xs
xsm
sm
md
lg

ทางเลือกของอภิสิทธิ์ (2)

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

ใน ทางเลือกของอภิสิทธิ์ (1) ผมได้เสนอให้ อภิสิทธิ์ ปกป้องและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสถาบันกษัตริย์ในระบอบรัฐธรรมนูญ และสร้างจารีตประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อันหลังนี้ง่ายมาก ถ้าหากนายกรัฐมนตรีมีความกล้าหาญและเข้าใจ ก็สามารถทำได้ด้วยตนเองทันทีไม่ต้องรอใคร ถึงกระนั้น นายกรัฐมนตรีในอดีตไม่มีผู้ใดเต็มใจทำเลย ถ้า อภิสิทธิ์ ทำได้ก็จะเป็นการเริ่มต้นจารีตที่มีประโยชน์มหันต์ต่อประชาธิปไตย

ในบทความ “อภิสิทธิ์กับประชา : ใครจะพาชาติสู่หายนะ” ผมบอกชัดว่าผมรู้จักและยอมรับทั้งคู่ได้ และก็จะไม่มีหายนะ ถ้าหากทั้งคู่ไม่ตกเป็นเหยื่อของระบบการเมืองเดิม อันเป็นต้นกำเนิดของ “วงจรอุบาทว์ และ วัฏจักรน้ำเน่า”

เมื่อ อภิสิทธิ์ ได้รับเลือก ผมโล่งใจ ที่แย่งอำนาจรัฐส่วนหนึ่งคืนมาจากรัฐบาลที่ขาดความชอบธรรมได้ แต่ผมก็ยังห่วงว่า อภิสิทธิ์ จะเอาชนะ ระบอบทักษิณ ที่ปราบ คมช.กับรัฐบาลสุรยุทธ์ มาแล้วได้หรือไม่

ผมเคยพูดถึงคุณสมบัติดีเด่นของ อภิสิทธิ์ มามากมาย ทั้งในบทความและในรายการทีวี รวมทั้งบทความ “ฮะเฮ้ย อย่าเย้ยเยาะ หยามเด็ก” ที่เป็นการโต้กับ นายสมัคร ที่อวดโอ้ว่าตนเก่งเพราะอาบน้ำร้อนมาก่อน

คราวนี้ ผมขอคลายกังวลคนไทยหัวคร่ำครึที่เป็นห่วงว่า อภิสิทธิ์ ยัง กระดูกอ่อนมีชั่วโมงบินต่ำเมื่อเทียบการศึกษากับชั่วโมงบินกันแล้ว อภิสิทธิ์เหนือกว่า ทั้ง โทนี่ แบลร์ อดีตนายกฯ หมาดๆ ของอังกฤษ และ บารัค โอบามา ประธานาธิบดีคนใหม่ของอเมริกาเสียด้วยซ้ำ

การศึกษาทั้ง 3 อยู่ในระนาบเดียวกัน อภิสิทธิ์ ดูจะมีสีสันกว่า แบลร์ นิดๆ ตรงที่เป็นศิษย์ โรงเรียนมัธยมอีตัน ทั้งคู่จบ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ส่วน โอบามา เรียน โคลัมเบียและฮาร์วาร์ด 2 มหาวิทยาลัยไอวีลีกของโลก ได้ปริญญาตรีรัฐศาสตร์กับนิติศาสตร์ แต่ มาร์ค ของเราได้ปริญญาโทเป็นของแถมจาก ออกซฟอร์ด และยังจบกฎหมายจากมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ รามคำแหง อีก

อภิสิทธิ์เล่นการเมืองนานกว่าเพื่อน มีชั่วโมงบินถึง 16 ปีกว่าจะได้เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ อายุ 44 ปีเท่าๆ กับแบลร์ แต่ แบลร์ มีประสบการณ์แค่ 13 ปี จาก 1983 พอ 1997 ก็ได้เป็นนายกฯ นับว่าเป็นประเภทดาวรุ่งพุ่งเร็ว (มาก) หรือ Fast Track ของการเมืองอังกฤษ วินซตัน เชิชชิล ใช้เวลาถึง 40 ปีและสอบตกหลายครั้งกว่าจะได้ตำแหน่ง สำหรับ โอบามา นั้นเป็นนักการเมืองระดับชาติอยู่แค่ 4 ปี และใน 4 ปีนั้นก็มัวแต่ไปหาเสียงเป็นประธานาธิบดีเสีย 2 ปีเต็มๆ

นอกจากมีชั่วโมงบินไม่น้อยแล้ว อภิสิทธิ์ ยังมี Star Quailities หรือความเป็นดาวที่ไม่น้อยหน้าผู้นำประเทศใดทั้งสิ้นในเวทีโลก คุณสมบัตินี้ ทักษิณ ซึ่งรวยอย่างเดียวแต่ภาษาอังกฤษกระท่อนกระแท่น ตามประสาดุษฎีบัณฑิตมหาวิทยาลัยบ้านนอก ย่อมจะไม่มีทางเทียบ อภิสิทธิ์ ได้

แต่ทั้งหมดนี้จะมีความหมายอะไร ถ้าหากภายในประเทศ รัฐบาลของอภิสิทธิ์ อ่อนแอไร้เสถียรภาพ ถ้าหาก อภิสิทธิ์ เป็นเชลยของกงจักรเก่าๆ น้ำเน่าเดิมๆ ที่เป็นโครงสร้างหลักของการเมืองไทย ถ้าหาก อภิสิทธิ์ ต้องตอบแทนบุญคุณผู้ที่มีส่วนในการจัดตั้งรัฐบาล เช่น จะต้องหย่อนข้อให้ คิงส์พาวเวอร์ จะต้องชะลอการดำเนินคดีของ นายชัย ชิดชอบ จะต้องชะลอคดีกล้ายางของ เนวิน จะต้องปล่อยให้ เนวิน ซึ่งเป็นต้นตอป่วนของป่วนครองอำนาจเหนือผู้ว่าราชการจังหวัด ตำรวจ และการท่าอากาศยานต่อไป จะต้องตั้งพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นตัวแทนค้ำบัลลังก์ ผบ.ทบ.และรัฐบาลไปพร้อมๆกัน ฯลฯ เป็นต้น

นี่คือเพียงบางส่วนที่ อภิสิทธิ์ จะต้องเลือก คือ เลือกที่จะใช้ความเด็ดเดี่ยวว่าจะกระทำหรือไม่กระทำ และต้องพร้อมที่จะรับผิดชอบทุกกรณี!

ทุกวันนี้ ผมเชื่อว่าประชาชนทุกระดับตื่นตัวและมีความสำนึกทางการเมืองสูงขึ้น ทั้งที่เป็น พันธมิตรฯ และไม่เป็น หาก ประชาธิปัตย์ เล่นละครตบตาประชาชน อย่ากลัวเลยว่าเขาจะจับไม่ได้ อย่าว่าแต่ 10 ปีเลย แม้แต่ปีเดียวรัฐบาล อภิสิทธิ์ ก็จะอยู่ยาก

ผมห่วงว่าการเมืองใน กรอบพฤติกรรมและความคิดเก่า (Old Paradigm) จะจองจำ อภิสิทธิ์ ถึงจะเต็มใจ แต่ก็ไม่กล้านำการปฏิรูปไปสู่การเมืองใหม่ ตาม พฤติกรรมและความคิดในกรอบใหม่ (New Paradigm) ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีงามกว่าเดิม

ผมขอยกตัวอย่างทางเลือกของ อภิสิทธิ์ เรื่องแบบ ขนาด และองค์ประกอบของรัฐบาลหรือคณะรัฐมนตรีระหว่างกรอบคิดเก่า Old Paradigm กับกรอบคิดใหม่ New Paradigm ดังนี้

สมมติฐาน : นายกรัฐมนตรีมีภาวะผู้นำ มีอิสระ มีอำนาจเลือกแบบของรัฐบาล ขนาด และองค์ประกอบของคณะรัฐมนตรี มีอำนาจยุบสภาฯ และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราเมื่อมีวิกฤตรัฐธรรมนูญ

1. รัฐบาลในกรอบคิดเก่าแบบไทย : รัฐบาลเสียงข้างมาก และรัฐบาลผสมเสียงข้างมากเผื่อพลาด (ธ.ค. 2551) รัฐบาลในกรอบคิดใหม่ (1) รัฐบาลร่วม (Co-Habitation

Government)
คือพรรคใหญ่ 2 พรรคร่วมกันจัดตั้งรัฐบาล โดยแบ่งตำแหน่งเท่ากัน และสลับตำแหน่งกันเมื่อครบ 1 ปี ตัวอย่างในฝรั่งเศส และอิสราเอล (2) รัฐบาลเสียงข้างน้อย (Minority Government) โดยพรรคใหญ่ที่ 1 หรือ 2 โดยมีพรรคอื่นสัญญาสนับสนุนมีเงื่อนไขและเงื่อนเวลา มีเสถียรภาพและอยู่ยาวในยุโรปตะวันตกกับสแกนดิเนเวีย ทำไมไทยจึงจะมีบ้างไม่ได้

2. ขนาดของ ครม.ในกรอบคิดเก่าแบบไทย 36 คนเท่ากับรัฐธรรมนูญกำหนด เท่ากับ ครม.ลาว เวียดนาม เขมร โตกว่า ครม.อังกฤษ อเมริกัน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น เยอรมนี ซึ่งเป็นมหาอำนาจประชาธิปไตยราว 10 ที่นั่ง เพราะโควตาพรรค และสูตร 5 ส.ส.ต่อ 1 เก้าอี้รมต.

ขนาดของ ครม.ในกรอบคิดใหม่ ค่อยๆ เล็กลง รธน.ว่าอย่างไรก็ช่าง ถ้าให้ดีไม่ควรเกิน 24 รัฐมนตรีช่วยไม่จำเป็นจะต้องอยู่ใน ครม.ทุกตำแหน่ง ที่นั่งไม่ใช่เครื่องมือต่อรองเก้าอี้ ประสิทธิภาพของรัฐบาลสำคัญกว่า

3. องค์ประกอบของ ครม.กรอบคิดเก่า รองนายกรัฐมนตรีเฟ้อเหมือนลาว เวียดนาม เขมร ของอังกฤษมีมั่งไม่มีมั่ง รวมทั้งสิ้นไม่เกิน 10 คนตั้งแต่มีรัฐบาลมา รมช.เฟ้อ กระทรวงเฟ้อ

องค์ประกอบของ ครม.กรอบคิดใหม่ รองนายกฯ คนเดียว ลดจำนวนกระทรวงที่ไม่จำเป็น เพิ่มตำแหน่งรัฐมนตรีที่ไม่มีกระทรวง เช่น รัฐมนตรีประจำราชสำนัก (แบบ Lord Chancellor ของอังกฤษ) รัฐมนตรีภาคเหนือ ใต้ กลาง อีสาน ไม่ต้องมี รมต.ครบ มี รมต.นอกพรรค (อย่างโอบามา) ในทุกพรรคร่วม

อภิสิทธิ์
มีสิทธิที่จะเลือกหรือไม่เลือกอะไรก็ได้ข้างต้นนี้ แต่จะต้องเข้าใจเหตุผล และข้อดี-ข้อเสียของแต่ละอย่างเปรียบเทียบกัน ผมไม่ได้อธิบาย บางอย่างก็ไม่ใหม่เสียทีเดียวสำหรับเมืองไทย เช่น ในปี 2517 รัฐบาลเสนีย์ ปราโมช ประชาธิปัตย์ นี่แหละมีที่นั่ง 72 ใน 269 ก็ตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยมาแล้ว แท้ที่จริงเสียงเกินกึ่งเพราะพรรคพลังใหม่สนับสนุนโดยไม่เข้าร่วมแต่รัฐบาลก็คว่ำเสียก่อนตอนลงคะแนนไว้วางใจ ผมคิดว่านี่เป็นสาเหตุให้ ประชาธิปัตย์ ได้รับความสงสารเห็นใจในการเลือกตั้งครั้งต่อไป ได้เสียงเกินร้อยจัดตั้งรัฐบาลได้สะดวก

ความสัมพันธ์ที่ถูกต้องระหว่างกองทัพกับรัฐบาลมีความหมายยิ่งในระบอบประชาธิปไตย ตราบใดที่กองทัพไม่เป็นทหารอาชีพ ตราบนั้นประชาธิปไตยก็พัฒนาไม่ได้

ประชาธิปัตย์ ได้ชื่อว่าชอบซูเอี๋ยกับทหาร บางครั้งก็ทำลายประชาธิปไตย เช่น รัฐบาลควง กับ คณะรัฐประหาร เป็นต้น รัฐบาลเสนีย์ ก็โดนยึดอำนาจโดย พล.ร.อ.สงัด รมว.กลาโหมคนนอก ของรัฐบาลเอง

ครั้งนี้ก็ได้ยินว่า ทหารใหญ่พากันปล่อยข่าวลือที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง ว่าเบื้องบนสั่งให้จัดเปลี่ยนขั้วรัฐบาลให้สำเร็จ ถ้าล้มเหลวก็จะต้องปฏิวัติ การตั้งรัฐมนตรีกลาโหมคราวนี้ ถ้ามีคนนอกในเครือข่าย คมช.รับรางวัล ก็จะทำให้ดูสมจริง ดังที่ ทักษิณ กับพลพรรคเสื้อแดง ประโคมข่าวโจมตีอยู่

พรรค ประชาธิปัตย์ ก็มี รัฐมนตรีกลาโหมเงา ที่เป็นทั้งส.ส.และอดีตแม่ทัพอยู่มิใช่หรือ ถ้าไม่ตั้งจะอธิบายว่าอย่างไร

อีกอย่างพรรคนี้ก็แปลก เวลาไปอี๋อ๋อกับทหารไม่ยักรู้จักเหนียม แต่กลับมาเหนียมขบวนการประชาชนประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง เช่น พันธมิตรฯ ไม่เอา พันธมิตรฯ แล้วยังไม่พอ แถมแสดงท่าทีจะกีดกันนักการต่างประเทศชั้นนำของพรรค เช่น อดีตทูตวอชิงตัน กษิต ภิรมย์ และ ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ โดยอ้างว่ากลัวจะถูกครหาว่าใกล้ชิดพันธมิตรฯ มากเกินไป

อภิสิทธิ์ ต้องกล้าตอบตนเองว่า ถ้าไม่มี พันธมิตรฯ ประชาธิปัตย์จะมีวันได้ตั้งรัฐบาลหรือ

ภายในสัปดาห์แรก อภิสิทธิ์ น่าจะต้องประกาศ วาระแห่งชาติ เรียงลำดับความสำคัญของภารกิจที่จะต้องกระทำ ทั้งที่เป็นการสร้างสรรค์ และสังคายนา

ที่สำคัญที่สุด คือการผ่าตัดใหญ่ระบบราชการที่กลายเป็นทาสของ ระบอบทักษิณมาแล้วร่วม 7 ปี การทำให้ทหาร ผู้ว่าราชการจังหวัด ตำรวจ กลับมาเป็นกลาง และเป็นมืออาชีพ รับใช้บ้านเมือง ประชาชน ประเทศชาติ และราชบัลลังก์อย่างแท้จริง แทนที่จะรับใช้นักการเมืองนั้นไม่ใช่ของง่าย บางทีจะต้องรื้อกันทั้งระบบ แต่อภิสิทธิ์ก็ไม่มีทางเลือก

เว้นแต่ อภิสิทธิ์ จะอยากเป็นนายกรัฐมนตรีในระบบ กงจักรเก่าๆ-น้ำเน่าเดิมๆ อภิสิทธิ์ ก็เลือกกรอบพฤติกรรมและความคิดเดิมๆ ของ แก๊งเลือกตั้ง ที่มีอยู่แล้วในพรรค พร้อมกับการหนุนช่วยของ เนวิน ก็ไม่เป็นไร

ประชาชนก็คงไม่มีทางเลือก นอกจากแสวงหาพรรคใหม่และทางออกใหม่ต่อไป.
กำลังโหลดความคิดเห็น