xs
xsm
sm
md
lg

“หอฯ-ITD”ร่วมถกเตรียมรับมือระเบียงเศรษฐกิจ East-West

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – หอการค้าฯดึง ITD ร่วมตั้งวงถกทิศทางการเปลี่ยนแปลงหลังระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกเกิด เพื่อเตรียมพร้อมรองรับทิศทางการค้า การลงทุนในอนาคต เผยศักยภาพพื้นที่ “ชายแดนตาก-แม่สอด” เป็น Junction ทางเศรษฐกิจไทย-พม่าโดยธรรมชาติ แต่กลับถูกมองข้ามมานาน ปล่อยกระบวนการค้าเป็นไปตามยถากรรม ขณะที่พม่าเตรียมเปิดนิคมฯเมียวดี 6 ธ.ค.

รายงานข่าวจากจังหวัดตาก แจ้งว่า หอการค้าจังหวัดตาก ร่วมกับสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) หรือ ITD ได้กำหนดจัดประชุมสัมมนาระดมความคิดเห็นเรื่อง “แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ที่เกิดขึ้นบนเส้นทางเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor : EWEC)” ในวันจันทร์ที่ 24 พฤศจิกายน 2551 เวลา 09.30-12.00 น. ณ ห้องประชุมหอการค้าจังหวัดตาก(ชั้น 2 ) อ.แม่สอด จ.ตาก

ทั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อศึกษาและวิเคราะห์ ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community -AEC) ที่มีต่อเมือง / ชุมชนตามแนวเส้นทางเศรษฐกิจ EWEC

สำหรับ พื้นที่ชายแดนตะวันตกของไทย (ชายแดนจังหวัดตาก) และตะวันออกของพม่า (เมียวดี) ในอดีตถูกใช้เป็น Buffer State ในมิติความมั่นคงรัฐชาติที่มีมหาอำนาจหลากหลายประเทศจากโลกตะวันตกยื่นมือเข้ามามีเอี่ยว แต่วันนี้ อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง ด้วยภูมิศาสตร์ของพื้นที่ โดยเฉพาะ “แม่สอด” กลายเป็น Junction สำคัญของ East – West Economic Corridor ไปแล้ว

ด้วยภูมิศาสตร์ของ “ชายแดนจังหวัดตาก โดยเฉพาะแม่สอด” ที่เป็นจุดเชื่อมต่อสำคัญด้านตะวันตก ตามระเบียงเศรษฐกิจ “ตะวันออก-ตะวันตก ; East – West Economic Corridor” ส่วนหนึ่งในยุทธศาสตร์ ACMEC (Thailand, Myanmar, Cambodia Lao PDR) และกรอบความร่วมมือ BIMSTEC (Thailand, Myanmar, India ,Nepal, Bhutan, Bangladesh ,Sri Lanka) ทำให้วันนี้ แนวรบด้านตะวันตกของไทยแห่งนี้ กำลังก้าวสู่ยุคเปลี่ยนผ่านจากมิติความมั่นคง – สิทธิมนุษยชน เข้าสู่มิติทางเศรษฐกิจเต็มตัวมากขึ้น

นายบรรพต ก่อเกียรติเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก , นายปณิธิ ตั้งผาติ ที่ปรึกษาหอฯตาก ร่วมกันสะท้อนถึงทิศทางการพัฒนาว่า ถ้าดูตามภูมิศาสตร์แล้ว แม่สอดเป็น Junction ที่สำคัญของระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก เชื่อมท่าเรือดานัง ผ่านทางถนนหมายเลข 9 เข้าสู่ไทยตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 (มุกดาหาร-ขอนแก่น ที่กรมทางหลวงประกาศใช้ตั้งแต่ 1 ต.ค.51) เชื่อมกับพม่าผ่านสะพานมิตรภาพไทย-พม่าข้ามแม่น้ำเมย เข้าเมียวดี – มะละแหม่ง – ย่างกุ้ง หรือพะโค หรือเนปิดอว์ – อินเดีย บังกลาเทศ ทะลุออกถึงยุโรปได้

2 คีย์แมนสำคัญของหอการค้าจังหวัดตาก บอกว่า ด้วยความเป็น Junction สำคัญระหว่างไทย-พม่าด้านตะวันตก ทำให้แม่สอด มีการค้ากับพม่าต่อเนื่อง มีการส่งออกสินค้าปีละกว่า 10,000 ล้านบาท เช่น ปี 47 ส่งออก 11,736 ล้านบาท นำเข้า 644 ล้านบาท ปี 48 ส่งออก 12,543 ล้านบาท นำเข้า 742 ล้านบาท ปี 49 ส่งออก 10,948 ล้านบาท นำเข้า 1,304 ล้านบาท ปี 50 ส่งออก 12,309 ล้านบาท นำเข้า 1,027 ล้านบาท และ 10 เดือนของปีงบประมาณ 51 ส่งออกแล้ว 14,481 ล้านบาท นำเข้า 1,030 ล้านบาท

“เฉพาะการค้าไทยกับพม่าผ่านแม่สอด การขยายตัวประมาณ 10%ต่อปีแม้เส้นทางคมนาคมยังไม่สมบูรณ์ถือเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าเราสามารถเปิดเส้นทางการค้าด้านนี้ไปถึงอินเดีย บังกลาเทศ หรืออาจทะลุถึงยุโรป ตามศักยภาพทางภูมิศาสตร์ มูลค่าการค้าจะทวีคูณอีกไม่รู้กี่เท่าตัว”

แต่จนถึงวันนี้ การพัฒนา “แม่สอด” ให้เป็น Junction ทางการค้าภายใต้กรอบ ACMEC - BIMSTECอย่างแท้จริงนั้น ยังไม่ปรากฏเป็นรูปธรรมเท่าที่ควร

โดยมีเพียงสะพานมิตรภาพไทย-พม่าฯ เมื่อปี 2537 ที่วันนี้ มีปัญหารถบรรทุกหนักไม่สามารถผ่านได้ ต้องกลับไปใช้วิธีขนสินค้าเข้าพม่าผ่านตามท่า หรือคลังสินค้าอนุมัติเฉพาะคราว ตามริมฝั่งแม่น้ำเมย ที่มีอยู่ทั้งสิ้นประมาณ 19 ท่า (เปิดบริการจริงประมาณ 11-12 ท่า) และมติ ครม.19 ตุลาคม 2547 ที่ให้พื้นที่แม่สอด ชายแดนจังหวัดตาก เป็นเขตเศรษฐกิจชายแดน แต่ก็เป็นเพียง มติ ครม.มาจนถึงทุกวันนี้

นายบรรพต ย้ำว่า ขณะที่พม่า ได้จัดเตรียมพื้นที่กว่า 600 เอเคอร์ ในเขตเมืองเมียวดี (ห่างจากชายแดนไปประมาณ 10 กม.) ตั้งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษรองรับโรงงานอุตสาหกรรม เขตพาณิชยกรรม ฯลฯ โดยจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในต้นเดือนหน้า (6 ธันวาคม 2551) โดยดึง 5 กลุ่มทุนใหญ่ในย่างกุ้ง อดีตเมืองหลวงของพม่าเข้ามาเป็นผู้ลงทุนพัฒนา ซึ่งล่าสุดการก่อสร้างอาคารพาณิชย์ ตลอดจนศูนย์บริการนำเข้า – ส่งออก เสร็จเกือบสมบูรณ์แล้ว

“แต่ในฝั่งไทยยังไม่ปรากฏอะไรเป็นชิ้น เป็นอัน สาธารณูปโภคเคยเป็นอยู่อย่างไร ก็ยังเป็นอย่างนั้น”

ทั้งที่โดยตัวแม่สอด ผนวกกับอำเภอชายแดนของจังหวัดตาก ไม่ว่า จะเป็น พบพระ อุ้มผาง แม่ระมาด สามารถสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนเข้าพื้นที่ไม่น้อยกว่า 3-4 หมื่นล้านบาทต่อปี ทั้งกลุ่มอุตสาหกรรม (โรงงานเย็บผ้า) เกือบ 300 โรงในแม่สอด โรงงานแปรรูปการเกษตร ผลผลิตทางการเกษตร และการท่องเที่ยว รวมถึงการค้าชายแดน

ในสิ้นปีนี้โรงงานเอทานอลของบริษัทแม่สอดพลังงานสะอาด จำกัด ที่จะมีกำลังผลิตมากถึง 200,000 ลิตรต่อวัน ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนระหว่าง “มิตรผล – ผาแดง – ไทยออยล์” ก็จะกระตุ้นให้เกิดการผลิต / ขนส่งเข้า-ออกอีกมหาศาล

นายปณิธิ ซึ่งเป็น 1 ในผู้ส่งออกรายใหญ่ในแม่สอด ที่คร่ำหวอดกับการค้าชายแดนไทย-พม่าด้านนี้มาหลายสิบปี บอกว่า เราอยู่อย่างนี้ก็ไม่เป็นปัญหา เพราะมีความเชื่อถือ มีคอนเนกชัน นำสินค้าส่งถึงมือคู่ค้าในพม่าได้ทุกสถานการณ์อยู่แล้ว แต่ถ้าหากมีการพัฒนาเส้นทางที่สมบูรณ์ ก็จะทำให้กระบวนการค้าขยายตัว ยกระดับมาตรฐานมากขึ้น ซึ่งพ่อค้าชายแดนเองก็ต้องปรับตัว เพราะถึงเวลานั้น ทุนใหญ่ย่อมเข้ามาอีกมาก กลุ่มทุนในท้องถิ่นก็ต้องปรับตัว ต่อยอดคอนเนกชันที่มีอยู่ เพื่อเข้าไปมีส่วนแบ่งในตลาดการค้าที่จะขยายตัวขึ้น

เบื้องต้นสาธารณูปโภคต่าง ๆ ก็ต้องปรับ ทั้งถนนตาก-แม่สอด ควรต้องปรับเป็น 4 เลนทั้งหมด สะพานไทย-พม่า ก็น่าจะมีแห่งที่ 2 รองรับการขนส่งสินค้า ผังเมืองแม่สอด ต้องวางไว้สำหรับการขยายตัวในอนาคต ที่น่าจะขยายไปทางฝั่งแม่ระมาด (ทิศเหนือของตัวเมืองแม่สอด) จัดพื้นที่รองรับภาคอุตสาหกรรมใหม่ เพื่อจัดระบบแรงงานต่างด้าว ที่อาจจะควบคุมให้แรงงานเข้า-ออกแบบมาเช้า เย็นกลับ ลดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงานเถื่อนเข้าพื้นที่ชั้นในของประเทศอีกทางหนึ่ง เป็นต้น

นายชัยยุทธ เสณีตันติกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดตาก กล่าวว่า ในมุมของภาคอุตสาหกรรมทุกวันนี้ “แม่สอด” ได้เปรียบเฉพาะมีแรงงานพม่ามากเท่านั้น ขณะที่สาธารณูปโภคอื่นๆ ด้อยกว่าพื้นที่อื่นทั้งสิ้น ซึ่งที่ผ่านมามีนักลงทุนเข้ามาเกือบ 300 ราย ก่อนหน้านี้มีการผลิตเพื่อส่งออกโดยตรง – รับจ้างผลิต (เย็บผ้า) มูลค่ากว่า 10,000 – 20,000 ล้านบาทต่อปี แต่ปีหน้า (2552) ต้องรับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกแน่นอน
กำลังโหลดความคิดเห็น