xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ว่าฯ พิจิตรแนะเลี้ยงกบรองรับ ศก.ทรุดหวังเป็นที่พึ่งของคนตกงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชาวบ้านที่รวมตัวกันเลี้ยงกบตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง
พิจิตร - เจ้าเมืองชาละวันเดินหน้าเร่งสร้างกลุ่มวิสาหกิจชุมชน OTOP พบอาชีพเลี้ยงกบมั่นคงมีกลุ่มที่แข็งแรง ตลาดมั่นคง ราคาดี แนะขยายกิจการเพื่อเป็นแหล่งจ้างงาน คนชนบท ที่อาจพบปัญหาสภาพเศรษฐกิจทรุด รองรับมีงานทำตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง

นายสมชัย หทยะตันติ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า จากการที่ได้ลงพื้นที่พบกลุ่มเกษตรกร ที่ประกอบอาชีพเลี้ยงกบ เป็นรายได้เสริมนอกจาการทำนา ที่บ้านคลองสาลิกา หมู่ที่ 9 ต.สากเหล็ก อ.สากเหล็ก จ.พิจิตร โดยได้รับฟังองค์ความรู้จากปราชญ์ชาวบ้านเรื่องการเลี้ยงกบ จากนายสำเริง หว่านแย้ม ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงกบ ที่มีสมาชิก 25 คน แต่ละคนเลี้ยงกบ 1 ถึง 5 บ่อ ต่อราย

โดยการเลี้ยงกบปีหนึ่งๆ จะทำได้ 3 รุ่น กบหนึ่งบ่อจะมีปริมาณกว่า 2,000 กก. ถึง 2,3000 กก. การจำหน่ายก็จะมีพ่อค้าจากทั้งภาคเหนือ อาทิเช่น พิษณุโลก สุโขทัย แพร่ น่าน ลำพูน เชียงใหม่ รวมไปถึงพ่อค้าจากภาคอีสาน เช่น อุดรธานี ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ เลย มาจองขอรับซื้อแบบผูกขาดให้ราคาช่วงหน้าหนาว จะได้ราคาดี ถึง กก.กรัมละ 45 บาท แต่ถ้าช่วงฤดูฝนก็จะได้ราคาเพียง กก.กรัมละ 38-40 บาท เกษตรกรจับกบขายครั้งหนึ่งๆต่อบ่อ ก็จะได้เงินเป็นกอบเป็นกำหักจากต้นทุนแล้ว ก็ยังคงมีกำไรเป็นหมื่นต่อบ่อ

ทุกวันนี้ทั้งหมู่บ้านเลี้ยงกบขายกันทั้งแบบบ่อซีเมนต์ และบ่อดิน รวมกว่า 100 บ่อ ปีหนึ่งๆก็จับกบขายได้ราว 300 ครั้ง โดยในแต่ละปีจะมีเงินหมุนเวียนในหมู่บ้าน 4 ถึง 5 ล้านบาท นับเป็นรายได้เสริมจากการทำนาตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง

ด้าน นางชญา ด่านขจรกิจ ครูอาสา กศน.สากเหล็ก เปิดเผยอีกว่านอกจากเกษตรกรจะเลี้ยงกบในบ่อปูนซีเมนต์ และบ่อดินแล้ว ก็ยังมีการส่งเสริมการเลี้ยงกบแบบคอนโด คือการใช้ขวดน้ำพลาสติกใสขนาด 1 ลิตร และ ขนาด 5 ลิตร มาวางเรียงกันเป็นชั้นๆ ให้เป็นที่เลี้ยงกบ ใส่น้ำสะอาดปริมาณพอสมควร เจาะรูที่ขวดน้ำพลาสติก เจาะให้เป็นทางให้อาหาร และ ระบายอากาศสะดวกเหมาะแก่การหายใจของกบ การเลี้ยงวิธีนี้เหมาะกับการเลี้ยงในกรณีที่ไม่มีที่ดินขุดทำบ่อเลี้ยงกบ หรือ ต้องการเลี้ยงไว้เป็นอาหารในครัวเรือน เพราะใช้การลงทุนและพื้นที่น้อย แต่ได้ผลคุ้มค่า ซึ่งกำลังได้รับความนิยมของคนที่อยู่ในเมืองแล้วต้องการเลี้ยงกบไว้เป็นอาหาร

นอกจากนี้ นายสำเริง หว่านแย้ม ประธานกลุ่มผู้เลี้ยงกบ ได้รายงานโดยสรุป ถึงปัญหาความต้องการของกลุ่มเกษตรกรในขณะนี้ คือ ต้องการขยายกิจการ แต่ติดตรงที่ว่าการเลี้ยงกบต่อบ่อต่อ 1 รุ่น ระยะเวลา 3 เดือน ต้องซื้ออาหารกบ-พันธุ์กบอื่นๆ อีกราว 7 หมื่นบาทต่อคราว แต่ทุกวันนี้ทางกลุ่มมีทุนหมุนเวียนผลัดกันกู้ยืมแค่ 8 แสนบาท จึงขยายกิจการไม่ได้เท่าที่ตลาดต้องการ

อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร ได้รับทราบปัญหาและได้รับปากว่าจะประสานกับ ธ.ก.ส. SME BANK กองทุนหมู่บ้าน พัฒนาชุมชน เกษตรจังหวัดพิจิตร ให้หาลู่ทางขยายการลงทุน ให้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเลี้ยงกบบ้านคลองสาลิกาเจริญเติบโตต่อไป

บ่อเลี้ยงกบ
กบที่เลี้ยงได้ขนาดเป็นที่ต้องการของตลาด
กำลังโหลดความคิดเห็น