xs
xsm
sm
md
lg

วิจารณญาณกองทัพในวิกฤตการเมือง 2551

เผยแพร่:   โดย: ว.ร.ฤทธาคนี

พ.ศ.2551 เป็นช่วงปีที่ประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตการเมืองที่รุนแรงมากอีกครั้งหนึ่ง ผนวกกับวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ฉุดให้โลกต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยมีผลกระทบกับเศรษฐกิจไทยที่พึ่งการส่งออกไปสหรัฐฯ และบรรยากาศการลงทุนเสียไปเพราะปัญหาการเมือง

แต่นับเป็นความโชคดีที่หลายปัญหาเงื่อนไขการเมืองถูกขจัดไปด้วยหลักนิติธรรมทำให้กลุ่มต่อต้านระบอบทักษิณหรือ พธม.ยุติการเคลื่อนไหวแต่กลุ่มสนับสนุนระบอบทักษิณคือตัว พ.ต.ท.ทักษิณ เอง และ นปช.คงยังหาเหตุสร้างเงื่อนไขสนองความต้องการพ.ต.ท.ทักษิณซึ่งในกลุ่ม นปช.มีพวกอนาธิปไตยคตินิยมหรือกลุ่มซ้ายในซ้ายของอดีตพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยที่พยายามจะสร้างความสับสนวุ่นวายจนให้ถึงขั้นกลียุคเป็นสงครามกลางเมืองย่อยระหว่างคนไทยสองกลุ่ม พธม.และนปช.หากทหารเข้าแก้ไขก็จะทำให้เหตุการณ์เลวร้ายลงทันที และทหารก็กลับเป็นจำเลยสังคมอีกวาระหนึ่ง

พวกซ้ายในซ้ายที่แฝงตัวในกลุ่มเสื้อแดงหวังจะให้เกิดภาวะอนาธิปไตย และจะทำการล้มล้างสถาบันตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้มาช้านานแล้วให้เห็นเป็นรูปธรรม โดยกลุ่มซ้ายในซ้ายได้แถลงในการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 4 โดยเรียกการประชุมนั้นว่า “สภาตรายางของฝ่ายซ้าย” เพราะมีบันทึกว่ากลุ่มเขาชนะมติที่ประชุมสมัชชาซึ่งกำหนดชี้ขาดให้สังคมไทยเป็น “ทุนนิยมกึ่งเมืองขึ้นที่ศักดินาดำรงอยู่”

แต่บันทึกประชุมของ พคท.กลายเป็น “ปัจจุบันลักษณะสังคมไทยยังเป็นกึ่งเมืองขึ้น เศรษฐกิจสินค้าเข้าแทนที่เศรษฐกิจธรรมชาติแบบทำเองใช้เอง โดยพื้นฐานทุนผูกขาดของจักรพรรดินิยม และทุนนิยมขุนนางนายหน้าได้ขยายตัวเติบใหญ่ และครอบงำเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยประสานกับศักดินานิยม ทุนนิยมแห่งชาติถูกเบียดขับ แต่ก็พัฒนาไประดับหนึ่ง ในขณะที่ทุนนิยมขยายตัวศักดินาก็ยังดำรงอยู่”

จึงเห็นได้ว่าซ้ายในซ้ายต้องการให้มีการปลดแอกประเทศ เพราะเป็นกึ่งเมืองขึ้น และต้องการให้มีการนำเข้ากำลังต่างชาติเข้าร่วมด้วย และขจัดศักดินาเพราะเป็นเงื่อนไขที่สนับสนุนทุนนิยม เมื่อกลุ่มซ้ายในซ้ายของ พคท.ออกจากป่าเพราะขาดเอกภาพในพรรค ประกอบกับรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ใช้ยุทธศาสตร์ “การเมืองนำหน้าทหาร” ข้าราชการต้องปฏิบัติตามคำสั่ง นรม.ที่ 66/2523 ขจัดข้าราชการชั่ว เงื่อนไขทางสังคมได้รับการแก้ไข ประชาชนได้รับความเป็นธรรม ได้รับพระเมตตาจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในโครงการพระราชดำริต่างๆ จนออกจากป่าใช้ชีวิตปกติ ทำให้กลุ่มซ้ายในซ้ายขาดกำลัง ผลจึงต้องออกจากป่าด้วย

แต่ยังคงมีความปรารถนาที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองของชาติอยู่ จึงมองเห็นโอกาสหากสามารถสร้างความโกลาหลวุ่นวายจนถึงขั้นสงครามกลางเมืองแล้ว ก็จะสามารถล้มล้างระบบศักดินาได้สำเร็จ ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ คิดว่าสามารถเอาชนะสงครามกลางเมืองได้ถ้าเกิดขึ้น เพราะกำลังเงินทุนซื้อ “คน” ให้เป็นฐานอำนาจทางการเมืองได้แน่นอน อันเป็นการแสดงจุดร่วมระหว่างเขากับซ้ายในซ้าย

ดังนั้น การแสดงจุดร่วมนี้จึงเป็นความพยายามของรัฐบาลนอมินีที่อ้างความชอบธรรมจากการชนะการเลือกตั้งแต่ใช้เงินซื้อเสียงเป็น “ธนาธิปไตย” จนเป็นที่ประจักษ์ตามคำพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ

กองทัพถูกท้าทายตลอดห้วงระยะเวลาปีหนึ่งที่ผ่านมา ด้วยการสร้างกระแสให้เป็นชนวนการปฏิวัติ เพื่อที่จะมีการต่อต้านปฏิวัติ และสร้างเงื่อนไขการต่อสู้ระหว่างทหารกับประชาชน ขณะเดียวกัน พ.ต.ท.ทักษิณ ก็สามารถใช้เป็นข้ออ้างกับประชาคมโลกว่าระบอบเผด็จการทหารต้องการทำลายเขา จึงถูกขับออกจากประเทศ และถูกตัดสินแบบไร้ความยุติธรรม สิ่งเหล่าเห็นได้จากการโฟนอิน

เงื่อนไขสำคัญที่รัฐบาลนอมินีทั้งของนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ คือการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ซึ่งนักการเมืองหลายคนที่ฉ้อฉล ขี้โกง ไม่ชอบ และทำให้พ.ต.ท.ทักษิณรอดพ้นจากคดีทุจริตคดโกงแผ่นดินได้ หากแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้สำเร็จ ทำให้ พธม.ต่อต้านด้วยกำลังคนที่มากพอ และยึดทำเนียบฯ และสนามบิน เป็นการประท้วงเป็นเวลานานกว่าครั้งใดๆ จึงทำให้รัฐบาลนอมินีทั้งสองพยายามที่จะใช้กำลังทหารเข้าสลายฝูงชนและยึดทำเนียบฯ และสนามบินคืน

มีการกดดัน ผบ.เหล่าทัพ โดยเฉพาะ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา มีการกระตุ้นให้กลุ่มทหารที่เสียประโยชน์ในกองทัพกดดันให้ พล.อ.อนุพงษ์ จัดการกับ พธม. มีการพิจารณาที่จะโยกย้าย พล.อ.อนุพงษ์ ออกจากตำแหน่ง ผบ.ทบ. และมีการที่จะแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร แต่ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551 เป็นเครื่องป้องกันไม่ให้นายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม โยกย้ายและแต่งตั้งกลุ่มนายทหารที่รัฐบาลนอมินีสามารถจะชี้นิ้วได้

ทำให้จุดยืนของ พล.อ.อนุพงษ์ แข็งแกร่งและนักการเมืองฝ่ายรัฐบาลนอมินีไม่สามารถที่จะบังคับข่มขู่ได้ ขณะเดียวกัน กองทัพอากาศเสนอ พล.อ.อ.อิทธิพล เป็น ผบ.ทอ.ที่มีจุดยืนที่แข็งแกร่งเช่นกัน ทั้งยังมีเอกภาพในเรื่องความชอบธรรมที่แท้จริงในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันเป็นสัญญาณให้ทหารอากาศเห็นจุดยืนของ ผบ.ทอ.อย่างชัดเจน ทำให้สาธารณชนอนุมานได้ว่า ผบ.ทบ. และ ผบ.ทอ. มีเอกภาพที่ชัดเจน 2 กรณีคือ เป็นทหารของในหลวง และเป็นทหารประชาธิปไตย

สัจธรรมที่แท้จริงแล้วก็คือ การที่ได้รับพระราชทานความไว้วางใจในตำแหน่ง ผบ.เหล่าทัพแล้วเป็นเกียรติยศอย่างสูงสุดของทหาร หากถูกปลดออกจากตำแหน่งเพราะนักการเมืองด้วยสาเหตุทางการเมืองแล้ว นายทหารทั้งสองคงไม่เสียใจ และไม่เสียดายตำแหน่ง แต่จะเป็นตำนานของกองทัพตลอดไปว่าเกียรติอยู่เหนือสิ่งใด
กำลังโหลดความคิดเห็น