xs
xsm
sm
md
lg

เอกชนผวาการเมืองวุ่นSMEหนักสุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - ปี 52 ภาคเอกชนผวาปัญหาการเมืองมากกว่าเศรษฐกิจโลก เหตุตัวแปรสำคัญต่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย เผยปี’52เอสเอ็มอีอาการหนักสุดหากไม่เร่งเยียวยาเศรษฐกิจไทยลำบากแน่หวังรัฐขับเคลื่อนนโยบายภายใน 3 เดือน ยังคาดหวัง กนง.ลดดอกเบี้ยแรงอีก 1% ขณะที่ กนง.ส่งซิกไม่จำเป็นถึงขั้นนั้น ส่วนม็อบเสื้อแดงป่วนรัฐสภา หอการค้าฯ เตือนสติควรให้รัฐบาลทำงานก่อน หวั่นเศรษฐกิจไทยพังพาบ

นายสมมาต ขุนเศษฐ รองเลขาธิการสายงานสภาอุตสาหกรรมจังหวัด สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ปี 2552 ปัจจัยทางการเมืองจะเป็นตัวแปรสำคัญต่อการฟื้นตัวภาคอุตสาหกรรม การลงทุน และเศรษฐกิจของชาติ ดังนั้นเอกชนจึงต้องการเห็นการเมืองไทยมีเสถียรภาพเพราะหากเกิดปัญหานโยบายต่างๆ จะไม่สามารถขับเคลื่อนได้และเกิดการสูญญากาศอีกจะยิ่งซ้ำเติมความเชื่อมั่นกว่าเดิมและจะมีผลกระทบต่อภาวะการลงทุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยลดต่ำลง
ทั้งนี้ ปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัวคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมไทยในปี 2552 ให้มีอัตราการเติบโตที่ลดลง โดยเฉพาะภาคการผลิตที่เน้นพึ่งพิงตลาดส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา ส่วนจะขยายตัวลดต่ำมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการปรับตัวของเอกชนทั้งการลดต้นทุนและการแสวงหาตลาดใหม่ๆ รวมถึงมาตรการดูแลจากภาครัฐบาลที่จะกระตุ้นตลาดในประเทศเข้ามาทดแทน
ปี 2552 วิสาหกิจขนาดกลางและย่อมหรือเอสเอ็มอีจะประสบปัญหาหนักสุดโดยภาพรวมและจะส่งผลต่อการจ้างงานใหม่ค่อนข้างชัดเจนแต่แรงงานเก่าที่มีอยู่การเลิกจ้างจะมากน้อยและถึงระดับล้านคนหรือไม่ก็ขึ้นอยู่ที่การขับเคลื่อนนโยบายจากภาครัฐได้เร็วเพียงใดด้วย เนื่องจากที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีรัฐบาลบริหารประเทศแต่การขับเคลื่อนนโยบายหลายด้านกลับไม่สามารถดำเนินการได้เพราะรัฐบาลขณะนั้นเน้นแต่การแก้ไขปัญหาการเมือง
“การเมืองน่าเป็นห่วงมากกว่าเศรษฐกิจโลกอีกเพราะเศรษฐกิจโลกทุกแห่งเขาก็เจอเหมือนไทย การเมืองสงบการฟื้นตัวในประเทศก็จะง่ายขึ้นแต่ทุกอย่างวุ่นวายจะยิ่งซ้ำเติมหนักมากขึ้นอีก และเอกชนเองก็ไม่ต้องการเห็นการสูญญากาศทางการเมืองบ่อยครั้งเพราะนั่นจะยิ่งฉุดความเชื่อมั่นทุกภาคส่วน และไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่ในที่สุดจะต้องยุบสภาเพราะจะยิ่งยุ่งกว่าเดิม” นายสมมาตกล่าว
เศรษฐกิจไทยในปี 2552 นั้นหากรัฐบาลสามารถขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ ด้วยการอัดฉีดงบประมาณที่ระบุว่าจะมีมากถึง 3 แสนล้านบาทเพื่อสร้างงานและรายได้ทั่วประเทศ การดูแลเอสเอ็มอีให้ถึงแหล่งเงินไม่มีปัญหาการขาดสภาพคล่องหนัก การเร่งโครงการเมกะโปรเจกต์ ฯลฯ เหล่านี้หากรัฐบาลเร่งให้เกิดผลในทางปฏิบัติภายใน 3 เดือนก็จะเป็นตัวแปรให้เศรษฐกิจในประเทศเดินหน้าต่อไปได้โดยจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกลดลง
“ผมกลัวว่าพูดแล้วจะทำไม่ได้อย่างที่พูด และการที่รัฐมนตรีหน่วยงานเศรษฐกิจบางแห่งอาจไม่มีความรู้ ความสามารถตรงนักแต่ถ้ามองมุมดีๆ มีความตั้งใจเข้ามาบริหารชาติด้วยการตั้งทีมงานเข้ามาก็น่าจะเป็นบวกมากกว่าเว้นแต่ตั้งทีมเศรษฐกิจมาแล้วแต่ไม่ฟังเขาก็ไม่มีประโยชน์อะไร “ นายสมมาตกล่าว
สำหรับเรื่องปัญหาสภาพคล่องนั้นส่วนหนึ่งต้องการให้คณะกรรมการนโยบายการเงินหรือกนง.พิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงทันทีอีก 1% ซึ่งขณะนี้ถือว่าอัตราดอกเบี้ยไทยยังค่อนข้างสูงที่อยู่ในระดับ 2.75% หากลงมาระดับ 1% อีกก็จะยังคงอยู่ในระดับ 1.5% ซึ่งน่าจะเป็นอัตราที่เหมาะสมซึ่งดอกเบี้ยดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มสภาพคล่องนอกเหนือจากภาคธุรกิจประชาชนที่มีภาระผ่อนบ้าน รถก็จะได้รับอานิสงค์ไปด้วย
นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช คณะกรรมการกนง. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่ในภาวะเลวร้ายมากนักจนถึงขั้นจะลดดอกเบี้ยแรงๆ ติดต่อกันอีกโดยเฉพาะในครั้งต่อไปคาดว่าการลดลงไม่น่าจะแรงถึงขั้น 1% เนื่องจากจะต้องพิจารณาถึงรายได้ของผู้ที่มีเงินออมไว้กับสถาบันการเงินด้วยเพราะคนกลุ่มหนึ่งมีรายได้จากดอกเบี้ยเงินฝาก

**วอนม็อบเสื้อแดงให้เวลารัฐบาล
นายประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า หากการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ยืดเยื้อจะทำให้รัฐบาลแถลงนโยบายไม่ได้ ส่งผลตามมา คือ รัฐบาลทำงานไม่ได้ แม้ว่าจะมีนโยบายเร่งด่วนรออยู่มากมาย ในทางตรงข้ามหากแถลงนโยบายรัฐบาลจบเร็ว รัฐบาลลงมือทำงานได้ทันทีซึ่งเป็นเรื่องที่ดีและเอกชนต้องการจะให้เกิดขึ้น
“เอกชนเห็นว่าควรให้เวลารัฐบาลใหม่ทำงานสักระยะ เพื่อให้เห็นผลงานที่เป็นรูปธรรม ส่วนผู้ชุมนุมน่าจะมีวิธีชุมนุมที่เหมาะสมและน่าจะเปิดโอกาสให้รัฐบาลแถลงนโยบายก่อน"
นายประมนต์กล่าวว่า หากรัฐบาลต้องเลื่อนการแถลงนโยบายออกไป 1-2 วันก็ไม่น่าจะมีปัญหา แต่หากต้องเลื่อนออกไปเป็นสัปดาห์ ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของรัฐบาลได้ โดยเฉพาะแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นที่รัฐบาลต้องนำงบประมาณกลางปีออกมาใช้ ซึ่งขณะนี้มีหลายโครงการที่รอการอัดฉีดเม็ดเงินจากรัฐบาลไปกระตุ้นเศรษฐกิจและเสริมสภาพคล่อง และหลายนโยบายของรัฐก็ตรงกับข้อเสนอของหอการค้าไทยที่ได้เสนอต่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี
นายดุสิต นนทะนาคร รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ในปี 2552 สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการส่งออกจะหนักกว่าที่หลายฝ่ายคิด ดังนั้นจึงต้องเปิดโอกาสให้รัฐบาลใหม่ได้บริหารประเทศและแก้ปัญหาเร่งด่วนที่รอการขับเคลื่อนในระยะ 6 เดือน 1 ปี หลังจากนั้นจึงค่อยมาพิจารณาว่าผลงานเป็นอย่างไร จะเสนอข้อคิดเห็นอะไรบ้าง
“ทุกฝ่ายต้องลดทิฐิ และหาทางยุติความขัดแย้งเพราะอุปสรรคปีหน้ามีอีกมากมาย ประเทศต้องฟื้นฟูความเชื่อมั่นให้กลับคืนมาอย่างเร็วที่สุดทั้งท่องเที่ยวและลงทุน จึงต้องให้โอกาสรัฐบาลใหม่ได้ทำงานก่อน หลังจากนั้นค่อยมาว่ากัน” นายดุสิตกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น