xs
xsm
sm
md
lg

ร่างแผนรื้อสิ่งปลูกสร้างรอบอ่าวไทย แปลงแท่นผลิตปิโตรเลียมเป็นปะการังเทียม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แท่นสำรวจและขุดเจาะกลางทะเล  เมื่อหมดอายุสัมปทานจะสร้างปัญหามากมาย ทำให้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ต้องเปิดเวทีระดมความเห็นว่า จะจัดการกับของเหล่านี้อย่างไร
ศูนย์ข่าวหาดใหญ่ – กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน จับมือสถาบันปิโตรเลียม และผู้ประกอบกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสีย ต่อแนวทางการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในทะเลสำหรับกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม โดยเฉพาะกลุ่มประมงรอบอ่าวไทย ซึ่งคาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้าจะหมดอายุสัมปทาน ด้วยความเห็นแตกต่างทั้งการเห็นด้วยกับการรื้อถอน เพื่อคืนธรรมชาติสู่ท้องทะเล และเปลี่ยนจากการรื้อถอนเป็นใช้ประโยชน์จากแท่นกลางทะเล ทั้งเป็นปะการังเทียม แหล่งศึกษาเรียนรู้ และเพื่อการท่องเที่ยว


เมื่อเร็วๆ นี้ กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็น ต่อร่างแนวทางการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในทะเลสำหรับกิจการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ซึ่งภายใน 10 ปีข้างหน้า อายุสัมปทานปิโตรเลียมจะทยอยหมดลง ณ ห้องราชมังคลา แกรนด์ บอลรูม โรงแรมราชมังคลา พาวีเลียน บีช รีสอร์ท จังหวัดสงขลา โดยมีหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคการศึกษา และประชาชนซึ่งเป็นผู้ที่จะได้รับผลกระทบในพื้นที่ ทั้ง จ.ปัตตานี นราธิวาส สงขลา นครศรีธรรมราช เป็นต้น เข้าร่วม จะต้องดำเนินการตามแนวทางการรื้อถอนที่ทุกฝ่ายร่วมกันกำหนดขึ้น

นางบุญศรี ทองเป็นใหญ่ รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวว่า ประเทศไทยได้มีการนำเอาทรัพยากรปิโตรเลียมขึ้นมาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2524 เป็นต้นมา มีการสำรวจพบแหล่งปิโตรเลียมรวมทั้งสิ้น 78 แหล่ง ทั่วประเทศ มีการดำเนินการผลิตแล้ว 49 แหล่ง โดยแบ่งเป็นแหล่งบนบก 21 แหล่ง แหล่งในทะเล 28 แหล่ง ซึ่งแหล่งในทะเลทั้งหมดอยู่ในทะเลอ่าวไทย ประกอบด้วยแหล่งก๊าซธรรมชาติ 19 แหล่ง แหล่งน้ำมันดิบ 9 แหล่ง

ในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมดังกล่าว มีการสร้างสิ่งปลูกสร้าง และติดตั้งวัสดุ อุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกในการสำรวจ ผลิต เก็บรักษา หรือขนส่งปิโตรเลียม ซึ่งตามพระราชบัญญัติปิโตรเลียม ฉบับที่ 6 พ.ศ.2550 มาตรา 80/1 ระบุไว้เมื่ออายุสัมปทานสิ้นสุดลง หรือผู้รับสัมปทานไม่ได้รับการต่ออายุสัมปทาน ผู้รับสัมปทานมีหน้าที่รับผิดชอบในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง วัสดุอุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกเหล่านั้น โดยให้ผู้รับสัมปทานยื่นแผนงานและประมาณการค่าใช้จ่ายในการรื้อถอน เพื่อขอรับความเห็นชอบจากอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด รวมทั้งรับผิดชอบภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการทั้งหมด

รองอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กล่าวอีกว่า ในการจัดประชุมครั้งนี้มีการนำเสนอร่างแนวทางปฏิบัติการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในทะเล สำหรับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมต่อกลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยนำความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ไปใช้ประกอบการพิจารณาปรับปรุงร่างแนวทางปฏิบัติฯ เพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ สามารถปฏิบัติได้จริง มีความเหมาะสมต่อสภาพทางภูมิศาสตร์และระบบนิเวศทางทะเล และเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่อไป

ด้านนายวิศรุต ตั้งสุนทรขัณฑ์ วิศวกรปิโตรเลียม นำเสนอสาระสำคัญของร่างแนวทางการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในทะเล สำหรับกิจการการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมต่อที่ประชุมว่า แหล่งปิโตรเลียมทั้ง 24 แหล่ง มีจำนวนสิ่งปลูกสร้างในทะเลของประเทศไทย มีมีจำนวนแท่นรวมทั้งหมด 256 แท่น ได้แก่ แท่นหลุมผลิตปิโตรเลียม 216 แท่น แท่นผลิตปิโตรเลียมกลาง 16 แท่น แท่นที่พักอาศัย 9 แท่น แท่นอุปกรณ์เสริม 15 แท่น

เมื่อหมดอายุสัมปทานหากทำการรื้อถอนไม่ถูกต้องตามหลักวิธีการปฏิบัติงานที่ดี จะส่งผลกระทบต่อด้านสิ่งแวดล้อม มีการปนเปื้อนของปิโตรเลียมลงสู่ทะเล การฟุ้งกระจายของตะกอนเศษดิน เศษหินจากการรื้อถอนขาแท่นและท่อส่งปิโตรเลียม จึงมีการร่างแนวทางปฏิบัติในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเพื่อให้การดำเนินงานการรื้อถอนเป็นไปอย่างถูกต้อง เหมาะสม มีความปลอดภัย ไม่เกิดให้เกิดผลกระทบต่อชุมชน และสิ่งแวดล้อม

สำหรับขั้นตอนการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในทะเลมี 6 ขั้นตอน ได้แก่ 1.การปิดและสละหลุมด้วยซีเมนต์ที่มีความแข็งแรงและทน เพื่อให้แน่ใจว่าหลุมปิโตรเลียมทุกหลุมได้ถูกปิดและรื้อถอนอย่างถูกต้องตามวิธีการและมาตรฐาน เพื่อป้องกันการปนเปื้อนของปิโตรเลียมต่อชั้นน้ำใต้ดิน ขั้นตอนที่ 2 การจัดการท่อส่งปิโตรเลียมและอุปกรณ์ต่างๆ ต้องผ่านการทำความสะอาดเพื่อชะล้างคราบปิโตรเลียมและกำจัดสารปนเปื้อน

ขั้นตอนที่ 3 การนำส่วนบนออก อาจนำไปใช้ซ้ำหรือนำไปกำจัดตามวิธีการที่ถูกต้อง ขั้นตอนที่ 4 การตัดขาแท่น ทำได้หลายวิธี การใช้ใบเลื่อย การใช้น้ำแรงดังสูง การตัดโดยใช้นักประดาน้ำ และการใช้ระเบิด ทั้งนี้อาจนำขาแทนไปสร้างปะการังเทียม ขั้นตอนที่ 5 การนำขาแท่นไปกำจัด จะทำการขนย้ายหรือนำไปสร้างปะการังเทียมโดยยกขาแท่นขึ้นเรือและลากไปยังจุดหมาย และขั้นที่ 6 การกำจัดเศษหินและดินตะกอนทำได้โดยการคลุมด้วยวัสดุพิเศษ การขนย้ายเพื่อไปกำจัด หรือการอัดกลับลงในหลุมที่ไม่ได้ทำการผลิตแล้ว

“การรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในทะเลในการผลิตปิโตรเลียมของประเทศไทย ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะผู้ที่ประกอบอาชีพทำประมง การรวมกันร่างแนวทางการรื้อถอนฯ ในครั้งนี้ถือว่ามีหลายๆหน่วยงานที่เข้ามาเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะการให้ความสำคัญต่อประชาชน” นายวิศรุตกล่าว

ด้านความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมประชุม ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการรื้อถอนในครั้งนี้ มีความเห็นออกเป็น 2 ประเด็น คือต้องการให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในทะเล เพื่อคืนสภาพธรรมชาติสู่ท้องทะเล เนื่องจากเป็นหน้าที่ของผู้รับสัมปทานที่จะต้องดูแลสิ่งแวดล้อมหลังจากเสร็จสิ้นการขุดเจาะอยู่แล้ว รวมถึงต้องเป็นผู้ที่รับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นทั้งหมดซึ่งมีมูลค่าสูงไล่เลี่ยกับการติดตั้งแท่น แต่หากไม่มีการรื้อถอนแล้วต้องมีการบำรุงรักษา อีกทั้งหากปล่อยให้แท่นดังกล่าวยังคงตั้งอยู่กลางทะเลจะเกิดอุปสรรคต่อการเดินเรืออีกด้วย

สำหรับ อีกแนวความคิดเห็นหนึ่ง คือ รื้อสิ่งปลูกสร้างออกบางส่วนที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ และปรับปรุงส่วนที่เหลือเพื่อใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ โดยมีมติของสมาคมประมงแห่งประเทศไทยเป็นเสียงสนับสนุนหลัก โดยตัวแทนของ นายมานะ ศรีพิทักษ์ ประธานสมาคมประมงแห่งประเทศไทย พร้อมทั้งเสนอให้นำเรือประมงเก่ามาทิ้งรอบแท่นเพื่อเป็นปะการังเทียมให้แก่สัตว์น้ำ

เช่นเดียวกับนายอดุล หวังสกุล ตัวแทนประชาชนจากกรมประมงจังหวัดปัตตานี ซึ่งให้ความเห็นว่า การรื้อถอนในครั้งนี้มีความเป็นห่วงในการทำลายสิ่งแวดล้อม เพราะอาจส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำ แต่หากเก็บสิ่งปลูกสร้างไว้จะก่อให้เกิดประโยชน์มากกว่า โดยใช้เป็นปะการังเทียมให้สัตว์น้ำอาศัยต่อไป ซึ่งปกติแล้วสิ่งก่อสร้างที่มีอยู่มีปลาชุกชุมกว่าที่อื่น เพราะมีการออกกฎห้ามจับสัตว์น้ำใกล้สิ่งก่อสร้างไม่เกิน 500 เมตร ส่วนแท่นที่อยู่ของพนักงานอาจใช้เป็นที่อยู่ของกองทัพเรือต่อไปก็ได้

นอกจากนี้แล้ว ในที่ประชุมยังได้มีเสนอให้มอบแท่นให้แก่มหาวิทยาลัย เพื่อใช้ในการศึกษาของนักศึกษา อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ คณะวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยไม่เห็นด้วยกับแนวคิดดังกล่าว เพราะเมื่อมีการโอนรับแล้ว มหาวิทยาลัยต้องแบกรับหน้าที่ในการดูแลรักษา ซึ่งจำนวนค่าใช้จ่ายก็มีจำนวนสูง และยังไม่มีองค์กรใดมาให้งบประมาณในการดูแลรักษาข้างต้น

สำหรับเหล็กที่อยู่ใต้ทะเลจะมีความคงทนได้อย่างน้อย 300 ปี ถ้ามีการนำแท่นมาทำปะการังเทียม ต้องมีการระบุผู้รับผิดชอบ เพราะนั่นหมายถึงผู้รับสัมปทานได้หมดหน้าที่ในการรับผิดชอบแล้ว

อย่างไรก็ตาม ถ้าจะมีการรื้อถอน ก็ควรคำนึงถึงผลประโยชน์ของชาวประมงในพื้นที่เป็นหลัก โดยถ้าจะนำทำมาเป็นปะการังเทียมก็จะเป็นการดี เพราะสอดคล้องกับโครงการในพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่กำลังดำเนินการอยู่ใน จ. ปัตตานี ซึ่งอาจจะขัดกับแนวคิดของนายสนธิ เตชานันท์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ที่ต้องการให้ใช้แท่นดังกล่าวเป็นสถานที่ท่องเที่ยว

นายพิชัย นาดี ตัวแทนชาวประมงจากอำเภอหัวไทร จ.นครศรีธรรมราช กล่าวว่า รัฐบาลควรให้ตัวแทนจากชุมชนเข้ามาร่วมในโครงการด้วย โดยอยากให้เห็นภาพจริงในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การสำรวจประชาวิจารณ์ จนไปถึงขั้นตอนในการรื้อถอนควรจ้างงานจากชาวประมงเพื่อให้เกิดรายได้กระจายสู่ท้องถิ่น โดยมีการอบรมก่อนปฏิบัติงานจริง

ทั้งนี้ วิศวกรของปิโตรเลียม ได้ชี้แจงถึงขั้นตอนในการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างโดยการปิดหลุมว่า จะใช้ปูนซีเมนต์ชนิดพิเศษมีส่วนผสมที่ทนต่อแรงดันที่อาจจะพังทลายได้ในเวลาต่อมา ยังเน้นการควบคุมไม่ให้ทำลายสิ่งแวดล้อม และสัตว์น้ำน้อยที่สุด ทุกๆปีมีการตรวจสอบสภาพน้ำ มีการตกปลามาตรวจเนื้อเยื่อ สั่งเกตความผิดปกติของปลา เพื่อไม่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่จะส่งผลต่อชาวประมง และจะไม่ใช้การระเบิดโดยเด็ดขาดเพราะส่งผลกระทบโดยตรงต่อสิ่งแวดล้อม

สำหรับวิธีการรื้อถอนขาแท่น เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการประกอบกิจกรรมทางทะเล เช่น การเดินเรือ การประมง และอื่นๆ นั้น กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ ได้เสนอแนวทางไว้ประกอบด้วย การตัดขาแท่นโดยใช้ระเบิด การตัดโดยใช้ใบเลื่อยจากภายนอก การตัดโดยใช้น้ำแรงดันสูง และการติดโดยใช้นักประดาน้ำ ปรากฏ ว่าผู้เข้าร่วมประชุมได้ออกความคิดเห็นเป็นเสียงเดียวที่จะต่อต้านวิธีการรื้อถอนด้วยวิธีการตัดโดยใช้ระเบิด เนื่องจากเห็นว่าเป็นวิธีการที่ทำลายล้างระบบนิเวศใต้น้ำอย่างรุนแรง รวมถึงไม่อยากให้ใช้ระเบิดในพื้นที่ท้องทะเล
กำลังโหลดความคิดเห็น