xs
xsm
sm
md
lg

เลือกนายกฯใหม่ไม่หมูกกต.ห่วงปมส.ส.สัดส่วน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

กกต.เสียงแตกปัญหา ส.ส.สัดส่วน "อภิชาต" ระบุ ย้ายเข้าพรรคเพื่อไทยไม่ได้ เหตุไม่ได้ส่งผู้สมัคร ส.ส.ครั้งที่ผ่านมา ส่วนส.ส.ที่ยังไม่มีสังกัดก็ไม่สามารถโหวตเลือกนายกฯได้ ขณะที่ "สมชัย-สดศรี" ยันย้ายพรรคได้ "ประพันธ์" แนะส่งตีความเพื่อป้องกันปัญหา ด้าน "เรืองไกร" เตรียมส่งตีความ 4 ธ.ค.นี้ ด้าน "เจิมศักดิ์" ระบุ "ชัย" ก็หมดสภาพส.ส. อดีต ส.ส.พปช.แห่สังกัด "เพื่อไทย"แล้ว 149 คน ยังไร้เงากลุ่มเพื่อนเนวิน ส่วนอดีต ส.ส.พปช.เสนอเปลี่ยนขั้วแนะ"เพื่อไทย-ประชาธิป้ตย์" จับมือตั้งรัฐบาล ชาติไทย ลั่นขอร่วมงานกับรัฐบาลเก่า "อภิสิทธิ์" ยังหนุนยุบสภาเป็นทางออก

นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผย ภายหลังการประชุม กกต. วานนี้ (3 ธ.ค.) ว่า ที่ประชุมได้พูดถึงปัญหารายชื่อผู้ที่เป็น กรรมการบริหารพรรคการเมือง 3 พรรค ที่ถูกเพิกถอนสิทธิ์ เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุชื่อเป็นรายบุคคล ที่ขณะนี้ยังมีปัญหาไม่ชัดอยู่ประมาณ 10 คน ดังนั้น กกต.จะต้องพิจารณาให้ชัดเจนโดยจะประสานกับทางอัยการสูงสุด และสภาผู้แทนราษฎร ถึงจำนวนและรายชื่อ โดยกรรมการบริหารพรรค ที่ถูกเพิกถอนสิทธิ์จะต้องเป็นกรรมการพรรคในวันที่กระทำผิด ซึ่ง กกต.เสนอไปจำนวน 40 คน เข้าใจว่าอัยการจะเสนอไปอีกฉบับที่ไม่ตรงกัน
อย่างไรก็ตามจะยึดในวันที่กรรมการบริหารพรรคกระทำผิด ทั้งนี้คาดว่าจะได้ความชัดเจนในวันที่ 4 ธ.ค.นี้ และจะเสนอให้ ครม.พิจารณาร่างพระราชกฤษฎา เลือกตั้งในวันที่ 8 หรือ 9 ธ.ค.นี้ ทั้งนี้ในการเลือกตั้งซ่อมจะมีจำนวน ส.ส. 29 คน 26 เขต ใน 22 จังหวัด โดยจะเป็น กทม.1 เขต ซึ่งไม่น่าจะมีปัญหาหาก กกต.จะกำหนดให้วันเลือกตั้งซ่อมเป็นวันที่ 11 มกราคม ที่จะตรงกับวันเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.
นายอภิชาต ยังกล่าวถึงการเลื่อนลำดับ ส.ส.สัดส่วนที่ถูกเพิกถอนสิทธิ์ ว่า ในส่วนของผู้ที่ได้ลาออกและมีการดำเนินการไปแล้วก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งยุบพรรค ก็ถือว่ามีสิทธิ์เป็น ส.ส.สัดส่วนอยู่ แต่ถ้ายังไม่ได้เลื่อนลำดับหรือลาออกในขณะที่มีคำวินิจฉัยออกมา ก็ถือว่าหมดสภาพการเป็น ส.ส.สัดส่วน และไม่สามารถเลื่อนลำดับขึ้นมาแทนกันได้ ซึ่งในจำนวนนี้มี 4 คน เป็น ส.ส.สัดส่วนพรรคชาติไทย 1 คนและพรรคพลังประชาชน 3 คน

แนะส่งตีความส.ส.สัดส่วน-พวกไร้สังกัด
อย่างไรก็ตามยอมรับว่ายังมีปัญหาที่เกิดจากความไม่ชัดเจนอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะกรณี ส.ส.สัดส่วนของอดีตพรรคพลังประชาชนจะย้ายไปสังกัดพรรคเพื่อไทย ที่อาจจะไม่สามารถย้ายไปได้ เนื่องจากในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทย ไม่ได้ส่งผู้สมัคร ส.ส.สัดส่วน การย้ายต้องย้ายไปพรรคที่ส่ง ส.ส.สัดส่วนเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่าในระหว่างนี้ที่ ส.ส.ยังไม่สามารถหาพรรคสังกัดได้ จะสามารถ ร่วมประชุมสภาเพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีได้หรือไม่ นายอภิชาต กล่าวว่าเรื่องดังกล่าวเป็นหน้าที่ของสภาฯที่จะพิจารณา เพราะเป็นปัญหาในเรื่องข้อกฎหมาย แต่หากกลัว ส.ส.ที่ยังไม่มีสังกัดเข้าประชุมเลือกนายกฯจะเป็นโฆฆะ ก็ให้เสนอเรื่องดังกล่าวให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาจากช่องโหว่ของกฎหมาย ที่ผู้ร่างฯ ไม่ได้คำนึงถึงว่าจะเกิดขึ้น
นายประพันธ์ นัยโกวิท กกต. กล่าวถึงการเลื่อน ส.ส.สัดส่วนว่าตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (8) กำหนดว่า ส.ส.สัดส่วนที่ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรคในลำดับที่จะได้เลื่อนขึ้นมา สามารถไปหาพรรคใหม่สังกัดได้ ส่วนการที่นักวิชาการมองว่า ไม่สามารถย้ายพรรคใหม่ได้เพราะพรรคที่สังกัดถูกยุบไปแล้วนั้น ตามเจตนารมณ์ ในการร่างรัฐธรรมนูญต้องการให้ประชาชนเลือก ส.ส.สัดส่วนจากพรรคการเมือง แต่ในกรณีถือว่าเป็นกรณีที่พรรคถูกยุบหรือยกเลิก อย่างไรก็ตามหากมีข้อสงสัยก็สามารถดำเนินการให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้ โดยใช้จำนวนเสียง ส.ส. เข้าชื่อร้องต่อประธานสภาฯ หรือยื่นเรื่องให้ กกต.ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ
นายประพันธ์ ยังแสดงความห่วงใยในกรณี ส.ส.สัดส่วนที่ได้ลาออกไปก่อนที่จะมีคำสั่งยุบพรรค ว่า หากประธานสภาได้เลื่อนลำดับและแต่งตั้งแล้วก็ไม่น่ามีปัญหา แต่หากยังไม่ได้แต่งตั้ง คงต้องเป็นดุลพินิจของประธานสภาฯ

ครม.รักษาการณ์สามารถยุบสภาได้
นายประพันธ์ กล่าวถึงการทำหน้าที่ของ ครม.รักษาการณ์ ว่า เมื่อมีรัฐมนตรี เกินกึ่งหนึ่ง ครม.ก็สามารถปฎิบัติงานต่อไปได้ แต่โดยมารายาทจะต้องไม่แต่งตั้งโยกย้ายหรืออนุมัติโครงการใหญ่ๆ ที่มีงบประมาณจำนวนมากๆ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีและ ครม.รักษาการณ์สามารถยุบสภาได้

"สมชัย"ยันส.ส.สัดส่วนย้ายพรรคได้
นายสมชัย จึงประเสริฐ กกต. ด้านกิจการสืบสวน สอบสวนและวินิจฉัย กล่าวว่า กรณีที่มีการบอกว่า การเลือกตั้งส.ส.สัดส่วนคือการ เลือกพรรคแล้วเมื่อพรรคถูกยุบ ก็สิ้นสภาพไปตามพรรคด้วยนั้นตนเห็นว่า เมื่อได้รับการเลือกตั้งเป็นส.ส.เรื่องก็จบแล้ว เป็นผู้แทนปวงชนแล้ว ไม่ใช่เป็นส.ส.ของคนใด คนหนึ่ง เพราะกฎหมายเขียนว่า ส.ส.เป็นผู้แทนปวงชน ดังนั้นเมื่อเลือกตั้งเรียบร้อยแล้ว มีกฎหมายตรงไหน เขียนบอกว่าสถานภาพของส.ส.สัดส่วนหมดไป เพราะประชาชนได้เลือกเขาไปแล้ว ซึ่งก็ควรจะย้ายพรรคได้ในกรณีของส.ส.สัดส่วนสำหรับพรรคการเมืองที่ถูกยุบ
ส่วนกรณีส.ส.สัดส่วนที่เป็นกรรมการบริหารพรรคและไม่ได้ลาออกก่อนศาล มีคำสั่งให้ยุบพรรคจะทำให้สิ้นสภาพการเป็นส.ส.หรือไม่นั้น นายสมชัย กล่าวว่า น่าจะสิ้นสภาพไปด้วย เพราะความเป็นส.ส.สัดส่วนของกรรมการบริหารพรรคต้องสิ้นไป ตามพรรคที่ถูกยุบ อีกทั้งส.ส.สัดส่วนที่เป็นกรรมการบริหาร ในกรณีนี้ก็ไม่ได้ลาออก ก่อนศาลมีคำสั่งให้ยุบพรรคด้วย ดังนั้น ต้องให้คงเหลือ ส.ส.เท่าที่มีอยู่ โดยไม่ต้อง มีการเลื่อนลำดับขึ้นมาแทนส.ส.สัดส่วนที่เป็นกรรมการบริหารพรรคแล้วไม่ได้ลาออก โดยจะทำให้ส.ส.ไม่ครบจำนวน 480 คนในสภา

แม้ไม่มีพรรคสังกัดก็โหวตนายกฯได้
ผู้สื่อข่าวถามว่าหากส.ส.สัดส่วนที่เป็นกรรมการบริหารพรรคลาออกก่อนหน้านี้ แล้วทางสภายังไม่ได้รับรองเป็นทางการจะมีผลกระทบหรือไม่ นายสมชัย กล่าวว่า น่าจะไม่มีปัญหาหากมีการลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ส่วนจะต้องมีการตีความในปัญหาของส.ส.สัดส่วนสำหรับพรรคถูกยุบหรือไม่นั้น ก็แล้วแต่อยากจะตีความก็ตีไป เพราะท้ายที่สุดศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ตีความ แต่ตนคิดว่าทำไมจะต้องทำเรื่อง ไม่เป็นเรื่องด้วย ทั้งที่ไม่ควรสร้างปัญหาขึ้นมา ส่วนกรณีการลงมติเลือกนายกฯนั้น ส.ส.ที่ยังไม่มีพรรคสังกัดพรรคใดก็ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่การเป็นส.ส. ในสภาต่อไปได้ แต่จะต้องหาพรรคให้ได้ภายใน 60 วัน และกฎหมายก็ไม่ได้บัญญัติห้ามในกรณีนี้ด้วย

"สดศรี"หนุนส.ส.สัดส่วนย้ายได้
ด้านนางสดศรี สัตยธรรม กกต. กล่าวว่าตามรัฐธรรมนูญมาตรา 20 กรณี พรรคการเมืองสิ้นสภาพตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ส.ส.ในพรรคนั้นจะต้องหาพรรคสังกัดภายใน 60 วัน รวมถึงกรณี ส.ส.สัดส่วน ซึ่งสามารถย้ายพรรคได้ เพราะตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 106 (8) เรื่องการย้ายพรรคไม่ได้กำหนดเฉพาะ ส.ส.เขตหรือสัดส่วน แต่เขียนแบบรวมๆ ซึ่งก็ชัดเจนแล้ว ไม่อยากให้เพิ่มข้อความในกฎหมาย แต่ยอมรับว่า กฎหมายยังมีช่องโหว่ และการที่กฎหมายเปิดโอกาสให้ย้ายพรรคได้ อาจทำให้ บางพรรคมีจำนวน ส.ส.เพิ่มขึ้นโดยไม่ผ่านการเลือกตั้ง และจำนวนพรรคในสภา ก็อาจมีจำนวนมากขึ้น

"เรืองไกร"เตรียมยื่นตีความส.ส.สัดส่วน
นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ส.ว.สรรหากล่าวถึงปัญหาส.ส.แบบสัดส่วนภายหลังถูกยุบพรรคว่า เนื่องจาก ส.ส.แบบแบ่งเขตตามกฎหมายสามารถย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองอื่นได้ภายใน 60 วัน แต่ในกรณีส.ส.แบบสัดส่วน จะสามารถย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองอื่นได้หรือไม่ เพราะตามกฎหมายหากส.ส.สัดส่วนลาออกหรือสิ้นสภาพไป ประธานสภาผู้แทนราษฏร สามารถที่จะเลื่อนลำดับตามบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองที่ส่ง ส.ส.แบบสัดส่วนลงเลือกตั้งขึ้นมาแทนที่ได้
แต่ขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายชัดเจนว่า ส.ส.สัดส่วน สามารถย้ายไปสังกัดพรรคการเมืองอื่นได้หรือไม่ ดังนั้นในวันที่ 4 ธ.ค.นี้ ตนพร้อมด้วย ส.ว.จำนวนหนึ่งจะรวบรวมรายชื่อจำนวนสมาชิกให้ได้ 15 คนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ยื่นหนังสือต่อประธานวุฒิสภา เพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยต่อไปว่า ความเป็น ส.ส.แบบสัดส่วนจะต้องสิ้นสภาพไปตามพรรคการเมืองที่ถูกยุบหรือไม่ ซึ่งขณะนี้รวบรวมได้ชื่อได้แล้วร่วม 10 คน คาดว่าในวันที่ 4 จะได้ครบตามจำนวน

"เจิมศักดิ์"หนุนส่งตีความ
ด้านนายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีต ส.ส.ร. 50 กล่าวยืนยันว่า หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรค ส.ส.สัดส่วนต้องสิ้นสภาพและไม่สามารถย้ายพรรคได้ เหมือน ส.ส.เขตส่วนกรณีนายเสรี สุวรรณภานนท์ อดีต ส.ส.ร. ออกมาระบุว่า เป็นสิทธิ ของ ส.ส.สัดส่วน ที่จะไปสังกัด พรรคการเมืองอะไรก็ได้นั้น ตนเห็นว่าที่ผ่านนายเสรี มักจะมีความเห็นที่แตกต่างกับตนเป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นกรณีเช่น กรณีที่ดินรัชดาฯ หรือ กรณีรายการ ชิมไปบ่นไป ของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกฯ
ส่วนที่มีการอ้างมาตรา 106(8) ที่ระบุว่า ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 106 (8) ระบุว่า เมื่อพรรคการเมืองถูกศาลรัฐธรรมนูญให้ยุบพรรค ส.ส.สัดส่วน สามารถ ย้ายพรรคไปสังกัดพรรคอื่นได้ ภายใน 60 วัน เช่นเดียวกับส.ส.เขต ซึ่งส.ส.สัดส่วนไม่ได้ถูกตัดสิทธิ เหมือนเช่นกรรมการบริหารพรรค ดังนั้น ขณะนี้ ก็ยังคงสถานภาพความเป็น ส.ส.สัดส่วนอยู่ โดยที่จะต้องหาพรรคเพื่อไปสังกัด ก่อนระยะเวลาที่กำหนดไว้ นั้น การอ้างมาตรา 106 (8) ต้องไปดูเหตุดูผล เพราะส.ส.แต่ละประเภทไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นต้องดูว่าการเป็นส.ส.สัดส่วนไปเลือกพรรคไม่ได้เลือกคน เมื่อเลือกพรรคถูกยุบจะถือว่าตัวเองยังสามารถเป็นส.ส.ได้อย่างไร

ชี้"ชัย"ก็พ้นสภาพการเป็นส.ส.
นายเจิมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ควรส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความดีที่สุด ซึ่งมีทางเลือก 2 ทาง ได้แก่ กกต. ทำเรื่องส่งไปยังศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีดังกล่าว รวมทั้งยื่นเรื่องกรณีที่นายกฯพ้น ไปแล้ว ครม. ต้องพ้นไปด้วยตามนายกฯหรือไม่
ส่วนที่หลายฝ่ายมองว่า นายชัย ชิดชอบ ประธานสภา ควรทำเรื่องดังกล่าว ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยนั้น ตนเห็นว่า นายชัย กำลังพ้นจากสภาพ เพราะเป็นส.ส.สัดส่วน ดังนั้นนายชัย ไม่สามารถเป็นประธานสภาได้ในขณะนี้ จนกว่าศาลวินิจฉัย ซึ่งการประชุมสภาวิสามัญในวันที่ 8 ธ.ค.จะต้องถือเป็นโมฆะ เพราะนายชัย ไม่มีสิทธิเรียกประชุมสภาได้

ครม.รักษาการเกลี่ยหน้าที่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกัน มีการประชุม ครม.รักษาการ โดยมี นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รักษาการนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
หลังการประชุมนายชวรัตน์ แถลงว่า เลขาธิการฯครม.เชิญ ครม.ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ต่อ ซึ่งจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคพลังประชาชน พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ทำให้มีรัฐมนตรีหลายคนขาดคุณสมบัติที่จะเป็นรัฐมนตรีต ดังนั้นรัฐมนตรีที่เหลือจึงมาประชุมกัน โดยมีวาระสำคัญคือการเลือกรัฐมนตรี เลือกนายกรัฐมนตรีรักษาการ จาก ครม.ที่เหลือ เพื่อปฏิบัติงานและประครองไปจนกว่าจะมีการเลือก นายกฯใหม่
โดยที่ประชุมมีมติเลือกตนทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี พร้อมกำกับดูแลกระทรวงการต่างประเทศ ส่วนพล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี ดูแลกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พล.ต.อ.ประชา พรมนอก รองนายกรัฐมนตรี ดูแลกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายโอฬาร ไชยประวัติ กำกับดูแลกระทรวงพาณิชย์ นายวรวัฒน์ เอื้ออภิญญากุล รมว.วัฒนธรรม ดูแลกระทรวงศึกษาธิการ ส่วนทีมโฆษกรัฐบาล ก็ยังเป็นชุดเดิมอยู่
สำหรับกระทรวงกลาโหมนั้น นายชวรัตนน์ กล่าวว่า ตามกฎมหายของกระทรวงกลาโหมคือให้ปลัดกระทรวงเป็นผู้ดูแล ระหว่างที่ไม่มีรัฐมนตรี

"ชวรัตน์"ยืนยันไม่มีแนวคิดยุบสภา
ผู้สื่อข่าวถามถึงการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อเลือกนายกฯคนใหม่ นายชวรัตน์ กล่าวว่า ไม่ได้หารือกัน เพราะเป็นเรื่องของสภา อย่างไรก็ตามในการเปิดประชุมสภาสมัยวิสามัญ เคยขอไว้ในวันที่ 8-9 ธ.ค.เพื่อพิจารณาสนธิสัญญา ข้อตกลงระหว่างประเทศตาม รัฐธรรมนูญ ม.190 ก่อนการประชุมอาเซียน ซึ่งตนได้คุยกับประธานสภาแล้ว ท่านบอกว่าจะใช้ช่วงเวลานั้นเฟ้นหานายกฯคนใหม่ โดยตนคงรักษาการนายกฯประมาณ 2-3 สัปดาห์
อย่างไรก็ตามหากสภาถูกปิดล้อมเลือกนายกรัฐมนตรีตนคงไม่ใช้วิธียุบสภา ส่วนที่ประชุม ครม.ตนจะพิจารณาที่ทำเนียบฯชั่วคราวดอนเมือง เพราะพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยสลายการชุมนุมแล้ว

พปช.แห่เข้าเพื่อแผ่นดินแล้ว149คน
ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศที่พรรคเพื่อไทย ถ.พระราม 4 วานนี้ (3 ธ.ค.) ว่า มีบรรดา ส.ส.จากพรรคพลังประชาชนที่ถูกยุบ ทยอยเดินทางมากรอกใบสมัครเป็นสมาชิกเป็นจำนวนมาก อาทิ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย ร.ต.ท.เชาวริน ลัทธศักดิ์ศิริ ว่าที่ ร.ต.พงศ์พันธ์ สุนทรชัย พ.ต.ท.สุรทิน พิมานเมฆินทร์
ส่วนในช่วงบ่ายมีบรรดา ส.ส.พรรคพลังประชาชน ทยอยเดินทางมาสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย อาทิ นายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ขณะนี้มีผู้มาสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย จำนวน 149 คน

"กลุ่มเนวิน"ยักยักยังไม่สมัคร"เพื่อไทย"
พ.อ.อภิวันท์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีกลุ่ม ส.ส.ของนายเนวิน ชิดชอบ มาสมัครเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะมีคนต่างพรรคมาสมัครเป็นสมาชิกพรรค และมีบางพรรคอาจจะมากันทั้งพรรค

ลูกทีมพปช.หนุนจับมือปชป.ตั้งรัฐบาล
นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย ส.ส.อุตรดิตถ์ อดีต ส.ส.พรรคพลังประชาชน กล่าวว่า ได้คุยกับส.ส.ต่างพรรคเห็นว่า น่าจะมีคนกลางโดยเป็นแกนนำของอดีตพรรคพลังประชาชนกับพรรคประชาธิปัตย์มาคุยกัน เพื่อร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาล เป็นรัฐบาลเพื่อชาติ ไม่ใช่รัฐบาลแห่งชาติ โดยจะทำงานเพื่อประชาชนและเพื่อสถาบันพระมหากษัตริย์
"คงจะมีการวางกรอบการทำงานที่ชัดเจนให้กลุ่มเสื้อเหลืองและเสื้อแดงเลิกทะเลาะกัน เราต้องทำเพื่อลูกหลานในอนาคต ไม่ใช่ทิ้งซากปรักหักพังไว้ให้ลูกหลาน ส่วนพรรคที่เหลือก็เป็นฝ่ายค้านทำหน้าที่ตรวจสอบ " นายทนุศักดิ์ กล่าว
ด้านนายประสงค์ บูรณ์พงศ์ อดีตส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน กล่าวว่า ขณะนี้มีหลายทางออก แนวทางหนึ่งคือให้พรรคพลังประชาชนกับประชาธิปัตย์จับมือตั้งรัฐบาลร่วมกัน เพื่อแก้วิกฤตการเมือง

"เสธ.หนั่น"ย้ำไม่เปลี่ยนขั้ว
ส่วนที่พรรคชาติไทย สมาชิกพรรคต่างใส่ชุดดำมาร่วมประชุมพรรคเป็นนัดสุดท้ายโดยมีสมาชิกพรรคบางส่วนต่างนำกล้องถ่ายรูปเพื่อมาถ่ายรูปพรรคชาติไทยไว้เป็นที่ระลึก นอกจากนี้ก็มีการจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์การยุบพรรคชาติไทย รวมถึงตั้งกลุ่มแซวส.ส.ของพรรคที่ไม่ได้เป็นกรรมการบริหารพรรคด้วย นอกจากนี้บริเวณ พรรคชาติไทยยังได้มีการเตรียมการ นำผ้าดำผืนใหญ่มาซ้อมปิดชื่อพรรคชาติไทย ตรงที่ทำการก่อนที่นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทยจะกล่าวเปิดใจอำลาพรรคชาติไทยเป็นครั้งสุดท้าย
ต่อมาเวลา 14.15 น. พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ อดีตประธานที่ปรึกษาพรรคชาติไทย ได้เดินทางมาพร้อมกับสมาชิกพรรค และได้นำช่อดอกไม้มาให้กำลังใจนายบรรหาร โดยพล.ต.สนั่นยืนวันว่าจะไม่มีการเปลี่ยนขั้วการเมืองหรือย้ายพรรค และกลุ่มของตนยังยืนยันที่จะอยู่กับพรรคชาติไทยพัฒนาต่อไป โดยเชื่อว่าส.ส.ที่เหลืออีก 15 คนจะไปสมัครเป็นสมาชิกพรรคชาติไทยพัฒนาทั้งหมด ซึ่งวันนี้ก็จะสมัครเป็นสมาชิกพรรค

"บรรหาร"ตัดพ้อไม่ผิดแต่ถูกยุบ
ต่อมาเวลา 16-00 น. นายบรรหาร ศิลปอาชา อดีตหัวหน้าพรรคชาติไทย พร้อมด้วยสมาชิกพรรคได้ร่วมกันทำพิธีปิดป้ายพรรคชาติไทย ที่หน้าสำนักงานพรรคชาติไทย ทั้งนี้เป็นที่น่าสังเกตว่าได้มีสมาชิกจากพรรคชาติไทยพัฒนารวมทั้งนายชุมพล ศิลปอาชา ซึ่งคาดว่าจะมาเป็นหัวหน้าพรรคมาร่วมพิธีครั้งนี้ด้วย
นายบรรหารได้กล่าวเปิดใจว่า ด้วยการตัดพ้อว่าไม่ได้ทำผิดแต่ถูก กกต.ดำเนินการสอบสวนการทุจริตเลือกตั้งจนนำไปสู่การส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคโดยไม่ให้โอกาสนำพยานที่เตรียมไว้ 19 ปากมาชี้แจง แต่อาจจากเอกสารที่ กกต.สรุปส่งมา
"ผมหัวใจแทบวายเมื่อประธานศาลรัฐธรรมนูญบอกว่าสักครู่ให้รอฟังคำตัดสิน ทำไมไม่ใช่ดุลพินิจ ไม่รอสัก 4-5 วัน แบบนี้ตรงกับที่พันธมิตรฯ พูดว่ารัฐบาลชุดนี้จะไม่ได้เข้าเฝ้าในวันที่ 4 ธ.ค. แบบนี้ความศรัทธาในกระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยจะหาไม่ได้ก็ลำบาก ประเทศชาติก็จะสิ้นเนื้อประดาตัว" นายบรรหาร กล่าวตอนหนึ่งและว่า "ต้องขอโทษเพื่อนสมาชิกที่ท่านไม่ได้ทำอะไรผิด แต่พรรคถูกยุบ แต่เขาบอกว่าเราผิด เขาบอกว่ากรรมการคนอื่นๆก็ต้องรับรู้ด้วย กฎหมายแบบนี้ เขียนได้อย่างไร"

ลูกพรรคร่ำไห้พิธีปิดป้ายพรรค
จากนั้น เวลา 16.25 น.นายบรรหารได้ทำพิธีปิดป้ายพรรคชาติไทย โดยได้มีการนำผ้าดำมาปิดชื่อพรรคไว้ทั้งหมด โดยนายบรรหารกล่าวด้วยเสียงสั่นเครือ น้ำตาคลอเบ้าว่า ต้องขอขอบคุณพล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร ดวงวิญญาณของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ พล.ต.ศิริ สิริโยธิน ที่ก่อตั้งพรรคชาติไทย เมื่อ 19 พ.ย. 2517 แต่วันนี้ตนไม่สามารถสืบทอดตำแหน่งหัวหน้าพรรคตามที่ได้รับมอบหมาย และไม่สามารถรักษาพรรคให้ท่านได้ วันนี้จำเป็นต้องปิดพรรคชาติไทยตามคำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ผู้ก่อตั้งพรรคได้ให้อภัยกับตน ตนขอรับผิดแต่เพียงผู้เดียว

"อภิสิทธิ์"ระบุยุบสภาดีที่สุด
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบ 3 พรรคร่วมรัฐบาลว่า ขณะนี้สิ่งที่ทำให้การเมืองเปลี่ยนแปลงได้คือการเปลี่ยนแปลงตามกรอบรัฐธรรมนูญ ไม่ควรเสนอปัญหาความขัดแย้ง หรือประเด็นที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งขณะนี้สถานการณ์เดินหน้ารอเพียงการประชุมสภา เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี เห็นได้จากรักษาการนายกรัฐมนตรี ยังไม่มีการพูดถึงเรื่องการยุบสภา ดังนั้น เมื่อเดินหน้าเลือกนายกฯ จึงอยากให้ส.ส.ทุกคน ได้กลับไปคิดทบทวนปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้น และให้เปิดใจกว้าง เชื่อว่าบ้างคนอาจจะมีความรู้สึกต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่นี่คือทางออกของบ้านเมือง จึงอยากให้ทุกคนไดขบคิดปัญหาที่เกิดขึ้น
"ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ว่าใครจะได้เป็นรัฐบาล แต่จะต้องรับรู้และเรียนรู้ปัญหาที่ผ่านมาว่าเกิดจากอะไร รัฐบาลต้องเป็นรัฐบาลที่ได้รับการยอมรับจากประชาชน ถึงจะแก้วิกฤตได้ และต้องคำนึงถึงปัญหาของประเทศ ไม่ใช่แก้วิกฤตเพื่อใครคนใด คนหนึ่ง ต้องเข้าใจสถานการณ์ของประเทศ และสร้างความปรองดอง ให้ชาติเดินหน้าต่อไปให้ได้ ที่สำคัญรั{บาลจะต้องเป็นรัฐบาลที่มีอำนาจอย่างแท้จริง มีความรับผิดชอบ นำพาชาติเดินไปข้างหน้าได้ ใส่ใจปัญหาของประชาชน มากกว่าเรื่องของการเมือง ซึ่งถ้ารั{บาลทำเช่นนี้ได้ วิกฤตของชาติจะคลี่คลาย"
ส่วนการยุบสภาและการเดินหน้าเลือกนายกฯ แนวทางใดเป็นทางออกที่ดีที่สุด นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า การยุบสภาน่าจะเป็นวิธีการที่ทำให้รัฐบาลหลังการเลือกตั้ง เป็นที่ยอมรับของประชาชนได้
ส่วนเรื่องการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ยังเร็วเกินไป เพราะขณะนี้ต้องรอให้ส.ส.ที่ถูกตัดสิทธิ์ยุบพรรค ได้มีเวลาคิดทบทวนปัญหาที่เกิดขึ้น และเข้าใจความเป็นไปของบ้านเมือง ก่อนตัดสินอนาคตทางการเมือง ซึ่งพรรคก็เปิดกว้างสำหรับทุกคน แต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขและจุดยื่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์
กำลังโหลดความคิดเห็น