xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

บีโอไอ:ความท้าทายของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทย

เผยแพร่:   โดย: ยุทธศักดิ์ คณาสวัสดิ์

อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยได้เริ่มต้นเมื่อรัฐบาลจัดตั้งสถานีวิทยุและสถานีโทรทัศน์จำนวนมาก ทำให้เกิดการเติบโตในตลาดสินค้าประเภทนี้ในประเทศไทย โดยเฉพาะสินค้าประเภทวิทยุและโทรทัศน์ จึงก่อให้เกิดอุตสาหกรรมประกอบสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อจำหน่ายในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้าอันเป็นการหลีกเลี่ยงกำแพงภาษีนำเข้า เป็นต้นว่า บริษัทธานินทร์อุตสาหกรรม บริษัทกันยงอิเล็กทริก บริษัทฟิลิปส์ ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม ขีดความสามารถของประเทศไทยในระยะแรกจำกัดมาก เป็นเพียงการประกอบสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อย่างง่ายๆ โดยใช้ชิ้นส่วน CKD จากต่างประเทศ โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น ยังไม่มีการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทยอย่างจริงจัง

ต่อมาอุตสาหกรรมนี้ได้ปรับเปลี่ยนไปสู่การผลิตเพื่อส่งออก บริษัท National Semiconductor และบริษัท Philips Semiconductor ได้จัดตั้งโรงงานประกอบและทดสอบแผ่นวงจรรวม (IC) เมื่อปี 2517 ต่อมาบริษัท Minibea ก็ได้เริ่มเข้ามาผลิตในประเทศไทยในปี 2524 เพื่อผลิต Miniature Ball Bearing, Stepping Motor, Fan Motor, แป้นพิมพ์คอมพิวเตอร์, Printer, Floppy Disk Drive และชิ้นส่วนอื่นๆ

ประเทศไทยมีความโดดเด่นมากในด้านผลิตภัณฑ์ Hard Disk Drive (HDD) โดยบริษัท Seagate Technology ซึ่งเป็นผู้ผลิต HDD ใหญ่ที่สุดในโลก ได้เข้ามาจัดตั้งกิจการในประเทศไทยในปี 2526 ส่วนบริษัทนิเด็คของญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้ผลิต Spindle Motor ที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดย Spindle Motor นับเป็นชิ้นส่วนสำคัญซึ่งทำหน้าที่หมุนแผ่นดิสก์ของ HDD ได้รับการชักชวนจากบริษัทซีเกทให้มาตั้งฐานการผลิตที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและเริ่มผลิตในปี 2534

ส่วนบริษัท ไอบีเอ็มสตอเรจโปรดักส์ (ประเทศไทย) จำกัด (ปัจจุบัน คือ บริษัท ฮิตาชิโกลบอลสตอเรจเทคโนโลยี จำกัด) ซึ่งเป็นผู้ผลิต HDD ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ได้ตั้งฐานการผลิต HDD ที่เขตอุตสาหกรรม 304 อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี และเปิดดำเนินการในเชิงพาณิชย์เมื่อต้นปี 2541 ล่าสุดบริษัท เวสเทิร์นดิจิตอล (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิต HDD รายใหญ่อันดับ 2 ของโลก เริ่มผลิตที่โรงงานในเขตอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี เมื่อปี 2545

จากการเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์กลายเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ที่สุดของประเทศไทย โดยมีมูลค่าการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 31 ของมูลค่าส่งออกทั้งสิ้น มีมูลค่าเพิ่มในปี 2550 เป็นเงิน 412,660 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 13.7 ของ GDP ของภาคอุตสาหกรรมการผลิต และร้อยละ 4.9 ของ GDP รวมทั้งประเทศ และมีการจ้างงานมากถึง 500,000 คน ขณะเดียวกันบางส่วนได้พยายามปรับปรุงการผลิตจากที่เน้นจำหน่ายผลิตภัณฑ์แก่ตลาดผู้บริโภคที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ และมีการแข่งขันสูงจากจีนและเวียดนาม ไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่เน้นจำหน่ายแก่ตลาดที่เป็นบริษัทในธุรกิจโทรคมนาคมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่า

ปัจจุบันสถานการณ์ของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไม่ค่อยดีนัก สาเหตุประการแรก คือ ตลาดโลกมีแนวโน้มทรงตัวหรือหดตัวลง โดยในส่วนผลิตภัณฑ์เซมิคอนดักเตอร์ บริษัท Gartner ได้คาดการณ์ว่าตลาดโลกในปี 2551 ได้หดตัวลงมากถึงร้อยละ 4.4 เหลือ 261,900 ล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าจะหดตัวลงอีกมากกว่าร้อยละ 10 ในปี 2552

สำหรับในส่วนตลาดเครื่องคอมพิวเตอร์ซึ่งเดิมเติบโตในอัตราสูงมาก บริษัทที่ปรึกษา IDC คาดว่าแนวโน้มปี 2552 แม้ยอดจำหน่ายทั่วโลกเมื่อนับเป็นจำนวนเครื่องจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 แต่ราคาจำหน่ายโดยเฉลี่ยลดต่ำลง ทำให้มูลค่าจำหน่ายลดลงร้อยละ 5.3 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องต่ออุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วน คือ HDD

ส่วนอุตสาหกรรมผลิตโทรศัพท์มือถือ ซึ่งตลาดโลกมีขนาดใหญ่มาก คือ ประมาณ 7,000,000 ล้านบาท ในช่วงที่ผ่านมาตลาดเติบโตในอัตราสูงมาโดยตลอด แต่ในปี 2552 บริษัทที่ปรึกษา Gartner คาดว่ายอดจำหน่ายโทรศัพท์มือถือจะหดตัวลงร้อยละ 4

เดิมผู้ประกอบธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยพยายามมองวิกฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาส โดยพยายามชักจูงลูกค้าว่าเมื่อตลาดหดตัวลง ควรที่จะปิดโรงงานในประเทศตนเองที่มีต้นทุนสูงกว่า เปลี่ยนมาจ้างผลิตจากโรงงานในประเทศไทยที่มีต้นทุนต่ำกว่า ขณะเดียวกันคุณภาพผลิตภัณฑ์ก็ทัดเทียมกัน และไม่มีปัญหาในด้านลอจิสติกส์แต่อย่างใด สามารถขนส่งสินค้าและชิ้นส่วนได้ทันตามกำหนด

สาเหตุประการที่สอง ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและท่าอากาศยานดอนเมือง โดยผลกระทบระยะสั้นซึ่งคิดเป็นเงินหลายหมื่นล้านบาท ส่งผลทำให้ไม่สามารถส่งผลิตภัณฑ์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ไปถึงลูกค้าได้ตรงเวลา ต้องถูกปรับเป็นเงินจำนวนมากจากผู้ซื้อสินค้า ขณะเดียวกันเมื่อขาดชิ้นส่วนนำเข้าทางอากาศจากต่างประเทศ แม้บางบริษัทยังมีสต๊อกชิ้นส่วนอยู่บ้าง แต่เมื่อสนามบินปิดดำเนินการติดต่อกันหลายวัน ทำให้สต๊อกวัตถุดิบหมดและไม่สามารถผลิตได้ ต้องปิดสายการผลิตในเวลาต่อมา

ขณะที่บางรายได้พยายามแก้ไขสถานการณ์ โดยเปลี่ยนไปขนส่งทางอื่น เช่น ท่าอากาศยานอู่ตะเภา หรือมิฉะนั้น ก็เปลี่ยนไปใช้ท่าอากาศยานปีนังหรือกรุงกัวลาลัมเปอร์ โดยขนส่งทางรถยนต์ผ่านด่านที่อำเภอสะเดา ซึ่งก็ยังประสบปัญหาเป็นอย่างมาก กล่าวคือ ระยะเวลาในการขนส่งเพิ่มขึ้น ต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้นมาก ขณะเดียวกันก็ประสบปัญหาเป็นอย่างมาก กรณีท่าอากาศยานอู่ตะเภา ไม่มีอุปกรณ์ขนถ่ายสินค้าที่ทันสมัยและข้อจำกัดด้านพิธีการศุลกากร ส่วนการขนส่งผ่านด่านที่อำเภอสะเดา มีการจราจรติดขัด เนื่องจากต้องรอคอยเป็นเวลานานในการทำพิธีการศุลกากร ยิ่งไปกว่านั้น พื้นที่ระวางของเครื่องบินในมาเลเซียมีจำกัด ไม่สามารถรองรับปริมาณการขนส่งจำนวนมากจากประเทศไทยได้

สำหรับผลกระทบระยะยาวซึ่งคิดเป็นค่าเสียโอกาสที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเป็นเงินมูลค่าหลายแสนล้านบาท ได้ส่งผลกระทบต่อความมั่นใจของผู้ซื้อเกี่ยวกับการสั่งซื้อจากประเทศไทย ทำให้หันไปสั่งซื้อจากประเทศอื่นๆ เป็นการทดแทน โดยเฉพาะกรณีที่บริษัทต่างประเทศสั่งซื้อผลิตภัณฑ์หรือชิ้นส่วนใดชิ้นส่วนหนึ่งจากโรงงานในประเทศไทยเพียงแห่งเดียวเท่านั้นในลักษณะ Single Source หรือมีโรงงานแห่งเดียวในประเทศไทย จึงได้รับผลกระทบเป็นอย่างมากจากเหตุการณ์ปิดสนามบินครั้งนี้

ยิ่งไปกว่านั้น ยังเสียภาพลักษณ์ของประเทศ โดยผู้บริหารระดับสูงจากบริษัทแม่และผู้ซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ซึ่งเดิมได้ชะลอการเดินทางมาดูกิจการและเจรจาสั่งซื้อสินค้าจากประเทศไทยหลายครั้ง เนื่องจากเห็นว่าสถานการณ์มีการยึดทำเนียบรัฐบาลและเกิดเหตุจลาจลที่หน้ารัฐสภา และเมื่อเห็นว่าสถานการณ์ดีขึ้น จึงเดินทางมาประเทศไทย แต่ต้องเผชิญกับเหตุการณ์ปิดท่าอากาศยานทั้ง 2 แห่ง ทำให้ตกค้าง ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศได้ตามกำหนด

บรรดาผู้บริหารจากบริษัทแม่และผู้สั่งซื้อสินค้าจากต่างประเทศได้มีทัศนะเชิงลบว่าบรรดานักการเมืองและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองของประเทศไทยทะเลาะกันไม่เลิก ไม่คำนึงถึงผลเสียหายในเชิงธุรกิจ อุปมาอุปไมยเมื่อกรณีเกิดสงคราม แทนที่จะทำตามกฎกติกาและมารยาท ไม่ยิงบรรดาหมอหรือพยาบาลที่มารักษาผู้ได้รับบาดเจ็บ แต่กรณีของประเทศไทย ยิงหมอและพยาบาลตายเรียบ รวมถึงไม่มั่นใจเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายของประเทศไทย

จากปัญหาข้างต้น บริษัทแม่และผู้ซื้อในต่างประเทศเริ่มสั่งการให้ไปผลิตที่โรงงานในประเทศอื่นๆ รวมถึงเปลี่ยนไปสั่งซื้อจากโรงงานในประเทศอื่นๆ เพื่อเป็นการลดความเสี่ยง โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ที่เดิมประเทศไทยเป็น Single Source คือ สั่งซื้อทั้งหมดจากโรงงานในประเทศไทย ได้เปลี่ยนไปสั่งซื้อจากโรงงานในต่างประเทศ

ขณะเดียวกันบริษัทแม่ในต่างประเทศ ได้เริ่มสั่งการให้ผู้บริหารของบริษัทลูกในประเทศไทยปรับลดค่าใช้จ่ายลงเพื่อให้สอดคล้องกับกรณีที่มีกำลังผลิตส่วนเกิน ซึ่งจะมีดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน ตั้งแต่ลดการทำงานล่วงเวลา ปรับลดเงินเดือนผู้บริหาร รวมถึงให้ปรับลดจำนวนพนักงานในประเทศไทย

ผู้บริหารของบริษัทแม่ในต่างประเทศและผู้ซื้อในต่างประเทศยังกำหนดให้บริษัทในประเทศไทยต้องจัดทำแผน Business Continuity Plan หรือแผนปฏิบัติการในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ว่าจะสามารถป้องกันผลเสียหายไม่ให้เกิดขึ้นได้อย่างไร เพื่อจะสามารถนำไปวิเคราะห์ว่ามีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใด หากแผนซึ่งได้จัดทำขึ้นไม่สามารถสร้างความมั่นใจแล้ว จะยิ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยอย่างมากในอนาคต

สำหรับ Business Continuity Plan เป็นการเตรียมความพร้อมทั้งด้านกระบวนการและทรัพยากรต่างๆ ที่จำเป็น ทำให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างเป็นปกติ ตั้งแต่วิเคราะห์ถึงโอกาสความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น รวมถึงแนวทางการปรับปรุง

หากเหตุการณ์เกิดขึ้น จะต้องมีแผนเกี่ยวกับแนวทางแก้ไขสถานการณ์ ทั้งในส่วนที่ทำให้องค์กรยืดหยุ่นต่อปัญหาความเสี่ยง การดำเนินการอย่างเป็นระบบในการลดความเสียหายจากความเสี่ยง และการแก้ไขปัญหาเพื่อให้สถานการณ์กลับคืนสู่สภาวะปกติ นอกจากนี้ ผู้เกี่ยวข้องจะต้องมีการฝีกซ้อมการแก้ไขปัญหาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อไม่ให้เกิดการตื่นตกใจเมื่อเหตุการณ์เกิดขึ้นจริง และทำให้ทราบข้อบกพร่องของแผนที่จัดทำขึ้นว่าจะต้องปรับปรุงอย่างใด

จากสถานการณ์ข้างต้น ทำให้บรรดาผู้บริหารของบริษัทแม่ รวมถึงผู้ซื้อสินค้าจากต่างประเทศ ต่างไม่มั่นใจสถานการณ์ในประเทศไทยว่าจะเกิดเหตุปิดสนามบินซ้ำอีกหรือไม่ในอนาคต ทั้งนี้ จากการประชุมหารือร่วมกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและผู้ประกอบธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2551 ผู้ประกอบการบางรายได้มีข้อเสนอแนะว่าแนวทางหนึ่งที่จะสร้างความเชื่อมั่นแก่ต่างประเทศ คือ บรรดาเสื้อแดงและเสื้อเหลืองต้องร่วมทำสัตย์ปฏิญาณให้เป็นที่รับทราบโดยทั่วไปว่าหากมีการรณรงค์ใดๆ ก็แล้วแต่ในอนาคต จะต้องจำกัดขอบเขตไม่สร้างความเดือดร้อนแก่ภาคธุรกิจซ้ำอีก ส่วนฝ่ายทหารและตำรวจก็จะต้องประกาศคำมั่นสัญญาเช่นกันว่าจะปฏิบัติอย่างสุดความสามารถเพื่อป้องกันการยึดสนามบิน ปิดท่าเรือ หรือปิดถนน

ติดต่อขอข้อมูล ติชม และเสนอแนะความคิดเห็นได้ที่ศูนย์บริการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน 0-2537-8161 หรือที่ head@boi.go.th
กำลังโหลดความคิดเห็น