xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์UBSถูก "นิวยอร์ก"ฟ้อง"ฉ้อโกง"แนะลูกค้าถือตราสารแย่ๆ$25.000ล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ - มลรัฐนิวยอร์กฟ้อง ยูบีเอส เอจี แบงก์ยักษ์สัญชาติสวิส ในข้อหา "กระทำการฉ้อโกงเป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านดอลลาร์" โดยการแนะนำให้ลูกค้าที่เป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ ให้หันมาซื้อตราสารกำหนดอัตราดอกเบี้ยโดยการประมูล ซึ่งไม่สามารถจะขายออกได้เลยเมื่อเกิดวิกฤตสินเชื่อขึ้น

การฟ้องยูบีเอสดังกล่าวนั้นดำเนินการโดย แอนดรูว์ คูโอโม ซึ่งเป็นอัยการสูงสุดของมลรัฐนิวยอร์ก ในคำฟ้องกล่าวหาว่ายูบีเอสหลอกลวง ด้วยการขายหลักทรัพย์ที่ต้องพึ่งพิงการประมูล โดยบอกว่ามีสภาพคล่องระดับสามารถที่จะใช้แทนเงินสดได้

หลักทรัพย์ที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยด้วยการประมูลนี้ มักเป็นตราสารหนี้ระยะยาวที่ออกโดยพวกเทศบาล, บริษัทที่ให้กู้แก่นักศึกษา, รวมทั้งกองทุนรวม และจะกำหนดอัตราดอกเบี้ยโดยผ่านการประมูลประจำสัปดาห์หรือประจำเดือน

ในคำฟ้องยังกล่าวอีกด้วยว่าผู้บริหารของยูบีเอสอย่างน้อย 7 คนทุ่มขายหลักทรัพย์ชนิดนี้ซึ่งอยู่ในบัญชีส่วนตัวออกไปเป็นมูลค่าถึง 21 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่ตลาดสินเชื่อส่งสัญญาณออกมาว่ามีปัญหา ในขณะเดียวกันทางยูบีเอสก็ยังขายหลักทรัพย์นี้ให้แก่ลูกค้าต่อไป

ยูบีเอส "ยังคงหลอกลวงต่อไปหลังจากที่รู้ว่าแผนการของตนเองถูกเปิดโปงออกมาแล้วก็ตาม" คูโอโมกล่าวขณะแถลงข่าว "ผู้บริหารระดับสูงสละเรือทันทีที่รู้ว่าตลาดหลักทรัพย์เริ่มทรุดลง ทำให้ลูกค้านับพันรายขาดทุนยับเยิน"

คูโอโมบอกอีกว่าในเดือนกุมภาพันธ์ ลูกค้าของยูบีเอสมากกว่า 50,000 รายทั่วสหรัฐฯถือหลักทรัพย์ที่ไม่มีสภาพคล่องนี้ไว้ถึง 25,000 ล้านดอลลาร์ แม้ว่าตอนนี้สำนักงานอัยการสูงสุดของรัฐนิวยอร์กจะยังมิได้ฟ้องตัวบุคคล แต่คูโอโมก็บอกว่าการสอบสวนยังคงดำเนินต่อไป

ในขณะเดียวกัน ยูบีเอสออกมาบอกว่า จะต่อสู้ข้อหาดังกล่าวในศาล
"เป็นเรื่องที่น่าเสียใจยิ่งที่อัยการมลรัฐนิวยอร์กส่งเรื่องฟ้องร้องไปยังศาล ในขณะที่เราและทางอัยการยังคงอยู่ในขั้นการเจรจาไกล่เกลี่ยกันอยู่" ธนาคารกล่าว

ยูบีเอสกล่าวว่าได้ดำเนินการสอบสวนภายในอยู่แล้ว ต่อข้อกล่าวหาที่ว่าผู้บริหารของยูบีเอสเทขายตราสารหนี้ดังกล่าวออกไป

"แม้ยูบีเอสจะไม่เชื่อว่าจะพนักงานคนใดกระทำผิดกฎหมาย แต่เราก็ได้พบว่ามีการตัดสินใจที่ผิดพลาดในพนักงานบางคน และกำลังประเมินอยู่ว่าควรจะใช้มาตรการทางวินัยที่เหมาะสมอย่างไร"

คดีนี้เริ่มขึ้นจากการสอบสวนของมลรัฐนิวยอร์กว่า บริษัทโบรกเกอร์จัดการอย่างไรกับตลาดตราสารหนี้ประเภทประมูลดอกเบี้ย ซึ่งมีมูลค่ารวมประมาณ 300,000 ล้านดอลลาร์ โดยระหว่างการสอบสวนเมื่อเดือนเมษายน คูโอโมส่งหมายศาลเพื่อข้อข้อมูลไปยังบริษัทนายหน้าและธนาคารถึง 18 แห่ง

หลักทรัพย์ชนิดนี้ได้รับความนิยมในหมู่นักลงทุนอย่างมาก เพราะว่าให้อัตราดอกเบี้ยสูงกว่ากองทุนตลาดเงินอื่น ๆและถูกมองว่าซื้อง่ายขายคล่อง

แต่แล้วตลาดสำหรับตราสารหนี้ชนิดประมูลดอกเบี้ยนี้ก็ประสบปัญหา เมื่อนักลงทุนที่ตื่นตระหนกมาจากสภาพการขาดแคลนสินเชื่อต่างพากันหยุดซื้อหยุดประมูล บรรดาบริษัทในตลาดวอลล์สตรีท ซึ่งเป็นผู้อัดฉีดเงินเข้าสู่ตลาดนี้มาเนิ่นนาน เมื่อเจอกับลูกค้าที่พากันขอขายคืน ทำให้ต้องค่อยๆ ทยอยเลิกความพยายามที่จะพยุงตลาด ด้วยการเข้าไปประมูลเอง

ราวปลายเดือนมกราคม การประมูลอัตราดอกเบี้ยไม่สามารถดำเนินการได้ตามเดิม และในที่สุดตราสารที่ได้รับการโฆษณาชวนเชื่อว่ามีสภาพคล่องเท่ากับเงินสดก็ไม่สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้แม้แต่น้อย ในขณะเดียวกันผู้ออกตราสารเหล่านี้ อย่างเช่น การท่าเรือของนิวยอร์ก ก็ถูกบีบให้จ่ายอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นมาก

นอกจากนิวยอร์กแล้ว แมสซาชูเซตต์และเทกซัสก็กำลังดำเนินการฟ้องร้องยูบีเอสอยู่เช่นเดียวกัน ข้อกล่าวหาก็คือยูบีเอสยังคงโฆษณาว่าหลักทรัพย์ประมูลดอกเบี้ยนี้ยังคงน่าลงทุน ทั้ง ๆที่รู้ดีว่ามีความเสี่ยงมากเพียงไร

เมื่อต้นสัปดาห์นี้ คณะกรรมาธิการหลักทรัพย์ของเทกซัสออกบันทึกมาว่า กำลังพิจารณาว่าจะห้ามยูบีเอส เอจีเป็นโบรกเกอร์ค้าหลักทรัพย์ในมลรัฐไปจนกว่าชาวเทกซัสที่ลงทุนในตราสารชนิดนี้จะได้เงินของพวกเขาคืน

แต่ในบรรดามลรัฐในสหรัฐฯทั้ง 7 แห่งที่กำลังสอบสวนกรณีการซื้อขายตราสารหลักทรัพย์ประมูลดอกเบี้ย ข้อกล่าวหาของมลรัฐนิวยอร์กถือว่าร้ายแรงที่สุดสำหรับยูบีเอส เนื่องจากคูโอโมได้ขยายอำนาจของสำนักงานอัยการแห่งมลรัฐให้ทำการครอบคลุมทั้งประเทศ เนื่องจากเขาเห็นว่าบริษัทสหรัฐฯส่วนใหญ่มีสาขาและดำเนินงานอยู่ทั่วประเทศ แม้ว่าจะมีสำนักงานใหญ่อยู่ในนครนิวยอร์กก็ตาม
กำลังโหลดความคิดเห็น