xs
xsm
sm
md
lg

พท.เปิดโรงแรมถล่มรัฐวันนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"เพื่อไทย"แค้นเปิดโรงแรมถล่มนโยบายรัฐบาลนอกสภาวันนี้ “เฉลิม” นำทีมเฉ่งแผนกระตุ้นเศรษฐกิจไร้เป้าหมาย เมินปราบยาเสพติด ขณะเดียวกันส่ง ส.ส.ฟ้องศาลปกครอง เพิกถอนคำสั่งประธานรัฐสภาเรียกประชุมแถลงนโยบายนอกรัฐสภา และ ครม.แต่งตั้งข้าราชการการเมือง ด้านเอแบคโพล สำรวจพบประชาชนเห็นว่าการเข้ามาเป็นรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์มีความชอบธรรม

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย กล่าว วานนี้ (4 ม.ค.) ถึงการอภิปราย นโยบายรัฐบาลนอกสภาของฝ่ายค้าน วันนี้ (5 ม.ค.) ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ ว่า ตนได้รับมอบหมายให้เป็นผู้อภิปรายคนแรก ตั้งแต่เวลา 09.30 น. เป็นต้นไป ซึ่งจะวิเคราะห์วิจารณ์นโยบายของรัฐบาลทั้งหมด โดยเฉพาะนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจนในการแก้ไข รวมทั้งไม่มีนโยบาย แก้ไขปัญหายาเสพติด ที่ถือเป็นปัญหาใหญ่ระดับชาติ รวมทั้งการที่รัฐบาล กำหนดกรอบเวลาในการแก้ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้แล้วเสร็จ ภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้ ถือเป็นนโยบายที่ไม่สามารถปฏิบัติได้จริงในระยะเวลาดังกล่าว

นอกจากนี้ยังตั้งข้อสังเกตกรณีที่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกกฎ 9 ข้อ ให้รัฐมนตรีปฏิบัติ เป็นการแสดงให้เห็นว่านายกรัฐมนตรีไม่ไว้ใจรัฐมนตรี ของตนเอง โดยเฉพาะกฎข้อที่ 9 ที่ห้ามรัฐมนตรีทำตัวเหนือประชาชน ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญที่ระบุว่าทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกัน อย่างไรก็ตามการอภิปรายครั้งนี้ ได้กำชับให้ระมัดระวังคำพูดเพราะอาจถูกฟ้องหมิ่นประมาทได้

ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ไม่ขอวิจารณ์นโยบายประชานิยมของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ที่ลอกนโยบายของพรรคพลังประชาชน ส่วนนโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือน ช่วยเหลือประชาชน ที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ประกาศสานต่อนั้น แท้จริงแล้ว นโยบายดังกล่าว ไม่ใช่แนวคิดของ นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี แต่เป็นนโยบายที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ริเริ่ม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลา 13.50 น. วันเดียวกันร.ต.อ.เฉลิม ได้เดินทางเข้าพบ นายเสนาะ เทียนทอง หัวหน้าพรรคประชาราช ที่บ้านเมืองทองธานี เพื่อหารือเรื่อง การอภิปรายนอกสภา ในวันนี้ (5 มค.) เป็นเวลาประมาณ 30 นาที

นายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.อยุธยา สมาชิกพรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวถึงการอภิปรายนโยบายรัฐบาลนอกสภาในวันนี้ (5 ม.ค.) ว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านจะวิเคราะห์นโยบายรัฐบาล เนื่องจากคพวกตนจะอภิปราย ตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค. 2551 แล้ว แต่รัฐบาลไม่เปิดโอกาส ดังนั้นพวกตนจะใช้วันดังกล่าว อภิปรายนโยบายรัฐบาลเพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ

นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงถึงกรณีที่นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา เปลี่ยนสถานที่แถลงนโยบายจากรัฐสภาไปเป็นกระทรวงการต่างประเทศ เมื่อวันที่ 30 ธ.ค.) โดยแจ้งการเปลี่ยนสถานที่ผ่านทางเอสเอ็มเอสว่า เป็นการกระทำที่ขัดระเบียบ ข้อบังคับของสภาและรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 176 ที่กำหนดให้รัฐบาลแถลงนโยบายต่อรัฐสภาไม่ใช่สมาชิกสภา นอกจากนี้ยังถือว่าประธานรัฐสภากระทำขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 179 ที่ปิดกั้นสมาชิกสภาโดยเฉพาะส.ส.พรรคเพื่อไทยให้ไม่สามารถอภิปรายนโยบายของรัฐบาลได้

นายพร้อมพงศ์ กล่าวว่า หลังจากนายกรัฐมนตรีแถลงนโยบายแล้วเสร็จ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังมีมติแต่งตั้งข้าราชการการเมืองอีกหลายตำแหน่ง อาทิ เลขานุการคณะรัฐมนตรี ดังนั้นการกระทำของประธานรัฐสภาและคณะรัฐมนตรี จึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนของการประชุมสภา ดังนั้นการออกคำสั่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้งข้าราชการการเมืองจึงมิชอบด้วย กฎหมาย และเป็นการละเมิดพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองม. 9 ( 1 )

ดังนั้น ในวันนี้ (5 ม.ค.) พรรคเพื่อไทยจะยื่นหนังสือต่อศาลปกครอง ให้ศาลปกครองกลางเพิกถอนคำสั่งการเรียกประชุมของประธานรัฐสภา และเพิกถอนคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการการเมืองตามมติคณะรัฐมนตรี ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองม. 72 ( 1 ) นอกจากนี้จะขอให้ ศาลปกครองกลางทุเลาคำสั่งแต่งตั้งข้าราชการการเมืองดังกล่าวไว้ก่อนตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ม. 66 และตามระเบียบของศาลปกครองด้วย

นายนพดล กรรณิกา ผอ.สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเรื่อง ความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย กับการเข้าสู่อำนาจของพรรคประชาธิปัตย์ ในสายตาประชาชน โดยสำรวจจากประชาชน 18 จังหวัด ทั้งกรุงเทพฯ ปริมณฑลและภูมิภาค 3,169 ตัวอย่าง พบว่าส่วนใหญ่ รือกว่าร้อยละ 70 ติดตามข่าวการเมืองเป็นประจำทุกสัปดาห์

สำหรับการคาดการณ์ต่อสังคมไทยในปี พ.ศ. 2552 ในมุมมองของประชาชนต่อเรื่องบรรยากาศทางการเมือง สถานการณ์เศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ของคนในสังคม วัฒนธรรมประเพณีไทย และความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ว่าจะดีขึ้น ดีเหมือนเดิม แย่เหมือนเดิม หรือว่าแย่ลง ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 57.5 ระบุว่า คาดว่าบรรยากาศทางการเมืองจะแย่ลง และร้อยละ 24.6 คาดว่าจะแย่เหมือนเดิม

ยิ่งไปกว่านั้น ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 68.3 คาดว่าสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจจะแย่ลงไปอีก และร้อยละ 20.0 คาดว่าจะแย่เหมือนเดิม นอกจากนี้ ร้อยละ 58.5 คาดว่าความสัมพันธ์ของคนในสังคมจะแย่ลง และร้อยละ 22.4 คาดว่าจะแย่เหมือนเดิม

อย่างไรก็ตาม เมื่อประชาชนที่ถูกศึกษานึกถึงวัฒนธรรมประเพณีไทย ผลสำรวจพบว่า ประชาชนร้อยละ 42.2 คาดว่าจะยังคงดีเหมือนเดิม และร้อยละ 10.8 จะดีขึ้น ในขณะที่ ร้อยละ 22.3 คาดว่าจะแย่ลง และร้อยละ 17.4 คาดว่าจะแย่เหมือนเดิม และเมื่อคาดการณ์ถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน พบว่า ร้อยละ 35.3 คาดว่าจะแย่ลง ร้อยละ 25.0 คาดว่าจะแย่เหมือนเดิม ในขณะที่ร้อยละ 28.7 คาดว่าจะดีเหมือนเดิม และเพียงร้อยละ 4.2 เท่านั้นที่คาดว่า ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจะดีขึ้น

ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อถามถึงความชอบธรรมของพรรคประชาธิปัตย์ในการเข้าสู่ อำนาจหลังการเมืองเปลี่ยนขั้ว ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 70.9 ระบุว่า มีความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย ในขณะที่ร้อยละ 14.4 ระบุว่า ไม่มีความชอบธรรม และร้อยละ 14.7 ระบุไม่มีความเห็น

ทั้งนี้เมื่อจำแนกกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามออกตามภูมิภาค พบว่า ประชาชน ส่วนใหญ่ในทุกภูมิภาคมองว่า พรรคประชาธิปัตย์มีความชอบธรรมในการเข้าสู่อำนาจ หลังการเมืองเปลี่ยนขั้ว คือภาคเหนือร้อยละ 68.0 ภาคกลางร้อยละ 73.8 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 55.2 ภาคใต้ร้อยละ 88.8 และกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 63.1

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่าการเข้าสู่อำนาจเป็นรัฐบาลของพรรคประชาธิปัตย์มีความชอบธรรมในระบอบประชาธิปไตย แต่เมื่อถามถึง จุดยืนทางการเมืองของประชาชนว่า อยู่ฝ่ายใด ผลสำรวจพบว่า ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 67.9 ขออยู่ตรงกลาง ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด คือ ขอเป็นพลังเงียบ ในขณะที่ ร้อยละ 26.4 สนับสนุนรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ และเพียงร้อยละ 5.7 ไม่สนับสนุน

นายนพดล กล่าวว่า ผลวิจัยครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงคาดการณ์ว่าสังคมไทยในปี 2552 ยังคงมีปัญหาย่ำแย่ในเรื่องหลักๆ หลายด้าน เช่น บรรยากาศทางการเมือง สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ของประชาชนในสังคม อย่างไรก็ตาม ในมิติด้านวัฒนธรรมประเพณีไทย น่าจะเป็นทางออกทางหนึ่งที่สำคัญสำหรับการฟื้นฟูบรรยากาศทางการเมืองและสังคมไทยได้ดี ถ้าหากวัฒนธรรมประเพณีไทย จะนำมาซึ่ง ความรักความสามัคคี การช่วยเหลือเกื้อกูล มีน้ำใจ ไมตรีจิตต่อกัน

และการมีส่วนร่วมทำกิจกรรมทางศาสนาด้วยกัน เช่นทำบุญ ตักบาตร เข้าวัดฟังธรรม เป็นต้น ดังนั้น รัฐบาลน่าจะอาศัยช่องทางในบทบาทของกระทรวงวัฒนธรรมและหน่วยงานราชการอื่นๆ ด้านสังคม เป็นตัวเชื่อมประสาน “ใจร้าว” และร่องรอยของความแตกแยกในสังคมของประชาชนที่มีจุดยืนทางความคิดหรืออุดมการณ์ที่แตกต่าง

นายนพดล กล่าวว่านอกจากนี้ นัยสำคัญของข้อมูลผลวิจัยที่ค้นพบในครั้งนี้อีกประการหนึ่งคือ จำนวนของประชาชนที่มีจุดยืนทางการเมืองหลังเปลี่ยนขั้วรัฐบาลแตกต่างไปจากการสำรวจก่อนหน้านี้ คือ หลังเปลี่ยนขั้วสลับข้างการเป็นรัฐบาลของฝ่ายการเมือง ก็มีประชาชนกลุ่มหนึ่งหันมาสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ในจำนวนพอๆ กันกับช่วงสมัยที่อดีตพรรคพลังประชาชนเคยได้รับ แต่ที่แตกต่าง ไปจากการวิจัยก่อนหน้านี้คือ กลุ่มคนไม่สนับสนุนผู้ที่เป็นรัฐบาลลดลงเหลือเพียงประมาณร้อยละ 5 เท่านั้น จากเดิมที่เคยพบประมาณร้อยละ 10 - 15 และบางครั้งสูงถึงร้อยละ 20 เลยทีเดียว

ซึ่งนัยของตัวเลขครั้งนี้อาจสอดคล้องกับแนวคิดของประชาชนบางกลุ่มที่เคยสัมภาษณ์เจาะลึกไว้ว่า "ใครก็ได้มาเป็นรัฐบาลหรือเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ขอให้ทำประเทศชาติสงบสุข ประชาชนอยู่ดีมีสุข" ดังนั้น พรรคประชาธิปัตย์และกลุ่มการเมืองร่วมรัฐบาลต้องใช้โอกาสนี้เร่งแสดงผลงานให้ปรากฏต่อสาธารณชน ทำงานรวดเร็วฉับไวแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกันในทุกภูมิภาค อย่าทำให้ประชาชนผิดหวังซ้ำซากอีกต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น