เอเจนซี/เอเอฟพี - เสียงเรียกร้องให้ประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่อย่างเช่น จีน เข้ามามีบทบาทมากขึ้นในระบบการเงินโลก เริ่มดังขึ้นทุกขณะ รวมทั้งในการประชุมระดับรัฐมนตรีคลังของกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) ที่จัดขึ้นเมื่อวันพุธ (5) ที่ผ่านมา ซึ่งมีการหารือถึงวิธีที่จะแก้ไขวิกฤตที่กำลังกระทบต่อตลาดสินเชื่ออย่างรุนแรงในขณะนี้
ในการประชุมขุนคลัง 21 ประเทศและดินแดนสมาชิกของเอเปก ซึ่งปีนี้จัดขึ้นที่ประเทศเปรู ทั้งเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ต่างเรียกร้องให้ขยายกลุ่ม 8 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี 8) ออกไป โดยรวมเอาประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และกำลังเฟื่องฟู อาทิ จีน อินเดีย บราซิล เม็กซิโก ซาอุดีอาระเบีย และแอฟริกาใต้ เข้ามาร่วมด้วย
สิ่งที่ตกลงกันในการหารือที่เปรู รวมทั้งสิ่งที่คาดว่าจะออกมาหลังการประชุมระดับรัฐมนตรีคลังและผู้ว่าการธนาคารกลางของกลุ่ม จี 20 (ที่ประกอบด้วยประเทศอุตสาหกรรมสำคัญๆ และประเทศกำลังเฟื่องฟูและกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ๆ) ในปลายสัปดาห์นี้ที่บราซิล น่าจะช่วยกำหนดกรอบโครงให้แก่การประชุมระดับผู้นำของจี 20 ที่กรุงวอชิงตันสัปดาห์หน้า
"มันเป็นไปตามธรรมชาติอยู่แล้วว่า ในที่สุดจีนก็ต้องมีบทบาทมากขึ้น" จอห์น ลิปสกี รองกรรมการผู้จัดการคนที่ 1 ของไอเอ็มเอฟ ให้ความเห็นระหว่างการประชุมเอเปกที่เปรู
"ความคาดหมายของเราคือในปีหน้า การเติบโตขยายตัวของเศรษฐกิจในโลกนี้ 100% เลยจะมาจากพวกประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่" เขากล่าวต่อ
จี 8 ซึ่งเคยทำหน้าที่วางเส้นทางให้แก่เศรษฐกิจของทั่วโลก ระหว่างที่พวกเขาประชุมกันเป็นประจำทุกปีนั้น สมาชิกครึ่งหนึ่งก็เป็นสมาชิกเอเปกอยู่ด้วย ได้แก่ สหรัฐฯ แคนาดา ญี่ปุ่น และรัสเซีย ขณะที่อีกครึ่งหนึ่ง คือ เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ และอิตาลี ไม่ได้อยู่ในเอเปก
"แนวคิดของการขยาย จี 8 โดยบวกอีก 6 ประเทศเหล่านี้ จะทำให้กลุ่มนี้ครอบคลุมจีดีพีถึง 62% ของโลก" ฮวน โฆเซ ดาบูบ ผู้อำนวยการใหญ่ธนาคารโลกกล่าว ซึ่ง 6 ประเทศที่เขาหมายถึงก็คือ จีน อินเดีย บราซิล เม็กซิโก ซาอุดีอาระเบีย และแอฟริกาใต้ นั่นเอง
"เพราะประเทศเหล่านี้มีศักยภาพมากและสามารถเข้ามามีบทบาทในเรื่องต่างๆ ได้ ดังนั้นพวกนี้ควรจะอยู่ร่วมด้วย ในเวลาที่มีการตัดสินใจดำเนินนโยบายใดๆ" เขากล่าว
ดาบูบ กล่าวว่า ประธานธนาคารโลก โรเบิร์ต เซลลิก จะนำเอาข้อเสนอเพิ่มจำนวนสมาชิกจี 8 เข้าสู่ที่ประชุมสุดยอดกลุ่ม จี20 ที่จะมีขึ้นในกรุงวอชิงตันวันที่ 14-15 พฤศจิกายนนี้
ทางด้านรัฐมนตรีคลัง แอนเดรส เวลาสโก ของชิลี เห็นด้วยว่า "เสียงของบรรดาประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลายน่าจะได้รับความสนใจมากขึ้น" เขาชี้ต่อไปว่า "วิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ไม่เหมือนกับวิกฤตครั้งก่อนๆ เพราะว่าประเทศกำลังพัฒนายังคงจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในปีหน้า และจะทำให้เอเชีย แอฟริกา และละตินอเมริกามีบทบาทเพิ่มขึ้นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก"
อย่างไรก็ตามแนวคิดเรื่องการขยายจี 8 ก็ไม่ได้ถูกใจทุกคน
"ก็เหมือนกับทุกเรื่องที่ยิ่งมีคนมาก แสดงความคิดเห็นหลากหลาย ก็ยิ่งจะทำให้การบรรลุเป้าหมายทำได้ยากขึ้นด้วย" รัฐมนตรีคลังแคนาดา จิม ฟลาเฮอร์ตี้กล่าว
ส่วนนายกรัฐมนตรีกอร์ดอน บราวน์แห่งอังกฤษก็กำลังเรียกร้องประเทศเศรษฐกิจเฟื่องฟูใหม่ที่ร่ำรวยขึ้น ให้เสียสละทรัพยากรให้แก่ไอเอ็มเอฟมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อนำเอาไปพัฒนาประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจน
นอกจากนั้นยังมีผู้สังเกตการณ์จำนวนไม่น้อยที่คิดว่า การที่จีนมีทุนสำรองเงินตราต่างประเทศอยู่เกือบ 2 ล้านล้านดอลลาร์ จึงควรที่จะเพิ่มบทบาทช่วยเหลือประเทศตลาดเฟื่องฟูใหม่อื่นๆ ให้มากขึ้น ในขณะที่ศักยภาพในการช่วยเหลือทางการเงินของไอเอ็มเอฟกำลังอยู่ในสภาพจำกัด ไม่สามารถจะช่วยเหลือประเทศที่ประสบภาวะวิกฤตได้อย่างทั่วถึง