xs
xsm
sm
md
lg

ประเทศไทย....ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว !

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

การชุมนุมต่อต้านรัฐบาลตัวแทนระบอบทักษิณของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยยุติลงไปแล้วด้วยความพ่ายแพ้ของรัฐบาลตัวแทน 2 ชุดติดต่อกัน ระบอบทักษิณถอยกรูดหลายก้าวใหญ่ แต่จะเป็นความพ่ายแพ้ถาวรของระบอบทักษิณและชัยชนะถาวรของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยหรือไม่ สถานการณ์ต่อสู้ที่ยังคงดำรงอยู่ทำให้ไม่อาจมีคำตอบสุดท้ายในวันนี้

แต่พอพูดได้ประโยคหนึ่งว่าบ้านเมืองยุคหลังพันธมิตร หรือดัดจริตพูดเป็นภาษาฝรั่งว่ายุค Post P.A.D.

ประเทศไทยไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว !

ไม่ว่าจะเห็นด้วยหรือเห็นต่างกับพันธมิตรฯ แต่ไม่มีใครปฏิเสธได้ว่าพันธมิตรฯได้สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของการเมืองภาคประชาชน และการใช้สิทธิชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ ขึ้นในแผ่นดินนี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุม “ปักหลักพักค้าง” ยาวนานถึง 192 วัน 192 คืน หรือการครอบครองถนนหนทางกลางเมืองหลวง ทำเนียบรัฐบาล ไปจนถึงสนามบินนานาชาติที่เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ นี่ยังไม่นับการปิดถนนสายหลักในต่างจังหวัดและการครอบครองสนามบินนานาชาติในต่างจังหวัดชั่วครั้งชั่วคราว

การชุมนุมครั้งนี้แม้จะมีผู้เข้าร่วมในส่วนกลางสูงสุดแค่หลักแสนต้น ๆ ในวันสำคัญที่แกนนำเรียกร้อง แต่หากประเมินว่ามีผู้หมุนเวียนผลัดเปลี่ยนกันมาน่าจะต้องเกิน 1 ล้านคนขึ้นไป

อย่าลืมว่ายังมีการชุมนุมหน้าจอ ASTV หน้าจอ www.manager.co.thที่เกิดขึ้นทั่วประเทศและทั่วโลกที่มีชุมชนคนไทยอยู่อีก

คงไม่เว่อร์หรอกหากจะบอกว่ามีผู้เข้าร่วมมากกว่า 10 ล้านคน !

เฉพาะแค่นี้ก้ถือเป็นปรากฎการณ์ใหม่ที่ไม่อาจมองข้ามแล้ว

มิพักต้องพูดถึงนวัตกรรมต่าง ๆ ในการชุมนุมที่บางประการเป็นการออกแบบจากแกนนำ แต่หลายประการเป็นการออกแบบโดยตรงจากประชาชนที่แกนนำไม่เคยคิดมาก่อน เช่น การไปแสดงเจตนารมณ์ในทุกที่ที่รัฐมนตรีและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ในระบอบทักษิณเดินทางไปเยือน

หรืออย่าง “มือตบ” ที่พัฒนาการขึ้นมาเองจากของเล่นปกติทั่วไปกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้

ไม่ต้องพูดถึง “งานวัฒนธรรม” ที่ครั้งนี้เกิดเพลงเพื่อชีวิตเพื่อการต่อสู้ขึ้นหลายสิบเพลง และเสมือนมีวงดนตรีประจำการต่อสู้

เพลงเก่าที่เกิดเมื่อปี 2549 อย่าง “เทียนแห่งธรรม” ยกระดับขึ้นเป็นเสมือนเพลงประจำพันธมิตรฯไปแล้ว เปิดขึ้นมาคราใด ประชาชนที่มาร่วมชุมนุมพร้อมใจกันลุกขึ้นยืนตรงทุกครั้ง ทำให้อดนึกถึงเพลง “ภูพานปฏิวัติ” ของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยในอดีตไม่ได้

การมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการสนับสนุนทรัพย์สินเงินทอง ถือเป็นจุดเด่นของพันธมิตรฯ

เกือบ 200 วัน เฉพาะเงินบริจาคผมเชื่อว่าน่าจะมีมากกว่า 100 ล้านบาท

และหากรวมเงินสนับสนุนในรูปแบบการซื้อเสื้อและของที่ระลึกต่าง ๆ ยอดเงินน่าจะต้องพุ่งขึ้นเกิน 200 ล้านบาทอย่างแน่นอน

การเมืองในระบบพรรคการเมืองต้องใช้เงินไปซื้อเสียง แต่การเมืองนอกระบบ ใช่หรือไม่ว่าประชาชนใช้เงินมาซื้อการนำและการชุมนุมต่อสู้

การชุมนุมรอบนี้พันธมิตรฯเสนอ “การเมืองใหม่” แม้จะไม่มีบทสรุปรูปธรรมที่ชัดเจน แต่โดยกรอบใหญ่ ๆ แล้วถือว่าตรงกับใจผู้คนส่วนใหญ่

ยิ่งวันนี้เห็นการเมืองพลิกขั้วกันง่าย ๆ ไปข้างพรรคประชาธิปัตย์ – ยิ่งเห็นด้านอัปลักษณ์ของ “การเมืองเก่า” มากขึ้น !

คนจะคิดถึงข้อเสนอของพันธมิตรฯมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ !!


ปีแรกของพันธมิตรฯจบลงเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ในลักษณะที่แกนนำแยกย้ายไปคนละทาง มีพบกันบ้างเป็นบางครั้ง แต่ไม่ได้คงสภาพขององค์กรนำไว้ คุณสนธิ ลิ้มทองกุลแปรสภาพการแสดงความคิดเห็นและการต่อสู้มาเป็นรูปแบบของ “ยามเฝ้าแผ่นดิน” คุณพิภพ ธงไชย, คุณสมศักดิ์ โกสัยสุข, คุณสุริยะใส กตะศิลา ไปร่วมกันเน้นเรื่องรัฐธรรมนูญ โดยระดมความคิดเห็นจากภาคประชาชน ขณะที่พล.ต.จำลอง ศรีเมืองกลับไปปฏิบัติภารกิจตามปกติ

แต่หลังยุติการชุมนุมเที่ยวนี้ องค์กรนำทั้ง 5 + 5 ยังคงอยู่ครบ

ASTV ไม่ได้กลับไปสู่สถานะเดิม ตรงกันข้ามกลับพัฒนาไปเป็นสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมของพันธมิตรฯเต็มรูปแบบ


พูดง่าย ๆ ว่าพันธมิตรฯไม่ได้สลายตัว ไม่ว่าชั่วคราวหรือถาวร เพียงแต่ยุติการต่อสู้ด้วยรูปแบบของการชุมนุมปักหลักพักค้างต่อเนื่องเท่านั้น

การวิเคราะห์การเมืองนับจากนี้ไป จะละเลย “ปัจจัยพันธมิตรฯ” ไม่ได้

แต่น่าเสียดายว่าไม่มีนักวิชาการกลุ่มใดเข้ามาทำวิจัยพันธมิตรฯอย่างจริงจังตลอดการชุมนุมเกือบ 200 วันเลย

เห็นแต่นักวิชาการเสนอว่าพันธมิตรฯควรจะทำอย่างโน้น ทำอย่างนี้ ไม่ควรจะทำอย่างโน้น อย่างนี้ แม้กระทั่งข้อเสนอให้ประนีประนอมกับระบอบทักษิณ

เสนออะไรก็ได้ – แต่ชั้นแรกควรต้อง “รู้จักพันธมิตรฯ” ก่อน !

คำว่า “รู้จักพันธมิตรฯ” จะเกิดขึ้นได้ต้องเข้ามาศึกษา วิจัย อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ว่าประชาชนที่มานั้นมาจากไหน มาอย่างไร คิดอย่างไร บริจาคเงินมาก ๆ เพราะเหตุใด และทำไมต้องเชื่อถือศรัทธาแกนนำชนิดบอกให้ทำอะไรเป็นทำ การจะศึกษา วิจัย เช่นว่านี้ได้นอกจากจะต้องเข้ามาพูดคุยกับประชาชนในที่ชุมนุมอย่างต่อเนื่องโดยมีชุดคำถามที่ผ่านการออกแบบมาอย่างดีแล้ว จะต้องย้อนศึกษาถึงภูมิหลังการก่อกำเนิดของพันธมิตรฯตั้งแต่สมัยปี 2549 อีกด้วย และเท่านั้นยังไม่พอ ต้องศึกษาตั้งแต่เมื่อครั้งคุณสนธิ ลิ้มทองกุลทำรายการเมืองไทยรายสัปดาห์ทางช่อง 9 ตั้งแต่ปี 2547 ด้วย เพราะนั่นคือพื้นฐานความนิยมที่สั่งสมมา

งานวิจัยที่ควรจะเกิดแต่กลับไม่เกิดนี้เป็นงานใหญ่ อาจต้องใช้เงินเป็นสิบ ๆ ล้านบาท

แต่ถ้าทำได้ – จะ “คุ้ม” มาก !

น่าเสียดายที่ไม่มีใครลงมือทำ แม้แต่สถาบันพระปกเกล้า !

ศ.ดร.ชัยอนันต์ สมุทวณิช เคยเขียนบทความตั้งข้อสังเกตลง ณ ที่นี้ 2 – 3 ครั้งถึงลักษณะพิเศษของพันธมิตรฯ ถ้ามีใครพัฒนาต่อก็น่าจะเป็นคุณูปการต่อวงการวิชาการ

ถึงการชุมนุมจะยุติไปแล้ว แต่ก็ยัง “หมาด ๆ” อยู่ การศึกษาวิจัยพันธมิตรฯอย่างเป็นระบบยังทำได้

จะมีนักวิชาการสถาบันไหนกลุ่มใดสนใจงานใหญ่ชิ้นนี้ไหม ?

มา “รู้จักพันธมิตรฯ” เพื่อจะได้วิเคราะห์การเมืองไทยยุคต่อไปได้ถูกต้องมากขึ้นเพราะไม่ละเลย “ปัจจัยพันธมิตรฯ” อีกต่อไป !
กำลังโหลดความคิดเห็น