xs
xsm
sm
md
lg

ก๊าซของใคร?

เผยแพร่:   โดย: สุวิชชา เพียราษฎร์

ว่ากันบนพื้นฐานของความจริง ปัญหา และวาระเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นการเมือง เศรษฐกิจ หรือสังคมที่รัฐบาลอภิสิทธิ์จะต้องแก้และทำนั้นไม่ถือว่าต้องนับหนึ่งใหม่หมดเสียทุกเรื่อง เรื่องบางเรื่องที่สำคัญและจำเป็นมีความเดิมเมื่อตอนที่แล้ว หรือมีคนนับไว้ให้แล้วสามารถต่อยอดจาก 5 เป็น 6 หรือ 9 เป็น 10 ได้เลยด้วยซ้ำ

ทว่า...มีบางอย่างที่ชวนให้คิดถึงการทำงานของพรรคประชาธิปัตย์ในอดีตที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่กล้าตัดสินใจ หรือ “เชื่องช้า” จนเป็นเอกลักษณ์

ยกตัวอย่างเช่น การพิจารณาเรื่องนโยบายพลังงาน เรื่องใหญ่ที่หลายฝ่ายติดตามดูด้วยความสนใจ เมื่อวานนี้ (5 ม.ค.)

นายกรัฐมนตรีคนใหม่ ประเดิมภารกิจเช้าวันทำงานวันแรกของปีใหม่ด้วยการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยนั่งหัวโต๊ะเป็นประธานเอง มีนายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งคณะกรรมการ กพช.เข้าร่วมประชุมด้วย

วาระสำคัญในการหารือ คือ การจัดการก๊าซจะเอาอย่างไร โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติอย่างเอ็นจีวี (Natural Gas for Vehicles: NGV) และก๊าชหุงต้มแอลพีจี (Liquefied Petroleum Gas : LPG) ซึ่งโครงสร้างราคาและการใช้บูดเบี้ยวบิดเบือนมานาน

โดยเฉพาะแอลพีจีที่ก่อนนี้รัฐบาลเดิมต้องการแบ่งออกเป็น 2 ตลาด คือ ใช้สำหรับครัวเรือน และอุตสาหกรรม-ภาคขนส่ง โดยอย่างหลัง ครม.เดิมอนุมัติให้ปรับขึ้นราคาได้อีก 6 บาทต่อกิโลกรัมในระยะเวลา 3 เดือนหรือปรับขึ้นเดือนละ 2 บาทต่อกิโลกรัม

ขณะที่เอ็นจีวีมติ กพช.เมื่อปี 2550 ได้กำหนดว่า ภายในปี 2552 จะต้องมีการปรับขึ้นราคาอย่างน้อย 12 บาทต่อกิโลกรัม และในปี 2553 ให้มีการปรับราคาขึ้นเป็น 13 บาท ต่อกิโลกรัม ขณะที่ปี 2554 กำหนดให้มีการปรับขึ้นราคาตามต้นทุนที่แท้จริง (แต่ราคาก๊าซของปี 2552 ยังไม่มีมติ กพช.ออกมา ทำให้ราคาก๊าซเอ็นจีวีอยู่ที่ 8.50 บาทต่อกิโลกรัม)

ภายหลังประชุม รมว.พลังงาน บอกว่า นายกฯ สั่งให้กระทรวงไปศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมในเรื่องการปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจีในภาคอุตสาหกรรมและขนส่งว่า มีความเหมาะสมที่จะปรับขึ้นราคาหรือไม่? แต่ภาคครัวเรือนจะยังไม่ปรับราคาขึ้นเพราะเกรงประชาชนจะเดือดร้อน

ส่วนเอ็นจีวีก็เช่นกันจะยังไม่ปรับเพิ่มราคาในขณะนี้

อย่างไรก็ดี นี่ยังไม่ใช่เรื่องที่จะเป็นจริงเป็นจังขึ้นมาในทันที เพราะทั้งสองเรื่อง นายอภิสิทธิ์จะเรียกประชุมอีกครั้งในสัปดาห์หน้า (โดยไม่ได้แปลว่า สัปดาห์หน้าจะได้ข้อยุติ)

อย่างผิวเผิน ฟังแค่นี้ดูเหมือนจะเป็นข่าวดีต่อประชาชน โดยเฉพาะการไม่ปรับขึ้นราคาแอลพีจีภาคครัวเรือน และเอ็นจีวี ซึ่งใช้กันมากมายในรถสาธารณะและรถบ้าน!

แต่คำถามก็มีว่า...การไม่ปรับเพิ่มราคา ในขณะที่ราคาก๊าซลดลงฮวบฮาบ มันน่าดีใจงั้นหรือ?

เชื่อว่า รัฐบาลชุดนี้ย่อมทราบดีว่า การจัดการพลังงานโดยเฉพาะพลังงานที่ว่าด้วยการใช้เชื้อเพลิงประเภทก๊าซนั้นถือเป็นเรื่องใหญ่ เพราะเกี่ยวพันกับปากท้องประชาชน, ภาคการขนส่ง และอุตสาหกรรม อันเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ!

ในการแถลงนโยบายรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ก็แถลงอย่างชัดเจนไว้ในข้อ 4.4.3 ว่า “จะกำกับดูแลราคาพลังงานให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม มีเสถียรภาพ และเป็นธรรมต่อประชาชน”

เพราะฉะนั้น ราคาที่สะท้อนความจริง ให้เป็นธรรมกับประชาชน ราคาก๊าซมันควรจะต้องปรับลดลง ไม่ใช่แค่ตรึงราคา! ถูกต้องหรือไม่?

ทั้งนี้ นับแต่สถานการณ์พลังงานของโลกและภายในประเทศเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว อย่างน้อยตลอดช่วงครึ่งปีหลัง 2551 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า สถานการณ์น้ำมันนั้น พลิกจากราคาที่แพงลิบลิ่วกลับมาถูกราวย้อนยุคกลับไปเหมือนเมื่อสิบปีก่อน แต่สำหรับก๊าซเอ็นจีวี และก๊าชหุงต้มแอลพีจีกลับนิ่งสนิท

นิ่งสนิทในท่ามกลางกระแสขาลงของพลังงานประเภทนี้ไม่แพ้น้ำมัน โดยดูข้อมูลในรอบปีที่ผ่านมาราคาก๊าซแอลพีจีในตลาดโลกลดต่ำลงเรื่อยๆ จากเดิมที่ราคา 950 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ลงมาเหลือ 358 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ในขณะที่ราคาก๊าซแอลพีจีภายในประเทศราคา 332 เหรียญดอลลาร์สหรัฐต่อตัน

ในความรู้สึกของประชาชน และครัวเรือนที่ผ่านมาจึงเหมือนต้องทนถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ค้าแบบมัดมือชกมานานหลายเดือนแล้ว!

เมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามา ประชาชนผู้บริโภค หรือกระทั่งผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมต่างก็หวังอยากจะจะตัดสินใจทำอย่างไรอย่างหนึ่ง โดย “เร่งด่วน –ทันที” เพราะเวลาที่หมุนไป ความเสียเปรียบและเสียหายจากประชาชนก็เพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ

รัฐบาลเองจะบอกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องนโยบาย การปล่อยลอยตัวราคาก๊าซไม่ใช่ทำกันง่ายๆ วันสองวันเสร็จ ประกอบกับด้วยเงื่อนไขหลายๆ อย่างอาจจะต้องรอบคอบ เข้าทำนองช้าหน่อยแต่ชัวร์ ก็เอาเถิด

ก่อนที่จะถึงสัปดาห์หน้าที่อาจจะมีข้อสรุปที่รอคอย ระหว่างนี้รัฐบาลก็ต้องยอมรับเช่นกันว่า ประชาชนทุกคนมีสิทธิตั้งคำถาม...

ถามว่า ทำไมนายกฯ ไม่ฟังธง หรือเคาะคอนเฟิร์มเอาให้ชัดเจนไปเลย

ถามว่า ทำไมยังรีรออะไร หรือเกรงใจใครเป็นพิเศษ?

ทำไมถึงต้องสงสัย ก็เพราะจากคำให้สัมภาษณ์ของนพ.วรรณรัตน์ เหมือนๆ ว่า สิ่งที่รัฐบาลไม่กล้าสรุปในวันนี้ หรือยังไม่มีคำตอบว่าจะลดราคาก๊าชปล่อยลอยตัว หรือ ทบทวนการแยกตลาด
น่าจะมีใครสักคนหนึ่งเป็นผู้ตัดสินใจให้รัฐบาล

เขาบอกว่า “ราคาก๊าซธรรมชาติ (NGV) นั้นจากการหารือกับนายกรัฐมนตรีเห็นพ้องกันว่าจะยังไม่ควรมีการปรับขึ้นราคาในขณะนี้ และยอมรับว่าแม้จะกระทบกับแผนการลงทุนของ บมจ.ปตท. (PTT) แต่กระทรวงพลังงานจะหารือเป็นการภายในกับ PTT อีกครั้ง”

น่าคิดจริงๆ ว่า ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ ปตท. งั้นหรือ?

เพื่อประชาชน หรือผลประโยชน์ของปตท.? คนที่ตอบเรื่องนี้ได้ดี เห็นจะมีก็แต่ตัวนายอภิสิทธิ์!

“ก๊าซหุงต้มส่วนใหญ่เป็นทรัพยากรธรรมชาติของประเทศ ไม่ใช่ของรัฐวิสาหกิจหรือองค์กรหนึ่งองค์กรใด ดังนั้นประชาชนในฐานะที่เป็นเจ้าของสมบัติร่วมกันควรมีสิทธิที่จะได้ใช้ก๊าซหุงต้มในราคาที่ถูก”

จำได้หรือไม่ว่า ใครพูดประโยคนี้เอาไว้เมื่อไม่นานมานี่เอง!

ท่านผู้อ่านสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพิ่มเติมได้ที่ เอ็มบล็อก http://mblog.manager.co.th/suwitcha67 หรือ E-mail suwitcha@manager.co.th
กำลังโหลดความคิดเห็น