ศูนย์ข่าวภาคเหนือ – เปลือยชีวิตและตัวตน “สมเกียรติ โสภณพงศ์พิพัฒน์” หนึ่งในแกนนำ พธม.พิจิตร - เมืองชาละวัน หนุ่มใหญ่วัย 48 ปี อดีตมือทำงานที่เคยร่วมปลุกปั้นนโยบายรากหญ้าร่วมกับ “อ้วน-ภูมิธรรม” จนมองเห็นหุบเหวแห่งหายนะใน “ระบอบทักษิณ” ก่อนกระโดดเข้าร่วมขับเคลื่อนกับ พธม.ตั้งแต่ปี 48-49 จนสามารถผลักดันเวทีปราศรัยใหญ่ของพันธมิตรฯให้เกิดขึ้นที่พิจิตรได้เป็นจังหวัดแรก ๆ ของภาคเหนือถิ่น ทรท. ย้ำผลสำเร็จการเมืองใหม่ พธม.ต้องมีตัวแทนในสภาฯแทนยืมจมูกคนอื่นหายใจ
การเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ในพื้นที่ภาคเหนือ หนึ่งในพื้นที่ฐานเสียงหลักของพรรคไทยรักไทยในอดีต สืบทอดถึงพรรคพลังประชาชน และเพื่อไทย ตั้งแต่ปี 2548-2549 ต่อเนื่องมาถึงศึกใหญ่ 2551 ในจำนวน 17 จังหวัดภาคเหนือนั้น “พิจิตร – เมืองชาละวัน” เป็นจังหวัดหนึ่งที่ พธม.สามารถเปิดเวทีปราศรัยใหญ่ โดยมีคนพิจิตรและจังหวัดใกล้เคียง เข้าร่วมรับฟังการปราศรัยจากแกนนำมากกว่าเรือนหมื่นขึ้น เป็นจังหวัดแรก ๆ ของภาคเหนือ
ในบรรดาเพื่อนพ้องน้องพี่ พธม.พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ กำแพงเพชร อุตรดิตถ์ สุโขทัย ฯลฯ หรือกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนหนึ่งที่อยู่เบื้องหลัง ร่วมกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหว พธม.ภาคเหนือตอนล่าง สร้างสรรค์การเมืองใหม่ มาต่อเนื่องตั้งแต่ยุคปี 48-49 เป็นต้นมาก็คือ “เกียรติ – สมเกียรติ โสภณพงศ์พิพัฒน์” หนุ่มใหญ่วัย 48 ปี ศิษย์เก่ารามคำแหง เอ็นจีโอพันธุ์แท้รุ่นน้อง “อ้วน-ภูมิธรรม เวชยชัย” คนเดือนตุลาฯ ลูกมือ “แม้ว-ทักษิณ ชินวัตร” ที่หันหลังให้รุ่นพี่ เพื่อเดินหน้าขับไล่ “ทักษิณ” อย่างเต็มตัว
“สมเกียรติ” หรือที่หลายคนเรียกว่า พี่เกียรติ บอกว่า สมัยก่อนเขาเป็นสมาชิกยุวธิปัตย์ มาตั้งแต่สมัยเรียน แต่สุดท้ายก็ลาออก เพราะเห็นว่าอุดมการณ์ของ ปชป. ก็ไม่ใช่แนวทางการสร้างการเมืองใหม่ในอุดมคติอย่างแท้จริง
“พี่เกียรติ” นับเป็นเอ็นจีโอ รุ่นแรก ๆ ของพิจิตร ที่มีส่วนสร้างสรรค์งานมวลชนในพื้นที่ ถูกรับเชิญไปร่วมงานของแวดวงราชการหลายหน่วยงาน ที่คุ้นหน้าคุ้นตาดี ก็คือ พิธีกร วาทศิลป์ การพูดบนเวทีและบุคลิกที่เรียบง่ายเข้ากับมวลชนได้ดีทำให้วันนี้ “พี่เกียรติ” หนึ่งในแกนนำพันธมิตรฯพิจิตร ก้าวสู่การเป็นอาจารย์ หรือเป็นครูสอนผู้นำองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตจังหวัดพิจิตร ในระดับปริญญาตรี สาขารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงครามจังหวัดพิษณุโลก ศูนย์จังหวัดพิจิตร
เขาบอกว่า เดิมทีตนเป็นคนย่านสามเสน กรุงเทพฯ พ่อแม่ค้าขาย ร่ำเรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหง สาขารัฐศาสตร์ ซึ่งดูเหมือนว่าอนาคตควรจะเติบโตในสายการปกครองอย่างปลัดอำเภอ แต่บังเอิญว่า ช่วงที่เรียนอยู่รามฯ เน้นหนักไปที่ทำกิจกรรม ตึกกิจกรรมคือสถานที่พักพิงและหลับนอน การออกค่ายเป็นเรื่องปกติของคนทำกิจกรรมของนักศึกษา จุดนี้เองทำให้ต้องเลือกทางเดินมาสู่ชนบท ช่วงนั้นการเรียนจบใหม่ๆบัณฑิตทุกคนก็ต้องหางานทำให้มั่นคง เขาก็เลือกเป็นพนักงานเอกชนที่โรงงานน้ำตาลแห่งหนึ่งของจังหวัดกำแพงเพชร
แต่เมื่อรู้ว่า ตัวเองนั้นไม่ใช่ ประจวบเหมาะนิสัยที่ชอบทำงานกับมวลชนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เขียนโครงการศึกษาในงานพัฒนาชุมชน ขอทุนวิจัยจากต่างประเทศ ซึ่งยุคนั้นต้องยอมรับว่า มีเงินจากประเทศพัฒนาแล้ว ส่งผ่านมาให้ประเทศไทยในฐานะประเทศกำลังพัฒนามาก อย่างทุนออสเตรเลียให้มากว่า 100 ล้านบาท เพื่อทำการศึกษาวิจัยพัฒนาชุมชนต่อเนื่องกัน เช่น งานเกษตรผสมผสาน, ธนาคารข้าว, ธนาคารควาย ฯลฯ ที่มีบทสรุป งานเสริมสร้างแนวคิดและช่วยเหลือชุมชนให้พึ่งพาตนเอง กระทั่งใกล้ปี 2537 เงินทุนจากต่างประเทศเริ่มร่อยหรอ ปรับทิศทางไปยังประเทศที่ด้อยพัฒนากว่าไทย
ประสบการณ์ที่ได้ทำงานองค์กรพัฒนาเอกชนมาหลายปี จนนั่งเป็นประธานคณะกรรมการและกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคเหนือตอนล่าง ทำให้ทราบว่า ควรทำงานในกระดาษให้ออกเป็นจริงขึ้นมา และบังเอิญว่า แนวความคิดไปตรงกับผู้นำชุมชนและชาวบ้านแถบอำเภอสามง่าม หรือวชิรบารมี ในปัจจุบัน ชาวบ้านที่ถูกหล่อหลอมและปลูกฝังแนวคิดช่วยเหลือชุมชนตนเอง สามารถระดมทุนเริ่มต้นจากคนร่วมๆ 500 คน รวมเงินได้ 3 แสนบาทก่อตั้งสหกรณ์ชาวนาวชิรบารมี จำกัด ในปี 37 เป็นนิติบุคคลที่มีสมาชิก 1,600 ครอบครัวในปัจจุบัน มีสินทรัพย์ 160 ล้านบาท
แนวคิดของสหกรณ์ มีจุดมุ่งหมายให้คนในชุมชนหรือชาวนาทั้งอำเภอวชิรบารมี เกื้อกูลกัน และทำให้สหกรณ์เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน จนกระทั่งเกิดกระแสโลกาภิวัตน์ และนโยบายต่างๆเช่น กองทุนหมู่บ้านฯลฯ ของ “รัฐบาลทักษิณ” ทำให้คนในชุมชนละทิ้งการพึ่งพาสหกรณ์
“พี่เกียรติ”บอกอีกว่า นโยบายที่ล้มเหลวของ “ระบบทุนนิยมทักษิณ” ทำลายงานพัฒนาชุมชนที่ เอ็นจีโอ ทำมาหลายปี แต่ก็ไม่ได้โยนบาปให้รุ่นพี่เอ็นจีโอ อย่าง “ภูมิธรรม เวชยชัย”มือทำงานของ “ทักษิณ”
“ยอมรับว่า ในยุคแรกของไทยรักไทย ผมก็เข้าไปร่วมงานกับรุ่นพี่คือ ภูมิธรรม เวชยชัย ในการผลักนโยบายรากหญ้า เพราะช่วงนั้นเบื่อหน่ายการทำงานที่เชื่องช้าของระบบราชการ กระทั่ง นโนบายรากหญ้าของทักษิณ ที่นำมาใช้อย่างหนักและจมดิ่งไปเรื่อยๆ ทำให้ชาวบ้านลุ่มหลงในวัตถุนิยมมากเกินไป ไม่ได้ปล่อยให้ชาวบ้านคิดเองทำเองตามวัตถุประสงค์แรกๆ จนตกเป็นทาสทุนนิยม ทำให้ผมต้องกระโดดเข้าสู่เวทีพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เพื่อขับไล่รัฐบาลทักษิณ ในระยะหลายปีที่ผ่านมา”
ในมุมมองของ “สมเกียรติ” เห็นว่า สหกรณ์ ถือเป็นกลไกที่บ่งชี้ถึงการพึ่งพาของคนในชุมชน แต่ไม่ใช่จะประสบความสำเร็จทุกสหกรณ์ จะต้องดูพื้นฐานและที่มาของการก่อตั้งมากกว่า ถ้าให้ภาครัฐจัดตั้งกันเอง รับรองว่า เจ๊งเกือบทุกแห่ง ณ วันนี้ สหกรณ์จังหวัดพิจิตร จะมีชาวนาทั้งอำเภอวชิรบารมี ซื้อปุ๋ย น้ำมันดีเซล อุปกรณ์การเกษตรทุกอย่าง รวมไปถึงการนำผลผลิต ข้าวเปลือก มาขายที่สหกรณ์ทั้งหมดรวมทั้งสิ้น 2-3 หมื่นตันต่อฤดูกาล เพราะชาวบ้านทราบดีว่า หากนำข้าวไปขายหรือจำนำ โรงสีแห่งอื่นจะถูกกดราคา มีปัญหาตุกติก แต่มาขายข้าวที่สหกรณ์ฯ จะไม่มีปัญหาอย่างนั้น เพราะที่นี่เป็นส่วนหนึ่งของเขา
หลักการนี้สอดคล้องกับคำว่า “การเมืองใหม่” ก็คือ ประชาชนมีส่วนร่วมหรือเป็นเจ้าของประเทศ ผลที่เป็นรูปธรรมในบทบาทสหกรณ์ จึงมีส่วนสนับสนุนให้ชาวบ้านเริ่มคิดเอง เพียงแต่ทุกวันนี้จะต้องมี “สื่อ” ไปบอก ชาวบ้านว่า อะไรดี อะไรไม่ดี เพราะต้องยอมรับว่าเดี๋ยวนี้ชาวบ้านไม่ได้โง่ เพียงแต่เขารับรู้ข่าวสารเพียงด้านเดียว โดยเฉพาะจากรัฐเท่านั้น
ก่อนจบการสนทนา “พี่เกียรติ” ย้ำว่า ผมยังเชื่อว่า การนำพาประเทศสู่การเมืองใหม่ จะต้องตั้งพรรคการเมือง เพื่อให้มีตัวแทนของตนไปนั่งอยู่ในระบบรัฐสภา เพราะการที่จะไปพึ่ง ส.ส. หรือพึ่งพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งที่มีนโยบายหรือแนวคิดเหมือนกับพันธมิตรฯนั้น คงยาก! เข้าตำรา ยืมจมูกเขาหายใจ ที่สุดท้ายอาจถูกเจ้าของจมูกแปรเจตนาไปแสวงหาผลประโยชน์เข้าพรรค เข้าพวกตนเองแทน