xs
xsm
sm
md
lg

วัดใจ"ปชป."ฟื้นชีพ"ช่อง11"สาทิตย์เล็งโล๊ะบอร์ด อสมท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

STVผู้จัดการรายวัน - "สาทิตย์ วงศ์หนองเตย" ได้งานคุมสื่อ ลั่นเล็งเปลี่ยนบอร์ด อสมท.ทันทีหลังแถลงนโยบาย แต่ยังเกรงใจบารมี "ยี้ห้อย" ในเอ็นบีที ระบุมีแนวคิดเปลี่ยนกลับเป็นช่อง 11 แต่ยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ยืนยันมีรายการ "อภิสิทธิ์พบประชาชน" แน่ พร้อมให้เวลาฝ่ายค้าน และอาจให้เวลาภาค ปชช.ออกทีวีด้วย

วานนี้ (23 ธ.ค.) นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งรับหน้าที่กำกับดูแลสื่อสารมวลชน กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีการแบ่งงานระหว่างตนกับนายวีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯอีกคน เนื่องจากต้องรอให้มีการแถลงนโยบายต่อสภาเสร็จเสียก่อน อย่างไรก็ตาม ได้มีการพูดคุยอย่างคร่าวๆ โดยบางเรื่องนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีอาจจะลงมาดูแลเอง ทั้งนี้ ในเบื้องต้นตนน่าจะได้ดูแลงานด้านสื่อ ทั้ง อสมท.และช่อง 11 ซึ่งนายจักรภพ เพ็ญแข เปลี่ยนแปลงมาเป็น สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ทั้งนี้ นโยบายด้านสื่อจะระบุเป็นกรอบไว้ในแนวนโยบายที่จะใช้แถลงต่อสภาเป็นจำนวน 4 ข้อ

**พลิกNBTคืนสู่ช่อง11
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ตนมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนเอ็นบีที กลับไปเป็นช่อง 11 ตามเดิมจริง แต่ต้องประเมินผลก่อนว่า หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงจากช่อง 11 มาเป็นเอ็นบีที แล้วมีข้อดีมีประโยชน์อย่างไรบ้าง แต่ยืนยันว่าไม่ใช่นโยบายเร่งด่วน และคงไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับตำแหน่งของอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์และผู้อำนวยการสถานีเอ็นบีที เพราะยังไกลเกินไป
ขณะที่เรื่องของ อสมท.นั้นนายสาทิตย์ กล่าวว่า ตามมารยาทเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลก็จะต้องมีการเปลี่ยนบอร์ดด้วย และขณะนี้ก็มีบอร์ดบางส่วนที่ครบวาระพอดี ดังนั้น สิ่งแรกที่ผมจะทำหลังแถลงนโยบายเกี่ยวกับ อสมท. คือเรื่องบอร์ด
ในส่วนของการจัดรายการนายกฯ พบประชาชนที่นายอภิสิทธิ์ เคยกล่าวกับสื่อว่าน่าจะยังคงมีเหมือนรัฐบาลชุดก่อนๆ นั้น นายสาทิตย์ ยืนยันว่า รายการดังกล่าวจะต้องมีอย่างแน่นอน ทว่ายังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะใช้ช่วงเวลา ชื่อหรือรูปแบบใด โดยที่คิดอยู่ในขณะนี้มีมากกว่า 10 รูปแบบ และจะเปิดเวลาให้กับผู้นำฝ่ายค้านได้ออกอากาศด้วย เพราะเป็นสิ่งที่เราขอมาตั้งแต่เป็นฝ่ายค้าน รวมถึงอาจเปิดเวลาให้กับภาคประชาชนด้วย
ผู้สื่อข่าวถามถึง “รายการความจริงวันนี้” ซึ่งถูกงดออกอากาศทั้งที่ยังไม่ครบสัญญา นายสาทิตย์ กล่าวว่า เป็นเรื่องระหว่างผู้จ้างกับบริษัทจะต้องไปตกลงกันเอง รัฐบาลไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง

*“ช่อง11-อสมท”พิสูจน์จุดยืนมาร์ค
หากมองย้อนกลับไปประมาณเจ็ดเดือนก่อน ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ยังเป็นฝ่ายค้าน ส่วนพรรคพลังประชาชน เป็นรัฐบาลร่วมกับอีก 5 พรรค มีนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 29 เมษายน นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และนายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.ของพรรคฯได้ยื่นหนังสือต่อนายพิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส รองผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อขอให้สอบสวนความไม่โปร่งใสการทำสัญญาของสถานีวิทยุโทรทัศน์กระจายเสียงแห่งประเทศไทย หรือ NBT
นายอลงกรณ์ บอกว่า การที่กรมประชาสัมพันธ์ไปทำสัญญาให้ บริษัทดิจิตอล มีเดีย ให้ผลิตรายการข่าววันละ 9 ชั่วโมงครึ่ง แลกกับการขายโฆษณา ชั่วโมงละ 7 นาทีโดยจ่ายผลตอบแทนให้ช่อง 11 ปีละ 40 ล้านบาทนั้นน่าจะทำให้รัฐเสียประโยชน์ เพราะปกติแล้ว ช่อง 11 คิดค่าเช่าเวลาชั่วโมงละ 30,000-100,000 บาท เงินค่าตอบแทนที่ดิจิตอล มีเดียจะต้องจ่ายจึงไม่ควรจะต่ำกว่าปีละ 100 ล้านบาท
ตามสัญญา กรมประชาสัมพันธ์ยังยอมให้ดิจิตอล มีเดีย ใช้เครื่องไม้เครื่องมือของช่อง 11 ทั้งหมด ไม่ต้องลงทุนเองแม้แต่บาทเดียว
นอกจากนั้น การจ้างดิจิตอล มีเดีย ยังทำกันอย่างงุบงิบ ไม่มีการเปิดกว้างให้เอกชนรายอื่นๆ เสนอตัวเข้ามาแข่งขันด้วย
เป็นที่รู้กันโดยทั่วไปว่า เบื้องหลังบริษัทดิจิตอล มีเดีย คือ นายเนวิน ชิดชอบ การเข้าไปผลิตรายการข่าวในช่อง 11 ก็คือ การเข้าไปยึดเอาสื่อของรัฐ มาเป็นกระบอกเสียงให้กับระบอบทักษิณ และนำไปแสวงหาประโยชน์ โดยเอาเวลาไปขายโฆษณา
คำว่า NBT คนของช่อง 11 และกรมประชาสัมพันธ์บอกว่า แท้จริงแล้ว คือ Newin Broadcasting for Thaksin
วันนี้ พรรคประชาธิปัตย์ ได้เป็นรัฐบาลร่วมกับพรรคร่วมอีก 4 พรรค และกลุ่มเพื่อนเนวิน ที่เคยร่วมรัฐบาลกับพรรคพลังประชาชน นายอลงกรณ์ พลบุตร ได้เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ส่วนรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีคือนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย คนของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งต้องกำกับดูแล กรมประชาสัมพันธ์โดยตรง
เมื่อผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายบริหาร วันนี้กลับมาเป็นฝ่ายบริหารเสียเอง และต้องลงเรือลำเดียวกับคนที่ตัวเองเคยตรวจสอบ นายสาทิตย์ จะกล้าแตะบริษัทดิจิตอล มีเดียของนายเนวิน ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ พรรคประชาธิปัตย์ได้เป็นรัฐบาลและนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะได้เป็นนายกรัฐมนตรี หรือไม่ นายสาทิตย์ จะกล้าเอาสมบัติของรัฐกลับคืนมา และเปลี่ยนชื่อ NBT เป็นช่อง 11 เหมือนเดิมหรือเปล่า นายอลงกรณ์ กับนายบุญยอดจะยังคงสงสัยในความไม่โปร่งใสของการเข้ามาของดิจิตอล มีเดียเหมือนก่อนหรือไม่ และนายอภิสิทธิ์จะว่าอย่างไร ถ้านายเนวิน ไม่ยอม
สัญญาระหว่างกรมประชาสัมพันธ์กับ ดิจิตอล มีเดีย ทำกันเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2551 มีอายุ 2 ปี จะครบกำหนดในวันที่ 16 มีนาคม 2553
เรื่อง NBT เป็นเพียงเรื่องหนึ่ง ในหลายเรื่องของรัฐบาลพรรคพลังประชาชน ที่ พรรคประชาธิปัตย์เคยแสดงความไม่เห็นด้วย เมื่อ 4 พรรคร่วมรัฐบาลและกลุ่มเพื่อนเนวิน เปลี่ยนขั้วมาสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ก็เอาโครงการเหล่านั้นมาด้วย อย่างเช่น โครงการรถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คนของกลุ่มนายเนวิน จึงน่าสนใจว่า นายอภิสิทธิ์ และพรรคประชาธิปัตย์จะมีท่าทีเหมือนตอนที่ยังเป็นฝ่ายค้านหรือไม่
ในส่วนการแทรกแซงทางการเมืองใน อสมท. หลังจากที่พรรคพลังประชาชนเข้ามากุมอำนาจในรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง 23 ธ.ค. 2550 ก็มีการเปลี่ยนตัวบอร์ด อสมท. ให้เป็นชุดของ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ซึ่งเป็นประธานกรรมการ (มีศักดิ์เป็นน้องชายของ พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ อดีต กกต.สมัย พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ส่วนบุตรชายของนายจารุพงศ์ชื่อ นายจารุวงศ์ เรืองสุวรรณ นั้นเป็นอดีตเลขานุการของนายจักรภพ เพ็ญแข และ ผู้สมัคร ส.ส. เขต 10 กทม. พรรคพลังประชาชน)
นอกจากนี้บอร์ด อสมท. ยังประกอบไปด้วย นายนัที เปรมรัศมี รองประธานกรรมการ นายธงทอง จันทรางศุ รองประธานกรรมการ ส่วนกรรมการประกอบด้วย นางดนุชา ยินดีพิธ นายนฤนารท พระปัญญา นายประสาน หวังรัตนปราณี นายวิทยาธร ท่อแก้ว นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ นายอนุสรณ์ ธรรมใจ นายพงษ์ชัย อมตานนท์ นายปราโมทย์ โชคศิริกุลชัย โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 13 พ.ย.บอร์ดชุดนี้ได้ดำเนินการบีบนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ให้ยุติบทบาทหน้าที่กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท. โดยขณะนั้นมีการสันนิษฐานกันว่า เพื่อที่จะเปิดทางให้มีการเปลี่ยนแปลง อสมท เป็น เอ็นบีที 2
เรื่องแบบนี้แหละ จะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ในเร็ววันว่า จุดยืนที่แท้จริงของนายอภิสิทธิ์ เป็นอย่างไร เมื่อได้เข้ามามีอำนาจ
กำลังโหลดความคิดเห็น