xs
xsm
sm
md
lg

กฎ 9 ข้อคุม ครม.ทำงาน : หลักการจากอปริหานิยธรรม

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

พระพุทธเจ้าเมื่อครั้งที่เสด็จประทับ ณ สารันทเจดีย์ใกล้กรุงเวสาลี ได้ทรงแสดงอปริหานิยธรรม คือธรรมไม่เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม 7 ประการแก่กษัตริย์ลิจฉวี ซึ่งเป็นชาววัชชี ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้

1. จักประชุมกันเนืองนิตย์

2. จักพร้อมเพรียงกันประชุม เลิกประชุม และกระทำกิจที่ควรทำ

3. จักไม่บัญญัติสิ่งที่ยังมิได้บัญญัติ จักไม่ตัดรอนสิ่งที่ได้บัญญัติไว้แล้ว ยอมรับศึกษาในธรรมะของชาววัชชีตามที่บัญญัติไว้แล้ว

4. จักเคารพนับถือชาววัชชีที่เป็นผู้ใหญ่เฒ่า

5. จักไม่ข่มเหงล่วงเกินสตรีที่มีสามีแล้ว และสตรีสาว

6. จักสักการะเจดีย์ของชาววัชชี

7. จักจัดแจงให้การอารักขาคุ้มครองเป็นธรรมในพระอรหันต์ และปรารภให้พระอรหันต์ที่ยังไม่ได้มา ที่มาแล้วให้อยู่เป็นสุข

ถ้าท่านผู้สังเกตจะเห็นได้ว่าหลักธรรมทั้ง 7 ประการนี้ โดยเนื้อแท้แล้วก็คือ หลักการที่ผู้ปกครองบ้านเมืองจะต้องศึกษาเรียนรู้ และถือปฏิบัติเพื่อให้การปกครองเกิดประสิทธิผล และประสิทธิภาพนั่นเอง

สืบเนื่องจากการที่ผู้ครองแคว้นวัชชีคือกษัตริย์ลิจฉวีได้สดับพระธรรมเทศนาดังกล่าวข้างต้น และนำไปเป็นแนวทางปฏิบัติ จึงทำให้แคว้นวัชชีมีความเข้มแข็ง มั่นคงจนเป็นที่อิจฉาริษยาของผู้ครองแคว้นต่างๆ จึงได้ยกกองทัพมารุกรานแต่ไม่สามารถเอาชนะแคว้นนี้ได้ เนื่องจากผู้คนในแคว้นมีความสามัคคี ปรองดอง รวมตัวกันป้องกันศัตรูได้อย่างเหนียวแน่นมั่นคง

แต่ในภายหลังปรากฏว่ามีผู้ยุยงให้เกิดความแตกแยกภายใน และพ่ายแพ้ต่อศัตรูในที่สุด นี่คือเหตุการณ์ที่ได้เกิดขึ้นมาแล้วในอดีตเมื่อ 2,500 กว่าปีล่วงมาแล้ว

แต่หลักธรรมคำสอนที่ว่านี้ ก็ยังปรากฏและคงความเป็นสัจธรรมมาจนถึงทุกวันนี้ และเชื่อได้ว่าถ้ามีการศึกษาทำความเข้าใจถ่องแท้ และปฏิบัติตามก็จะยังคงให้ผลไม่แตกต่างไปจากเดิม

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนในฐานะเป็นพุทธมามกะ เมื่อได้เห็นข่าวนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีคนที่ 27 ของประเทศไทย ได้ประกาศจะใช้กฎ 9 ข้อเป็นแนวทางในการทำงานร่วมกับ ครม.ก็รู้สึกภูมิใจและดีใจที่กฎ 9 ข้อมีอยู่หลายข้อที่เนื้อหาคล้ายคลึงกับหลักอปริหานิยธรรม 7 ประการที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่กษัตริย์แห่งวัชชี จะแตกต่างก็เพียงข้อความที่ปรับเปลี่ยนไปตามภาวะแวดล้อมทางสังคมเท่านั้น ทั้งนี้จะเห็นได้จากการเปรียบเทียบดังต่อไปนี้

กฎ 9 ข้อ คือ

1. ให้ ครม.น้อมนำพระบรมราโชวาทในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานแก่ครม.ในการถวายสัตย์ปฏิญาณ โดยเฉพาะการปฏิบัติงานให้เกิดความเรียบร้อย และความสงบสุข ข้อนี้สอดคล้องกับข้อ 4 แห่งอปริหานิยธรรม

2. ให้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ที่สำคัญคือจะต้องดูแลผู้ใต้บังคับบัญชา และบุคลากรที่มาช่วยงานรัฐมนตรีด้วย

3. ต้องถือว่านโยบายของรัฐบาลที่จะแถลงต่อรัฐสภาเป็นเป้าหมายร่วมของรัฐบาล หากรัฐมนตรีจะไปกำหนดนโยบายเพิ่มเติมในระดับกระทรวง หรือการแสดงความคิดเห็นต่อนโยบายต่อไปก็ขอให้อ้างถึงนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้เกิดเอกภาพและความชัดเจนในทิศทาง ข้อนี้สอดคล้องกับข้อ 3 แห่งอปริหานิยธรรม

4. การทำงานของรัฐบาล จะต้องเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ เอกภาพ แม้จะเป็นรัฐบาลผสมเราต้องไม่เป็นรัฐบาลที่แบ่งพรรค และเป็นรัฐบาลที่รับผิดชอบร่วมกัน ดังนั้น การประสานระหว่างกระทรวงจะเป็นเรื่องสำคัญ โดยเฉพาะบทบาทของคณะกรรมการ รวมถึงบทบาทของตน และรองนายกรัฐมนตรีที่จะต้องเข้าไปกำกับดูแล และประสานงานเพื่อให้เป็นธรรมมากที่สุด จึงขอให้ทุกคนให้ความร่วมมือทำงานในระบบกรรมการ

5. รัฐมนตรีทุกคนต้องเข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎรอย่างสม่ำเสมอ ต้องไปรับฟังความคิดเห็น ทั้งการอภิปราย และรับฟัง ส.ส.ในพื้นที่ต่างๆ ที่สำคัญคือ กระทู้ถามสดทุกวันพุธ เวลา 13.00 น. จึงขอไม่ให้รัฐมนตรีมีนัดหมายใดๆ ยกเว้นหลีกเลี่ยงไม่ได้จริงๆ เพราะเป็นหน้าที่ในการแสดงความรับผิดชอบต่อสภาฯ ข้อนี้สอดคล้องกับข้อ 2 แห่งอปริหานิยธรรม

6. รัฐมนตรีทุกคนเป็นบุคคลสาธารณะ ขอให้ทุกคนปฏิบัติตนโดยคำนึงถึงความรู้สึกของประชาชน ไม่อยากให้มีเงื่อนไขที่นำไปสู่ความไม่เชื่อมั่น และไม่ศรัทธา

7. จะต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วม โดยเฉพาะโครงการหรือนโยบายที่ยังไม่เป็นที่รับรู้ของประชาชน อย่าตั้งแง่กับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

8. รัฐบาลต้องพร้อมที่จะรับการตรวจสอบในเชิงนโยบาย และด้านอื่นๆ นอกจากจะขอให้รัฐมนตรีต้องไม่สร้างอุปสรรคขัดขวางการตรวจสอบแล้ว แต่เมื่อใดที่มีการตรวจสอบในลักษณะการวิพากษ์วิจารณ์ ก็ขอให้ชี้แจงโดยใช้เหตุผล ข้อเท็จจริง และข้อมูลที่รัฐมนตรีใช้ประกอบการตัดสินใจ หรือการนำรัฐบาลหรือตนเองเข้าไปตอบโต้หรือทะเลาะนั้น ไม่สอดคล้องกับแนวทางที่รัฐบาลต้องการสร้างความสามัคคี

9. รัฐมนตรีทุกคนไม่มีสิทธิเหนือประชาชนในแง่ของการปฏิบัติงานตามกฎหมาย แต่ความรับผิดชอบทางการเมืองมีมาตรฐานสูงกว่าความรับผิดชอบทางกฎหมาย ดังนั้น หากการดำรงตำแหน่งของรัฐมนตรีเป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาของบ้านเมือง แม้จะไม่ผิดกฎหมายหรือจะไม่ได้กระทำผิด ก็ขอให้รัฐมนตรีทุกคนรวมทั้งตนด้วย ต้องถือว่าประโยชน์ส่วนรวมมาก่อนประโยชน์ส่วนตน และประโยชน์ของรัฐบาล

จากการนำเอากฎ 9 ข้อของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เปรียบเทียบกับหลักอปริหานิยธรรม 7 ประการที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงแก่กษัตริย์แห่งแคว้นวัชชีแล้ว จะเห็นได้ว่ากฎ 9 ข้อนอกจากจะมีเนื้อหาสาระในส่วนที่เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของผู้ปกครองบ้านเมืองแล้ว ยังมีเนื้อหาสาระที่อธิบายขยายความถึงวิธีการทำงาน ที่ผู้บริหารบ้านเมืองในระบอบประชาธิปไตยจะต้องถือปฏิบัติไว้ค่อนข้างรอบคอบ และครอบคลุมในทุกๆ ประเด็นที่นักการเมืองจะพึงปฏิบัติไว้ด้วย

ดังนั้น ถ้ารัฐมนตรี รวมไปถึงบุคลากรที่รัฐมนตรีนำมาช่วยงานยึดถือแนวทางที่ว่านี้ เป็นที่เชื่อได้ว่าเราท่านทั้งหลายจะได้เห็นคุณธรรมและจริยธรรมเพิ่มขึ้นในหมู่นักการเมืองแน่นอน ส่วนจะมากหรือน้อยนั้น ขึ้นอยู่กับการเข้ามาร่วมรัฐบาลในครั้งนี้ บุคลากรจากทุกพรรคการเมืองมีปัจจัยในการอยู่ร่วมเท่ากันมากน้อยแค่ไหน ปัจจัยที่ว่านี้ก็คือ

1. สีลสามัญญตา หรือความเสมอกันด้วยศีล ข้อนี้หมายถึงทุกคนมีข้อวัตรปฏิบัติหรือแนวทางในการดำเนินชีวิตมีหลักธรรมเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวเหมือนกันมากน้อยแค่ไหน ถ้าทุกคนมีศีลเหมือนกันหรือเท่ากัน เช่น ทุกคนมีศีล 5 ข้อ ความขัดแย้งอันเนื่องมาจากการก่อความเดือดร้อนให้เกิดขึ้นแก่กัน เนื่องมาจากการที่บุคคลใดบุคคลหนึ่งก็ย่อมไม่เกิดขึ้น และเมื่อไม่มีความเดือดร้อนเกิดขึ้นทุกคนก็อยู่ร่วมกันได้ด้วยดี

2. ทิฏฐิสามัญญตา หรือการมีความคิดเห็นในเรื่องเดียวกันเหมือนกัน หรือไปในทิศทางเดียวกัน ถ้าทุกคนมีภาวะที่ว่านี้การตีความหรือการวิพากษ์วิจารณ์ในสิ่งเดียวกันไปในทิศทางที่แตกต่างกันย่อมไม่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ตาม เท่าที่ติดตามดูพฤติกรรมทางการเมืองทั้งในส่วนของปัจเจกบุคคล และพฤติกรรมองค์กรของพรรคการเมืองแต่ละพรรคแล้ว บอกได้คำเดียวว่ารู้สึกเป็นห่วงผู้นำรัฐบาล ในฐานะผู้ออกกฎ และต้องดูแลให้ ครม.ปฏิบัติตามกฎ 9 ข้อที่ว่านี้เป็นอย่างยิ่ง ด้วยเกรงว่าสุดท้ายแล้ว ครม.ชุดนี้จะจบลงด้วยมีคนใดคนหนึ่งหรือหลายๆ คนแหกกฎ แล้วจะเป็นเงื่อนไขให้ผู้นำรัฐบาลต้องถือเป็นเหตุอ้างในการยุบสภาฯ เป็นการลงโทษผู้แหกกฎที่ว่านี้
กำลังโหลดความคิดเห็น