xs
xsm
sm
md
lg

บริษัทญี่ปุ่นปวดหัวเรื่องค่าตอบแทนซีอีโอ เมื่อผนวกกิจการUSที่จ่ายเงินเดือนแพงลิ่ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วอลล์สตรีทเจอร์นัล -ในขณะที่สถาบันการเงินของสหรัฐฯถูกวิจารณ์รุนแรงเรื่องให้ค่าตอบแทนแก่ผู้บริหารระดับสูงมากเกินไป แต่สำหรับบริษัทญี่ปุ่นกลับถูกตำหนิในทางตรงกันข้าม และเนื่องจากขณะนี้พวกบริษัทญี่ปุ่นเร่งควบรวมกิจการต่างประเทศหรือว่าจ้างผู้บริหารต่างประเทศจากสหรัฐฯและยุโรปเข้ามา จึงทำให้เกิดความจำเป็นต้องเพิ่มค่าตอบแทนเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ช่องว่างระหว่างรายได้ของผู้บริหารบริษัทญี่ปุ่นและบริษัทสหรัฐฯนั้นกว้างมาก ยกตัวอย่างเช่น มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป ซึ่งเป็นกลุ่มกิจการธนาคารใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นเมื่อคิดจากมูลค่าหลักทรัพย์ เวลานี้จ่ายค่าตอบแทนให้ผู้บริหารระดับสูงสุด 14 คนรวมเป็นเงิน 8.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในรอบปีการเงินที่จะสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคมที่ผ่านมา
ในขณะที่มอร์แกน สแตนลีย์ ซึ่ง มิตซูบิชิ ยูเอฟเจเข้าไปถือหุ้น 21% ในเดือนกันยายนที่ผ่านมา เฉพาะ จอห์น แม็ค ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)เพียงคนเดียว ก็ได้ผลตอบแทนเท่ากับ 5 เท่าตัวของผู้บริหารมิตซูบิชิ ยูเอฟเจเหล่านี้รวมกัน โดยที่เขาได้เท่ากับ 41.4 ล้านดอลลาร์ในรอบปีที่สิ้นสุดเดือนพฤศจิกายน 2006 สำหรับปีที่แล้ว เขาได้ค่าเหนื่อยลดลง 1.6 ล้านดอลลาร์ หลังจากบริษัทประสบการขาดทุนรายไตรมาส และเขาก็ปฏิเสธไม่รับโบนัส
โดยเฉลี่ยแล้ว ซีอีโอของบริษัทญี่ปุ่นที่มีรายรับปีละมากกว่า 10,000 ล้านดอลลาร์นั้นจะได้รับค่าจ้างราวคนละ 1.3 ล้านดอลลาร์ต่อปี นี่รวมทั้งโบนัส และออพชั่นหุ้นแล้วด้วย ข้อมูลทั้งหมดนี้มาจากทาวเวอร์ เพอร์ริน บริษัทที่ปรึกษาที่เก็บรวบรวมในระหว่างปี 2004-2006 ในขณะที่บรรดาผู้นำของบริษัทในสหรัฐฯได้รับเงินเฉลี่ยคนละ 12 ล้านดอลลาร์ต่อปี ส่วนยุโรปนั้นได้เฉลี่ย 6 ล้านดอลลาร์
ความแตกต่างเช่นนี้เริ่มได้รับความสนใจมากขึ้น เมื่อบริษัทของญี่ปุ่นที่ร่ำรวยด้วยเงินสดกำลังช็อปปิ้งบริษัทตะวันตกอย่างเพลิดเพลิน ดีลโลจิค โฮลดิ้งส์ บริษัทด้านเก็บตัวเลขข้อมูลธุรกิจ กล่าวว่าในปีนี้บริษัทญี่ปุ่นใช้เงินไปแล้ว 71,500 ล้านดอลลาร์ในการเจรจาซื้อขาย 308 สัญญา หรือเพิ่มขึ้นเป็นกว่าสามเท่าตัวเมื่อเทียบกับ 23,500 ล้านดอลลาร์ของปี 2007
โนมูระ โฮลดิ้งส์ อิงค์ ซึ่งเข้าซื้อกิจการส่วนที่อยู่ในยุโรปและเอเชียของเลห์แมน บราเธอร์สในเดือนกันยายน ก็กำลังประสบปัญหายุ่งยากเนื่องจากพนักงานของเลห์แมนได้ลาออกไปแล้วหลายร้อยคน จากที่มีอยู่ในสำนักงานสาขาที่โตเกียวราว 1,300 คน
เนื่องจากคนที่มีผลงานยอดเยี่ยมในบริษัทวิตกว่าจะต้องถูกลดเงินเดือนลงเพื่อให้อยู่ในโครงสร้างเดียวกันพนักงานอื่น ๆที่โนมูระรับเข้ามาใหม่ ๆ
ดังนั้นโนมูระจึงต้องกำหนดโบนัสให้พนักงานเลห์แมนเท่ากับระดับของปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตามนโยบายนี้ก็มีความเสี่ยงด้วยเช่นกัน คือ ผู้ที่มีผลงานดีก็จะลาออกไปอยู่ดี ทำให้โนมูระต้องจ่ายเงินจำนวนมหาศาลกับพนักงานที่ไม่เก่งไม่สามารถช่วยบริษัทได้มากนัก ในขณะที่อุตสาหกรรมการเงินทั้งโลกกำลังอยู่ในขาลงและวิกฤตการเงินก็ยังคงดำเนินต่อไป
ในขณะเดียวกัน พนักงานของโนมูระที่ทำงานมานานและได้เงินเดือนน้อยนิดก็อาจจะไม่พอใจที่คนของเลห์แมนได้เงินเดือนมากกว่าด้วย
เงินเดือนและโบนัสเฉลี่ยของพนักงานโนมูระ ซีเคียวริตี้ส์ ในญี่ปุ่นจำนวน 12,000 คนนั้นอยู่ที่คนละ 11.69 ล้านเยนหรือ 122,441 ดอลลาร์ต่อปี ณ ปีการเงินที่สิ้นสุดเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งต่ำกว่าเฉลี่ยคนละ 300,000 ดอลลาร์ของพนักงานเลห์แมนเป็นอันมาก
เจสสี ฟรายด์ ศาสตราจารย์ด้านกฏหมายของมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตเบิร์กลีย์ ที่เป็นผู้ร่วมเขียนหนังสือเกี่ยวกับเงินตอบแทนของผู้บริหารบริษัทต่าง ๆในปี 2004 กล่าวว่าการจ่ายค่าเหนื่อยสูงมาก ๆ อย่างที่ให้กับซีอีโออเมริกันนั้น ไม่เป็นที่ยอมรับได้ในทางสังคมในประเทศต่าง ๆทั่วโลก รวมทั้งญี่ปุ่นด้วย
ที่ญี่ปุ่นปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการกำหนดเงินเดือนก็คือ ความอาวุโส ไม่ใช่ตามความสามารถในการทำงาน นอกจากนี้บริษัทก็เน้นความกลมเกลียวกันระหว่างพนักงาน เหนือความสามารถของบุคคล
อย่างไรก็ตามในอุตสาหกรรมใหม่ที่กำลังเฟื่องฟูอย่างเช่น เทคโนโลยี และการเงิน ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าบริษัทแดนอาทิตย์อุทัยก็เริ่มหันมาจ่ายเงินเดือนและผลประโยชน์พ่วงอื่น ๆตามความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นชาวต่างชาติหรือชาวญี่ปุ่นเอง
นิกโก้ ซิตี้กรุ๊ป ซึ่งเป็นกิจการร่วมทุนกันระหว่างซิตี้กรุ๊ป กับ นิกโก้ ซีเคียวริตี้ส์ของญี่ปุ่น ได้พบหนทางการแก้ไขปัญหาก็คือ พนักงานราว 400 ของนิกโก้ได้เปลี่ยนไปอยู่ใต้โครงการจ่ายค่าตอบแทนของซิตี้ตั้งแต่ก่อนที่ซิตี้กรุ๊ปจะเข้าบริหารบริษัททั้งหมดเมื่อต้นปีนี้ ซึ่งเป็นการใช้มาตรฐานเดียวกันพนักงานที่ซาโลมอน สมิธ บาร์นีย์ อันเป็นหน่วยงานวาณิชธนกิจของซิตี้
กำลังโหลดความคิดเห็น