควรเป็นเอกภาพ แต่มีอะไรก็ต้องปรึกษาหารือกัน และปรับข้อมูลให้ตรงกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายเศรษฐกิจที่ต้องการดูแลให้เศรษฐกิจเติบโตและสามารถผ่านพ้านความท้าทายต่างๆ ได้ โดยมองว่าช่วงไตรมาส 1 และ 2 เศรษฐกิจไทยอาจหนักหน่อย ซึ่งปัญหาใหญ่เกิดจากปัจจัยภายนอกประเทศที่กระทบให้การส่งออกชะลอตัวเยอะ แต่เชื่อว่าเศรษฐกิจในช่วงครึ่งหลังจะปรับตัวดีขึ้นจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งขณะนี้ในหลายประเทศพยายามดำเนินการอยู่

"ยามนี้แบงก์ชาติกับรัฐบาลต้องทำงานประสานกัน ต้องมีการปรึกษาหารือโดยเฉพาะเรื่องข้อมูลสำคัญมากที่จะต้องเห็นตรงกัน มุมมองตอนนี้คือไม่มีความแตกต่างในการคาดการณ์จีดีพี ซึ่งจะต้องดูแลเศรษฐกิจให้โตต่อไปให้ได้ การคาดการณ์จีดีพีปี 52 ที่ระดับ 0.5-2.5% ยังเป็นแค่การประเมินในเบื้องต้น ซึ่ง ธปท.จะมีการประเมินภาวะเศรษฐกิจในการประชุม กนง.วันที่ 14 ม.ค.นี้ โดยจะพิจารณาจากระดับเงินที่จะเข้าสู่ระบบ โดยเฉพาะการเบิกจ่ายภาครัฐ ขณะที่ภาครัฐก็จะต้องกระตุ้นการใช้จ่ายของภาคเอกชนด้วยมาตรการพิเศษที่จะนำออกมาใช้"

ส่วนปัญหาการปล่อยสินเชื่อที่มีปัญหาขณะนี้ ภาคสถาบันการเงินเข้าใจตรงกันว่าไม่ได้เกิดจากขาดสภาพคล่อง แต่เกิดจากความกังวลความเสี่ยงในการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งรัฐบาลคิดเช่นเดียวกันและพยายามกระตุ้นให้ผู้บริโภคกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศมากขึ้น ขณะเดียวกันขณะนี้คุณภาพสินเชื่อเริ่มแย่ลง คือ มีการขาดผ่อนชำระหนี้ช่วง 1-3 เดือนสูงขึ้น แต่ไม่ถึงขั้นเป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) สำหรับบางภาคธุรกิจ ดังนั้น การค้ำประกันการปล่อยสินเชื่อ ถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดที่สุด และหน่วยงานรัฐที่ดูแลด้านเศรษฐกิจต้องช่วยกันคิดและดูแลเรื่องนี้

"ธปท.จะต้องพยายามทำให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ทำให้เกิดปัญหาหนี้เสียเพิ่มขึ้น" ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าว

**ดันงบกลางปีเข้าสภา 21 ม.ค.52

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า การพิจารณางบประมาณรายจ่ายขาดดุลกลางปีเพิ่มเติม 1 แสนล้านบาทต่อเนื่องจากรัฐบาลที่แล้วเพื่อเป็นแรงกระตุ้นเศรษฐกิจ รมว.คลังกล่าวเปิดเผยว่า จะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันอังคารที่ 13 มกราคมนี้ เพื่ออนุมัติหลักการและกรอบวงเงินงบประมาณเบื้องต้นที่ใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจก่อนเสนอเข้าสู่การพิจารณาตามขั้นตอนของรัฐสภาในวันพุธที่ 21 ม.ค.

“งบประมาณส่วนนี้จะถูกฉีดเข้าสู่ระบบโดยจะเน้นไปที่การเพิ่มขีดความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยของประชนกลุ่มรายได้น้อยที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาเศรษฐกิจและทำให้อัตราการว่างงานลดน้อยลง” รมว.คลังกล่าวและว่า นอกจากการดำเนินการของภาครัฐแล้วสิ่งที่สำคัญคือภาคเอกชนจะต้องมีความเชื่อมั่นและพร้อมที่จะเดินหน้าไปควบคู่กับรัฐบาลผลักดันยุทธศาสตร์ให้มีความสอดคล้องกันเพื่อร่วมแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศในระยะ 1-2 ปีนี้ได้ โดยไม่เน้นการใช้ไปในโครงการเมกะโปรเจกต์ นอกจากนี้จะใช้สถาบันการเงินของรัฐเป็นเครื่องมือในการปล่อยสินเชื่อเข้าสู่ระบบให้มากที่สุด

“การใช้เงินแสนล้านบาทจะรวมถึงการดูแลการว่างงานที่จะเกิดขึ้นด้วย ซึ่งปี 2552 อาจจะทำงบขาดดุลเพิ่มได้อีกแสนล้านบาทจาก 2.5 แสนล้านบาท แต่ถ้ารวมกับงบปี 2553 น่าจะขาดดุลต่อเนื่อง หากเท่ากันก็จะเป็นเม็ดเงินที่ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจ 4-5 แสนล้านบาท ปัญหาอยู่ที่การหาเงินมาใช้ จะต้องคุยกับ ธปท. เพราะมีหน้าที่ดูแลปริมาณเงินในระบบให้เพียงพอผ่านทางเครื่องมือต่างๆ รวมไปถึงการพิมพ์เงินเข้าระบบ การลดดอกเบี้ยลงเพื่อไม่ให้เงินไหลกลับเข้ามาที่ ธปท." นายกรณ์กล่าว

**“มาร์ค” สั่งเร่งอัดฉีดงบกระตุ้น ศก.

นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูงานงานด้านเศรษฐกิจ เปิดเผยภายหลังการประชุมจัดทำร่างกรอบบริหารราชการแผ่นดิน ระยะ 3 ปีร่วมกับนายกรัฐมนตรี ที่ตึกบัญชาการ 1 ว่า วันที่ 6 ม.ค.นี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะชี้แจงและมอบนโยบายแก่หัวหน้าส่วนราชการทั่วประเทศ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ในเวลา 14.00 น.

ทั้งนี้ ตามกรอบบริหารราชการแผ่นดินแล้ว รัฐบาลมีกรอบระยะเวลา 60 วันที่จะต้องจัดทำร่างกรอบบริหารแผ่นดิน แต่นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เร่งดำเนินการจัดทำร่างกรอบบริหารราชการแผ่นดินโดยเร็ว และเบื้องต้นจะมีการชี้แจงให้คณะรัฐมนตรี (ครม.)รับทราบในการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันที่ 6 ม.ค.ด้วย

“เมื่อชี้แจงให้ข้าราชการรับทราบแล้ว นายกรัฐมนตรีขอให้เร่งผลักดันแผนกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่ออัดฉีดสู่ประชาชนราวเดือนมีนาคม-เมษายนควบคู่กับร่างแผนบริหารราชการแผ่นดินที่จะจัดทำให้เสร็จภายในสัปดาห์หน้า และจะนำร่างเข้าขอความเห็นชอบต่อ ครม.ในวันที่ 13 ม.ค.นี้ต่อไป ดังนั้นไอเดียหรือแนวคิดจะไม่สำคัญเท่าไปกว่า แผนที่เป็นรูปธรรมสามารถจัดทำแผนให้ประชาชนได้ประโยชน์โดยแท้จริง”รองนายกรัฐมนตรีกล่าวและว่า ตามกรอบบริหารราชการแผ่นดิน รัฐบาลจะประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทุกภาคส่วนภายในเดือนมกราคม 2552 ตามนโยบายของรัฐบาล และมาตรการเร่งด่วน เช่น แผนกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ แผนแก้ปัญหาการว่างงาน แผนแก้ไขปัญหาภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กหรือเอสเอ็มอี ทั้งภาคส่งออกและภาคการท่องเที่ยว รวมไปถึงแผนงานเศรษฐกิจพอเพียงโดยคาดว่าในไตรมาสแรกของปี 2552 เศรษฐกิจโดยรวมของไทยจะมีอัตราการขยายตัวขึ้น

ขณะเดียวกันงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทุกภาคส่วน ที่เชื่อว่าจะสามารถนำออกมากระตุ้นเศรษฐกิจได้ราวเดือนมีนาคม-เมษายนนี้ได้หรือไม่ ผู้แทนราษฎรทุกคนก็มีส่วนในการร่วมกันผลักดัน แม้อาจมีการอภิปรายไม่ไม่ไว้วางใจรัฐบาลในส่วนนี้ก็ตาม

นายกอรปศักดิ์กล่าวว่า ทั่วโลกยังได้จับตามองมาตรการเศรษฐกิจที่นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่เข้ารับตำแหน่งวันแรก หลังวันที่ 20 ม.ค.นี้ ที่จะประกาศแผนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ โดยใช้งบประมาณกว่า 7.5 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหากได้ผลเศรษฐกิจของประเทศไทยก็จะได้รับอานิสงส์จากเศรษฐกิจโลกด้วยเช่นกัน.
กำลังโหลดความคิดเห็น