xs
xsm
sm
md
lg

เดินเครื่องEast-West ตั้งทางหลวงเลขที่ 12 ดัน 4 เลนทั้งสายรับACMEC-BIMSTEC

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ชุมพร พลรักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก
ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ – ไทยเร่งเดินเครื่องถนน East-West Economic Corridor ประกาศเส้นทาง “แม่สอด-มุกดาหาร” เป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ตลอดแนว พร้อมทยอยขยายพื้นผิวเป็น 4 ช่องจราจรทั้งสายต่อเนื่อง รับเส้นทางหมายเลข 9 และเส้นทางเชื่อมอันดามัน - พม่า – อินเดีย – บังกลาเทศ ทะลุยุโรปในอนาคต ขณะที่ผู้ว่าฯตาก ที่กำลังขึ้นเป็นอธิบดีกรมพัฒนาชุมชน หนุนยุบรวม อปท.ตั้ง ทน.แม่สอด ก่อนก้าวขึ้นเป็นเขตการปกครองรูปแบบพิเศษ

นายจงจิตร เต็งยะ ผู้อำนวยการแขวงการทางตากที่ 2 (แม่สอด) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพัฒนาเส้นทางตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก ( East-West Economic Corridor )ที่อยู่ในเขตประเทศไทยตั้งแต่แม่สอด จ.ตาก – มุกดาหาร ระยะทาง 770 กิโลเมตร(กม.) ว่า กรมทางหลวงฯ ได้ประกาศให้เส้นทางสายนี้เป็นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 12 ตลอดทั้งสายแล้วตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2551

ทั้งนี้ เพื่อให้สะดวกต่อการทำโครงการเสนอขออนุมัติงบประมาณปรับปรุง พัฒนาให้เป็นถนน 4 เลนตลอดทั้งสาย รองรับยุทธศาสตร์ทางการค้าระหว่างประเทศ ที่จะใช้เป็นเส้นทางเชื่อมโยงการค้าระหว่างประเทศตามกรอบ ACMEC (Thailand, Myanmar, Cambodia, Lao PDR) – BIMSTEC (Thailand, Myanmar, India, Nepal, Bhutan, Bangladesh, Sri Lanka) ซึ่งในฝั่งตะวันออก เชื่อมต่อผ่านสะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 (มุกดาหาร สวรรณเขต) เข้ากับเส้นทางหมายเลข 9 ที่พัฒนาและเปิดใช้แล้ว

อย่างไรก็ตาม บางช่วงยังมีปัญหาติดพื้นที่ป่าอนุรักษ์ เช่น อุทยานแห่งชาติน้ำหนาว , เส้นทางตาก-แม่สอด ที่ทางกรมอุทยานฯ ยืนยันว่า ให้ขยายถนนเฉพาะพื้นผิวจราจรที่มีอยู่เดิมเท่านั้น ทำให้เป็นปัญหาในการทำถนน 4 เลน ตลอดทั้งสายอยู่ แต่ก็เชื่อว่า ภายใน 5 ปีต่อจากนี้จะเสร็จสมบูรณ์ได้ หลังจากที่เริ่มดำเนินการช่วงแรกจากทางแยกตาก เข้ามาแล้ว 10 กว่า กม.

ส่วนในฝั่งพม่า ที่จะสามารถเชื่อมโยงการค้า การลงทุนกับพม่า อินเดีย บังกลาเทศ และต่อเนื่องไปถึงยุโรปได้นั้น เส้นทางในช่วงแรกในเขตเมืองเมียวดี (ตรงข้าม อ.แม่สอด) ระยะทาง 17.35 กม.รัฐบาลไทยได้ให้การช่วยเหลืองบประมาณก่อสร้างแบบให้เปล่าจำนวน 122.9 ล้านบาท และก่อสร้างเสร็จแล้ว , ช่วงที่ 2 จากเมียวดี – เชิงเขาตะนาวศรี –กอกะเรก (ผ่านเขตนิคมฯ-เขตเศรษฐกิจชายแดนเมียวดี และค่าย 375)ระยะทางตามแนวทางเดิม 50 กว่า กม. แต่ได้มีการสำรวจแนวเส้นทางใหม่เลี่ยงสันเขา เหลือระยะทางประมาณ 40 กว่า กม.นั้น ยังอยู่ระหว่างการตกลงเรื่องงบประมาณการก่อสร้างว่าจะเป็นไปในลักษณะให้เปล่า หรือเป็นเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนอยู่

ขณะที่ถนนจากกอกะเรก – มะละแหม่ง – ท่าตอน – ย่างกุ้ง หรือพะโค ที่อยู่ตอนเหนือของย่างกุ้ง ทะลุออกไปเชื่อมกับอินเดีย – บังกลาเทศ และยุโรปนั้น อยู่ระหว่างการหารือระหว่างไทย-พม่า ภายใต้เงื่อนไขไทยให้กู้แบบผ่อนปรน ซึ่งมีอยู่ 3 แนวทางเลือกคือ 1.จากเชิงเขาตะนาวศรี เมืองกอกะเรก-อินดุ-พะอัน-ท่าตอน ระยะทาง 172 กม.งบก่อสร้าง 1,350 ล้านบาท
2.เชิงเขาตะนาวศรี เมืองกอกะเรก – Mudon – มะละแหม่ง – ท่าตอน ระยะทาง 236 กม. งบก่อสร้าง 2,150 ล้านบาท และ 3.เชิงเขาตะนาวศรี – อินดุ – มะละแหม่ง ระยะทาง 212 กม. งบก่อสร้าง 1,780 ล้านบาท และเสนอให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าสำหรับก่อสร้างถนนจากมะละแหม่ง – ท่าตอน ระยะทาง 44 กม.งบประมาณ 440 ล้านบาท พร้อมให้เงินกู้หากพม่าต้องการสำหรับก่อสร้างถนนจากมะละแหม่ง – กอกะเรก ระยะทาง 125 กม.งบประมาณ 1,180 ล้านบาท

ขณะที่นายบรรพต ก่อเกียรติเจริญ ประธานหอการค้าจังหวัดตาก อธิบายว่า การลงทุนพัฒนาโครงข่ายคมนาคมสายนี้ ถ้ามองในแง่ของการลงทุนแล้ว ถือว่าคุ้มแน่นอน เพราะเฉพาะการค้าชายแดนที่เกิดขึ้น ก็มีมูลค่ามากกว่า 1.2-1.5 หมื่นล้านต่อปีแล้ว ดังนั้นการลงทุนไม่กี่พันล้านของรัฐบาลไทย ก็จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถส่งออกสินค้าได้มากขึ้น สร้างรายได้เข้าประเทศในช่วงที่ตลาดแถบยุโรป-อเมริกา กำลังมีปัญหาอย่างต่อเนื่องได้ ซึ่งนั่นก็หมายถึงผลตอบแทนทางเศรษฐกิจของประเทศ

ด้านนายชุมพร พลรักษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ที่กำลังจะย้ายไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาชุมชน กล่าวว่า แนวทางที่จะพัฒนาพื้นที่ชายแดนจังหวัดตากรองรับ East-West Economic Corridor โดยเฉพาะเส้นทางเชื่อมโยงทางการค้ากับพม่าทางย่างกุ้ง ที่อยู่ห่างจากแม่สอดเพียง 420 กว่า กม.นั้น สภาอุตสาหกรรมฯ-หอการค้าจังหวัดตาก จะต้องเล่นเกมรุกมากขึ้น อย่ารอรัฐที่ต้องยอมรับว่ามีปัญหาทางการเมืองมานาน

ขณะเดียวกันจะต้องผลักดันให้มีการรวมพื้นที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในแม่สอด ทั้งเทศบาล – อบต.เข้าด้วยกัน เบื้องต้นสามารถเสนอเป็น “เทศบาลนครแม่สอด” กินพื้นที่ 200 ตารางกิโลเมตรทันที เพื่อวางผันการพัฒนาเมืองกันใหม่ กำหนดพื้นที่เขตอุตสาหกรรม – พาณิชยกรรม – ที่อยู่อาศัย ให้สอดคล้องกัน กำหนดแนวทางส่งเสริมการลงทุนในแนวทางเดียวได้ อันจะทำให้นักลงทุนตัดสินใจเข้ามาลงทุนได้ดีขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการทำการวิจัยเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างทำประชาพิจารณ์อยู่

“อนาคตแม่สอด หรือพื้นที่ชายแดนตาก จะไม่ได้เปรียบเรื่องต้นทุนค่าแรงต่ำแน่นอน เพราะถ้ายกระดับมาตรฐานการลงทุน หรือผลิตเพื่อการส่งออกแล้ว การจ้างแรงงานจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย ไม่เช่นนั้นก็ส่งออกไม่ได้ แต่แม่สอดจะได้เปรียบที่มีแรงงานรองรับอย่างเพียงพอเท่านั้น”

ส่วนแนวทางการพัฒนาสาธารณูปโภค นายชุมพร มองว่า น่าจะลงทุนพัฒนาเส้นทางรถไฟตาก-แม่สอด ตามแนวทางที่ ธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย(ADB) เคยศึกษาไว้แล้ว เพื่อสนับสนุนให้ตากเป็นจุดตัด( Junction )ของ East-West Economic Corridor ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ดำเนินการศึกษาเบื้องต้นไว้แล้ว และจังหวัดจะนำเสนอต่อสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในเร็ว ๆ นี้
จงจิตร เต็งยะ ผู้อำนวยการแขวงการทางตากที่ 2 (แม่สอด)
กำลังโหลดความคิดเห็น