เอเจนซี่ - บรรษัทข้ามชาติในแดนมังกรเจอพายุวิกฤตการเงินโลกซัดกระหน่ำทำผลประกอบการทรุด แห่เร่งปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ ปลดผู้บริหาร ทำสงครามหั่นราคา และประหยัดต้นทุน หลายแห่งถึงขั้นย้ายฐานการผลิตไปประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ค่าจ้างแรงงานถูกกว่า
หนังสือพิมพ์เหวินฮุ่ยเป้าของฮ่องกงระบุ กระแสบริษัทต่างชาติแห่ปลดพนักงานไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในสหรัฐฯ หรือแม้แต่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ได้ลามไปถึงแผ่นดินใหญ่ด้วยเช่นกัน โดยเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ทางบริษัทโตชิบาประจำประเทศจีนได้ปลดผู้จัดการใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นออกจากตำแหน่ง
และก่อนหน้านั้นก็มีข่าวว่าริชาร์ด เวิง นายธนาคารระดับอาวุโสของวาณิชธนกิจระดับโลกอย่าง โกลด์แมน แซคในประเทศจีนได้ลาออกกลับไปยังมาเลเซียบ้านเกิด โดยให้เหตุผลว่าจะกลับไปช่วยดูแลกิจการของครอบครัว ส่วนบริษัทต่างชาติชื่อดังรายอื่นๆ อาทิ บริษัทโทรศัพท์เคลื่อนที่ โมโตโรล่า และไมโครซอฟต์ ก็ล้วนแล้วแต่ประสบปัญหาต้องปลดผู้บริหารระดับสูงทั้งสิ้น
แม้ว่าบริษัทแต่ละแห่งจะให้เหตุผลการลาออกของเจ้าหน้าที่อาวุโสในจีนที่แตกต่างกัน แต่แหล่งข่าววงในต่างคาดเดาสาเหตุไปในทิศทางเดียวกันว่า “เพราะปีนี้ผลประกอบการของบริษัทสาขาในประเทศจีนไม่สู้ดีนัก ดังนั้นเบื้องบนจึงต้องการเปลี่ยนคน”
นอกจากมาตรการปรับเปลี่ยนผู้บริหารแล้ว หลายบริษัทยังหันมาใช้กลยุทธ์สงครามหั่นราคา เพื่อกระตุ้นยอดขาย ดังเช่นบริษัทแมคโดนัลด์ ที่ลดกระหน่ำราคาชุดอาหารกลางวัน ซึ่งประกอบด้วยแฮมเบอร์เกอร์เนื้อ หมู หรือ ปลา พร้อมด้วยโค้กและเฟรนช์ฟรายส์ เหลือชุดละ 16.5 หยวน (ราว 85 บาท) ลดลงประมาณ 30% แต่ในเบื้องต้น โปรโมชั่นดังกล่าว จำกัดอยู่ที่สาขาของแมคโดนัลด์ ในเมืองเซินเจิ้น กว่างโจว และหนานจิง เท่านั้น
ข้างฝ่ายเคเอฟซี คู่แข่งตลอดกาลของแมคโดนัลด์ ก็เปิดศึกลดราคาโดยออกแคมเปญ “ซื้อสองถูกกว่า” ก็คือหากสั่งอาหารสองชุดขึ้นไปจะได้รับส่วนลดพิเศษราว 20% ซึ่งทางเคเอฟซีได้เกทับคู่แข่งด้วยการประกาศใช้โปรโมชั่นนี้กับร้านเคเอฟซีทั่วประเทศจีนกว่า 1,400 ร้านใน 31 เมือง อีกด้วย ทั้งนี้โปรโมชั่นครั้งนี้ของเคเอฟซี ถือเป็นการลดราคาลงมากที่สุดตั้งแต่เคเอฟซีเข้ามาเปิดกิจการในประเทศจีน
ส่วนทาง พิซซ่า ฮัท ก็ได้เสนออาหารชุด 7 แบบ ในราคาตั้งแต่ 28-42 หยวน (ประมาณ 145 – 218 บาท) ซึ่งคำนวณแล้วลดราคาลงมามากที่สุดถึง 40%
นอกจากนี้การที่สภาพเศรษฐกิจซบเซาก็บีบให้บรรษัทข้ามชาติต่างๆ เริ่มปรับลดการคาดการณ์ธุรกิจในแผ่นดินใหญ่ลง ดังเช่นบริษัทกล้องแคนอนของญี่ปุ่นที่คาดการณ์ผลประกอบการปีหน้าว่าจะลดลงร้อยละ 10 ขณะที่บริษัทผลิตภัณฑ์กีฬามิซูโนก็ระงับแผนการขยายร้านค้าในประเทศจีนแล้ว
อย่างไรก็ตามจากข้อมูลตัวเลขระบุว่า บริษัทสหรัฐฯ ที่ลงทุนในเขตเศรษฐกิจสามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำแยงซีเกียงประมาณ 82.9% ยังมีความหวังต่อธุรกิจในประเทศจีนปี 2009 และมีกลุ่มตัวอย่างเพียง 30% ที่เชื่อว่าสภาพธุรกิจในปีหน้าจะยิ่งประสบปัญหาหนักขึ้น
และเนื่องจากเผชิญปัญหาขาดแคลนเงินทุนอย่างหนัก ทำให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของบริษัทต่างชาติต่างพยายามคิดหาวิธีลดค่าใช้จ่าย โดยพนักงานของบริษัทโตชิบาเล่าให้ฟังว่า ทางบริษัทได้ลดค่าใช้จ่ายสำหรับออกไปทำงานนอกสถานที่ “เมื่อก่อนไปทำงานที่อันฮุยจะนั่งเครื่องบินไป แต่ตอนนี้ก็เปลี่ยนเป็นนั่งรถไฟไปแทน แม้แต่เถ้าแก่ที่มาจากญี่ปุ่นก็เช่นกัน” โดยจากผลการสำรวจของศูนย์กลางการบินเอเชียแปซิฟิกและคณะกรรมการการบินพลเรือนแห่งประเทศจีนระบุว่า ปัจจุบันมีบริษัทต่างชาติราว 76% เริ่มลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงานนอกสถานที่แล้ว
แต่ที่ร้ายกว่านั้นคือ มีบริษัทสหรัฐฯ บางรายที่ประสบปัญหาจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก อาทิ อดิดาส และผู้ผลิตชื่อดังอื่นๆ เริ่มวางแผน “ย้ายฐานการผลิต” ไปยังประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ต้นทุนแรงงานต่ำกว่า อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้นักเศรษฐศาสตร์บางรายแสดงความเห็นว่า ปรากฏการณ์ย้ายฐานการผลิตดังกล่าวไม่น่าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจจีนมากนัก เนื่องจากเวียดนามและประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อื่นๆ ยังขาดแคลนสาธารณูปโภครองรับการลงทุนด้านเทคโนโลยีอยู่