ASTVผู้จัดการออนไลน์ – “สาทิตย์” ลั่นเล็งเปลี่ยนบอร์ด อสมท ทันทีหลังแถลงนโยบาย แต่ยังเกรงใจบารมี “ยี้ห้อย” ในเอ็นบีที ระบุ มีแนวคิดเปลี่ยนกลับเป็นช่อง 11 แต่ยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ยืนยันมีรายการ “อภิสิทธิ์พบประชาชน” แน่ พร้อมให้เวลาฝ่ายค้าน และอาจให้เวลาภาค ปชช.ออกทีวีด้วย
วันนี้ (23 ธ.ค.) นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งรับหน้าที่ดูแลสื่อ ให้สัมภาษณ์ว่า ขณะนี้ยังไม่มีการแบ่งงานระหว่างตน กับ นายวีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ อีกคน เนื่องจากต้องรอให้มีการแถลงนโยบายต่อสภาเสร็จเสียก่อน อย่างไรก็ตาม ได้มีการพูดคุยอย่างคร่าวๆ โดยบางเรื่อง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี อาจจะลงมาดูแลเอง ทั้งนี้ ในเบื้องต้นตนน่าจะได้ดูแลงานด้านสื่อ ทั้ง อสมท และช่อง 11 ซึ่ง นายจักรภพ เพ็ญแข เปลี่ยนแปลงมาเป็น สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ทั้งนี้ นโยบายด้านสื่อจะระบุเป็นกรอบไว้ในแนวนโยบายที่จะใช้แถลงต่อสภาเป็นจำนวน 4 ข้อ
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ตนมีแนวคิดที่จะเปลี่ยนเอ็นบีที กลับไปเป็นช่อง 11 ตามเดิมจริง แต่ต้องประเมินผลก่อน ว่า หลังจากมีการเปลี่ยนแปลงจาก ช่อง 11 มาเป็นเอ็นบีที แล้ว มีข้อดี มีประโยชน์อย่างไรบ้าง แต่ยืนยันว่า ไม่ใช่นโยบายเร่งด่วน และคงไม่ไปยุ่งเกี่ยวกับตำแหน่งของอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และผู้อำนวยการสถานีเอ็นบีที เพราะยังไกลเกินไป
“เรื่องของ อสมท นั้น ตามมารยาทเมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาลก็จะต้องมีการเปลี่ยนบอร์ดด้วย และขณะนี้ก็มีบอร์ดบางส่วนที่ครบวาระพอดี ดังนั้น สิ่งแรกที่ผมจะทำหลังแถลงนโยบายเกี่ยว กับ อสมท คือ เรื่องบอร์ด” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
ในส่วนของการจัดรายการนายกฯ พบประชาชน ที่ นายอภิสิทธิ์ เคยกล่าวกับสื่อ ว่า น่าจะยังคงมีเหมือนรัฐบาลชุดก่อนๆ นายสาทิตย์ ยืนยันว่า รายการดังกล่าวจะต้องมีอย่างแน่นอน ทว่ายังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะใช้ช่วงเวลา ชื่อ หรือรูปแบบใด โดยที่คิดอยู่ในขณะนี้มีมากกว่า 10 รูปแบบ และจะเปิดเวลาให้กับผู้นำฝ่ายค้านได้ออกอากาศด้วย เพราะเป็นสิ่งที่เราขอมาตั้งแต่เป็นฝ่ายค้าน รวมถึงอาจเปิดเวลาให้กับภาคประชาชนด้วย
ผู้สื่อข่าวถามถึง “รายการความจริงวันนี้” ซึ่งถูกงดออกอากาศทั้งที่ยังไม่ครบสัญญา นายสาทิตย์ กล่าวว่า เป็นเรื่องระหว่างผู้จ้างกับบริษัทจะต้องไปตกลงกันเอง รัฐบาลไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
ย้อนรอยการเมืองยึด เอ็นบีที-อสมท
การเปลี่ยนแปลง ช่อง 11 กรมประชาสัมพันธ์ ไปเป็นสถานีโทรทัศน์ NBT เกิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 1 เม.ย.2551 ภายใต้นโยบายของ นายจักภพ เพ็ญแข รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในขณะนั้น โดยจุดมุ่งหมายสำคัญของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ก็เพื่อให้ช่อง 11 กลายเป็นกระบอกเสียงของระบอบทักษิณ ปกป้องรัฐบาล นายสมัคร โจมตีศัตรูทางการเมือง และตอบสนองเป้าหมายทางการเมืองของตัวเองอย่างเต็มตัว
สำหรับวิธีการจัดการ นายจักรภพ ได้เปิดมีการทำสัญญาสัมปทานกับ บริษัท ดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้งส์ จำกัด ที่เชื่อว่า เป็นบริษัทในเครือข่ายของ นายเนวิน ชิดชอบ เข้ามาแบ่งเวลาไปบริหาร พร้อมทั้งหาประโยชน์จากค่าโฆษณา ซึ่งในเวลาต่อมากลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย และ พรรคประชาธิปัตย์ โดย นายอลงกรณ์ พลบุตร และ นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ก็ได้ร้องเรียนเรื่องดังกล่าวต่อหลายหน่วยงาน เช่น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้ตรวจสอบความไม่โปร่งใสของการประมูลสัมปทานดังกล่าวที่ส่อว่าจะมีการฮั้วกัน
โดยจากการตรวจสอบเบื้องต้นของพรรคประชาธิปัตย์ พบว่า การทำสัญญาสัมปทานระหว่าง เอ็นบีที กับ บริษัท ดิจิตอล มีเดีย โฮลดิ้งส์ จำกัด เมื่อวันที่ 17 มี.ค.2551 เข้าข่ายการกระทำความผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือ พ.ร.บ.ฮั้ว เนื่องจากที่ผ่านมาช่อง 11 เคยมีบริษัทเข้าร่วมผลิตรายการข่าวกว่า 8-9 บริษัท แต่สัญญาการผลิตรายการข่าวประจำวันครั้งนี้ ปรากฏข้อพิรุธในการดำเนินการจัดหาผู้ผลิต ที่ไม่มีการเปิดกว้าง ให้ผู้ผลิตรายอื่นได้เข้าร่วมเสนอรายการ โดยพบว่า มีเพียง 2 บริษัทเท่านั้น ที่เข้าร่วมเสนอรายการ ทั้งยังพบว่า 2 บริษัทมีความสัมพันธ์กัน เนื่องจากมีสถานที่ตั้งอยู่ที่เดียวกัน คือ เลขที่ 731 ถนนอโศกดินแดง แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพฯ ต่อมาบริษัท ดิจิตอลฯ ได้รับการคัดเลือก ปรากฏว่า ทั้ง 2 บริษัทใช้พนักงานรับโทรศัพท์ พนักงานขายโฆษณา และเบอร์โทรศัพท์สำนักงานเดียวกัน
ทั้งนี้ ตลอดระยะเวลา 8-9 เดือนที่ผ่านมา ช่องเอ็นบีทีได้เป็นเครื่องมือของภาครัฐโดยสมบูรณ์แบบ โดยมีการบิดเบือนข่าวสาร โดยอ้างว่าเป็นข่าวและข้อมูล-ข้อเท็จจริง ทั้งมีรายการที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทและจงใจโจมตีศัตรูทางการเมืองของพรรคพลังประชาชนโดยเฉพาะ กลุ่มพันธมิตรฯ และ พรรคประชาธิปัตย์ อย่างชัดเจน เช่น รายการข่าวหน้าสี่ และรายการความจริงวันนี้ จนก่อให้เกิดเป็นเรื่องราวฟ้องร้องจำนวนมาก นอกจากนี้ ยังมีความพยายามในการทำลายความน่าเชื่อถือของสถาบันต่างๆ ในบ้านเมือง ด้วย เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สถาบันตุลาการ ศาลรัฐธรรมนูญ สตง.เป็นต้น
ในส่วนการแทรกแซงทางการเมืองใน อสมท หลังจากที่พรรคพลังประชาชนเข้ามากุมอำนาจในรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง 23 ธ.ค.2550 ก็มีการเปลี่ยนตัวบอร์ด อสมท ให้เป็นชุดของ นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ซึ่งเป็นประธานกรรมการ (มีศักดิ์เป็นน้องชายของ พล.อ.จารุภัทร เรืองสุวรรณ อดีต กกต.สมัย พล.ต.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ส่วนบุตรชายของนายจารุพงศ์ ชื่อ นายจารุวงศ์ เรืองสุวรรณ นั้น เป็นอดีตเลขานุการของ นายจักรภพ เพ็ญแข และ ผู้สมัคร ส.ส.เขต 10 กทม.พรรคพลังประชาชน)
นอกจากนี้ บอร์ด อสมท ยังประกอบไปด้วย นายนัที เปรมรัศมี รองประธานกรรมการ นายธงทอง จันทรางศุ รองประธานกรรมการ ส่วนกรรมการประกอบด้วย นางดนุชา ยินดีพิธ นายนฤนารท พระปัญญา นายประสาน หวังรัตนปราณี นายวิทยาธร ท่อแก้ว นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ นายอนุสรณ์ ธรรมใจ นายพงษ์ชัย อมตานนท์ นายปราโมทย์ โชคศิริกุลชัย (ดูชื่อและภาพ : คณะกรรมการบริษัท อสมท) โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 13 พ.ย.บอร์ดชุดนี้ได้ดำเนินการบีบ นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ ให้ยุติบทบาทหน้าที่กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท โดยขณะนั้นมีการสันนิษฐานกันว่าเพื่อที่จะเปิดทางให้มีการเปลี่ยนแปลง อสมท เป็น เอ็นบีที 2