xs
xsm
sm
md
lg

เศรษฐกิจเอเชียยังต้องแย่ลงอีกในปีนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เอเอฟพี - วิกฤตเศรษฐกิจในเอเชียคาดว่าจะรุนแรงขึ้นในปี 2009 เมื่อการส่งออกไปยังประเทศตะวันตกที่ประสบภาวะถดถอยจะต้องทรุดตัวลง อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์และนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากก็ยังคงเห็นว่า ถึงอย่างไร ประเทศในเอเชียยังจะมีสภาพดีกว่าสหรัฐฯและยุโรป

ความหวังซึ่งเคยมีกันก่อนหน้านี้ ที่ว่าเอเชียอาจจะสามารถยืนหยัดอยู่ได้โดยแทบไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตการเงินที่เริ่มต้นลุกลามมาจากสหรัฐฯ มีอันต้องมลายหายในช่วงครึ่งหลังของปี 2008 หลังปรากฏชัดเจนว่าพอสหรัฐฯและยุโรปมีความต้องการสินค้าลดน้อยลง บรรดาโรงงานอุตสาหกรรมทั่วโลกที่พึ่งพาตลาดเหล่านี้ ต่างประสบปัญหากันถ้วนหน้า

แม้แต่ในจีน ซึ่งมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจเกิน 10% ติดกันมาหลายปี ก็ยังได้รับผลกระทบหนักหน่วง โดยที่ยอดส่งออกลดต่ำลงในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งเป็นเดือนแรกในรอบระยะเวลากว่า 7 ปี

"สถานการณ์โดยรวมของเอเชียน่าจะเข้าขั้นหืดจับ" เกลน แมกไกวร์ หัวหน้านักเศรษศาสตร์ภูมิภาคเอเชียของโซซิเยเต้ เจเนราลในฮ่องกงกล่าว

ตัวเลขที่ออกมาเมื่อเร็ว ๆนี้ก็บ่งชี้ให้เห็นว่า เศรษฐกิจในเอเชีย "ในช่วงไตรมาสสี่ ไม่ได้เป็นแค่การชะลอตัว แต่ดูเหมือนว่าจะกำลังดิ่งเหวแล้ว" เขาบอก

"เราเชื่อว่าในปี 2009 เอเชียจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ยกเว้นเฉพาะประเทศจีน ซึ่งรัฐบาลยังอยู่ในฐานะที่สามารถใช้นโยบายอย่างทรงพลังกว่าประเทศอื่นๆ เพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ" แมกไกวร์กล่าว

ผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักเห็นว่าไตรมาสแรกของปี 2009 น่าจะเป็นช่วงที่ย่ำแย่ที่สุดของภูมิภาคนี้ เพราะบริษัททั้งหลายจะลดกำลังการผลิตและลดจำนวนพนักงานด้วย เพื่อรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่ทรุดตัว

แต่ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ล้วนไม่เชื่อว่า สถานการณ์เลวร้ายเหมือนช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งในเกิดขึ้นในปี 1997 จะย้อนกลับมาอีก

ธนาคารในเอเชียส่วนใหญ่ จะสามารถประคองตัวมิให้ขาดทุนมหาศาลจากตราสารสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ขาดสภาพคล่องรุนแรง ซึ่งไม่เหมือนกับธนาคารในประเทศตะวันตก ในขณะเดียวกันประเทศในเอเชียก็ได้สะสมเงินตราต่างประเทศสำรองเอาไว้จำนวนมหาศาล ส่งผลให้ไม่เกิดปัญหาค่าเงินตกต่ำเหมือนเมื่อสิบปีก่อน

"คาดว่าสถานการณ์เศรษฐกิจในภูมิภาคนี้จะย่ำแย่ลงไปอีก ก่อนที่จะดีดกลับขึ้นมา" นิโคลาส กวาน นักเศรษฐศาสตร์จากแสตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ให้ความเห็น

แต่เอเชียก็ยัง "มีสถานการณ์ดีกว่าในหลายภูมิภาค และวิกฤตครั้งนี้ก็หาใช่ครั้งที่ร้ายแรงที่สุดในเอเชียไม่" เขากล่าว "ที่จริงแล้วเอเชียน่าจะกลับแข็งแกร่งขึ้นด้วยซ้ำ เมื่อสามารถแก้ไขปัญหาความมากล้นเกินไปตามช่วงวัฏจักรของตนเองได้ อีกทั้งน่าจะมีบทบาทในเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม เพราะวิกฤตทางการเงินในปัจจุบันบีบบังคับให้ต้องมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบบการเงินโลก" กวานชี้

ในประเทศจีนนั้น โรงงานจำนวนมากทางภาคใต้ที่เป็นเขตอุตสาหกรรมที่สำคัญยิ่ง พากันปิดกิจการเมื่อยอดส่งออกชะลอตัวลง และเศรษฐกิจขยายด้วยอัตราเชื่องช้าที่สุดในรอบ 5 ปี

ธนาคารโลกก็พยากรณ์ว่าในปีหน้าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตด้วยอัตรา 7.5% ซึ่งช้าที่สุดในรอบ 5 ปี

ทางการจีนได้พยายามรับมือกับปัญหา ด้วยการประกาศใช้แพกเกจกระตุ้นเศรษฐกิจมูลค่า 586,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งมีเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การเร่งการบริโภคภายในประเทศ จะได้ลดทอนผลกระทบจากวิกฤตทั่วโลก ทว่า บรรดานักวิเคราะห์ก็ชี้ว่า มาตรการที่ทยอยออกมาเหล่านี้จะต้องใช้เวลาสักช่วง จึงจะออกฤทธิ์ผลักดันอัตราการเติบโตให้กระเตื้องขึ้นได้

"บรรดาผู้กำหนดนโยบายของจีนประกาศมาตรการอันน่าตื่นใจต่างๆ เพื่อหนุนเศรษฐกิจ แต่ผลของมันอาจจะปรากฏให้เห็นช้าเกินไป และจีนอาจจะพบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างน้อยก็ในระยะสั้น ๆ" ดาริอุส โควาลซิก หัวหน้านักยุทธศาสตร์การลงทุนของซีเอฟซี ซีมัวร์กล่าว และเสริมว่าตัวเลขที่ออกมาชี้ว่าเศรษฐกิจของจีนอาจจะหดตัวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2008 และไตรมาสแรกของปี 2009 ด้วยซ้ำ

"อัตราการเติบโตน่าจะฟื้นตัวขึ้นในช่วงไตรมาสสอง และเร่งความเร็วขึ้นในไตรมาสสามปีหน้า ซึ่งเป็นผลมาจากเม็ดเงินมหาศาลที่ทางการทุ่มลงไปก่อนหน้า" เขากล่าว

ส่วนที่ญี่ปุ่น ซึ่งได้ประสบกับภาวะเศรษฐกิจหดตัวมาตั้งแต่ไตรมาสสองของปีนี้ 2008นั้น หลายฝ่ายคาดว่าการถดถอยจะดำเนินไปถึงครึ่งแรกของปีหน้าเป็นอย่างน้อย จากการที่บริษัททั้งหลายพากันลดเม็ดเงินลงทุนเพื่อขยายการผลิต รวมทั้งยอดการส่งออกที่ลดน้อยถอยลงอย่างมาก

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ว่าระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของเอเชียแห่งนี้ อาจจะดิ่งลงสู่ภาวะเงินฝืดเป็นระยะสั้นๆ ในปีหน้า จากการที่ราคาเชื้อเพลิงลดลงมากขณะที่ความต้องการบริโภคภายในก็ติดลบด้วยเช่นกัน

นักเศรษฐศาสตร์ของมอร์แกน สแตนลีย์ ทาเคฮิโระ ซาโตะ คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะหดตัวในราว 2% ตลอดทั้งปี 2009

"เราคาดว่าสถานการณ์ดิ่งจะลงถึงก้นเหวแห่งความเลวร้ายที่สุดในช่วงไตรมาสมกราคมถึงมีนาคม 2009 และจากนั้นเศรษฐกิจก็จะพยายามดิ้นรนอยู่แถวๆ ก้นเหว ตั้งแต่ช่วงไตรมาสเมษายนถึงมิถุนายน ไปจนตลอดทั้งปี โดยที่ยังมองไม่เห็นวี่แววว่าจะกระเตื้องขึ้นเท่าไร" เขาทำนาย
กำลังโหลดความคิดเห็น