xs
xsm
sm
md
lg

ประชุมขุนคลัง-แบงก์ชาติ จี 20 ขยายบทบาท ปท.ตลาดเกิดใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง และผู้ว่าธนาคารกลางของประเทศต่างๆ 20 ประเทศทั่วโลก
เอเอฟพี - ขุนคลังและผู้ว่าธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ทั่วโลก มุ่งหมายที่จะตกลงให้ได้ฉันทามติกันเมื่อวานนี้ (9) ในประเด็นของการเพิ่มบทบาทของพวกมหาอำนาจเศรษฐกิจเกิดใหม่ ตลอดจนการจัดวางระบบใหม่ขึ้นมาฟื้นฟูเศรษฐกิจโลกที่กำลังตกราง

การประชุมรัฐมนตรีคลัง และผู้ว่าการธนาคารกลางกลุ่มจี 20 ที่นครเซาเปาลู ประเทศบราซิล เริ่มการอภิปรายหารือกันเป็นวันที่ 2 เมื่อวานนี้ ด้วยจุดมุ่งหมายเพื่อวางรากฐานสำหรับการประชุมระดับผู้นำในสัปดาห์หน้าที่กรุงวอชิงตัน ซึ่งมุ่งหาทางประสานร่วมมือกันในการเผชิญหน้าวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่รุนแรงขึ้นทุกที

โรเบิร์ต เซลลิก ประธานธนาคารโลก ซึ่งเข้าร่วมการหารือที่เซาเปาลูด้วย กล่าวว่า การจัดทำสถาปัตยกรรมการเงินของโลกขึ้นมาใหม่นั้นต้องอาศัยเวลา แต่ขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และทุกประเทศเล็งเห็นความจำเป็นในการร่วมกันรับมือภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ที่กลายเป็นภัยคุกคามล่าสุดเพิ่มเติมจากกับวิกฤตอาหารและพลังงานที่เรื้อรังมาเป็นปี

เซลลิก ที่เมื่อเดือนที่แล้ววิจารณ์ว่ากลุ่ม 7 ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (จี7) ไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโลกได้ ขณะที่ จี20 ก็อุ้ยอ้ายเกินไปนั้น กล่าวว่าความท้าทายระดับโลกขณะนี้ต้องการการแก้ไขในระดับโลกด้วยเช่นกัน

“เราจำเป็นต้องปรับระบบพหุภาคีให้ทันสมัย โดยดึงประเทศกำลังพัฒนาที่สำคัญ เช่น บราซิล มาร่วมแสดงความคิดเห็นด้วย ผมคิดว่าอีก 2 ปีข้างหน้าเราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงบางอย่างในระบบการเงินโลก”

อย่างไรก็ดี ประธานเวิลด์แบงก์ บอกว่า ยังเร็วเกินไปที่จะบอกว่า การประชุมครั้งนี้จะสามารถให้กำเนิดระบบใหม่ขึ้นมาได้

เสียงเรียกร้องในการขยายการรับมือกับปัญหาการเงินโลกในระดับพหุภาคี มีขึ้นท่ามกลางการทัดทานจากวอชิงตัน ที่ซึ่งคณะรัฐบาลเป็ดง่อยของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช เลือกที่จะสงวนท่าทีระหว่างช่วงผ่องถ่ายอำนาจให้กับบารัค โอบามา ว่าที่ผู้นำใหม่ที่จะเข้าสู่ทำเนียบขาวอย่างเป็นทางการในเดือนมกราคมศกหน้า

เฮนรี พอลสัน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ ไม่ได้ไปร่วมประชุมที่เซาเปาลู แต่ส่งเดวิด แมกคอร์มิก ปลัดกระทรวงฯ ไปแทน โดยแมกคอร์มิกกล่าวเพียงว่า การเจรจาเบื้องต้นเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

“ประธานาธิบดีลุยซ์ อินาซิโอ ดา ซิลวา ของบราซิล เสนอภาพรวมที่สร้างสรรค์ของความท้าทายที่เราเผชิญอยู่ และความจำเป็นที่ประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาจะต้องร่วมมือกันจัดการความท้าทายเหล่านี้”

ว่าที่จริงแล้ว ประธานาธิบดีบราซิล ซึ่งผู้คนนิยมเรียกขานเขาด้วยนาม “ลูลา” ยังกล่าวด้วยว่า ประเทศที่ประสบวิกฤตต้องหลีกเลี่ยงแรงกระตุ้นให้ใช้มาตรการตามอำเภอใจฝ่ายเดียว และย้ำว่า จำเป็นจะต้องมีกลไกระหว่างประเทศใหม่ โดยที่จำเป็นต้องมีการประสานงานร่วมกันของทั่วโลก

“วิกฤตการณ์นี้เปิดโอกาสสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง เราไม่สามารถ และต้องไม่และไม่มีสิทธิ์ปล่อยให้โอกาสนี้หลุดลอยไป”

ทางฝ่ายผู้นำยุโรปนั้นหวังว่าการประชุมที่เซาเปาลูจะเป็นการวางรากฐานสำหรับการเริ่มต้นการปฏิรูปสำคัญที่จะผลักดันกันในการประชุมสุดยอดวันที่ 15 ที่วอชิงตัน

ขณะที่พวกประเทศตลาดเกิดใหม่ ก็ต้องการเห็นจี 20 เข้มแข็งยิ่งขึ้น และยกระดับสู่การประชุมในระดับประมุขรัฐและหัวหน้ารัฐบาลกันเป็นประจำด้วย นอกเหนือจากการหารือระดับรัฐมนตรีในขณะนี้

โดมินิก สเตราส์-คาห์น กรรมการผู้จัดการไอเอ็มเอฟ เตือนก่อนหน้านี้ว่า ไม่ควรคาดหวังมากเกินไปว่าระบบการเงินใหม่ที่จะมาแทนข้อตกลงเบรตตัน วูดส์ ปี 1944 จะได้รับการเห็นพ้องโดยทั่วกัน โดยตั้งข้อสังเกตว่า เบรตตัน วูดส์ต้องใช้เวลาเตรียมการนานถึง 2 ปี ดังนั้น สนธิสัญญาการเงินระหว่างประเทศฉบับใหม่จึงไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ในชั่วข้ามคืน

กระนั้น สหภาพยุโรป (อียู) ก็ได้ผลักดันบัญชีรายการ “สิ่งที่ปรารถนา” เข้าสู่การประชุมสุดยอดกลางเดือนนี้ โดยสิ่งที่ปรารถนาเหล่านี้ มีอาทิ กฎระเบียบที่เข้มงวดขึ้น และการขยายบทบาทของธนาคารโลกและไอเอ็มเอฟ

อนึ่ง จี 20 ประกอบด้วยกลุ่ม 7 ชาติอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ อังกฤษ แคนาดา ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น เยอรมนี และสหรัฐฯ รวมกับ อาร์เจนตินา ออสเตรเลีย บราซิล จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก รัสเซีย ซาอุดีอาระเบีย แอฟริกาใต้ เกาหลีใต้ ตุรกี และอียู
กำลังโหลดความคิดเห็น