xs
xsm
sm
md
lg

หุ้นดีดรับUSอุ้มซิตี้กรุ๊ป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – ตลาดหุ้นเอเชียปรับตัวขึ้นรับตลาดหุ้นดาวโจนส์ หลังทางการสหรัฐฯ ประกาศเข้าพยุงฐานะซิตี้กรุ๊ป โดยตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้น 5.73 จุด ปิดที่ 391 จุด แม้นักลงทุนต่างชาติยังเทขายสุทธิ 769 ล้านบาท ขณะที่นักวิเคราะห์ เตือนนักวิเคราะห์จับตาตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะทยอยประกาศออกมา รวมถึงสถานการณ์การเมืองที่ส่งผลต่อเสถียรภาพรัฐบาลและความเชื่อมันของนักลงทุน

บรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทย วานนี้ (25 พ.ย.) ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นตามทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาค หลังจากตลาดหุ้นวอลล์สตรีทปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อนักลงทุนเริ่มคลายความกังวลจากวิกฤตสถาบันการเงินที่ทางการสหรัฐฯ ประกาศเข้าช่วยเหลือกลุ่มซิตี้กรุ๊ป สถาบันการเงินขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ แต่มูลค่าการซื้อขายของหุ้นไทยมีเข้ามาไม่มากนัก เพราะนักลงทุนยังไม่มั่นใจต่อสถานการณ์ทางการเมือง ที่ส่อเค้าทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น

โดยดัชนีตลาดหุ้นไทยสามารถยืนเหนือแดนบวกตลอดทั้งวัน สามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดที่ 396.95 จุด ต่ำสุดที่ 389.37 จุด ก่อนจะปิดการซื้อขายที่ 391.85 จุด เพิ่มขึ้นจากวันก่อน 5.73 จุด หรือคิดเป็น 1.48% มูลค่าการซื้อขายรวม 7,483.64 ล้านบาท ทั้งนี้ นักลงทุนต่างประเทศยังคงขายหุ้นไทยต่อเนื่อง คือ มียอดขายสุทธิ 769.94 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันซื้อสุทธิ 654.20 ล้านบาท และนักลงทุนรายย่อย 115.74 ล้านบาท

สำหรับหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ราคาปิดที่ 82 บาท เพิ่มขึ้นจากวันก่อน 1.50 บาท หรือคิดเป็น 1.86% มูลค่าการซื้อขาย 791.96 ล้านบาท บมจ.ปตท. (PTT) ปิดที่ 138 บาท เพิ่มขึ้น 1 บาท หรือ 0.73% มูลค่าการซื้อขาย 668.57 ล้านบาท และธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ปิดที่ 50.50 บาท เพิ่มขึ้น 2.25 บาท หรือ 4.66% มูลค่าการซื้อขาย 513.43 ล้านบาท

นายวรุฒม์ ศิวะศริยานนท์ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ฟินันซ่า กล่าวว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นได้รับปัจจัยบวกจากตลาดหุ้นต่างประเทศที่ทะยานขึ้นแรงตอบรับข่าวที่รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศเข้าช่วยเหลือซิตี้กรุ๊ป สถาบันการเงินขนาดใหญ่ ด้วยการรับประกันสินทรัพย์จำนวน 3 แสนล้านเหรียญสหรัฐ พร้อมเงินอัดฉีดเงินเพิ่มทุนอีก 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ รวมถึงนักลงทุนมีความมั่นใจต่อทีมเศรษฐกิจของนายบารัค โอบามา ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่

“ประเด็นเรื่องการเมืองในประเทศมีผลต่อตลาดหุ้นน้อยกว่าปัจจัยต่างประเทศ เพราะการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ ยังไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรงแต่อย่างใด แต่นักลงทุนยังต้องติดตามการชุมนุมอย่างใกล้ชิด หากมีการชุมนุมยืดเยื้อและมีการปิดล้อมสถานที่สำคัญๆ อาจจะส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล รวมถึงการบริหารงานได้”

ขณะเดียวกัน นักลงทุนยังต้องติดตามประกาศตัวเลขการเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในไตรมาส 3/51 ของสหรัฐฯ ที่คาดว่าน่าจะออกมาติดลบต่อเนื่อง และข้อมูลเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ติดต่อกันอาจสะท้อนว่าอเมริกาเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงกว่าที่คาด

“กลยุทธ์การลงทุน แนะนำถือเงินสดรอซื้อหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี และไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกตกต่ำ เช่น กลุ่มธนาคารพาณิชย์ และสื่อสาร ประเมินแนวรับ 383 จุด และแนวต้าน 397-400 จุด”

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลาดหุ้นไทยค่อนข้างแกว่งตัว แม้จะมีทิศทางที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามตลาดหุ้นต่างประเทศ แต่ตลาดหุ้นไทยยังคงได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเสี่ยงเรื่องของการเมืองที่ส่อเค้าทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หลังจากการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่อาจส่งผลต่อเสถียรภาพความมั่นคงของรัฐบาล ทำให้นักลงทุนไม่มีความมั่นใจจึงชะลอการซื้อขายออกไปก่อน เพื่อรอดูสถานการณ์ให้มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น

สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้ นักลงทุนส่วนใหญ่ยังต้องติดตามการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ และท่าทีของรัฐบาลว่าจะก่อให้เกิดความรุนแรง และสามารถสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนได้หรือไม่ รวมถึงการก่อความวุ่นวายของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ด้วย

ขณะที่ปัจจัยด้านเศรษฐกิจ ประเด็นสำคัญยังอยู่ที่เรื่องของผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว อันอาจจะก่อให้มีจำนวนคนตกงานเพิ่มมากขึ้น หลังจากที่ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์หลายแห่งประเทศปัญหาจนต้องปลดคนงานเป็นจำนวนมากไปก่อนหน้านี้ โดยกรอบดัชนีแนวรับของสัปดาห์อยู่ที่ประมาณ 380 จุด และแนวรันต่อไปอยู่ที่ 350 จุด ส่วนแนวต้านที่สำคัญอยู่ที่ 395-400 จุด

สมาคมโบรกฯนอกชี้ปีหน้าวิกฤตหนัก

ด้านมล.ทองมกุฏ ทองใหญ่ ผู้บริหารฝ่ายค้าหลักทรัพย์ บล.ซิตี้ คอร์ป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ในฐานะนายกสมาคมโบรกเกอร์ต่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมถึง ทิศทางการลงทุนในตลาดหุ้นไทย ปี 52 ว่า ตลาดหุ้นไทยจะยังผันผวนอย่างหนัก จากผลกระทบของวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่จะทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากประเมินว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อระบบการเงินและสินเชื่อภาคอสังหาริมทรัพย์ในปี 51 เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น

“ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคส่งผลให้ปริมาณการบริโภคลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ภาคการผลิตเริ่มประสบปัญหา ภาคอุตสาหกรรมต้องลดกำลังการผลิต ลดต้นทุน ปลดคนงาน ซึ่งจะสะท้อนถึงความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนโดยรวมลดลง มีความเสี่ยงต่อการเกิดหนี้เสียมากขึ้น สถาบันการเงินต้องเข้มงวดกับการปล่อยกู้ เงินในระบบจึงลดลง ประชาชนที่มีเงินก็ไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย ทำให้ในปี 2552 อาจเกิดภาวะเงินฝืด หรือเงินฝืด เป็นภาวะที่ระดับราคาสินค้าและบริการทั่วไปลดต่ำลงเรื่อยๆ”

ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงด้านการเมืองที่ยังส่อเค้ายืดเยื้อ ยังเป็นประเด็นหลักที่ซ้ำเติมบรรยากาศการลงทุนให้ประเทศให้ลดลงรุนแรงกว่าตลาดหุ้นในภูมิภาค และความมั่นใจของนักลงทุนต่างประเทศไม่กลับเข้ามาลงทุนหากสถานการณ์ทุกอย่างเริ่มดีขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น